Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมจำได้ว่าเมื่อปี 2527 มีปาฐกถาเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” โดย ป.อ. ปยุตฺโต ในงานรำลึกชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏการณ์ที่เห็นคือมีคนเข้าฟังจำนวนมากจนล้นห้องประชุม ต้องต่อลำโพงออกมาข้างนอกให้ผู้คนรอบๆ หอประชุมได้ฟังด้วย 

หากย้อนไปไกลว่านั้น น่าจะตั้งแต่ช่วงรอยต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 ชนชั้นนำฝ่ายขวากลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะครอบงำสังคมไทยถึงจุดพีค เผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกามาแล้วก่อนหน้านั้นอีก แต่ชนชั้นนำก็ไม่เอาเสรีประชาธิปไตยแบบอเมริกา ส่วนอเมริกาก็ไม่สนใจว่าไทยจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ สนใจแค่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายอิทธิพลในประเทศเพื่อนบ้านของไทยในยุคสงครามเย็น

โจทย์หลักของฝ่ายขวาคือ ทำอย่างไรสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนาจะมั่นคงไม่ถูกทำลายโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ นอกจากการต่อสู้ทางการเมือง, การใช้กฎหมายและใช้กองกำลังปราบปรามแล้ว การผลิตสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองที่ “เหมาะกับบริบทความเป็นไทย” ย่อมมีความจำเป็น

กระแส “พุทธแท้” จึงถูกฟื้นฟู ผลิตซ้ำและปรับใช้เพื่อเป็นทางรอดของสังคมไทย เป็นเวลายาวนานที่เราได้เห็นหนังสือธรรมะของพุทธทาสภิกขุ, ป.อ. ปยุตฺโต เรื่อยมาถึง ว. วชิรเมธี และคนอื่นๆ รวมทั้งหนังสือธรรมะแนวธรรมกาย สันติอโศก และธรรมะแนวกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิดวางปะปนกับหนังสือโหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหนังสือฮาวทูของไลฟ์โคชที่มีมากเป็นพิเศษในร้านหนังสือชั้นนำ กระทั่งเซเว่นก็มีหนังสือธรรมะของเซเลบพุทธวางขาย แม้แต่ผู้นำรัฐบาลคนดีย์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ถึงกับแนะนำให้คณะรัฐมนตรีอ่านหนังสือ ว. วชิรเมธี เพื่อ “ใช้ธรรมะข่มใจ” รับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น 

 

 

กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสองทศวรรษ (ที่ยังไม่จบ) ซึ่งเป็นความขัดทางความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่ยึด “ประชาธิปไตยแบบไทย” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ถือว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองในความหมายของการอยู่เหนือหลักเสรีภาพทางการเมือง (political liberty) ในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบโดยอำนาจรัฐสภา สื่อสาธารณะ และประชาชนทั่วไป กับ “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” หรือเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่า “สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรืออยู่ภายใต้อำนาจรัฐสภา และหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ

อย่างที่เราเห็น ในความขัดแย้งดังกล่าว สะท้อนอิทธิพลกระแสพุทธแท้อย่างเด่นชัดผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพธม. – กปปส. ด้วยการชูวาระ “การเมืองเชิงศีลธรรม” ที่ว่าการเมืองต้องเอาธรรมนำหน้า ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตยกำกับ ต้องได้คนดีมีคุณธรรมเป็นผู้ปกครอง ฯลฯ ซึ่งสอดรับกับพระบรมราโชวาทของ ร.9 ที่เน้นให้ “คนดีเป็นผู้ปกครอง” และคำสอนพุทธทาส, ปยุตฺโต เรื่อยมาถึง ว. วชิรเมธี เป็นต้น จนก่อเกิดโฉมหน้า “สัปปายะสภาสถาน” เป็นสัญญะเน้นความสำคัญของ “การปกครองโดยธรรม” ตามคติพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยม และเน้นการส่งเสริมประชาชนให้มีศีลธรรมควบคู่กับความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองฝ่ายขวา

ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้แย้ง ที่เห็นได้ชัดคือ เดิมทีหนังสือธรรมะแนวพุทธแท้จะเป็นหนังสือขายดีตามร้านหนังสือชั้นนำ และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แต่ปัจจุบันหนังสือวิชาการแนววิพกาษ์วิจารณ์หรือ “ลอกคราบพุทธแท้” กลายเป็นหนังสือขายดีแทน 

 

 

 

ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีงานวิชาการวิจารณ์การประกอบสร้างพุทธแท้โดยปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาส ชนชั้นกลาง และอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากการวิจารณ์เพียงมุ่งชี้ให้เห็นว่า “พุทธแท้ไม่มีอยู่จริง” หรือต้องการแสดงให้เห็นว่า “ที่จริงแล้วพุทธไทยมีหลากหลาย” และ/หรือ “อำนาจรัฐและศาสนจักรก็ไม่สามารถผูกขาดความเป็นพุทธแท้ได้จริง หรือขจัดความหลากหลายของพุทธ พราหมณ์ ผีไม่ได้จริง” เป็นต้น อาจจะทำให้เรามองไม่เห็นความซับซ้อนของปัญาเชิงโครงสร้างได้ไม่ชัดเจนเพียงพอ

แรกที่สุดเลย เราอย่าปักใจเชื่อหรือเพ้อเจ้อว่าศาสนจักรหรืออำนาจรัฐที่แสดงออกว่า “เป็นเจ้าของพุทธแท้” (เช่นมีอำนาจนิยามว่าพุทธแท้คืออะไร มีอำนาจจัดการศึกษาพุทธศาสนาทั้งของสงฆ์และฆราวาส มีอำนาจออกกฎหมายปกครองสงฆ์ และฯลฯ) จะมีเจตนารมณ์ทำให้พุทธศาสนาบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือให้ชาวพุทธทั้งประเทศยึดคำสอนที่ถูกต้องในไตรปิฎก ไม่ใช่เลย เจ้าของพุทธแท้ไม่ได้มีเจตนารมณ์เช่นนั้น

เพราะเจ้าของพุทธแท้เองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้องในไตรปิฎกจริงเจตนารมณ์แท้จริงของสถาบันศาสนาและสถาบันอำนาจรัฐที่เป็นเจ้าของพุทธแท้คือ “การใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” เพื่อรักษาสถานะ อำนาจของพวกชนชั้นบนทางการเมืองและศาสนา 

การ "แสดง" ให้สังคมเห็นว่าได้สะสางชำระล้างพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์เป็นครั้งคราว รักษาคำสอนที่ถูกต้อง อุปถัมภ์พุทธศาสนา ฯลฯ ก็เพื่อความชอบธรรมในการรักษาสถานะ อำนาจทางการเมืองเป็นด้านหลัก สังคมไทยมีพุทธ พราหมณ์ ผีปนเปกันทั้งในวัด วัง และในสังคมเมือง สังคมชนบททั่วไปมานานแล้ว อำนาจรัฐและศาสนจักรยอมให้มีสิ่งพวกนั้นได้ คุณจะบอกว่ามันคือ "ความหลากหลาย" ก็แล้วแต่จะเรียก แต่มันคือความหลากหล่ายของผี พราหมณ์ พุทธที่อำนาจรัฐและศาสนจักรยอมให้มีได้ ตราบที่ไม่ท้าทายหรือสั่นคลอนอำนาจของสถาบันที่เป็นเจ้าของพุทธแท้ 

ดังนั้น ที่เถียงว่าผี พรามหณ์ หรือพุทธสำนักพิศดารต่างๆ มันมีอยู่แล้ว มีมานานแล้ว ก็ใช่ มันก็คงมีของมันเช่นนั้นต่อไป และปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย คนระดับชาวบ้านทั่วไปเขารับรู้สิ่งพวกนี้ ชินกับสิ่งพวกนี้กันอยู่แล้ว ไม่ได้ตื่นเต้นว่า "เพิ่งค้นพบ" เหมือนนักวิชาการหรือนักวิจัยไทยเทศ

ปัญหาสำคัญจริงๆ จึงไม่ใช่การอธิบายให้เห็นว่าพุทธ พราหมณ์ ผีมีอยู่จริง ไสยเวทย์ต่างๆ มีอยู่จริง หรือสถาบันเจ้าของพุทธแท้ขจัดสิ่งที่ถูกมองว่า “นอกรีต” พวกนั้นไม่ได้จริง เพราะที่จริงแล้วสถาบันเจ้าของพุทธแท้เขาไม่เคยต้องการทำให้พุทธ “เพียว” จริงๆ อยู่แล้ว และพวกเขาเองก็ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนาตามที่พวกเขาเผยแพร่อย่างจริงใจอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญจริงๆ อยู่ที่สถาบันเจ้าของพุทธแท้ไม่ยอมให้มีพุทธแบบไหนๆ มาท้าทาย ตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจของพวกเขา ดังนั้น พวกกบฏผีบุญ ครูบาศรีวิชัย และอื่นๆ ที่บังอาจท้าทายจึงถูกปราบดังที่เราทราบกัน พูดให้ชัดขึ้นอีกคือ สถาบันเจ้าของพุทธแท้เองก็มีทั้งลักษณะความเป็นพุทธ พรามหณ์ ผีในตัวเองอยู่แล้ว และพวกเขาก็ยอมให้มีพุทธ พราหมณ์ ผีในประเทศนี้ได้ ตราบที่ไม่หือไม่อือมาท้าทายอำนาจทางการเมืองของพวกเขา

