Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 ต.ค.2549  ที่บ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้มีการเปิด "คลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย"  โดยมีตัวแทนภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสัญชาติและสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมงานกันคับคั่ง


 


นายไสแดง แก้วธรรม ตัวแทนชาวบ้านแม่อาย และผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย กล่าวว่า เป็นความต้องการของชาวบ้านและคณะทำงานโครงการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์การทำงานในด้านสิทธิของชาวบ้าน ทั้งคนทำงานและชาวบ้านสามารถเข้ามาทำงานและเข้ามาขอคำปรึกษาในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิสถานะบุคคลให้เข้าตามช่องของกฎหมายได้อย่างถูกต้อง


 


"ที่ผ่านมา พวกเราและเจ้าหน้าที่ได้มีการออกไปสำรวจเก็บข้อมูลทุกวันและพยายามประสานงานยื่นเรื่องไปยังอำเภอ ซึ่งตอนนี้กลุ่มชาวบ้านที่เคยถูกเพิกถอนสัญชาติไทยทั้ง 1,243 คน ก็ได้รับคืนสัญชาติ กลับเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านได้เกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกบางส่วน เนื่องจากชาวบ้านบางคน บางครอบครัวนั้นอยู่ห่างไกล ติดต่อลำบาก กำลังเร่งประสานให้ความช่วยเหลือเขาอยู่" นายไสแดงกล่าว


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการถอดสัญชาติแม่อายนั้นถือว่าเป็นปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน อำเภอกับชาวบ้าน รัฐกับชาวบ้าน แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็จบลงด้วยความเข้าใจ ซึ่งการเปิดคลินิกกฎหมายชาวบ้านนี้เพื่อที่ต่อไปชาวบ้านจะต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงเรื่อง กฎหมาย สิทธิของตนเองไปด้วย เพราะผู้ที่รักเรามากที่สุดก็คือตัวเราเอง


 


ด้านนายแสวง กาศรีวิชัย ปลัดอำเภอแม่อาย ฝ่ายทะเบียนและบัตร กล่าวว่า ปัญหาการคืนสัญชาติให้กับชาวบ้านแม่อายเป็นไปล่าช้านั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนนายอำเภอ และปลัดอำเภอที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียนและบัตร ซึ่งล้วนต่างย้ายเข้ามาปฏิบัติงานกันใหม่ทั้งหมด เมื่อย้ายเข้ามาก็ต้องมาเริ่มต้นรื้อเริ่มต้นกันใหม่ รวมทั้งเมื่อมีคำสั่งจากข้างบนให้มีการปรับเปลี่ยนเอกสารทะเบียน ก็ต้องมีการยกเลิกเอกสารชุดเดิม


 


"ตอนนี้ เราพยายามเร่งทำงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นความสำคัญที่เด็กนักเรียนก่อน เพราะต้องเรียนต่อ ต้องออกไปทำงาน ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ทั้งฝ่ายอำเภอและชาวบ้านไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันแล้ว" ปลัดอำเภอแม่อายกล่าว


 


นายทรงทรัพย์ พิริยคุณธร นายอำเภอแม่อาย กล่าวในงานเปิดคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย ว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เรื้อรังหมักหมม และหลังจากมีการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้กรมการปกครอง ดำเนินการคืนสัญชาติให้กับชาวบ้านทั้ง 1,243 คนนั้น ในส่วนของอำเภอแม่อาย ก็ได้เร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ล่าช้าก็เพราะว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องการตรวจสอบ รวมทั้งทางอำเภอติดขัดในเรื่องงบประมาณและเจ้าหน้าที่บุคคลากรในการทำงานไม่เพียงพอ จึงทำให้การทำงานล่าช้า


 


"ในขณะนี้ได้ทำการคืนสัญชาติให้เกือบครบแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 7 คน ที่มีการตกหล่น และกำลังดำเนินการอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีเด็กจำนวนร่วม 2,000-3,000 คน ที่ตกหล่น ยังไม่ได้แจ้งเกิด ทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นคนไม่มีสถานะ ทั้งที่พ่อแม่ของเด็กนั้นมีบัตร มีสถานะเป็นคนไทยชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผมตั้งเป้าเอาไว้ภายใน 3 ปี จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการให้แล้วเสร็จ" นายอำเภอแม่อายกล่าว


 


ด้าน นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีการเปิดคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย และเปิดห้องเรียนกฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้กับชาวบ้านแม่อายในครั้งนี้ ปัญหาแม่อายทั้งหมดที่ผ่านมา คงจะเป็นบทเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นในศึกษาเรียนรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เกียรติ ศักดิ์ศรี ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนทั่วไปในสังคม


"ต่อไปชาวบ้านไม่ต้องกังวล และนับจากนี้ นอกจากที่เราจะต้องดูแลตนเองแล้ว ในส่วนของราชการก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน หากมีนโยบายไม่ชอบมาพากล ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรมิชอบ ชาวบ้านก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้" นางจิราพรกล่าว


 


นอกจากนั้น รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยังได้กล่าวในเวทีประชุมทางวิชาการ เรื่อง การถอดประสบการณ์และการระดมความคิดเห็นในการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะและสิทธิบุคคลของเด็กเยาวชน คนไร้สัญชาติ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขึ้นที่ห้องประชุม โรงแรมท่าตอนชาเล่ท์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


 


โดยในตอนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการ รองเลขาธิการ สมช.ได้กล่าวขอโทษต่อคนแม่อายว่า ขอยอมรับผิดทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ และคิดว่าคงจะต้องรับผิดชอบในส่วนการดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากว่า ครม.ชุดที่แล้ว ได้มีมติอนุมัติให้เร่งทำการสำรวจ แต่ไม่ได้เร่งรัดอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงาน ทั้งๆ ที่เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสิทธิทางการศึกษา สิทธิการเกิด การเดินทาง การรักษาพยาบาล เรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ สมช.ชัดเจน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่จำเป็นตามหลักของมนุษยธรรม


 


"การจัดเวทีครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการกระตุ้นการทำงานของภาครัฐ และขอยอมรับผิดแทนภาครัฐด้วย และหวังว่าทุกคนคงให้อภัย" รองเลขาการสมช.กล่าว


 


 


 


 


ข่าวประกอบ


ศาลปกครองตัดสินชาวแม่อายชนะคดี ได้สัญชาติไทยคืน


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=762&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศอำเภอแม่อาย ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=797&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net