Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย ซาเสียวเอี้ย


 


ความรุนแรงที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเข่นฆ่า ปะทะ หรือทำร้ายกันชนิดเลือดสาดกระจายให้เห็นตำตาเสมอไป...


 


ในทางตรงข้าม หนังบางเรื่องดำเนินไปอย่างเนิบช้า และเป็นเพียงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ของใครสักคน แต่กลับมีความรุนแรงแทรกอยู่ทุกอณูบรรยากาศ จนทำให้เรารู้สึกสั่นสะเทือนและหนาวเยือกไปถึงสันหลังโดยไม่จำเป็นต้องเห็นภาพการใช้กำลังห้ำหั่นแม้แต่นิดเดียว


 


ผลงานเรื่อง Bashing ของผู้กำกับ Masahiro Kobayashi ก็เป็นหนึ่งในหนังประเภทที่ว่า... 


 



 


น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบ:


ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 6 เดือนก่อน ยูโกะตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อเธอถูกกองกำลังไม่ทราบชื่อในตะวันออกกลางจับเป็นตัวประกัน และกองกำลังดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่อันตรายนั้น


 


เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา ยูโกะถูกส่งกลับญี่ปุ่นทันที แต่สิ่งที่รออยู่ ณ บ้านเกิดเมืองนอน ไม่ใช่การต้อนรับเพื่อปลอบประโลมคนที่กำลังขวัญเสีย แต่เป็นคำประณามที่ยูโกะเข้าไปเสี่ยงอันตรายในตะวันออกกลางโดยไม่มีใครร้องขอ... หรือถ้าจะพูดกันตรงๆ คือยูโกะ "แส่หาเรื่อง" ด้วยตัวเองแท้ๆ


 


จดหมายข่มขู่และโทรศัพท์ลึกลับถูกส่งมาที่บ้านของยูโกะไม่เว้นแต่ละวัน พร้อมกับคำต่อว่ายูโกะว่าเป็น "ความอับอายขายหน้า" ของประเทศญี่ปุ่น


 


ในเวบบอร์ดต่างๆ เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกรูปแบบที่ประณามการกระทำของยูโกะ และเจ้านายของเธอก็ใช้มันเป็นเหตุผลในการไล่เธอออกจากงาน


 


ไม่เพียงแต่ยูโกะเท่านั้น พ่อของเธอก็ถูกบีบให้ลาออกจากงานที่ทำมากว่า 30 ปี เพียงเพราะมีโทรศัพท์และจดหมายข่มขู่มาที่บริษัทต้นสังกัดที่ว่าจ้างให้ "พ่อของคนที่ทำให้ญี่ปุ่นอับอายขายหน้า" ทำงานอยู่


 


สังคมญี่ปุ่นทวงถามความรับผิดชอบจากยูโกะ และมองว่าการที่เธอไปเป็นอาสาสมัครในตะวันออกกลางคือการทำตามใจตัวเอง แต่รัฐบาลและคนทั้งประเทศกลับต้องพลอยเดือดร้อนไปกับการกระทำของเธอ และต้องไปต่อรองกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทำให้คนทั่วโลกมองว่าญี่ปุ่นไม่สามารถจัดการให้คนของตัวเองอยู่ในโอวาทได้ สิ่งที่ยูโกะต้องจ่ายเมื่อกลับสู่สังคมญี่ปุ่นจึงเป็นราคาที่หนักหน่วงเหลือเกิน...


 


เหตุการณ์ต่อไปนี้เป็น "เรื่องสมมติ"


 


วันซวย:


บรรยากาศภายในห้องเตรียมอุปกรณ์ของพนักงานทำความสะอาดดูตึงเครียดขึ้นทันทีที่ ยูโกะ ก้าวเข้าไป คำกล่าวทักทายอรุณสวัสดิ์ของเธอถูกปล่อยให้เลือนหายไปในอากาศ...


 


ยูโกะทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างเงียบเชียบ ไม่มีบทสนทนาระหว่างเธอและเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งหัวหน้างานเรียกไปพบและบอกว่า "ต่อไปเธอไม่ต้องมาทำงานที่นี่อีกแล้ว" จากนั้นเขาก็ยื่นซองใส่เงินค่าจ้างมาให้


 


ใช่...เธอถูกไล่ออก...


