Skip to main content
sharethis




0 0 0


 


Malcolm Glazer แต่งตั้งลูกชายสามคนของเขา นั่งบอร์ดบริหารของ Manchester United PLC เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2005 การที่ครอบครัว Glazer ได้เทคโอเวอร์การบริหารจัดการครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสนใจต่อธุรกิจฟุตบอลยุโรปที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้


 


 


ขณะที่ความนิยมของฟุตบอลยุโรปมีสูงขึ้นกว่าที่มันเคยเป็นมาในอดีตนั้น รูปแบบของธุรกิจนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป สำหรับทีมฟุตบอลขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมายาวนาน ถูกแหล่งเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเทคโอเวอร์ และคอยควบคุมทีมโดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ทีมขนาดเล็กก็มักที่จะมีข่าวคราวเกี่ยวกับการล้มละลายอยู่บ่อยๆ  --- สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความสมดุลย์ในการแข่งขัน (lack of competitive balance) ของธุรกิจกีฬาฟุตบอล


 


จากประวัติศาสตร์ มีเหตุผล 3 ประการด้วยกัน ที่ทำให้ธุรกิจลูกหนังของยุโรป เริ่มที่จะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เช่นในปัจจุบัน คือ


 


1. หลังจากสิ้นสุดยุคทศวรรษที่ 1980"s สัญญาณถ่ายทอดเกมส์ลูกหนังจากยุโรปที่เคยเป็นของฟรี (free-to-air) กลับเริ่มมีเรื่องของลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อันเป็นผลให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับการถ่ายทอดสัญญาณการแข่งขันกีฬาแบบต้องจ่ายเงินดู (pay-TV)


 


2. กฎ Bosman ทำให้เกิดการย้ายทีมของผู้เล่นระหว่างประเทศมากขึ้น ผู้เล่นต่างชาติชั้นนำก้าวเข้าสู่ลีกฟุตบอลที่มีตลาดการถ่ายทอดสดขนาดใหญ่ (อังกฤษ, อิตาลี, สเปน, เยอรมัน)


 


3. การพัฒนาการของฟุตบอลถ้วยยุโรป จากการแข่งขัน European Cup เดิม พัฒนากลายมาเป็น European Champions League ซึ่งมีแมตซ์การแข่งขันมากขึ้นของทีมใหญ่ ซึ่งทำให้ตลาดการถ่ายทอดสดขยายออกไปด้วย


 


พัฒนาการเหล่านี้ ทำให้การไหลเข้ามาของรายได้จากแหล่งต่างๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกมส์นี้กลายเป็นสินค้า รวมถึงผู้สนับสนุนทีม (sponsorship) --- นี่คือสิ่งที่ทำให้ความน่าสนใจของธุรกิจฟุตบอลยุโรปทวีคูณเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อทีมใหญ่ๆ ในยุโรป เริ่มที่จะมีการจัดองค์กรที่เรียกว่า G14* ก็ยิ่งทำให้ลู่ทางในธุรกิจประเภทนี้ (โดยเฉพาะการเทคโอเวอร์ทีมใหญ่) เป็นที่หมายปองของนักธุรกิจมากยิ่งขึ้น


 


* G14 สโมสรชั้นนำของยุโรปที่รวมตัวกันเป้นกลุ่มกดดันผลประโยชน์ต่างๆ ให้กับสโมสรใหญ่ที่เป้นสมาชิก ประกอบด้วย 14 ทีมที่เป็นทีมก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี ค.ศ. 2000 -  Liverpool , Manchester United , Olympique de Marseille , Paris Saint-Germain , Bayern Munich , Borussia Dortmund , A.C. Milan , Internazionale , Juventus , Ajax , PSV , Porto , Barcelona , Real Madrid และสมาชิกที่เข้าร่วมในปี ค.ศ. 2002 - Arsenal , Olympique Lyonnais , Bayer Leverkusen , Valencia


 


ในปี 1999 ทีมดังในยุโรปอย่าง Manchester United ได้เสนอให้มีการแข่งขันแบบ super league ซึ่งเป็น league ที่มีแต่ทีมใหญ่ๆ ร่วมแข่งขัน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว โครงสร้างของ super league นี้เป็นโครงสร้างธุรกิจกีฬาแบบอเมริกัน (U.S. sport business model)  


