Skip to main content
sharethis

โดย บรรจง นะแส (เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้)


 



ภาพจาก ไทยเอ็นจีโอ


 


เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา...


กลุ่มพวกผมซึ่งมีอยู่ ๘-๙ คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตปัตตานี พวกเราส่วนใหญ่ชอบงานออกค่ายพัฒนาชนบท


 


ในช่วงที่ใกล้จบการศึกษาราวๆ ปี ๒๕๒๓- ๒๕๒๔ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานพัฒนาชนบทตามภาคอื่นๆ ทั้งใน ภาคเหนือและอีสาน ได้พบกับกลุ่มที่มีอาชีพทำงานพัฒนาชนบท และรับรู้ต่อมาว่าพวกเขาส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของ บชท. (มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์) ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผลักดันให้มีการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ โดยรับบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปฝึกอบรมแล้วลงไปทำงานตามหมู่บ้านโดยมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดชัยนาท


 


หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมในปี ๒๕๑๙ อ.ป๋วย ถูกกล่าวหา ต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ บชท.ถูกยุบเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งยุคนั้นเรียกตัวเองว่า "บูรณากร" ก็แตกกระสานซ่านเซ็น บางส่วนก็ไปทำธุรกิจ ไปเข้ารับราชการ ทำเกษตร แต่ก็มีบางส่วนที่ยังทำงานพัฒนาชนบทอยู่ โดยเขียนโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ มาทำงาน


 


พวกผมถูกชักชวนให้ทำงานด้วยแต่ต้องเป็นพื้นที่แถบอีสาน เพราะมองว่าเป็นภูมิภาคที่พี่น้องมีความยากจนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ แต่พวกเราส่วนหนึ่งอยากอยู่บ้าน อยากอยู่ภาคใต้ ก็ได้รับการช่วยเหลือให้ได้ทำงานในภาคใต้


 


พวกเราเลือกพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และ ๒ - ๓ อำเภอในจังหวัดสตูล และทั้งสองพื้นที่ล้วนเป็นชุมชนมุสลิม พวกเราพบปัญหามากมาย ทั้งความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ มันเป็นความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจที่เราได้ไปพบสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ในชีวิต ทั้งๆ ที่เราเติบโตมาในสังคมภาคใต้ที่หลายชุมชนก็เป็นมุสลิม แต่ระบบการศึกษาที่เราเติบโตมาไม่ได้ทำให้เราได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธและอิสลามดังกล่าวมากไปกว่า "พี่น้องมุสลิมไม่กินหมู"


 


การทำงานพัฒนาในหมู่บ้าน พวกเราเจอปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในปัญหาเหล่านั้น คือ ความแตกต่างทางศาสนาที่ต้องเรียนรู้อย่างมาก การมุ่งเรียนรู้ศาสนาที่แตกต่างมากๆ เนื้อหาของงานพัฒนาที่เขียนไว้ในโครงการที่จะต้องไปทำ ไปปฏิบัติการก็รวนไปหมด ทำไม่ทัน ทำไม่ได้ หรือเกิดความเกร็ง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ฯลฯ


 


จำได้ว่าจุดคลี่คลายของปัญหาดังกล่าวในช่วงนั้น เกิดจากคำแนะนำของท่านอาจารย์พุทธทาส ส่วนใหญ่วงเวทีการพูดคุยของพวกเราในยุคนั้น เราสนใจในพระพุทธศาสนาของเราเองด้วย โดยเฉพาะคำพูด คำอธิบายของท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้และปฏิบัติกันตามหมู่บ้านหรือบรรพบุรุษที่พวกเราเติบโตมา


 


หลายๆ ครั้งที่พวกเราไปใช้สวนโมกข์ในการพบปะพูดคุย ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ซึ่งได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านให้โอกาสได้พูดคุยซักถามปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี


 


ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งในเวทีพูดคุยกับอาจารย์พุทธทาส "กำราบ พานทอง" ซึ่งตอนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สนามอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล ได้หยิบยกประเด็นปัญหาของความแตกต่างระหว่างศาสนา โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นคนพุทธแล้วลงไปทำงานพัฒนาในชุมชนมุสลิม


