Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


Sheyland คือ ดินแดนสมมติ... และเป็นดินแดนที่ขาดแคลนอาหารอย่างมาก ประชากรเจ็บไข้ได้ป่วยจนล้มตายเป็นใบไม้ร่วงด้วยโรคขาดอาหาร


 


ภารกิจของหน่วยกู้ภัยที่ผู้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ Food Force ต้องทำให้สำเร็จก็คือการนำเสบียงอาหารไปส่งให้เพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบปัญหาทุกหย่อมหญ้า ณ เมือง "ชีย์แลนด์"


 


***




 


***


 


คปจอป. - คณะปฏิบัติการแจกจ่ายอาหาร อภิบาลประชาชน "Food Force"


ในขณะที่ใครหลายคนยังเถียงกันไม่จบว่าการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทำให้ "คนรุ่นใหม่" เอาใจใส่ต่อโลกและความเป็นไปรอบตัวน้อยลงจริงหรือไม่ แต่ผู้ใหญ่วัยสามสิบกว่าและเด็กวัยกำลังรู้ความเป็นจำนวนมากล้วนแต่ติดเกมกันงอมแงม เพราะคนในช่วงวัยนี้ต่างก็เติบโตขึ้นมาในยุคที่คอมพิวเตอร์กำลังครองเมือง


 


ถ้าผู้ใหญ่วัยสามสิบคนไหนยังเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก็คงหนีไม่พ้นข้อหา "ไม่รู้จักโต" แต่ถ้าเป็นเด็กวัยเรียนที่ต้องแบกรับความเป็น "เยาวชนคนรุ่นใหม่" เอาไว้ด้วย ภาวะเสพติดการเล่มเกมของเขาจะกลายเป็นการ ใช้เวลาว่างที่ไม่เป็นประโยชน์เอาเสียเลย


 


ภาพลักษณ์ของเกมคอมพิวเตอร์จึงเป็นเพียงการละเล่น - ไม่ใช่การเอาจริงเอาจัง...


 


แต่ถึงอย่างไรในโลกนี้ก็มีเกมที่ถูกสร้างด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นเกมในความหมายเชิงลบเสมอไป แม้แต่ประเภทของเกมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันก็ถูกแบ่งแยกย่อยออกไปอีกหลายประเภท


 


เกมคอมพิวเตอร์ที่พ่อแม่ยุคมิลเลนเนียมนิยมซื้อหามาให้ลูกๆ เล่น มักจะเป็นเกมพัฒนาการเรียนรู้ ที่เล่นเพื่อเป็นปัจจัยเสริมให้กับการเรียนเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น เกมทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือเกมช่วยคิดคำนวณ


 


ส่วนเกมที่มักจะถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้เล่นใช้ความรุนแรงก็คือเกมแอ๊กชั่นลุ้นระทึกที่เน้นการต่อสู้ การประลองความเร็ว และการทำสงคราม


 


ส่วนเกมอาร์พีจี หรือ Role-Playing Game ที่เน้นการกำหนดบทบาทของตัวละครในเกม มักถูกมองว่าประเทืองปัญญามากกว่าเกมแอ๊กชั่น เพราะผู้เล่นต้องวางแผนและศึกษาข้อมูลของเกมให้ละเอียดด้วย และที่สำคัญคือมันเป็นเกมที่ผู้ใหญ่สามารถสนุกกับมันได้ แต่เกมแอ๊กชั่นจะทำให้คนยุคเก่ารู้สึกไม่สนุก เพราะเล่นอะไรก็ไม่ว่องไวเท่าที่ควรจะเป็น...