 


000


 


เมื่อจอดจักรยานหน้าร้านสะดวกซื้อเรียบร้อยแล้ว ยูโกะเดินเข้าไปสั่งซื้อโอเด้งราคาถูกใส่กล่อง เพื่อเอากลับไปกินที่บ้านตามประสาคนตกงาน ขณะเดียวกัน เด็กวัยรุ่น 3 คนที่วนเวียนอยู่ในร้านก็พยักเพยิดให้กันเมื่อเห็นยูโกะ


 


ดูเหมือนพวกเขาจะจำหน้าเธอได้ พวกเขาเดินตามยูโกะออกไปหน้าร้าน และกระชากกล่องอาหารที่เธอซื้อมาทุ่มลงกับพื้น กระทืบจนมันแหลกเละ ก่อนจะเดินหัวเราะร่วนจากไป


 


000


 


ยูโกะเปิดประตูเข้าไปในบ้านพักอย่างโมโห แม่เลี้ยงหันหน้ามาถามไถ่อย่างเป็นห่วง ยูโกะชูถุงโอเด้งอันแหลกเหลวที่เธอถือติดมือมาด้วยให้ดูแต่ไม่พูดอะไร


 


โทรศัพท์ดังขึ้นขณะที่ยูโกะซุกตัวอยู่บนที่นอน ไม่มีใครในบ้านรับสาย เครื่องตอบรับโทรศัพท์ทำงานของมันโดยอัตโนมัติ


 


เสียงผู้ชายจากปลายสายดังขึ้นพร้อมประโยคคุกคาม "...แกคิดว่าสิ่งที่แกทำมันถูกต้องแล้วเรอะ!"


 


000


 



 


การรอคอยอันแสนทรมาน:


ในหนังเรื่องนี้ ไม่มีการพูดถึงหรือทำให้คนดูเห็นถึงฉากที่ยูโกะถูกจับเป็นตัวประกันในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกมองว่าอันตรายและเต็มไปด้วยความรุนแรง สิ่งที่ทำให้เรารับรู้ว่ายูโกะเคยผ่านเหตุการณ์ถูกจับเป็นตัวประกันมาก่อน มีเพียงคำพูดจากปากคนรอบตัวยูโกะเท่านั้น แต่ในประเทศที่ติดอันดับว่ามีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ครอบครัวของยูโกะกลับถูกคุกคามอย่างเลือดเย็นและโหดร้ายยิ่งกว่าความตายจากสงครามในตะวันออกกลางเสียอีก


 


โทรศัพท์ลึกลับทำให้ทุกคนในบ้านประสาทเสีย และครอบครัวของยูโกะก็ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักไปตลอดกาลเพราะความกดดันที่ได้รับ การทวงถามความรับผิดชอบจากครอบครัวของเธอ โดยอ้างถึงความสำนึกในบุญคุณของประเทศชาติและรัฐบาล รวมถึงทหารญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่ยูโกะถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไม่ตั้งใจ จึงเป็นคำถามโหดร้ายที่สุดที่ถูกโยนใส่หน้ายูโกะ และเรียกได้ว่านั่นคือการคุกคามที่ได้ผลรุนแรงที่สุด


 


ปฏิกิริยาตอบโต้ของยูโกะที่มีต่อเรื่องนี้คือการนิ่งเฉยและสวมหน้ากากอันเย็นชา จนเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอคิดอย่างไรอยู่ คนดูหลายคนอาจรู้สึกขัดใจที่ยูโกะไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือทำอะไรสักอย่างเป็นการตอบโต้ผู้คนรอบข้างที่ใช้ทั้งการกระทำและคำพูดเพื่อทำร้ายเธอ แต่ดูเหมือนว่า ผู้กำกับมาซาฮิโร่ โคบายาชิ จงใจใช้ความนิ่งและเหตุการณ์ซ้ำซากบีบคั้นให้คนดูรู้สึกอึดอัดไปกับชะตากรรมของยูโกะที่ผ่านคืนวันแต่ละวันไปอย่างช้าๆ


 


และในความเชื่องช้าที่ถ่ายทอดออกมานั้น เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทีละนิดผ่านพฤติกรรมเดิมๆ ของยูโกะ พอๆ กับที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงความหนักหน่วงที่ทับถมลงมาในจิตใจ รอเวลาระเบิดมันออกมา...


