Skip to main content
sharethis

รายงานโดย ชลิตา บัณฑุวงศ์


 


 


นักศึกษาไทยในเมืองซีแอตเติ้ล รัฐวอชิงตัน ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองคัดค้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในบริเวณงานปราศรัยของสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะ ท่ามกลางการขัดขวางและความไม่พอใจของคณะผู้จัดงาน ด้านสนธิ ลิ้มทองกุล ยืนยันจะเข้าใจรัฐประหารต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ด้วย


 


ซีแอตเติ้ล วอชิงตัน : เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะ ได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน เพื่อปราศรัยในหัวข้อ "เหตุการณ์ก่อนและหลังปฏิรูป การคอรัปชั่น และประชาธิปไตยในเมืองไทย" โดยมีชาวไทยในเมืองซีแอตเติ้ลเข้าร่วมราว 200 คน และมีชาวอเมริกันเข้าร่วมประปราย


 


นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวว่าตนยืนหยัดอยู่บนหลักการของธรรมมะและการไม่ยึดติดในลาภยศและทรัพย์สมบัติในการต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นายสนธิได้กล่าวถึงเหตุผลที่ตนสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลทักษิณในช่วงแรกว่า ตอนนั้นตนสิ้นหวังกับรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ดำเนินการต่างๆ เชื่องช้า ประกอบกับพรรคไทยรักไทยมีนโยบายที่ดีและมีคนดีๆ เข้ามาร่วมรัฐบาลมาก


 


อย่างไรก็ตาม ต่อมาตนสำนึกได้ว่า รัฐบาลทักษิณได้กระทำผิดอย่างมากมาย และรู้สึกละอายแก่ใจตนเองที่คอยปกป้องคนชั่ว ดังนั้นตนจึงเริ่มนำข้อมูลการกระทำผิดของรัฐบาลทักษิณมาเปิดเผยต่อประชาชนผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนกระทั่งรายการถูกปลดออกจากผังรายการของช่อง 9 ในทีสุด


 


นายสนธิกล่าวว่ารัฐบาลทักษิณได้ฉีกรัฐธรรมนูญหรือยึดอำนาจอย่างเงียบๆ ไปแล้วก่อนการรัฐประหารด้วยการเข้าควบคุมองค์กรอิสระอย่าง ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ผูกขาด และควบคุมครอบงำข้อมูลข่าวสารต่างๆ ต่อประชาชน ดังนั้น การจะเข้าใจรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงต้องเข้าใจถึงประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณด้วย


 


นายสนธิยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่เป็นอิสระในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน พร้อมทั้งกล่าวว่า การกาบัตรเลือกตั้งในช่องไม่เลือกใคร (NO VOTE) ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 10 กว่าล้านเสียงได้ก็เพราะการทำงานของ ASTV พร้อมกันนี้ นายสนธิและคณะยังได้นำหุ้น ASTV และหนังสือ "ปรากฎการณ์สนธิฯ" มาจำหน่ายแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย


 


อนึ่ง ในงานครั้งนี้ได้มีนักศึกษาไทยในเมืองซีแอตเติ้ลใช้ชื่อว่า "All the People"s Man Group" มาตั้งโต๊ะคัดค้านการรัฐประหาร โดยได้ปิดโปสเตอร์บริเวณโดยรอบงานมีข้อความว่า "หยุดให้ความชอบธรรมแก่รัฐประหาร" "ไม่มีข้อแก้ตัวแก่การทำรัฐประหาร" และ ""รัฐประหาร" ไม่ใช่ "การปฏิรูป"" พร้อมกับได้แจกจ่ายเอกสารชื่อ มายาคติ 9 ประการเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน


 


เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาโดยรวมว่ารัฐประหารได้ขัดขวางและทำลายกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย รวมทั้งไม่ได้ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และปัญหาที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลทักษิณ อันได้แก่ การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาชายแดนภาคใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเปิดเสรีการค้า อีกทั้งการรัฐประหารก็ไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ/เอกสารแนบ)


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายการุณ ใสงาม ผู้ปราศรัยอีกท่านหนึ่ง จะกล่าวต่อผู้ฟังว่า พวกตนไม่ได้สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่คณะผู้จัดงานกลับขับไล่และขัดขวาง "All the People"s Man Group" ไม่ให้แจกเอกสารแก่ผู้เข้าร่วมงานโดยสะดวก และต้องย้ายโต๊ะคัดค้านออกจากบริเวณล็อบบี้หน้าห้องประชุมมายังด้านนอกประตูทางเข้าอาคารที่มืดและมีอากาศหนาวเหน็บยิ่ง