 


เมื่อ 2 ปี ก่อน เกมอาร์พีจีที่ถูกพะยี่ห้อว่าเป็นกลยุทธ์ "ส่งเสริมมนุษยธรรม" เกมแรก ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ในโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN World Food Program และถูกกล่าวขวัญกันพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา


 


เจ้าเกมนั้นมีชื่อว่า Food Force อันเป็นแบบจำลองการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ในโครงการอาหารโลก ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาความหิวโหยและการขาดแคลนทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก


 


นักเล่นเกมสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเกมนี้มาเล่นได้ฟรีจากเวบไซต์ www.food-force.com และจากสถิติล่าสุดที่ยูเอ็นรวบรวมได้ พบว่ามีคนกว่า 4.5 ล้านคนทั่วโลก ดาวน์โหลดเกมนี้ไปเรียบร้อยแล้ว


 


ที่สำคัญคือผู้เล่นจำนวนมากไม่ได้เป็นแค่เด็กวัยรุ่น แต่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานที่ได้รับรู้ความลำบากยากเย็นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ WFP ผ่านเกมฟู้ดฟอร์ซ


 


อานิสงส์ของเกมนี้ทำให้การปฏิบัติงานของ WFP ลื่นไหลกว่าเดิม โดยวัดจากเงินบริจาคและการสนับสนุนโครงการอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นพรวดพราดนับ ตั้งแต่วันที่มีการเปิดให้ดาวน์โหลดเกม


 


ภารกิจที่นักเล่นเกมฟู้ดฟอร์ซต้องฝ่าฟันไปให้ได้มีทั้งหมด 6 ด่านด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยประเทศ Sheyland ให้ผ่านพ้นจากภาวะขาดแคลนอาหารไปจนได้


 


ชีย์แลนด์จึงเป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามภายในประเทศ และประชาชนตาดำๆ ก็กลายเป็นเหยื่อสงครามและความยากไร้  


 


ประชาชนชาวชีย์แลนด์ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เพราะพวกเขาโดนตัดขาดจากแหล่งทรัพยากร อันเนื่องมาจากการคอรัปชั่นของรัฐบาล และการปล้นฆ่าแย่งชิงอาหารของกองกำลังต่อต้านรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การจัดสรรอาหารและทรัพยากรต่างๆ ไม่เคยเกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรม


 


ภารกิจต่างๆ ที่ถูกนำมาใส่ไว้ในดินแดนชีย์แลนด์ก็คือขั้นตอนการทำงานของ WFP จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบุพื้นที่ประสบปัญหาด้วยการหาพิกัดจากทางอากาศ, การคำนวณอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่สุด, รวมถึงการลำเลียงอาหาร ซึ่งต้องเผชิญหน้าอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กองกำลังติดอาวุธที่คอยดักปล้นเสบียงไม่ให้หลุดไปถึงประชาชนคนอื่นๆ หรือบางทีก็อาจเป็นอุปสรรคทางภูมิประเทศที่เข้าถึงได้ลำบาก


 


หากภารกิจสุดท้ายที่ทำให้เสร็จสิ้นได้จะถือว่าเล่นชนะ ก็คือผู้เล่นจะต้องโน้มน้าวชาวชีย์แลนด์แต่ละฝ่ายยุติความขัดแย้งภายในประเทศ และหันมาร่วมมือกันพัฒนาดินแดนของตนอย่างจริงจังเสียที


 


คงบอกได้คำเดียวว่าวิธีนี้แหละที่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดแล้ว...


 


การเล่นเกมในโลกเสมือนครั้งนี้จึงเป็นการเรียนรู้ภารกิจที่หนักหนาผ่านความบันเทิงอีกต่อหนึ่ง แต่คงต้องขอบคุณความสมจริงของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกด้วย ที่ทำให้ภาพของความขาดแคลนและปัญหาที่ใหญ่หลวงเช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่ใครต่อใครเข้าถึงได้ชัดเจนขึ้น


 


สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล่นๆ อย่างเกมคอมพิวเตอร์ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การผสมผสานระหว่างประเด็นปัญหาและเครื่องมือในการนำเสนอมีความเกี่ยวโยงกันอย่างยิ่ง


 


"นีล กัลลาเกอร์" ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกฯ ถึงกับออกปากว่า "เราตื้นตันใจมากที่เกมฟู้ดฟอร์ซ ก้ามข้ามเส้นกั้นต่างๆ ไปได้ นักเล่นเกมส่วนใหญ่ส่งต่อเกมนี้ไปทั่วโลก เกมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ เพราะปฏิกิริยาแง่บวกจากทั้งเด็กๆ ครูอาจารย์ และพ่อแม่ผู้ปกครอง มันมากเกินกว่าที่เราคาดกันเอาไว้เสียอีก"


 