 


แม้จะดูมึนงง ไม่แน่ใจ และมีสีหน้าที่ใครๆ ก็เดาอารมณ์ไม่ค่อยจะถูก แต่เราก็ได้เห็นยูโกะสวมเสื้อสีแดงสดใสเป็นครั้งแรกในหนัง (แทนที่จะใส่เสื้อดำทึบทึมที่เคยใส่ประจำ) เมื่อเธอปั่นจักรยานไปหาคนรักที่ไม่ได้คุยกันอย่างจริงๆ จังๆ มานานกว่า 6 เดือน เพียงเพื่อจะพบว่า สิ่งที่เธอไม่ต้องการเผชิญหน้า ได้เกิดขึ้นและดำเนินอยู่โดยที่เธอไม่อาจหลีกเลี่ยง


 


หรือแม้แต่ฉากในวัดที่ยูโกะนั่งนิ่งฟังเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์โดยไม่ขยับเขยื้อน แม้ว่านั่นจะเป็นงานศพของคนที่รักและคอยให้กำลังใจเธอมาตลอดก็ตามที เธอกลับไม่มีน้ำตาไหลออกมาให้ใครเห็น แต่มุมปากและหนังตาที่กระตุกจนบิดเบี้ยวบ่งบอกถึงความกดดันอันใกล้จะถึงขีดสุดของคนหนึ่งคนแล้ว


 


น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อยูโกะรับรู้และเชื่อมโยงได้ถึงความรู้สึกของแม่เลี้ยง ผู้เป็น "ครอบครัว"เพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ คือกุญแจไขไปสู่โลกของยูโกะ และทำให้เรารับรู้และเข้าใจเช่นกันว่าแท้จริงนั้น ยูโกะรู้สึกรู้สากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่แสดงออกมาให้ตาเห็นมากนัก


 


เหตุการณ์ต่อไปนี้ "เกิดขึ้นจริง"


 


เธอชื่อ "นาโฮโกะ ทาคาโตะ"


ตัวประกันหญิงชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกกองกำลังไม่ทราบชื่อในอิรักจับไปเป็นตัวประกันเมื่อเดือนเมษายน ปี 2004 มีชื่อว่า "นาโฮโกะ ทาคาโตะ" เป็นอาสาสมัครลำเลียงยาช่วยเหลือให้แก่เด็กและชาวอิรักที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่


 


เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอโด่งดังไปทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิซูมิ ได้กล่าวในทำนองตำหนิว่าการถูกจับไปเป็นตัวประกันครั้งนี้เป็นความผิดของเธอด้วยที่เข้าไปยังพื้นที่อันตราย ทั้งที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศเตือนแล้ว


 


เมื่อกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เธอได้รับจึงได้แก่ถ้อยคำตำหนิติเตียนต่างๆ นานา เช่นเดียวกับนักศึกษาวัย 18 ปี ที่ไปศึกษาเรื่องผลกระทบจากยูเรเนียมที่มีต่อมนุษย์ และช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่ทำงานที่อิรักก็ถูกจับเป็นตัวประกันในช่วงเวลาเดียวกันเธอ ทั้งสามคนตกเป็นเป้านิ่งให้พวกอนุรักษ์นิยมใหม่ในญี่ปุ่นด่าว่าพวกเขาคือตัวทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ และเหตุการณ์นี้ก็สร้างความงุนงงให้คนทั่วโลกที่ไม่เข้าใจจนแล้วจนรอดว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้จงเกลียดจงชังทั้ง 3 คนที่เป็น "เหยื่อสงคราม" ได้ขนาดนั้น


 