 


ท่านอาจารย์ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเราว่า "จงไปทำงานกับคนซิ อย่าไปทำงานกับศาสนา"


 


สำหรับคนอื่นๆ ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม คำแนะนำของท่านอาจารย์ได้คลี่คลายความทุกข์ ความกังวลของผมในการทำงานเป็นอย่างมาก ผมดิ่งสู่ "ความเป็นคน" ของแต่ละคนแต่ละครอบครัว ในการศึกษาเรียนรู้และทำงานพัฒนาอย่างสนุกสนาน เดือดร้อนเรื่องอะไร? เพราะอะไร? ที่เคยเป็นอยู่ในอดีตเป็นอย่างไร? ปัจจุบันเป็นอย่างไร? อนาคตคิดหาทางออกของปัญหาอย่างไร? แล้วเชื่อมโยงกับความคิดความเชื่อของศาสนาอย่างไร? การรับรู้การตีความศาสนาเป็นอย่างไร? ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานตื่นตาตื่นใจมาก


ในขณะเดียวกันก็หาโอกาสเรียนรู้ศาสนาอิสลามที่เป็น "หลักการ" เช่นหลักศรัทธา (รูก่นอีหม่าน) หลักปฏิบัติ (รูก่นอิสลาม) อัลหะดิษ แล้วศึกษากับวัตรปฏิบัติจริงของผู้คนที่เราสัมผัสหรือทำงานด้วย เราก็จะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างจากพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่หลากหลายมิติมาก แต่ล้วนดีงาม ล้วนน่าศึกษาเรียนรู้ โดยเริ่มจากความเป็นตัวตน ความเป็นครอบครัวของคนนั้นๆ ซึ่งง่ายและมีชีวิตชีวากว่าการไปมุ่งเรียนรู้ "ศาสนา" อย่างโดดๆ


 


ผมขอยกตัวอย่างการตีความและวัตรปฏิบัติของคนในชุมชนมุสลิมที่ผมไปทำงานในช่วงนั้นเพื่อเป็นตัวอย่างสัก ๒-๓ เรื่อง เช่น


 


๑. อาจารย์คะเน กิตติโกวิท ซึ่งท่านเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาในช่วงที่พวกผมเป็นนักศึกษา ได้ช่วยสนับสนุนให้กลุ่มพวกผมได้ทำงานในช่วงนั้น ท่านเห็นว่าพวกผมสนใจเรียนรู้ศาสนาอิสลามกันอย่างจริงจัง ท่านซื้ออัล - กุรอ่านฉบับแปลเป็นภาษาไทยเล่มหนาๆ ขนาดหนังสือพุทธธรรม ๒ เล่ม สีทองสดใส ผมก็หอบหิ้วไปตลอด มีเวลาก็หยิบมาอ่านศึกษา โต๊ะครูของหมู่บ้านเห็นเข้า ท่านก็ชื่นชมยินดี ซ้ำยังช่วยตอบข้อข้องใจเวลาที่ผมอ่านแล้วไม่เข้าใจในซูเร๊าะห์ (บทบัญญัติ) ใดซูเร๊าะห์หนึ่งอย่างตั้งใจอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบจนเข้าใจ


 


ในขณะเดียวกันผมก็สังเกตเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนแสดงอาการไม่ค่อยสบายใจที่เห็นผมหอบอัล - กุรอ่านไปโน่นไปนี่ บางครั้งอ่านเสร็จก็วางไว้บนขนำ เมื่อสนิทสนมกันมากขึ้น ท่านผู้เฒ่าบอกกับผมว่า "มึงเป็นคนพุทธ ไม่ควรจับต้องอัล - กุรอ่าน" หลังจากนั้นผมรีบอ่านจนจบแล้วรีบนำอัล - กุรอ่านแปล ๒ เล่มนั้น มอบให้กับผู้เฒ่าของชุมชนคนนั้นไป


 


