Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (8พ.ย.2549) เวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  เข้าพบ นพ.นภดล ปฏิทัศน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือขอคำชี้แจงเรื่องบุคลากรสาธารณสุขได้เข้าร่วมศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมของบริษัทอิตาเลียไทย  โดยได้มี นพ.สาธารณสุขจังหวัดมารับหนังสือและเจ้าหน้าที่ สสจ. กว่า 10  เข้ารับฟัง


 


ตามที่ได้มีความเคลื่อนไหวของบริษัทอิตาเลียนไทยดิวิล๊อปเมนต์ จำกัด  มหาชน ได้จัดตั้งบริษัทสินแร่เมืองไทย จำกัด เข้ามาซื้อกิจการบริษัทเอเซียแปซิฟิค (เอพีพีอาร์) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด  และเข้ามาดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยจัดแถลงข่าวพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีว่าจะเริ่มต้นขบวนการดำเนินโครงการใหม่โดยจะยกเลิกอีไอเอฉบับเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ไปแล้วเมื่อปี 2543 ซึ่งไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพอยู่ โดยบริษัทระบุว่าจะจัดทำรายงานใหม่เพิ่มประเด็นการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ 


 


นางจันทรา  สัตาวัน รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตัวแทนที่เข้ายื่นหนังสือ เปิดเผยว่าขณะนี้ บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัทโกลเด้นแพลน จำกัด ซึ่งได้ว่าจ้างนักวิชาการสาขาต่างๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยายาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เข้าร่วมจัดทำรายงาน อีไอเอ และให้ศึกษาผลกระทบสุขภาพ ( HIA )  ซึ่งปัจจุบันบริษัทเริ่มดำเนินการประชุม ลงพื้นที่เก็บข้อมูล


 


เช่น เมื่อประชุมเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ โดยได้เชิญนักวิชาการสาธารณสุข ในพื้นที่  อ.กุมภวาปี  กิ่ง อ.ประจักรศิปลาคม และ อ.เมือง จ.อุดรธานี  มาหารือเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ สำนักงานสาธารณะสุขอำเภอกุมภวาปี  โดยการประสานงาน ในนามคณะสาธารณสุขมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยรับใช้นายทุน   


 


นางจันทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้เกิดความสับสนเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลมาก เพราะได้มีการนักศึกษาปริญญาโท มข. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล มีบุคคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบางรายได้ใช้เวลาราชการเข้าร่วมรับจ้างจัดทำรายงานกับบริษัท ซึ่งกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสมที่เป็นข้าราชการแต่รับจ้างบริษัท แทนที่จะดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดิน ในพื้นที่ขนาดใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี  และที่ผ่านมาได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพของนักวิชาการ และประชาชน  ซึ้งดำเนินการแล้วเสร็จแล้วโดยการสนับสนุนงบประมาณ ของสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข โดย สสจ.ก็ได้ให้ความร่วมมือในการจัดทำรายงานนั้นด้วย  จึงได้มาพบ นพ.สสจ. ในวันนี้เพื่อขอให้ชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยในหนังสือระบุข้อเรียกร้อง


 


1.       ให้ชี้แจงข้อมูลว่าข้าราชการ หรือบุคลากรในจังกัดสำหนักงานสาธารณะสุขจังหวัดอุดรธานี  มีใครบ้างที่เข้าร่วมและอย่างไร


2.       ขอให้ข้าราชการสาธารณสุข  และบุคลากร  ด้านสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ถอนตัวออกจากขบวนการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  ที่บริษัทเจ้าของโครงการว่าจ้าง 


3.       ขอให้ทำการศึกษาข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  และจัดเวทีให้ประชาสังคมอุดรธานีเพื่อให้ข้าราชการมีความรู้และเท่าทันสถานการณ์ จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนายทุน  เพื่อสร้างภาพการมีส่วนร่วมของขบวนการ "รับจ้าง" ของ "นักวิชาการมือปืนรับจ้าง"  อีกต่อไป


 


นายชาตรี  สองศรี  นักวิชาการสาธารณสุข 7 เปิดเผยว่า  ตนได้รับหนังสือจากคณะสาธารณะสุข  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประสานงานขอให้เขาร่วมเวทีศึกษาผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 3  อำเภอคือ  อำเภอเมือง  อำเภอกุมภวาปี  กิ่ง อำเภอประจักรศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี  ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะเป็นการวิจัยเรื่องผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช  เพราะในหนังสือไม่ได้ระบุ แต่เมื่อไปร่วมแล้วปรากฏว่าเมื่อ ผศ.ดร.ประจักษ์  บัวผัน หัวหน้าโครงการวิจัยแนะนำโครงการแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ได้นำเสนอข้อมูลเทคนิคการทำเหมืองแร่โปแตช  ตนจึงได้รู้ว่าเป็นการศึกษาเรื่องโปแตช และในวันนั้นก็เป็นการนำเอาแบบสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพมาให้นักวิชากรให้ความเห็น และมีนักวิชาการสาธารณสุขเข้าร่วมประมาณ 30 คน  และหลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อมาแต่อย่างใด


 


ด้าน นพ. นพดล  ปฏิทัศน์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี  กล่าวว่า   ที่ผ่านไม่มีการประสานงานขอความมือมายัง สสจ.  แต่เป็นการต่อตรงเป็นรายบุคคล  ตนเพิ่งทราบรายละเอียดวันนี้ และสอบถามเจ้าหน้าที่ก็ทราบว่าหลายคนมีความรู่สึกอึดอัด เพราะเป็นการประสานความร่วมมือจาก คณะสาธารณสุข มข. หน่วยงานต่อหน่วยงานก็ต้องให้ความร่วมมือ  แต่ตนยืนยันว่า ไม่ใช่ความร่วมมือระหว่าง สสจ. กับ มข. และหลักการทำงานของ สสจ. จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน  ถ้ามีผลลบก็ไม่สนับสนุน  และถ้ามีการประสานงานมาในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จะต้องประสานผ่านไปที่กระทรวงสาธารณสุข สสจ. และบุคคลากรของ สสจ.จะร่วมก็ต่อเมื่อเป็นการศึกษาที่มีขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงทุกภาคส่วน  ไม่ใช่แอบทำเพราะถ้าแอบทำทำเสร็จก็จะไม่ได้รับการยอมรับเหมือนเดิม  ก็ไม่มีประโยชน์  และตนจะย้ำเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ศึกษารายละเอียดโครงการให้ดีก่อน มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ให้กว้างขวางตามสื่อต่าง ๆ


 


นพ.นพดล  กล่าวเพิ่มเติมว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้มแข็ง  และตนก็เชื่อว่าชาวบ้านคิดได้เองว่าอะไรดีไม่ดี ประชาชนต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อประสานกำลัง  เปิดใจกว้างยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น  ถ้าชุมชนเข้มแข็งก็ไม่มีใครทำอะไรได้ 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net