Skip to main content
sharethis

สมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน จัดพิธีทำบุญและรำลึกถึงแรงงานที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเล่นเด็ก 'เคเดอร์' จำนวน 188 ราย เมื่อปี 2536 อันเป็นจุดเปลี่ยนที่นำมาสู่การผลักดันกฎหมายความปลอดภัยในที่ทำงาน และมีมติ ครม.ให้ทุกวันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี เป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ"

 

10 พ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 7.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงานหลายองค์กร ร่วมจัดงานรำลึก 31 ปี ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตา ‘เคเดอร์’ จ.นครปฐม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 188 ราย เมื่อ 10 พ.ค. 2536 

สำหรับเหตุการณ์โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่น บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2536 ข้อมูลจาก Way Magazine ระบุว่าเหตุดังกล่าวทำให้มีแรงงานเสียชีวิตจำนวนมากกว่า 188 ราย แบ่งเป็น คนงานชาย 14 ราย แรงงานหญิง 174 ราย ในจำนวนนี้มีเด็ก 5 คนกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาและเข้ามาทำงานพาร์ตไทม์ ส่วนอีก 10 คน เปลวเพลิงทำลายซากจนไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 469 คน

แม้ว่าต้นเพลิงจะมาจากการสูบบุหรี่ของพนักงานโรงงาน แต่ปัจจัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือการสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้โครงสร้างอาคารพังทลายอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดไฟไหม้ โกดังเก็บของที่อยู่ชั้น 1 และการวางสิ่งของตามทางเดินทำให้ไฟสามารถลามอย่างรวดเร็วจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน แม้ว่าจะมีการติดตั้งระบบฉีดน้ำ แต่ไม่มีการซักซ้อมเพื่อรับมือเกิดเหตุเพลิงไหม้ บันไดมีขนาดเล็กเกินไปที่จะอพยพแรงงานจำนวน 2,000 คนจากอาคาร หลายคนเลือกปีนออกจากหน้าต่าง และกระโดดลงมาชั้นล่าง จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเหตุผลที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ผลจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ ส่งผลให้ขบวนการแรงงานได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมาย ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน เมื่อปี 2554 และมีมติ ครม.ให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ มาจนถีงปัจจุบัน

บรรยากาศงานวันนี้ เวลา 7.00 น. มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ จำนวน 188 คน โดยมีนักกิจกรรม และตัวแทนสหภาพแรงงานผลักดันขึ้นมาพูดรำลึกเหตุการณ์การสูญเสีย และรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในโรงงานเคเดอร์

มานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวรำลึกและไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และปัจจุบัน มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานสากล หรือ ILO ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน แต่นั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหา และล่าสุด ไฟไหม้ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง วิกฤตกากแคดเมียม อากาศที่เป็นพิษ และภาวะโลกร้อน ที่ประชาชนต้องเผชิญ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ปลอดภัยต่อประชาชน

มานพ กล่าวว่า 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นการตอกย้ำและเป็นการเรียกร้องไปถึงรัฐบาลให้ความสำคัญในความปลอดภัยของคนทำงาน "ผลกำไรควรมาทีหลังความปลอดภัยในการทำงาน" 

มานพ เกื้อรัตน์ (เสื้อสีส้ม)

สงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวรำลึกเหตุโรงงานเคเดอร์ที่ทำให้แรงงานเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก เธอไม่อยากให้เกิดเรื่องนี้เกิดขึ้นอีก ไม่อยากเห็นการเสียชีวิตของคนงานและประชาชนอีกต่อไป ขอให้ดวงวิญญาณของแรงงานเคเดอร์ไปสู่สุขคติ และมีภพที่ดี

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. เริ่มต้นจากการกล่าวขอคาราวะดวงวิญญาณแรงงานเคเดอร์ 188 ราย ครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้พิการที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สาวิทย์ เผยว่า พวกเขามาร่วมและจัดงานทุกปี เพราะประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับคนงานเคเดอร์เป็นประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ที่แลกมาด้วยชีวิตคนงาน 188 คน เพื่อทำให้แรงงานได้มีความปลอดภัยในการทำงาน แต่ทำให้เกิดการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน และนำมาสู่การผลักดันกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน เมื่อปี 2554 และมีมติ ครม.ให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ มาจนถีงปัจจุบัน  

สาวิทย์ แก้วหวาน (ถ่ายโดยสหภาพคนทำงาน)

สาวิทย์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าจะมีการรณรงค์ผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่เราจะเห็นแนวโน้มในปัจจุบัน และในอนาคตจะรุนแรงขึ้น ความปลอดภัยในที่ทำงานของแรงงานยังไม่มี ความรุนแรง อุบัติเหตุ หรือโรคจากการทำงานยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับกันกลไกมาตรการในดูแล มาตรการในการเยียวยารักษา ยังไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเต็มที่และเข้มข้น ยังมีหน่วยงานหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาคราชการ เอกชน โรงงาน ห้างร้าน อุตสาหกรรม ยังปล่อยปละละเลย ทำให้เรายังเห็นปรากฏการณ์ของความไม่ปลอดภัยที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานก๊าซระเบิด ส่งผลกระทบคนงาน และประชาชนทั่วไป ภัยจากฝุ่น PM 2.5 การปนเปื้อนสารเคมีที่รั่วไหลออกมา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน และภัยคุกคามทางสุขภาพส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพมากมายมหาศาล

สาวิทย์ ชี้ว่าเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะกลุ่มทุนมองแต่เรื่องกำไร และมองเรื่องความปลอดภัยของแรงงานเป็นภาระ เป็นการลงทุนที่เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้น ตัวแทนที่จะทำหน้าที่กรรมการเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการแทนที่จะเป็นตัวแทนด้านสหภาพแรงงาน กลับกลายเป็นว่ามีการแต่งตั้งเจ้าของบริษัท ทำให้ความปลอดภัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมโดยรวม

สาวิทย์ มองว่า ขบวนการแรงงานต้องเข้ามามีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรณรงค์และผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างเข้มข้นและเต็มที่ เพื่อที่จะให้สถานประกอบการ และนายทุนได้คำนึงผลประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ของประชาชน อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานที่มีหลายเรื่องอีกเช่นกัน

"กลไกที่สำคัญคือองค์ของลูกจ้างคือสหภาพแรงงานที่จำเป็นต้องมีบทบาท และผลักดันตั้งแต่ในสถานประกอบการ ผลักดันตั้งแต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงรัฐบาลในการขับเคลื่อนในระดับชาติ ในทางนโยบาย เพื่อให้มาตรฐานนโยบายเรื่องความปลอดภัยเกิดขึ้น" ประธาน สสรท. ระบุ

หลังจากนั้น สาวิทย์ ได้ปราศรัยให้เห็นถึงความสำคัญของการบันทึกประวัติศาสตร์ของกรรมกร หรือชนชั้นแรงงาน ที่ต้องช่วยกันจารึก จดบันทึก และต้องสื่อสาร เพื่อไม่ให้ทุกคนหลงลืม และกล่าวขอให้ทุกคนยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ รวมถึงจากหลายเหตุการณ์จนปัจจุบัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนเชื้อชาติไหน ทั้งคนไทย และแรงงานข้ามชาติ คนเหล่านั้นคือพวกพ้องแรงงาน

เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป จะมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ "สุขภาพความปลอดภัยสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภัยคุกคาม ที่รอการแก้ไข" ณ ห้องประชุมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)

แถลงการณ์วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

เว็บไซต์ The Active รายงานวันเดียวกัน สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พ.ค. 2567 ระบุว่า แม้รัฐมีนโยบาย มีกฎหมาย และรับรองอนุสัญญา ซึ่งเป็นกติกาทางสากลแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ชีวิตคนงานก็ยังต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเสี่ยงจากเครื่องจักรอันตราย และท่าทางการทำงานที่ซ้ำซาก งานหนักเกินกำลัง ที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง

ความเป็นจริงดังกล่าวบ่งชี้ และย้ำว่า “ชีวิตคนงานตกอยู่ในความเสี่ยง ยังไร้มาตรฐานความปลอดภัย” ผู้ใช้แรงงาน ก็ยังไม่สามารถเข้าถึง การวินิจฉัยโรค กับแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในคลินิกโรคจากการทำงานได้ ยังมีคนงานที่เจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน ยังมีคนงานไม่รู้อีกจำนวนเท่าไร ในแต่ละปี ที่เจ็บป่วย ได้รับอันตรายจากการทำงาน “ซึ่งเป็นตัวเลขที่หายไป” นโยบาย Zero accident กับการปกปิดข้อมูลที่เป็นจริง คือ ปัญหาหนึ่งที่ขบวนการแรงงานเห็นว่าควรยกเลิก แล้วมาทำเรื่องส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการป้องกัน

เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2567 ขบวนการแรงงานจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

  1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน และอาชีวอนามัย พ.ศ.2524 และฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย พ.ศ.2528 และให้ตรากฎหมายรองรับให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับข้อตกลงของนานาประเทศ และขอให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินงานเรื่องการบริการอาชีวอนามัยอย่างเต็มที่ จริงจัง
  2. ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเคมี มลพิษ สิ่งแวดล้อม โรคมะเร็งจากการทำงานต่าง ๆ และให้ตั้งโรงพยาบาล คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในย่านนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการ ป้องกัน รักษาให้เพียงพอ
  3. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….
  4. ทำให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะการรื้อถอน ต้องมีมาตรการกำจัดฝุ่นแร่ใยหินที่ดี มีมาตรฐาน
  5. แก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ให้คนงานเข้าถึงสิทธิ ง่าย สะดวก รวดเร็ว
  6. บังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เร่งตรวจสอบ โรงงาน สถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการเอาผิดและลงโทษต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรงกรณีที่ก่อให้เกิดอันตราย ความไม่ปลอดภัยต่อคนงาน ประชาชน ชุมชน และจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทุกแห่งเพื่อเป็นกลไกในสถานประกอบการทุกแห่งเพื่อบริหารจัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพร้อมทั้งให้องค์กรแรงงาน สหภาพแรงงานมีส่วนร่วม
  7. การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งการเข้าถึงบริการ มี 3 ด้าน คือ การป้องกัน การส่งเสริมความปลอดภัย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการวินิจฉัยโรค รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ และ คลินิก บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอ
  8. การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับโรคเออร์โกโนมิกส์ โรคโครงสร้างกระดูก โดยเฉพาะต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง เคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานที่เกินกำลัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กรณีนายจ้างไม่ส่งเรื่องคนงานประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานเข้าใช้สิทธิเงินทดแทน
  9. เมื่อคนงานเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา การสิ้นสุดการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงานให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ที่รักษาไม่ใช่งบประมาณตามที่กำหนด

บรรยากาศการทำบุญรำลึก 31 ปี โศกนาฏกรรม 'เคเดอร์' 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net