แต่หลัง จากนั้น ๒ - ๓ สัปดาห์ โต๊ะครูถามผมว่า "ทำไมไม่เห็นอ่านอัล - กุรอ่านแล้วล่ะ…..เลิกสนใจแล้วเหรอ อ่านบ่อยๆ ดีนะ จะทำให้เข้าใจมากขึ้น" โต๊ะครูกับเฒ่าชราในหมู่บ้านตีความการถืออัล - กุรอ่านของผมแตกต่างกันอย่างมีนัยยะ


 


๒. อยู่มาวันหนึ่ง ผมตกใจเพราะมีเสียงปืนดังขึ้น (ซึ่งในช่วงนั้นผมอาศัยบ้านพักครูในโรงเรียนเป็นที่พักอาศัย) จากนั้นก็วิ่งออกไปดูเห็นบังเล๊าะห์ ชายชราที่เคร่งครัดในศาสนาของหมู่บ้าน ท่านเดินแบกปืนลูกซอง ลากคอแพะที่ถูกยิงเดินมา ผมถามว่ายิงมันทำไม ท่านบอกผมว่า "ช่วยเจ้าของแพะมัน.....กูบอกตั้งหลายหนแล้วว่าให้ล่ามแพะ เพราะปล่อยให้แพะไปกินของส่วนรวมของชาวบ้านเขา มันจะเป็นบาปติดตัวมันไปถึงโลกหน้า มันก็ไม่เชื่อ วันนี้ปล่อยให้แพะมากินผักเด็กนักเรียนอีก กูเลยต้องช่วยมันไม่ให้บาปไปมากกว่านี้" บังเล๊าะห์จริงจังกับเรื่องบาป - บุญ และมีปฏิบัติการต่อความคิด ความเชื่อของท่านจนผมคาดไม่ถึง


 


๓. ยาเสพติดชนิดกัญชา ผงขาว ทั้งชนิดสูบและฉีดเข้าเส้นระบาดในชุมชนประมงอย่างมาก ตั้งแต่สมัยผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในชุมชนตั้งแต่ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว วัยรุ่นจำนวนหนึ่งต้องออกไปเป็นแรงงานลูกเรืออวนดำนอกหมู่บ้านแถวปัตตานี สตูล หรือไม่ก็ในตัวเมืองสงขลา ใช้เวลา ๑๕ - ๒๐ วันในทะเล แล้วขึ้นฝั่ง ๗ - ๑๐ วัน แต่กลับมาหมู่บ้านเพียง ๒-๓ วัน


 


ผมก็ถามว่า ขึ้นจากเรือแล้วทำไมไม่รีบกลับหมู่บ้าน เขาบอกว่าคนไม่เคยอยู่กลางทะเลนานๆ ไม่รู้หรอก มันทั้งเหงาทั้งว้าเหว่ อยู่ในทะเลก็มีกัญชา ผงขาว เป็นเครื่องมือระบายความเครียดความเหงา ขึ้นจากเรือแต่ละทีก็ต้องระบายในรูปแบบอื่นๆ เช่น เข้าโรงหนัง กินเหล้า โต๊ะสนุ๊ก แล้วก็จบลงที่ซ่องโสเภณี จะกลับบ้านก็เมื่อเงินหมดกระเป๋า


 


กลับถึงหมู่บ้าน ที่มัสยิดโต๊ะอิหม่ามก็ดุด่าว่ากล่าวเอาแรงๆ แต่ทุกคนก็นั่งฟังอย่างสงบ ไม่ตอบโต้ รักและยำเกรงโต๊ะอิหม่ามอย่างดุษณี ผมสังเกตเห็นผู้เฒ่าหลายๆคนในชุมชนรู้สึกเฉยๆ กับปัญหาดังกล่าว


 


