Skip to main content
sharethis

โดย  ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ


กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.)


 


 


เมื่อเราพูดถึงประเด็นระบอบเสรีนิยมใหม่ เราปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องพูดถึงองค์กรการค้าโลก (World Trade Organizations - WTO) และข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ที่เป็นกลไกที่ทำให้ระบบเสรีนิยมและทุนนิยมสามารถเดินไปได้


 


องค์กรการค้าโลกและการทำข้อตกลงการค้าเสรี เกิดขึ้นมาช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัตน์ของกลุ่มทุนในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ภายใต้คำหลอกหลวงว่าเป็นการทำข้อตกลงที่ "เสรี" ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การขูดรีดกรรมาชีพและชนชั้นล่างผ่านข้อตกลงที่จะนำผลประโยชน์มาให้แก่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ กับกลุ่มทุนข้ามชาติ (Trans-National Corporations - TNC) ต่าง ๆ WTO ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องการคงอยู่ของกลุ่มทุน 8 บริษัทต้น ๆ  ที่มีเงินทุนมากกว่าประชาชนครึ่งหนึ่งของโลก ในขณะที่ประชาชนมากกว่า 1.2 พันล้านคนกำลังจมอยู่ใต้มาตรฐานความจน  

บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ อย่างเช่นไมโครซอฟท์ ฟอร์ด และเจนเนอรัลมอเตอร์ (
GM) คือ ตัวอย่างส่วนหนึ่งของอีก 40 บริษัทที่ให้เงินสนับสนุนกับ WTO ในการผลักดันให้มีลดการเก็บภาษีการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนา ผลักดันให้ยกเลิกมาตรฐานสากลทางสุขภาพและสวัสดิการของแรงงานที่บริษัทข้ามชาติต้องยอมรับ ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันให้มีการยอมรับสินค้าที่มีการตกแต่งทางพันธกรรมหรือจีเอ็มโอ ที่จะมีผลกระทบทางสุขภาพกับผู้บริโภคที่บริโภคอย่างต่อเนื่องอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหดหู่กับการเกิดตัวของกลไกสองอย่างนี้ เพราะในขณะเดียวกันการเกิดตัวของกระแสต่อต้านระบบทุนนิยมที่มีความเป็น "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" (Globalization from Below) ก็เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของ "โลกาภิวัตน์ของกลุ่มทุน"

ในปี
1999 ได้เกิดปรากฎการณ์การรวมตัวกันครั้งแรกของนักองค์กรพัฒนาเอกชน นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา ประชาชน และนักสังคมนิยมจากที่ต่าง ๆ จากทั่วทุกทวีปตั้งแต่โคลัมเบีย สวิสเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ จนถึงอาเจนตินาในการประชุมคัดค้านการประชุมของ WTO ที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐฯ 


 


พร้อมกันนี้ได้มีการเกิดขึ้นของสมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) โดยมีคำขวัญว่า "โลกใหม่เป็นไปได้" (Another World is Possible) ที่เมืองโปโตรอเลเกรย์ ที่มุมบาย สมัชชาสังคมตามภูมิภาค (Polycentric Social Forums) และกระบวนการสมัชชาสังคมตามประเทศ (National Social Forums) ซึ่งในไทยได้มีการจัดสมัชชาสังคมไทย (Thai Social Forum) เป็นครั้งแรกในวันที่ 21-23 ตุลาคมที่ผ่านมา


 


แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงในกระแสภาคประชาชนอย่างหลากหลายต่อมุมมอง จุดยืน และยุทธศาสตร์ต้าน WTO และ FTA ในฐานะนักสังคมนิยมสากล - เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า


 



  1. การต่อต้าน WTO และ FTA -  เป็นการต่อสู้สากล (International Struggle)