 


ซึ่งโครงสร้างธุรกิจกีฬาแบบอเมริกันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากการแข่งขันเบสบอลลีกของอเมริกา (baseball's National League) โดยเป็นระบบ franchise มีลักษณะพิเศษดังนี้ :


 


·         จำนวนของ franchises ควบคุมได้ด้วยการโหวต และไม่บ่อยครั้งนักที่จะเกิด franchises ใหม่ๆ ขึ้นมา


 


·         ไม่มีการเลื่อนชั้น (promotion) หรือตกชั้น (relegation) แต่ franchises สามารถย้ายทีมสู่เมืองที่ตั้งใหม่ๆ ได้ ถ้าหากมีแหล่งดึงดูดจากที่แห่งใหม่นั้น หรือได้รับความนิยมและเป็นแหล่งทำธุรกิจได้ดีกว่าแห่งเดิม --- สำหรับเหตุผลที่ไม่มีการตกชั้น (relegation) นั้นก็เพราะจะทำให้สูญเสียกำไร และรายได้ที่ได้รับจากเดิม


 


·         แต่ละทีมจะมีสัญญาข้อจำกัดต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย (restrictive agreements) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีความสมดุลย์ แต่ก็มีการพยายามทำกำไรให้ได้เต็มที่ ภายในการแข่งขันที่มีข้อจำกัดนั้น (restricting competition)


 


ภายใต้พื้นฐานระบบโครงสร้างการทำธุรกิจกีฬาแบบนี้ NFL ได้พัฒนาขึ้นมากลายเป็นกีฬาที่ทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกา ซึ่งรายได้หลักก็คือ รายได้จากการถ่ายทอดสดทางทีวี  

ซึ่งขณะนี้ ธุรกิจฟุตบอลยุโรปกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขัน โดยมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้:


 


·         นอกจากทีมสโมสรใหญ่ๆ ในยุโรปแล้ว UEFA เองก็มีความปรารถนาในเรื่องของผลประโยชน์จากการแข่งขันฟุตบอลยุโรปด้วยเช่นกัน


 


·         สัญญาการถ่ายทอดสดการแข่งขัน European Champions League จะหมดลงในปี 2006 นี้ และสโมสรในกลุ่ม G14 เองก็น่าจะใช้โอกาสนี้สานต่อไอเดีย super league ขึ้นมาอีกครั้ง


 


·         การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดร่วมนั้น เป็นการช่วงชิงผลประโยชน์กันระหว่างสโมสรและองค์กรอำนาจนิยมต่างๆ ที่มีหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน (UEFA และสมาคมฟุตบอลภายในประเทศ)


 


·         แฟนฟุตบอลจำนวนมากต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์สารธารณะอันแน่นหนาของเกมส์นี้ ให้หันมาคำนึงถึงความสนใจของผู้บริโภคว่าต้องการอะไรมากกว่า



ดูเหมือนว่าสโมสรใหญ่ๆ ในยุโรปกำลังมองหาสิ่งใหม่ๆ สำหรับการควบคุมต้นทุนและการเพิ่มพูนรายได้ให้กับสโมสรเอง ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็คือการพัฒนาการแข่งขันตามแบบอย่างระบบการแข่งขันกีฬาแบบอเมริกัน (U.S. league system)


 


ณ ช่วงเวลานี้ ฟุตบอลยุโรปกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันล่อแหลมในการตัดสินใจว่าจะไปทางไหน นี่คือสิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงโอกาสสำหรับโครงสร้างธุรกิจที่เป็นทางเลือก ที่ช่วยให้ธุกิจนี้สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล --- สโมสรใหญ่ๆ กำลังมองหาลู่ทางในการควบคุมต้นทุนต่างๆ (controlling costs) ซึ่งเป็นหนทางสำคัญในการทำกำไร  และรูปแบบธุรกิจกีฬาของอเมริกันเองก็กำลังจะถูกค่อยๆ นำมาทดสอบในยุโรป และมีทีท่าว่าจะรุ่งโรจน์ต่อไป.


 


0 0 0


 


เรียบเรียงจาก


"International Soccer Business At A Crossroads" จาก http://www.forbes.com


http://en.wikipedia.org/wiki/G14


http://www.oxan.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net