พอได้คุยกันมากๆ เข้า หลายๆ คนก็สะท้อนว่า "พวกกูตอนหนุ่มๆ ก็เหมือนพวกนี้แหละ สูบกัญชา กินเหล้า เข้าซ่อง แต่ผงขาวยังไม่มี นี่ยังดีนะ...สมัยกูบางคนขี้เกียจจับปลา ก็ออกเป็นโจรสลัด ปล้นไปทั่วได้เงินเยอะๆ ก็เปิดโรงแรมในหาดใหญ่อยู่เป็นเดือน หมดเงินแล้วค่อยกลับบ้าน.... ก็อิหม่ามคนนี้มันเป็นลูกโต๊ะครู มันเป็นเด็กปอเนาะ ชีวิตมันไม่เคยอดอยากลำบากเหมือนคนทั่วๆ ไป มันไม่เข้าใจพวกนี้หรอก.... พวกวัยรุ่นนี้น่ะเหรอ ปล่อยมันสักพัก พอมันมีลูกมีเมียแก่ตัวขึ้น มันก็จะนึกได้แล้วกลับมาอยู่หมู่บ้าน เป็นคนดีของหมู่บ้าน ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่อิหม่ามต้องการและพร่ำสอนเหมือนพวกกูนี่แหละ"


 


นี่คือบทเรียนประสบการณ์ของคนอีกยุคสมัยหนึ่งที่ผ่านการเรียนรู้และยอมรับสภาพปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชน


 


๔. "พวกเราทุกคนก็อยากให้ลูกๆได้เรียนหนังสือได้มีอาชีพที่มั่นคงเหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ แต่เพราะเรามันจน ค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่ายมันสูง หาไม่พอ แต่การเรียนที่ปอเนาะ หรือเรื่องศาสนานี่มันต้องพยายามให้มันได้เรียนเพราะจำเป็นที่สุด มันจะได้มีวิชาความรู้ ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา "โลกนี้" มันอยู่กันไม่นาน แต่ "โลกหน้า" ซิจำเป็น เพราะฉะนั้นวิชาสามัญใช้หรือประกอบอาชีพบนโลกนี้เท่านั้น แต่ศาสนาต้องรู้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเคร่งครัดเพราะเกี่ยวโยงกับโลกหน้าซึ่งสำคัญกว่า"


 


เหล่านี้คือสิ่งที่ผมพบเห็นและได้เรียนรู้ ซึ่งคงเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น คงยังมีอีกมากมายที่เราคนต่างศาสนาจะต้องเรียนรู้ในฐานะที่คนมุสลิมก็เป็นพี่น้องร่วมสังคม ร่วมโลกเดียวกัน


 


การเรียกร้องให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมไม่ได้หมายถึงว่าคนที่นับถือศาสนาพุทธจะต้องไปเรียนรู้พี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ฯลฯ เท่านั้น แต่พี่น้องมุสลิมก็ต้องเรียนรู้ศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นๆ ด้วย ซึ่งโครงสร้างทางการศึกษา หลักสูตรทางการศึกษาของสังคมไทยหรือสังคมควรจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งวันนี้โดยเฉพาะสังคมไทย หลักสูตรการศึกษาของไทยให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างเร่งด่วน


 


3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาและทางออก 


ผมมี ๓ ประเด็นกว้างๆ ที่จะแลกเปลี่ยน คือ


 


๑.ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับการชำระสะสางอย่างตรงไปตรงมา


พัฒนาทางการเมืองการปกครองของไทยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนของภาคใต้ โดยเฉพาะดินแดนอันเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม แตกต่างกับการชำระรวบรวมความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของหัวเมืองอื่นๆ อย่างสงขลา พัทลุงหรือนครศรีธรรมราช เพราะหัวเมืองต่างๆ ที่กล่าวมาได้ผสมกลมกลืนไปกับพัฒนาการของการเมืองการปกครองของกรุงเทพฯ ในเกือบทุกๆ ด้าน โดยเงื่อนไขของศาสนาและวัฒนธรรมที่ไม่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะ "ศาสนา" ผนวกกับการ "กระทำ" ของรัฐจากส่วนกลางในอดีตและต่อเนื่องกันมา ทั้งในรูปแบบของการปกครองและการพัฒนา


 


พูดได้ว่า "รัฐส่วนกลาง" ได้กระทำการต่อพี่น้องในหัวเมืองภาคใต้ที่เป็นมุสลิมหนักและรุนแรง อย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของ "การปราบปราม" หรือ "การพัฒนา" ที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับรากฐานดั้งเดิมของความเป็น "สังคมมุสลิม"


 


