Skip to main content
sharethis


ภาพจาก  ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์


 


 


เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 ให้สัมภาษณ์ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ถึงการเดินทางมาแสดงงานในสถาบันชื่อดังของรัฐแคลิฟอร์เนียสองแห่ง ณ บ้านพักของ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมและสื่อผสม ประจำปี 2540 ว่า การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประสานงานของ ดร.กมล ทัศนาญชลี ประธานสภาศิลปกรรมไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย และศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จากกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้ติดต่อให้มาแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในซานฟรานซิสโก เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว


 



ภาพจาก ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์


 


ส่วนงานที่นำมาแสดงนั้น ถวัลย์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งส่งมาจากเมืองไทย และอีกส่วนหนึ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่


 


"ผมไม่ได้ถืออะไรมาเลย มาถึงกมลบอกว่ามีเวลาห้าวัน ทำทันไหม ผมบอกโอ๊ย อย่าว่าแต่ห้าวันเลย ห้าชั่วโมง ห้านาทีก็เสร็จ แต่จริงๆ รูปหนึ่งผมเขียนอย่างมาก 15 วินาทีก็เสร็จแล้ว ผมแกล้งทำเป็นว่าให้มันช้าหน่อย ห้าวันก็ได้ แล้วผมก็ใช้เวลาทั้งหมดกับการรื่นรมย์โดยการไปคุ้ยเขี่ยตามสวาฟมีท คล้ายสนามหลวง ผมเป็นทอมคุ้ย คุ้ยเขี่ย เช้าขึ้นมาก่อนพระอาทิตย์จะลบแสงดาว เราก็จะไปคุ้ยของเผื่อจะเจอปากปลา หรือเขานั่นเขานี่ มาปลุกเร้าความทรงจำ หรือความกระตือรือร้นในการเขียนรูป" ศิลปินแห่งชาติชื่อก้องโลกกล่าว


 


ส่วนงานโดยภาพรวมที่จะแสดงในนิทรรศการทั้งสองแห่งนั้น ถวัลย์ระบุว่า จะนำเสนอสามอย่าง คือ รูปแบบ เนื้อหา และปัจเจกภาพส่วนบุคคล


 


"รูปแบบ ผมได้กำหนดทั้งฝีมือ ความคิด ความมุ่งมั่น ประสบการณ์อยู่ในนั้น จะเห็นได้โดยง่าย เมื่อมองไปปะทะกับรูปแบบที่ผมเขียน ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ความปิติร่าเริง ความเศร้า น้ำตาหรือรอยยิ้ม เพราะผมไม่เขียนเป็นนามธรรม ผมเขียนจากรูปธรรม เห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบ ส่วนเนื้อหานั้นผมนำเอารากเหง้าความเป็นตะวันออกบางอย่างผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิม บางอย่างจากปรัชญาหรือศาสนา บางอย่างมาจากความรู้สึกที่เป็นความงาม ความพอเพียงหรือความสงบสงัดทางตะวันออก ไม่ดิ้นรนกระหวนกระหายอยู่กับเรื่องของวัตถุมากจนเกินไป"


 


"ผมอยากจะเอามานำเสนอในฝั่งตะวันตก ให้เห็นบ้างว่าคนตะวันออกที่เขารู้จักพอเพียง สมถะ สันโดษ และไม่สนใจเรื่องไฮเทคเกินไป ทุกอย่างทำด้วยมือ งานศิลปะของคนตะวันออกเป็นความรักปรากฏรูป ไม่ได้เป็นผลิตผลหรือความเป็นไปของกิจกรรมทางเทคนิคเท่านั้น และที่ผมจะนำเสนออีกอย่างคือปัจเจกภาพส่วนบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่างานของผมมีลักษณะเป็นส่วนตัวสูงมาก คือแทบไม่ต้องไปเซ็นชื่อเลย ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นรูปเขียนของผม เพราะผมไม่ได้เขียนเหมือนกับจิตรกรในยุโรป อเมริกา หรือแม้กระทั่งในเมืองไทย แม้กระทั่งตัวผมเอง ช่วงอายุ 20-30 ก็เขียนอย่างหนึ่ง 30-50 ก็เขียนอย่างหนึ่ง 50-60 ก็จะเขียนอย่างหนึ่ง เลย 60 มาแล้วนี่ ผมหอมกลิ่นความตายที่เย้ายวนก็เขียนไปอีกอย่าง เป็นบทเพลงสุดท้ายที่จะอำลา"


 


ถวัลย์ ดัชนี กล่าวอย่างติดตลกถึงอายุของตัวเองหลายครั้ง เช่นว่า ไม่กล้าซื้อกล้วยครั้งละเป็นเครือหรือเป็นหวีเพราะเกรงจะกินไม่ทัน หรือเวลาไปงานศพที่วัดไกลๆ ก็จะมีคนทักว่ามาไกลเหลือเกิน อย่ากลับไปให้เสียเวลาเลย เป็นต้น ทำให้ผู้สื่อข่าวถามถึงการสร้างงานในวัยปัจจุบัน คือ 77 ปีว่าแตกต่างจากในอดีตอย่างไรหรือไม่


 