 


ในขณะที่นักศึกษาหญิงไทยคนหนึ่งกำลังแจกเอกสารในบริเวณล็อบบี้ให้แก่ผู้เข้าร่วมนั้น คณะผู้จัดงานบางคนได้เดินตามเข้ามาต่อว่านักศึกษาคนดังกล่าวว่า ไม่รักชาติ และเสียแรงที่เป็นคนไทย พร้อมทั้งประกาศให้ผู้เข้าร่วมนำเอกสารได้รับไปทิ้งถังขยะ นอกจากนั้น คณะผู้จัดงานยังได้ส่งคนไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้กว้างขวางแห่งเมืองซีแอตเติ้ลมาเจรจากับกลุ่ม รวมทั้งได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ (UWPD) ว่ามีผู้มาก่อกวนการจัดงาน


 


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้กว้างขวางคนดังกล่าวและเจ้าหน้าตำรวจได้พูดคุยกับกลุ่มก็เกิดความเข้าใจและเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิบไตย  "All the People"s Man Group" จึงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อจนกระทั่งจบรายการท่ามกลางความไม่พอใจของคณะผู้จัดงาน


 


 


 0 0 0


 


มายาคติ 9 ประการเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549



มายาคติ 1 : รัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง
ที่อาจนำไปสู่การนองเลือด
ข้อโต้แย้ง: ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสิ่งธรรมดาในทุกสังคม และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังอยู่ในวิสัยที่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การที่รัฐประหารเกิดขึ้นโดยปราศจากการปะทะและนองเลือดเป็นตัวชี้วัดภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น ฉะนั้น การทำรัฐประหารไม่เพียงแต่ไม่จำเป็น แต่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดต่างสามารถแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัยต่างชี้ว่าเหตุการณ์นองเลือดมักเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการมากกว่าในสังคมประชาธิปไตย 

มายาคติ 2 :  รัฐประหารไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยถูกทำลายไปแล้วโดย "ระบอบทักษิณ"
ข้อโต้แย้ง: ถึงแม้เงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลทักษิณ สร้างความเสียหายให้กับระบอบประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้การเมืองภาคประชาชนเติบโต สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการไปสู่สังคมประชาธิปไตย แต่รัฐประหารได้ขัดขวางขั้นตอนดังกล่าว เพราะได้ปิดโอกาสทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสถาบันหรือทางสังคม จึงเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

มายาคติ 3 : รัฐประหารเพียงหยุดประชาธิปไตยลงชั่วคราว เพื่อปรับปรุงแก้ไขวิกฤติต่างๆ แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่
ข้อโต้แย้ง: ประชาธิปไตยไม่ใช่ซีดีหรือดีวีดีที่สามารถแช่ภาพและเสียงไว้แล้วสามารถเล่นใหม่ต่อเนื่องไปได้ทุกครั้งที่ต้องการ หากแต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง การหยุดชะงักไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการที่สั่งสมมาทั้งหมด ไม่สามารถเริ่มต้นจากจุดนั้นๆ ได้ รัฐประหารจึงไม่ได้หยุดประชาธิปไตยลงชั่วคราว หากแต่ทำลายรากฐานประชาธิปไตยที่สังคมไทยร่วมกันสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเชิงสถาบัน สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ สิทธิในการจัดการทรัพยากร ฯลฯ   

มายาคติ 4 :
สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะตัว รัฐประหารจึงสามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทย
ข้อโต้แย้ง: ทุกสังคมมีลักษณะจำเพาะ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ แต่ไม่ว่าจะมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทุกสังคมประชาธิปไตยต่างไม่ยอมรับว่ารัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และแม้อาจเถียงได้ว่ารัฐประหารเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของระบอบการปกครองในสังคมไทย ก็ยังจำเป็นต้องอธิบายให้ได้ว่าสังคมไทยมีลักษณะจำเพาะอย่างไรจึงจำเป็นต้องมีรัฐประหาร ไม่ใช่ด้วยการยกเมฆเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร

มายาคติ 5 : รัฐประหารเกิดขึ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว เราจึงไม่สามารถทำอะไรกับมันได้