กบฏดูซงยอ ซึ่งดูเหมือนจะคล้ายคลึงกันกับกบฏผีบุญแห่งภาคอีสาน แต่กบฏผีบุญดูจะได้รับการชำระอย่างโปร่งใสของเนื้อหาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนกบฏดูซงยอ อึมครึมและไม่มีการใส่ใจ ศึกษาเรียนรู้ถึงเนื้อหาและเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา และไม่แพร่หลาย ทำให้สังคมไทยขาดความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ ซึ่งหารู้ไม่ว่าเนื้อหาของกบฏดูซงยอคือเนื้อหาที่สังคมจะได้เรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจ ทำความรู้จักโลกทัศน์ของความเป็นมุสลิมได้เป็นอย่างดี


 


การกระทำเพื่อการปกครองในการปฏิรูประบบราชการในอดีต ที่มีการแบ่งเอกภาพทางการปกครองของสังคมมุสลิมในยุคนั้นออกเป็น ๗ หัวเมือง แล้วพัฒนามาเป็นการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ในอดีตก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ทำลายโครงสร้างเดิม แล้วพัฒนารูปแบบโครงสร้างใหม่ ซึ่งสร้างความอ่อนแอ ความแตกแยก แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถึงพัฒนาการทางการเมืองการปกครอง


 


หากถามว่าการเปลี่ยนแปลงในแนวทางดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง เชื่อมโยงถึงปัจจุบันหรือไม่ ตอบได้ชัดว่าส่งผลในทางการเกิดปัญหา โดยเฉพาะในเนื้อหาของ "การถูกกระทำ" จากส่วนกลางในรูปแบบต่างๆ ได้สร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจ สำนึกต่อต้านฝังลึกอยู่ในสายเลือดที่ไม่เคยมีการหาหนทางเยียวยารักษา ความรู้สึกดังกล่าวให้หายไปได


 


"นโยบาย" และ "การพัฒนา" จากอดีต ล้วนตอกย้ำและเกื้อหนุนสำนึกต่อต้านให้หยั่งรากลงลึก ก่อรูปการต่อสู้ทางวัฒนธรรมให้แผ่ขยายไปทั่ว ดังเพลงกล่อมเด็กโบราณ (สมัยนี้ไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือไม่) ที่กล่าวว่า "อาเน๊าะ มีนุมซูซู บือรีกือยำ ตีโดบียาห์ตือนุห์ บาหงุนติโต ปือกีร์บูนุ ออรังซิแย" (ลูกเอ๋ยกินนมให้อิ่ม นอนหลับให้สบาย ตื่นขึ้นมาจะได้ไปฆ่าคนสยาม)


 


ปฏิบัติการตอบโต้เกิดเป็นระยะๆ ในหลายๆ รูปแบบ เบาบ้างหนักบ้าง แต่ถูกมองเป็นเหตุการณ์ปกติ หรือ "โจรกระจอก" เมื่อปัจจัยเอื้อมาถึง


 


กว่าจะรู้ว่า "ไม่กระจอก" ก็สายเกินไป รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันยังเดินแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่สรุปบทเรียนอย่างจริงจัง ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต กรณีอุ้มฆ่าโดยไม่ยึดหลักรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม การออกหมายจับนักการเมืองแบบเหวี่ยงแหอย่างอคติของกลไกรัฐได้สร้างความกังขา สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ไม่แตกต่างจากกรณีหะยีสุหลง บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ถูกอุ้มไปฆ่าในยุคนั้น


 


แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เชื่อในศักยภาพของกลไกรัฐที่อคติและอยุติธรรม ประเมินได้ว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายไปอีกมาก


 


เพื่อปูพื้นวางเป้าในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ผมคิดว่าประเด็นประวัติศาสตร์ ควรได้รับการชำระสะสาง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ สร้างความรู้ ความเข้าใจของคนในสังคม หากไม่รีบดำเนินการปัญหา "๗๐๐ปี" และ "๑๔๐๐ ปี" จะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างความแตกแยก สร้างความขัดแย้ง มากกว่าการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และการวางเป้าหมายที่จะให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกัน เคารพซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน


 


๒. ประเด็นเป้าหมายและทิศทางที่เรียกกันว่า "การพัฒนา" จะต้องได้รับการตรวจสอบและปรับเปลี่ยน


