Skip to main content
sharethis

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารออกแถลงการณ์ซัดปฏิเสธการสังฆกรรมใดๆ กับเผด็จการ ระบุไม่มีความชอบธรรมพอที่จะไปเข้าพบหรือเจรจา เพราะได้อำนาจการปกครองไม่เป็นไปตา,ประชาธิปไตย ยันชุมนุม 10 ธ.ค. ที่สนามหลวง ด้านเลขา คมช. เผยไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก 35 จังหวัดในช่วงนี้ เชื่อคุมสถานการณ์ชุมนุมใหญ่ได้


 




การประท้วงของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารที่สยามพารากอนเมื่อวันที่ 22 กันยายน 3 วันหลังรัฐประหาร(ที่มาของภาพ : AP Photo/Apichart Weerawong)


 


"19 กันยา" ออกแถลงการณ์ไม่สังฆกรรมเผด็จการ ยันชุมนุม 10 ธ.ค.


วานนี้ (2 ธ.ค.) เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ได้ออกแถลงการณ์ "ปฏิเสธการเข้าพบ เจรจา หรือร่วมสังฆกรรมใดๆ กับเผด็จการ โดยมีในแถลงการณ์ระบุว่าเครือข่าย 19 กันยาฯ ปฏิเสธการเข้าพบกับคณะเผด็จการทหารไม่ว่าจะในนาม คมช. หรือในนามรัฐบาล หรือในนามกลุ่ม องค์กร บุคคลใดก็ตาม เพราะไม่มีความชอบธรรมพอที่จะเข้าพบหรือเจรจาต่อรองใดๆ เพราะการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย


 


โดยในตอนท้ายของแถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยาฯ เรียกร้องให้เผด็จการต้องออกไป ประชาธิปไตยต้องกลับคืนมา ด้วยการกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และปฏิรูปการเมืองหลังเลือกตั้งโดยประชาชนมีส่วนร่วม และยืนยันสิทธิที่จะล้มล้างการปกครองแบบเผด็จการอย่างถึงที่สุด ด้วยการแถลงว่าจะมีการชุมนุมและเดินขบวนในวันรัฐธรรมนูญ อาทิตย์ ที่ 10 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ที่สนามหลวง


 


สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ออกมาระบุว่าได้เตรียมเชิญบรรดาแกนนำมวลชนกลุ่มต่างๆ ทยอยเข้าหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการชุมนุมใหญ่ของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่สนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2549 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดของเรา ก็คือ แนวทางที่จะเจรจาทำความเข้าใจกัน ไม่ได้มีมาตรการที่บังคับกัน เราอยากจะฟังมากกว่า


 






 


แถลงการณ์


ปฏิเสธการเข้าพบ เจรจา หรือร่วมสังฆกรรมใดๆ กับเผด็จการ


 


ตามที่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า " ...เตรียมเชิญบรรดาแกนนำมวลชนกลุ่มต่างๆ ทยอยเข้าหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง..." และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการชุมนุมใหญ่ของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่สนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2549 ว่า "...แนวคิดของเรา ก็คือ แนวทางที่จะเจรจาทำความเข้าใจกัน ไม่ได้มีมาตรการที่บังคับกัน เราอยากจะฟังมากกว่า..." นั้น (โปรดดู ประธาน คมช.นัดเคลียร์แกนนำ-สกัดชุมนุม 10 ธ.ค.บานปลาย - ผู้จัดการออนไลน์ 1 ธันวาคม 2549)


"เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" มีความเห็นต่อท่าทีของประธาน คมช. และนายกรัฐมนตรี ดังนี้


1. คณะเผด็จการทหารไม่ว่าจะในนาม คมช.หรือในนามรัฐบาล หรือในนามกลุ่ม องค์กร บุคคลใดก็ตาม ไม่มีความชอบธรรมพอที่เราจะเข้าพบเพื่อเจรจาต่อรองใดๆทั้งสิ้น เพราะการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของคณะเผด็จการมิได้เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย หากแต่เกิดจากการปล้นชิง ข่มขืน และฆาตกรรมทางการเมืองต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่แต่เดิม โดยที่ไม่เคยได้รับความยินยอมไม่ว่าเผด็จการจะใช้ข้ออ้างอันสวยหรูเพียงใดก็ตาม "เครือข่าย 19 กันยา" จึงขอประกาศว่าเราไม่ต้องการเข้าพบหรือการเจรจากับคณะเผด็จการใดๆทั้งสิ้น เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับและสนับสนุนค้ำจุนอำนาจอันไม่ชอบธรรมของคณะเผด็จการนั่นเอง