ข้อโต้แย้ง: รัฐประหารยังไม่เสร็จสิ้น การโค่นล้มรัฐบาลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐประหารซึ่งต้องการสถาปนาระบอบอำนาจใหม่ ฉะนั้น เราจึงสามารถมีส่วนในการยับยั้งมันได้ ทั้งด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย และด้วยการหยุดสร้างความชอบธรรมให้กับมันทั้งโดยเจตนาและอย่างรู้ไม่เท่าทัน นอกจากนี้ แม้อาจเถียงได้ว่ารัฐประหารเกิดขึ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องจำแนกถูกผิดให้ได้อยู่ดี เพราะการไม่สามารถนำฆาตกรฆ่าข่มขืนมาลงโทษได้ไม่ได้หมายความว่าฆาตกรนั้นไม่ผิด

มายาคติ 6 :
รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: รัฐบาลทักษิณอาจมีปัญหาด้านการทุจริตคอรัปชั่น แต่ต้องแก้ด้วยวิธีการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ร่วมตรวจสอบได้ ไม่ใช่ด้วยวิธีการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็น
เงื่อนไขหนึ่งที่เอื้อให้รัฐบาลทักษิณกระทำการทุจริต รัฐประหารจึงไม่เพียงแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตที่สั่งสมมา หากแต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จกระทำทุจริตเพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับการจัดการปัญหาทุจริต การที่บรรดานายทหารเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ นับเป็นสัญญาณอันตรายที่สังคมไทยพึงระมัดระวัง


มายาคติ 7 : รัฐประหารสามารถคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณจริง และก็อาจจะจริงที่นโยบายของรัฐบาลทักษิณมีส่วนทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น แต่รัฐประหารก็ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาแต่อย่างใด ท่าทีและนโยบายเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลรักษาการณ์ไม่ช่วยให้ปัญหาความรุนแรงลดลง เพราะเป็นไปได้ที่ผู้ก่อความรุนแรงจะประเมินว่ารัฐบาลรักษาการณ์ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารอ่อนแอ เพราะขาดฐานสังคมที่เข้มแข็ง ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าบรรดา "เมืองขึ้น" มักแข็งเมืองและแยกตัวเป็นอิสระเมื่อยามที่ศูนย์กลางอำนาจอ่อนแอ

มายาคติ 8 : รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: รัฐบาลทักษิณก่อปัญหาไว้ค่อนข้างมาก อาทิ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ทว่าคณะรัฐประหารไม่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศในระยะยาว อาทิ การเปิดเสรีการค้า นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมสุดโต่ง ฯลฯ กลับได้รับการสานต่อจากรัฐบาลรักษาการณ์อย่างครบถ้วน ฉะนั้น คณะรัฐประหารจึงไม่สามารถอาศัยการอาสาเข้ามาแก้ปัญหาประเทศเป็นข้ออ้างได้ และสังคมไทยก็ไม่สามารถคาดหวังอะไรจากรัฐประหารและรัฐบาลรักษาการณ์ได้เช่นกัน

มายาคติ 9 :
รัฐประหารสามารถนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
ข้อโต้แย้ง: รัฐประหารปิดประตูที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองต้องมาจากฐานสังคมในวงกว้างและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แต่รัฐประหารจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้เฉพาะในกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม และบุคคลเหล่านี้ต่างก็เป็นร่างทรงของคณะรัฐประหารเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การเสนอแนวคิดให้มีองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อทำงานเคียงคู่กับองค์กรภายใต้กำกับของคณะรัฐประหารก็เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าจะส่งผลจริงในทางปฏิบัติ เพราะการเริ่มต้นด้วยความคิดที่ผิดและดำเนินการด้วยวิธีการที่ผิด จะนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้องในบั้นปลายได้อย่างไร 


คำถามชวนคิด :
ในเมื่อรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งความคิดทางการเมือง (ซึ่งเป็นสิ่งปกติธรรมดาและรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางแก้) ไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชัน (ซึ่งเกิดขึ้นในทุกรัฐบาลและรัฐประหารก็อาจร่วมสังฆกรรมด้วยในไม่ช้า) ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้(ซึ่งต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการณ์ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) ไม่สนใจต่อปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลทักษิณก่อขึ้น (ซึ่งต้องการวิธีคิดที่แตกต่าง ซึ่งไม่สามารถแสวงหาได้จากคณะรัฐประหารและรัฐบาลรักษาการณ์) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ซึ่งหมายถึงอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำผิดอยู่ร่ำไป) และไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกล่าวอ้าง (ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดหลังรัฐบาลทักษิณเรืองอำนาจ แต่รัฐประหารกลับเป็นตัวทำลายโอกาสนั้นลง) ถ้าอย่างนั้นรัฐประหารเกิดขึ้นทำไม? เพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์จากการทำรัฐประหารครั้งนี้?


 


 


...........................................................


 


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://tinyurl.com/y5cvqt

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net