"ฟู้ดฟอร์ซคือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการใช้สื่อที่เหมาะสม ทำให้ประเด็นที่จับต้องไม่ค่อยจะได้และดูไกลตัวมากๆ อย่างเรื่องปัญหาความหิวโหย กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารกันมากขึ้น"


 


***




 


***


 


เกมลี้ภัยให้สำเร็จ "Last Exit Flucht"


ความสำเร็จของฟู้ดฟอร์ซ ทำให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ขอนำประโยชน์จากเกมไปใช้กับเขาบ้าง และ UNHCR สาขากรุงสต็อกโฮล์ม, สวีเดน ได้ออกแบบเกมชื่อว่า Motallaodds เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2548 จากนั้นก็มีการจัดทำเกมนี้เป็นภาษาเยอรมันตามมาอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า Last Exit Flucht ซึ่งสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ (ฟรีอีกเช่นกัน) ในเวบไซต์ www.LastExitFlucht.org


 


เกมนี้เปิดโอกาสให้นักเล่นเกมได้สัมผัสกับประสบการณ์ของ "ผู้ลี้ภัย" อย่างถึงแก่นเลยทีเดียว


 


ผู้เล่นเกมต้องหาทางอพยพลี้ภัย ไม่วาจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลจากสงครามก็ตามที แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลชนิดไหนก็ไม่ได้ช่วยให้การลี้ภัยสำเร็จลุล่วงไปอย่างง่ายดายเลย เพราะนอกจากผู้เล่นจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ทำให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและทรัพย์สินทั้งหมดไปแล้ว ผู้เล่นยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกนานัปประการกว่าจะจบเกม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางข้ามพื้นที่หรือข้ามประเทศที่ต้องผ่านหนทางอันตรายและเสี่ยงภัยอย่างที่สุด ไปจนถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในค่ายผู้ลี้ภัยที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง


 


ภารกิจที่สมจริงและชวนให้เศร้าใจที่สุดเห็นจะเป็นการพยายาม "รื้อถอน" บาดแผลและความเจ็บปวดของอดีตให้พ้นไปจากชีวิต และผู้เล่นต้องพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมีความสุขที่สุด


 


ฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อว่านี่คือเกม... หรือถ้าจะยืนยันว่าใช่ มันก็เป็นเกมชีวิตที่หนักหน่วงจริงๆ


 


ถ้าหากลองย้อนกลับมามองรอบตัวเราบ้าง จะเห็นว่าเรื่องราวในเกมนี้ไม่ห่างไกลจากตัวเราสักเท่าไหร่ เมื่อ


"ผู้ลี้ภัย" จากประเทศเพื่อนบ้านได้พยายามฝ่าฟันเข้ามาหาที่ทางในบ้านเราพักใหญ่ๆ แล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงเสิยที


 


ทุกวันนี้เราจึงยังได้ยินข่าวมากมายเกี่ยวกับความไม่ไว้วางใจกันของแรงงานต่างด้าว กับ "เจ้านาย" คนไทย เช่นเดียวกับข่าวฆาตกรรมเจ้านายคนไทยอันสะเทือนขวัญ ซึ่งสื่อของเราก็ย้ำฐานะ "เจ้าบ้าน" และนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ศพชาวต่างด้าวนิรนามที่ถูกพบตามตะเข็บชายแดนกลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของความสนใจในสังคมเท่านั้น


 


ความสำเร็จของเกมนี้ทำให้ UNHCR ที่ประเทศออสเตรียได้รับรางวัลส่งเสริมมนุษยธรรมยอดเยี่ยมไปครอง และมีการนำเกมนี้ไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ อันได้แก่ ภาษาอังกฤษ นอรเวย์ และเดนมาร์ก


 


ไม่รู้ว่าเหมือนกันว่าหน่วยงานไหนในเมืองไทยจะสนใจเอามาเผยแพร่บ้างหรือเปล่า...หรือถึงสนใจจริงๆ ก็คงยังไม่มีทางทำอะไรได้อยู่ดี เพราะกว่าบ้านเราในตอนนี้จะผ่านสภาวะสุญญากาศไปได้...คงต้องใช้เวลาอีกนานโข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net