2. "การเชิญบรรดาแกนนำมวลชนต่างๆทยอยเข้าหารือ" นั้นเป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขให้บรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการต้องตกหลุมพราง ด้วยข้ออ้างที่สวยหรูแต่เปี่ยมล้นไปด้วยเล่ห์กล เช่น ข้ออ้างเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ข้ออ้างเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ข้ออ้างเรื่องแนวทางการเจรจาทำความเข้าใจ เป็นต้น ทันทีที่เข้าพบก็เท่ากับเป็นเครื่องมือและถูกทำลายล้างจากเผด็จการในที่สุด


3. ความขัดแย้งระหว่างคณะเผด็จการกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ เช่น "เครือข่าย 19 กันยา" เป็นต้น เป็นประเด็นสาธารณะหาใช่ความขัดแย้งส่วนตัวไม่ หากแต่คณะเผด็จการพยายามลดทอนให้เป็นเรื่องส่วนตัวตลอดเวลา ดังนั้นการเข้าไปพบปะพูดคุยกันตามลำพังจึงมิใช่ทางออก


4. "เครือข่าย 19 กันยา" ขอยืนยันสิทธิที่จะล้มล้างการปกครองแบบเผด็จการอย่างถึงที่สุด โดยการจัดการชุมนุมและเดินขบวนในวันรัฐธรรมนูญ อาทิตย์ ที่ 10 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ที่สนามหลวง ตามที่ได้เคยแถลงไว้


เผด็จการต้องออกไป ประชาธิปไตยต้องกลับคืนมา ด้วยการกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และปฏิรูปการเมืองหลังเลือกตั้งโดยประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


2 ธันวาคม 2549


 


 


สพรั่งเย้ยกลุ่มต้านอย่าเสียเวลากับสิ่งรกรุงรัง


ด้าน พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. กล่าวเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า ขณะนี้ คมช.กำลังเตรียมที่จะพบปะหารือกับกลุ่มต่างๆ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งหากมีความบริสุทธิ์ใจ คงจะทำความเข้าใจกันได้


 


พล.อ.สพรั่งยังกล่าวอีกว่า "ปัญหาคลื่นใต้น้ำยังมีความพยายามที่จะก่อเหตุในแต่ละจุดแต่ละจังหวัด เพียงแต่ยังชั่งใจอยู่ว่าเราเอาจริงหรือไม่ เราไม่ต้องการใช้คำว่าเราเอาจริง เราบอกว่า เราทำตามหน้าที่ ความสงบเรียบร้อย ต้องมาก่อน และคนที่คิดจะต่อต้าน โดยใช้อำนาจเก่าๆ วิธีเก่าๆ บอกได้เลยว่าไม่สำเร็จ และที่เราเข้ามาเพื่อยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเกิดจากการขาดจริยธรรม ไม่ใช่เป็นเพราะ คมช.เสียประโยชน์และเห็นว่าอย่าไปเสียเวลากับสิ่งที่รกรุงรัง ผมเชื่อในวิจารณญาณของประชาชนที่รักชาติบ้านเมืองและห่วงใยปัญหาการเมือง จะทราบว่าไอ้พวกที่ไม่เอาไหน สมควรให้ค่า ให้ความสำคัญหรือไม่"


 


ทฤษฎีสพรั่ง "เงินทุกบาททุกสตางค์มีคุณค่า" เหตุมีม็อบ


ส่วนกระแสข่าวการต่อท่อน้ำเลี้ยงสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะนี้นั้น พล.อ.สพรั่งกล่าวว่า ถ้าโดยสมมุติฐานแล้วน่าจะมีเพราะคงไม่มีใคร ที่อยู่ๆ ผู้ยากไร้ก็เดินทางเข้ามาเงินทุกบาททุกสตางค์มีคุณค่า ต้องใช้ดูแลครอบครัวแต่การที่เขามาอยู่ในจุดที่มีการเตรียมการ ขอให้ช่วยกันแซงก์ชันแสดงความคิดเห็นและรุมประณามได้เลย เพราะคนพวกนี้คือตัวทำลายประชาชน ถ้าส่งเสริมคนเลว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดและขัดคุณธรรมของชาติบ้านเมือง


 


เลขา คมช. ระบุกฎอัยการศึก 35 จังหวัดไม่เลิกในช่วงนี้


พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช.กล่าวถึง การคงกฎอัยการศึกในพื้นที่ 35 จังหวัดว่าคงจะไม่ยกเลิก ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ต้องดูไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ส่วนกระแสข่าวการนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 10 ธ.ค.นั้นที่ผ่านมาเมื่อประกาศกฎอัยการศึกก็มีการชุมนุมมาตลอดอยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถทำได้ หากมีการชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีฝ่ายใดใช้เป็นเหตุผลทางการเมืองก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งเราก็ต้องดูและเป็นพิเศษอยู่แล้ว ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก ตอนนี้ก็พอมีอยู่ แต่เราสามารถควบคุมไว้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net