Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 - 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (AIDSNet) รงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนภาคเหนือ กองทุนโลก (GFATM)

และคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาเยาวชนด้านเอดส์


ภาคเหนือ "เพิ่มเสียงเยาวชนสู่การเปลี่ยนแปลง" ขึ้นที่โรงแรมเดอะแฟมิลี่ ถ.มหิดล อ.เมือง จ.เชียงใหม่


 


ในเวทีการประชุมครั้งนี้ มีเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนจาก 10 จังหวัด กว่า 250 คน มาระดมปัญหาด้านการมีเพศสัมพันธ์และการติดเอดส์ในวัยรุ่น ในพื้นที่แต่ละจังหวัด การสร้างความรู้ความเข้าใจในการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องของวัยรุ่นและนำเนื้อจากการอบรมเสนอในเวทีใหญ่ในด้านเอดส์ รวมถึงผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายระดับชาติ


 


นายประมวล โกวิทชัยวิวัฒน์ ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน กล่าวว่าต้องการนำปัญหาเอดส์ที่เกิดขึ้นมารวบรวม ให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานระหว่างเครือข่ายของเยาวชน ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่จังหวัดตัวเองและนำเสนอเป็นกฎหมายในด้านเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ปัญหาเอดส์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังไม่เดินหน้าไปไกล เพราะผู้ใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร มีการระบุว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่มีวิธีการในการเข้าถึงวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ ให้ปลอดจากโรคทุกพื้นที่


 


นายประมวล กล่าวว่า อัตราการติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น มีแนวโน้มมากกว่าหญิงขายบริการ ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ทำการทดลอง โดยการแจกถุงยางอนามัย 500 ชิ้น ไปวาง 2 แห่งคือ เครือข่ายเยาวชนและสถานีอนามัยแล้ววัดผลใน 1 เดือน ในเครือข่ายเยาวชน ถุงยางอนามัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่สถานีอนามัยเหลือเท่าเดิม แสดงให้เห็นว่า การทำงานโดยองค์กรของรัฐ ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากการไปรับถุงยางอนามัย ต้องมีการเซ็นชื่อกำกับ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องเซ็นชื่อ และยังทำเหมือนโจทย์กับจำเลย จึงเป็นสิ่งที่กีดกั้นด้านเครื่องมือป้องกันโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ทางหนึ่ง


 


"สมัยก่อน เด็กอายุ 14 - 15 มีครอบครัวและอยู่กินกับแบบสามี ภรรยา แต่เด็กปัจจุบัน มีแฟน แต่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เห็นว่ายังไม่เหมาะไม่ควร แต่เรื่องอย่างนี้น่าจะเป็นเรื

่องของยุคสมัยมากกว่า ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของเด็กด้วย "


 


ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เครือข่ายฯ ได้ผลักดันให้เกิดการผลิตถุงยางอนามัย ชื่อ "อุ๊บ" ซึ่งมีราคาถูก เพื่อจำหน่ายให้กับวัยรุ่น และก่อตั้งแหล่งบริการที่เป็นมิตร มีกิจกรรมให้เยาวชน เช่น การแจกถุงยาง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขณะนี้มีอยู่ 150 ศูนย์ มีเครือข่ายกว่า 3,000 คนในภาคเหนือตอนบน เฉพาะในเชียงใหม่มีจำนวน 50 ศูนย์ โดยปีหน้าจะผลักดันอีกกว่า 100 ศูนย์ และจะ เสนอแนวทางการทำงาน ผ่านกระทรวงสาธารณะสุขและจากเวทีระดับภาคสู่ระดับชาติ ซึ่งจะเป็นประเด็นใหญ่ที่เป็นประเด็นปัญหาของเยาวชน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังมากกว่า


 


นายณัฐพล ปันทการ อายุ 17 ปี หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายกลุ่ม อาร์ทีเค จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเยาวชน ได้ทราบปัญหาของเพื่อนในโรงเรียนหลากหลาย โดยในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 จะมีปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3,4 จะก้าวเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์ และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ,6 จะมีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่เรียนหนังสือ ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ถุงยางอนามัย ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ไว้ใจกัน รีบ เป็นต้น


 


ทั้งนี้ กลุ่มสมัชชาเยาวชนด้านเอดส์ ภาคเหนือผล ได้ตั้งความหวังไว้ว่า การเปิดระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ คาดว่าเยาวชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่างๆแผน นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเอดส์ เพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ และเยาวชนที่ทำงานด้านเอดส์ในภาคเหนือได้แลกเปลี่ยนการทำงานด้านเอดส์ เพศศึกษาของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งยังช่วยให้เยาวชนได้ตระหนักและนำเสนอบทเรียน ประสบการณ์การทำงาน แก่สาธารณชนให้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการป้องกัน เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับเด็กและเยาวชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net