Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เว็บไซต์จำนวนมากถูกบล็อกโดยกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) โดยให้เหตุผลว่า เป็นเว็บไซต์ที่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีของไทย และเหตุผลอีกมากมายถูกนำมาใช้ประกอบความชอบธรรม ฯลฯ


 


ไม่ต่างอะไรกับคำสั่งแรกอันโด่งดังจาก อย.ภายใต้การปกครองของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง คือ การห้ามโฆษณาเหล้าและห้ามขายเหล้าแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากเห็นว่าเยาวชนไม่ควรดื่ม


 


ในวงเสวนาเกี่ยวกับสื่อเมื่อประมาณสองอาทิตย์ก่อน นักวิชาการด้านสื่อคนหนึ่งกล่าวถึงโฆษณา "น้องปุยฝ้าย" ของบริษัทไทยประกันชีวิตอันลือลั่นว่า เธอไม่พอใจโฆษณาชุดนี้ เพราะเห็นว่าหากพ่อทุกคนอภัยให้กับลูกที่ท้องก่อน "วัยอันควร" จะทำให้เด็กๆ เอาอย่าง ท้องก่อนแต่งกันแบบในหนังโฆษณาบ้าง


 


เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน สนช. ผ่านวาระแรกรับร่าง พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดโทษแก่ผู้ให้บริการอินเตอร์เนต (ไอเอสพี) หรือเจ้าของเว็บไซต์ที่ปล่อยให้มีข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงของ "ชาติ"


 


อาทิตย์ที่ผ่านมา ประเด็นหวยบนดินกลายมาเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ผู้ที่ออกมาคัดค้านการทำหวยบนดินให้ถูกกฎหมายให้เหตุผลว่า การซื้อหวยเสี่ยงโชคนั้นเป็นเรื่องมอมเมาประชาชน ทำให้ประชาชนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย


 


นโยบายหรือแนวคิดต่างๆ ของกลุ่มผู้มีอำนาจหรือปัญญาชนของไทย ที่หวังดีต่อประชาชนเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหาที่อาจตามมาหากเยาวชนดื่มเหล้า มีเว็บไซต์ "ไม่พึงประสงค์" หรือต้องหมดตัวไปกับหวย


 


ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือแนวคิดเหล่านั้นอาจงงงวยว่า กฎต่างๆ เหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไรบ้าง และแม้ว่า การป้องกันอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยหยุดไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นได้ แต่จะแน่ใจได้เพียงไรว่า วิธีเหล่านั้นจะเพียงพอต่อการป้องกัน และครบถ้วนพอที่จะปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากสิ่งที่อาจเกิดตามมา


 


ไม่มีใครบอกว่า หากอยากดื่มเหล้าโดยที่ไม่ต้องเมาหรือเมาแล้วกลับบ้านปลอดภัย อ่านข้อมูลจากเว็บไซต์แล้วควรใช้วิจารณญาณ ซื้อหวยแล้วรู้จักพอ (เพียง) ต้องทำอย่างไร...มีเพียงคำสั่งห้ามกระทำ


 


วิธีหนึ่งซึ่งองค์กรด้านเอดส์หลายองค์กรใช้รณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ นอกเหนือไปจากการรณรงค์ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (ที่แสนคลุมเครือว่า แล้วจะมีได้เมื่ออายุเท่าไร) ก็คือ การให้ความรู้ถึงวิธีป้องกันตัวจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากได้พบว่า เยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงอายุที่ลดลง และแค่การห้ามแต่เพียงอย่างเดียว ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเยาวชนไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขาตลอดเวลา และที่สำคัญเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ


 


ผู้มีอำนาจในสังคมอาจหวังดีจนลืมไปว่า สิทธิของบุคคลนั้นได้รับการรับรอง ไม่มีใครสามารถบังคับใครให้ทำอะไรได้ หากสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้เป็นการละเมิดใคร (ขออนุญาตอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกฉีก-หรือแม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 17 นี้ก็ยังคุ้มครองสิทธิของบุคคลไว้)


 


ดังนั้น นอกจากข้อห้าม ข้อควรหลีกเลี่ยงทั้งหลายทั้งปวงแล้ว น่าจะมี "ข้อควรปฏิบัติ" ในกรณีที่ต้องการกระทำใน "สิ่งต้องห้าม" เพื่อให้ตัวเขาเองปลอดภัย ในนามของ "การคุ้มครองจากรัฐ" ด้วย   


 


   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net