สุดท้าย นาโฮโกะก็กลับไปยังพื้นที่ตะวันออกกลางที่ใครๆ ก็มองว่าอันตรายที่สุด และทำหน้าที่อาสาสมัครต่อ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าเธอยังอยู่ที่ญี่ปุ่น เธอก็เป็นเพียงคนไร้ค่าคนหนึ่งที่ใจแตกเสียคนไปเมื่อตอน ม.ปลาย ก่อนจะกลับตัวกลับใจมาเปิดร้านคาราโอเกะของตัวเองเมื่อเข้าวัยสามสิบต้นๆ และใช้ชีวิตว่างเปล่าไปวันๆ


 


แต่ถ้าอยู่ที่ (อิรัก) นั่น...เธอสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่เธอทำมีความหมายต่อชีวิตคนทั้งชีวิต นาโฮโกะจึงตัดสินใจกลับไปอิรักอีกครั้ง เพื่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กข้างถนนในอิรักให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาและทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้ [1]


 


000


 



 


ความคิดที่นาโฮโกะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศ จึงไม่แตกต่างจากเหตุผลของ "ยูโกะ" ในหนังเรื่องนี้ที่รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองถูกเติมเต็มเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น และทำให้รู้สึกถึงความมีคุณค่าในการ


ดำรงอยู่ของตัวเอง...


 


แม้ว่าเหตุผลในการช่วยเหลือคนอื่นของยูโกะจะเป็นเพียงการทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี แต่มันก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่กับความไม่แน่ใจไปวันๆ


 


การตั้งคำถามว่าถ้าหากเธอต้องการเป็นอาสาสมัครหรือต้องการทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ทำไมต้องอุทิศตนให้ "คนอื่น" หรือ "สังคมอื่น" ที่อยู่ห่างไกลถึงตะวันออกกลาง และการทวงถามความรับผิดชอบของยูโกะในฐานะ "คนญี่ปุ่น" ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า "สังคมญี่ปุ่น" ควรจะหันกลับมาสำรวจตัวเองในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของโลกกันบ้าง แทนที่จะแยกตัวออกห่างเพราะคิดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันเลย


 


การมองโลกแบบแยกส่วน ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เข้าใจความรู้สึก "เชื่อมโยง" ที่ยูโกะมีต่อเด็กๆ ชาวตะวันออกกลางที่เธอเดินทางไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอต้องกลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน สังคมญี่ปุ่นไม่เคยมองตัวเองที่กีดกันและไม่เคยทำให้ยูโกะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเลย


 


ชีวิตของยูโกะเป็นชีวิตที่ไม่ได้ "มาตรฐาน" ไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชอบเก็บตัว เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบเอ็นท์ไม่ติด ขาดบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และล้มเหลวทางการสื่อสารความคิดกับคนรอบข้าง สังคมญี่ปุ่นจึงกีดกันเธอออกไปเป็นคนวงนอกที่ไม่ผ่านกลไกการคัดเลือกต่างๆ จนสามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่มีใครคิดที่จะรับรู้หรือเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในใจของยูโกะเลย


 


เมื่อตัวตนของเธอถูกปฏิเสธจากสังคมญี่ปุ่น ยูโกะจึงต้องดิ้นรนตามหาดินแดนที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าให้ได้ และบังเอิญว่าที่แห่งนั้นคือตะวันออกกลางที่กำลังลุกเป็นไฟ


 


ความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้นทางกายภาพ อาจจะมีผลต่อจิตใจของยูโกะน้อยกว่าการเป็นส่วนเกินของสังคมที่สงบเงียบแต่เต็มไปด้วยความเย็นชาไร้หัวใจ...


 


คำบอกเล่าตรงไปตรงมาที่ยูโกะพูดกับแม่เลี้ยงในตอนท้ายของ Bashing จึงเป็นประเด็นที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ และน้ำหนักในการวิพากษ์เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้ถูกเน้นย้ำมากเท่ากับการบอกว่าสังคมที่พยายามคัดทิ้งคนที่แตกต่างและไม่เข้าพวกออกไปอยู่นอกวงตลอดเวลา เป็นสังคมที่โหดร้ายทารุณยิ่งกว่าสังคมที่มีการฆ่าฟันให้เห็นกันตรงๆ เสียอีก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net