เราต้องมองด้วยกรอบการต่อสู้ที่สมานฉันท์กับพี่น้องทั่วโลก ในไทยและในหลาย ๆ ประเทศ เราต้องถกเถียงกับกลุ่มเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) และพวกอนุรักษ์นิยมที่มองผ่านมุมมองชาตินิยม เช่น ในไทยที่ว่าการเซ็นการค้าเสรีเป็นการขายสมบัติชาติ เพราะการมองเช่นนี้จะทำให้มองไม่เห็นภาพรวมว่าสองกลไกนี้เกิดขึ้นทั่วโลก และจะกลับมองประชาชนจากประเทศอื่น ๆ ที่ทำการค้าเสรีกับเราว่าเป็นศัตรู ทั้ง ๆ ที่เราต้องสร้างความสมานฉันท์และความร่วมมือกับกรรมาชีพทั่วโลก เพื่อที่เราจะล้มระบบทุนนิยมได้ร่วมกัน


 



  1. การเซ็น FTA หรือการเป็นสมาชิก WTO ไม่ได้ให้ประโยชน์กับชนชั้นล่างอย่างแท้จริง และเป็นประเด็นทางชนชั้น

แม้ว่ามีกลุ่มทุนและกลุ่มเสรีนิยมบางส่วน เช่น ในไทยที่มีการอ้างว่าการเซ็น FTA ทำให้ประชาชนชั้นล่างได้รับผลประโยชน์ เช่น การที่สามารถซื้อผลไม้จากประเทศจีนได้อย่างถูก แต่ในอีกขณะหนึ่งเกษตรกรและชาวนากำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเข้ามาของกระเทียมจากประเทศจีน ที่ทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา


 


ถ้าเราดูกรณีของปากีสถาน เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า การเป็นสมาชิกของ WTO เกี่ยวข้องกับชนชั้นอย่างชัดเจน แม้ว่าปากีสถานจะเป็นประเทศที่มีความยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ผู้นำซึ่งเป็นชนชั้นนำก็ไม่ได้จะผลักดันให้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เนื่องจากวิถีชีวิตของชนเผ่าต่าง ๆ กำลังถูกทำลายหลังจากสินค้าและกลุ่มทุนจากอินเดียกำลังเข้าไปทำลาย


 


ชาลีน บาเชฟลกี้ (Charleeen Bachevski) ผู้แทนการตกลง WTO ของสหรัฐบอกอย่างชัดเจนก่อนในช่วงการเตรียมการจัดการประชุมผู้แทนรัฐมนตรี (WTO Ministerial Meeting) ที่ซีแอตเติลในปี 1999 ว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ WTO จะผลักดัน คือ การขายการบริการสาธารณสุขให้กับบริษัทข้ามชาติและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้มากที่สุด"


 


ข้อตกลงต่าง ๆ ได้นำผลประโยชน์ให้กับชนชั้นปกครอง ประเทศมหาอำนาจ และบริษัทข้ามชาติ ดังนี้:


1) บริษัทข้ามชาติจากสหรัฐจะไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศต่าง ๆ เมื่อมีการไปลงทุนในประเทศนั้น


2) ประเทศในยุโรปไม่สามารถปฏิเสธการนำเข้าเนื้อที่มีสารเคมีจากสหรัฐฯได้


3) มีกระบวนการต่าง ๆ จากบริษัทเกษตรกรรมขนาดใหญ่ เช่น บริษัทกล้วย โดล ในสหรัฐฯ ที่พยายามกีดกันการขายกล้วยหอมให้กับประเทศในยุโรปโดยประเทศเล็ก ๆ ในทะเลคาริเบียน และกีดกันการส่งออกน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซีย


4) บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ สามารถเข้าไปลงทุนได้กับประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการกดขี่ประชาชนและกรรมาชีพ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิทางพลเมืองและการเมืองอย่างกว้างขวาง เช่น ในพม่า รวันดา ศรีลังกา หรือในมัลดีฟ 


 