 


ประเด็นปัญหาอันเกิดจาก "การพัฒนา" โดยเฉพาะที่เป็นนโยบายและการดำเนินการของรัฐ รูปธรรมของปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เกิดช่องว่างและปัญหาทางสังคมมากขึ้น คนได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคนส่วนน้อย


 


ยิ่งพัฒนามากคนยิ่งจน อดอยากมากขึ้น ยิ่งพัฒนาครอบครัว ชุมชนพึ่งตนเองได้น้อยลง พึ่งพามากขึ้น ยิ่งพัฒนาฐานทรัพยากรอันเป็นปัจจัยในการผลิตของคนส่วนใหญ่ ถูกทำลายให้เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งสถานการณ์ของปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาจากอดีตถึงปัจจุบัน หาได้ส่งผลกระทบเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปของสังคมไทย


 


ผมไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา ไม่ว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่การพัฒนาดังกล่าวจะต้องมีเป้าหมายอยู่ที่การเกื้อหนุนให้สังคมสงบสุข มีปัจจัย ๔ สำหรับทุกผู้ทุกคน และมองถึงการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ ร่วมสังคม ร่วมโลก ในระยะยาว นั่นคือ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งหากเอาเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นตัวตั้งจะพบว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่สวนทางกับเป้าหมายและทิศทางดังกล่าว


 


ประเด็นจึงอยู่ที่ใครเป็นตัวกำหนดเป้าหมายและวิธีการพัฒนาดังกล่าว หากพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือภูมิภาคต่างๆ หมู่บ้านตำบล อำเภอ ต้องการพัฒนาท้องถิ่นชุมชนของตัวเองที่สอดคล้องกับความคิด สอดคล้องกับลักษณะความเชื่อ สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของภูมินิเวศน์นั้นๆ รัฐส่วนกลางจะสนับสนุนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นโจทย์ร่วมของสังคมไทยไม่ได้เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


๓. ข้อเสนอจากฐานประสบการณ์


ผมเป็นลูกเกษตรกรรายย่อย พ่อแม่ทำนา ทำสวน อยู่ในชุมชนที่เรียกได้ว่า "พึ่งพาตนเอง" ได้เกือบ ๑๐๐ % จากอดีตรุ่นคุณตาคุณยาย ไม่มีคำว่า "ไปทำงาน" มีแต่ "ไปทำนา ทำสวน ไปเลี้ยงวัว"


 


๔๐ กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนออกจากหมู่บ้าน "ไปทำงาน" ไปเป็นครู ไปเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไปทำงานบริษัทห้างร้านในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสทางการศึกษา ส่วนคนด้อยโอกาสก็เริ่ม "ไปทำงาน" ในเมือง โดยไปทำงานก่อสร้างไปรับจ้าง ไปขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ฯลฯ


 


คนที่ไปทำงานประจำโดยเฉพาะงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพูดถึง "หลักประกัน" ของชีวิตหลายๆ เรื่อง จะเจ็บไข้เข้าโรงพยาบาลก็ "เบิกได้" พ่อแม่ลูกเมื่อมีหลักประกันดังกล่าว คราฝนตกฟ้าร้อง สิ้นเดือนก็ได้เงิน ฯลฯ ผู้คนในชุมชนต่างวาดหวัง "ความมั่นคง" ดังกล่าวกันทั่วหน้า


 


ไม่มีใครอยากให้ลูกให้หลานของตัวเองเป็นเกษตรกร ดิ้นรนส่งเสียเพื่อเรียนหนังสือ ให้สูงๆ ขายนา ขายสวน


ไปเพื่อการนี้ก็มาก ผมไปทำงานกับชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ พบเห็นชุมชนประมงที่ทำนาไว้กิน ออกจับปลาตามฤดูกาลไว้ขาย เห็นการเปลี่ยน แปลงจากมีข้าวเต็มลอม ถึงลอมข้าวถูกรื้อทิ้ง นาถูกขายให้เถ้าแก่นากุ้ง หรือไม่ก็ถูกน้ำเสียจากโรงงานทำลายการทำนาอย่างหมดสิ้น เหลือแต่เรือลำเดียว และสุดท้ายขายเรือ (เพราะไม่มีสัตว์น้ำให้จับ) ไปซื้อมอเตอร์ไซด์ขับรับจ้างในตัวเมือง หรือไม่ก็ออกรับจ้างทั่วไป ไม่ต้องถามว่าอนาคตอยากให้ลูกหลานมีอาชีพอะไร อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ทำนา ทำสวนหรือทำประมงอย่างบรรพบุรุษ