"โดยรูปแบบ อาจจะเปลี่ยนไปบ้างนิดหน่อย แต่เนื้อหาไม่เปลี่ยนเลย กลับจะดูเหมือนว่ายิ่งผมแก่ตัวลง ความแรงหรือพลัง หรือจิตตานุภาพผมจะเข้มแข็งกว่าสมัยหนุ่มๆ ด้วยซ้ำ เทียบไปเหมือนกับว่าตอนนี้ผมเป็นอัศวินเจไดแล้วล่ะ ผมไม่ใช้กำลังจากเบื้องนอกภายนอกที่จะมาหยิบจับคอน พู่กันหรือแปรงต่อไป เดี๋ยวนี้ผมไม่มีกำลัง แต่มีพลัง พลังมันกระฉอกพะเนียงออกมาจากจิตวิญญาณ และจิตตานุภาพเป็นเบื้องใน และถ้าเผื่อผมละร่างผมไป จิตวิญญาณยังคงอยู่ มันเป็นความเย็นท่ามกลางเตาหลอมเหล็ก จะคงอยู่เป็นนิรันดรธาตุ"


 


ผลงานศิลปะของถวัลย์ ดัชนี ได้รับการยอมรับจากนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก งานของเขาส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป อเมริกา และเอเชียหลายประเทศ โดยเขากล่าวว่าผลงานของเขาจะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ขอให้อยู่ในดวงจิตวิญญาณซึ่งถือเป็นอู่อารยะธรรมของมนุษยชาติ


 


"ผมคิดว่าอันนี้น่าจะอยู่ท่ามกลางจิตวิญญาณของมนุษย์ และงานศิลปะนั้นจะอยู่ที่ไหนล่ะถ้าไม่อยู่ท่ามกลางจิตวิญญาณของมนุษย์ชาติ เพราะว่าที่อยู่ของมันที่เป็นหลังคา ตึก บ้านผู้คน เป็นเพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาในงานศิลปะ มันต้องอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์"


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดความเครียดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ควรทำอย่างไร ศิลปินแห่งชาติกล่าวว่า ให้กลับไปหาสุนทรียภาพจากธรรมชาติ หรืองานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ


 


"เราแทบจะลืมไปแล้วว่าเรามีรุ้งตะวันหรือเปล่า มีหยาดน้ำค้างไหม ตอนเช้าตื่นขึ้นมาเห็นนกร้องเพลงในอากาศหรือเปล่า เราเคยชิมดอกไม้ไหมว่า ท่ามกลางเกสรดอกไม้มีความหวานอยู่ เราเคยมองลูกที่หลับอยู่แล้วมีรอยยิ้มอยู่ในหน้าไหม เราลืมสิ่งเหล่านี้เพราะเราดิ้นรนกระหวนกระหายอยากได้ลาภยศสรรเสริญสุขมากเกินไป เกินงาม เกินพอดี ลืมไปว่าแท้ที่จริง ต่อให้เรามีที่ดินสักร้อยไร่เพื่อปลูกข้าวสำหรับเลี้ยงชีพเรา เราควรจะมีที่สักวาหนึ่งไหม สำหรับปลูกดอกไม้ให้กับดวงวิญญาณ บางครั้งดอกไม้สักดอกมีค่ามากกว่าข้าวหนึ่งจานด้วยซ้ำ เพราะเราลืมความเป็นทิพยภาวะอันนั้น ไม่เคยดมดอกไม้ ไม่เคยชำเลืองดูดอกไม้"


 


"คำแนะนำที่ดีที่สุดคือว่าจงเลือกไปดูงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์ ถ้าไม่พอใจรูปนี้ก็เดินไปดูอีกรูปหนึ่ง มันก็จะต้องมีสักรูปหนึ่งที่เราไม่เข้าใจ แต่เรารู้สึก รู้สึกถึงความปิติ ซาบซ่านในความเป็นมนุษย์ว่าแท้ที่จริงคำตอบของมนุษย์ก็คือได้ประจักษ์ความรักของตัวเองออกมาเป็นรูปร่าง แล้วก็รีดรูปเรียวออกมาเป็นความงามปรากฎ อันนั้นแหละคือความสุข เป็นความสุขที่แท้จริง" ถวัลย์ ดัชนี กล่าว


 


ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปะของถวัลย์ ดัชนี จะมีขึ้นที่ ศูนย์แอลเออาร์ตคอร์ (LA Artcore Center 120 Judge John Aiso St. LA, CA 90012) ระหว่างวันที่ 22-30 ตุลาคมนี้ โดยถวัลย์ ดัชนี จะแสดงเทคนิคเขียนภาพด้วยการปาดแปรงเพียงไม่กี่วินาทีให้ผู้ร่วมงานได้ชมด้วย ในเวลา 16.00 น.ของวันเปิดงาน


 


ส่วนนิทรรศการศิลปะที่ร่วมกับ ดร.กมล ทัศนาญชลี นั้นจะจัดที่ Iris & B. Gerald Cantor Center for Visual Arts ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน - 18 กุมภาพันธ์ 2007 โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า Two Vision of Dharma: Thai Contemporary Art.


 


 


 


 


ที่มา ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net