ในเอกวาดอร์ ได้เกิดกระแสการต้าน FTA กับสหรัฐอย่างหลากหลายเนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนรากหญ้ากำลังถูกทำลายอย่างแก้ไม่ได้ หลังจากการเซ็น FTA กับสหรัฐฯ เด็กและเยาวชนชาวพื้นเมืองเอกวาดอร์จำนวน 50 คนจากทุก 100 คนกำลังอยู่ในสภาวะที่ขาดอาหารหลังจากที่พ่อแม่ต้องเข้าไปทำงานในเมืองเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่ให้ผลประโยชน์กับกลุ่มทุนเอกวาดอร์และสหรัฐ


 



  1. การต่อต้าน FTA เป็นเรื่องเดียวกันกับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา

เราอาจจะสรุปได้ว่า FTA ส่วนหนึ่งของนโยบายการผลักดันทุนนิยมและนโยบายเสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ  ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และเขตการค้าเสรีของประเทศในทวีปอเมริกา (FTAA) ที่มีอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งรวมไปถึงการพยายามผลักดัน FTA กับไทย เกาหลี และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์



ซึ่งการเซ็นสัญญาเช่นนี้กับหลาย ๆ ประเทศ สหรัฐฯ มีนโยบายหลาย ๆ อย่างที่จะได้รับผลกระทบกับชนชั้นล่างอย่างปฎิเสธไม่ได้ เช่น การบังคับให้มีการจดลิขสิทธิ์ยาสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคเอดส์ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นล่างเป็นราคามากกว่าสิบยี่สิบเหรียญสหรัฐทั้ง ๆ ที่ตัวยามีต้นทุนการผลิตไม่ถึงหนึ่งเหรียญ


 


แม้ว่าการประชุมการค้าโลกจะถูกแรงกดดันจากภาคประชาชน นักกิจกรรม และฝ่ายซ้ายทั่วโลก และสามารถทำให้การประชุมที่ผ่านมาที่โดฮามีข้อตกลงให้กระบวนการของ WTO จะถูกระงับไป หลังจากที่ฝ่ายเราได้สร้างกระแสต้าน WTO อย่างประสบความสำเร็จที่ซีแอตเติลปี 1999 โดฮาปี 2001 แคนคูนปี 2003 ฮ่องกง 2005 และในการประท้วงที่โดฮาในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


 


แต่อีกขณะหนึ่งการดำเนินต่อรองทวิภาคี (Bilateral) ภายใต้การนำของสหรัฐฯ กำลังจะมาแทน WTO ซึ่งในแง่ร้าสหรัฐจะมีความได้เปรียบโดยที่ไม่ต้องประนีประนอมเท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี WTO และจะสร้างปัญหาให้กับชนชั้นล่างและกรรมาชีพมากกว่าเดิม แต่อย่างไรเราไม่ควรจะหดหู่จนเกินไป เพราะถ้าเรามองในแง่บวกว่า การเข้ามาของ FTA/`WTO ทำให้พวกเรานักสังคมนิยมสามารถผลักดันความเป็น "นักสากลนิยม" (internationalist) และถกเถียงกับพวกชาตินิยมคับแคบได้ เพราะการต่อสู้ของเราไม่ได้อยู่ที่กรอบของรัฐชาติแล้ว แม้ว่าเราต้องทำงานต่อเนื่องกับกรรมาชีพในประเทศ


 


แม้ว่าที่ผ่านมาเราสามารถนัดหยุดงานได้เพื่อต่อรองกับนายจ้างที่เป็นคนประเทศนั้น ๆ แต่ในปัจจุบันแหล่งทุนข้ามชาติมันอยู่ห่างไกลเราและในขณะเดียวกันอยู่ทั่วโลก ดังนั้นเราต้องสมานฉันท์กับพี่น้องกรรมาชีพเพื่อถกเถียงให้เราต้องมียุทธศาสตร์ที่เปิดกว้างและมีมุมมองสากลเพื่อร่วมกันล้มระบบทุนนิยมและกลไกต่าง ๆ ของมัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net