 


คำถามจึงอยู่ที่สังคมไทยจะจัดรูปแบบโครงสร้างและการบริหารการจัดการอย่างไรที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีความมั่นคงและมีหลักประกันขั้นพื้นฐานของชีวิตและครอบครัวให้เกิดขึ้นอย่างเสมอภาคขึ้นมาให้ได้


 


ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมและทีมทำงานทำงานสัมพันธ์อยู่กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ใน ๒จังหวัด คือปัตตานี และนราธิวาส (จ.ยะลา ไม่มีพื้นที่ติดทะเล) สถานการณ์ของชาวประมงพื้นบ้านที่นั่นไม่แตกต่าง ไม่ว่าชุมชนประมงฝั่งอันดามัน หรืออ่าวไทย คือ ผลจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม


 


ยกตัวอย่างเช่น มีการปล่อยให้มีเครื่องมือทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ ออกทำประมงชนิดล้างผลาญ ในเกือบทุกจังหวัด พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำถูกทำลายอย่างย่อยยับ สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับส่งโรงงานอุตสาหกรรมปลาป่นของบริษัทอาหารสัตว์ ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ถูกบุกรุกแผ้วถาง ทำนากุ้งกุลาดำ ปะการังถูกระเบิด ถูกอวนลากทำลาย ถูกนำออกขายเกลื่อนตลาดแล้วอาชีพประมงจะอยู่ได้อย่างไร ในพื้นที่ชายฝั่งปัตตานีและนราธิวาสก็ไม่แตกต่างกัน


 


"มาเลย์เขาดี เขาไม่มีอวนลากอวนรุน เรืออวนลากบ้านเราแอบไปหากินบ้านเขา หากเขาจับได้ยึดเรือไปจมทำปะการังเทียม"


 


"บ้านเขา (มาเลย์) กฎหมายเป็นกฏหมาย ข้าราชการเขาไม่กินสินบน ไม่รีดไถเหมือนบ้านเรา"


 


"น้ำมันก็ถูก ใครอยากทำอาชีพประมง รัฐบาลเขาก็สนับสนุนเต็มที่ ให้ทุนซื้อเรือ ซื้ออุปกรณ์ให้หมด" ฯลฯ


 


หลากหลายคำพูดที่ชื่นชมการบริหารประเทศของรัฐบาลมาเลย์ต่อการสนับสนุนอาชีพชาวประมงอย่างพวกเขา ที่ข้ามไปข้ามมา ทำมาหากินกับญาติพี่น้องฝั่งมาเลย์ รวมไปถึงอีกหลายๆ เรื่อง แต่ประโยคสุดท้ายที่ทำให้ผมติดใจมากก็คือ ต่อคำถามที่ว่า


 


"หากให้เลือกระหว่างอยู่ในประเทศไทยกับไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย เลือกอะไร"


 


คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่บอกว่า


 


"อยู่เมืองไทยดีกว่า แม้จะลำบากบ้าง แต่ก็สบายใจกว่าอยู่ในมาเลย์"


 


นี่คือคำพูดที่ฝังใจผมมาก ยังหาคำตอบไม่ชัดเจนว่า "แม้จะลำบากบ้างแต่ก็สบายใจกว่า" มันมีรูปธรรมอะไรรองรับบ้าง "สิทธิเสรีภาพ+วัฒนธรรม+อัธยาศัยไมตรีของผู้คนร่วมสังคม+ความยืดหยุ่นทางสังคม" ฯลฯ


 


หากจะหาทางดับไฟใต้กันอย่างจริงจัง ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นเรื่องน่าศึกษา ค้นคว้า ค้นหาใช่ไหม?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net