ถ้าไม่เชื่อ ลองเคลื่อนไหวรณรงค์ “แยกศาสนาจากรัฐ” อย่างจริงจังดูก็ได้ ขับเคลื่อนประเด็นนี้ในสภาดูสิ คุณจะได้เห็นฤทธิ์เดชของสถาบันเจ้าของพุทธแท้ว่าเป็นยังไง

อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์บทบาทปัญญาชนพุทธ และเซเลบพุทธทั้งพระและฆราวาสที่อ้างคำสอนที่ถูกต้องในไตรปิฎกมาตัดสิน “ความเชื่องมงาย” ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนาแบบปัจเจกบุคคลของคนทั่วไปก็ย่อมมีประโยชน์ และทำให้เราเข้าใจได้ว่าวิธีการปกป้องศาสนาเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากเรื่องราวในนิยายปรัชญา “ซาฮาโตโพล์ค” มากนัก

เรารู้หรือไม่ว่าโครงสร้างสังคมเผด็จการในนามความเชื่อศาสนาดำรงอยู่ได้อย่างไร อ่านนิยายปรัชญานี้แล้วจะตาสว่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ผู้รู้ศาสนา” เช่น ศาสตราจารย์ผูสอนศาสนารู้ดีว่าการสถาปนากษัตริย์ให้เป็เทพเจ้านั้นเป็นเรื่องหลอกลวง แต่เขาก็อ้างว่าต้องรักษาความเชื่อเช่นนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ภายใต้ระเบียบสังคมเช่นนั้น แต่แท้ที่จริงแล้วตัวศาสตราจารย์เองและกลุ่มคนส่วนน้อยในชนชั้นของพวกเขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างสังคมวิปริตเช่นนั้น เช่น ได้ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ เงินทอง ฯลฯ 

ตราบที่พวกเขายังแสดงตนเป็นผู้จงรักภักดีและปกป้องเทพเจ้าจอมปลอมให้สามารถกระทำผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ตามอำเภอใจ หรือเสแสร้งไม่รับรู้ความจริงอันเลวทรามเช่นนั้น

อ่านนิยายเรื่องนี้แล้วเราจะเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของบรรดาผู้รู้ศาสนาแนวปกป้องพุทธแท้ในบ้านเราที่ทำตัวเป็นผู้ตรวจสอบความเชื่อทางศาสนาแบบปัจเจกบุคคลของชาวบ้าน แต่เสแสร้งมองไม่เห็น “ช้างในห้อง” ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย

บรรดาผู้รู้ศาสนาเหล่านี้อาจพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ถ้าเป็นสิทธิ เสรีภาพของพวกเขาหรือที่พวกเขาได้ประโยชน์ แต่พวกเขาจะละเว้นไม่พูดถึงสิทธิ เสรีภาพของเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกกฎปราบโดยอำนาจในนามศาสนาที่พวกเขาปกป้อง คนเหล่านี้ไม่ต่างจากผู้รู้ศาสนาในซาฮาโตโพล์คเลย

 

 

 

ดังนั้น ถึงที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องวิจารณ์สถาบันเจ้าของพุทธแท้ หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและโครงสร้างในระยะยาว เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางความคิดแบบประชาธิปไตย ดังที่ John Keane เขียนไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยฉบับสุดสั้น” ว่า 

"ประชาธิปไตยมีลักษณะไม่เชื่อง (sauvage) ...มันเรียกร้องให้ผู้คนมองทะลุคำกล่าวเรื่องทวยเทพ ผู้ปกครองสมมติเทพ และกระทั่งธรรมชาติของมนุษย์ มันเรียกร้องให้ผู้คนละทิ้งการอ้างอภิสิทธิ์แต่กำเนิดที่ผูกกับความเหนือกว่า 'ตามธรรมชาติ' ทั้งเชิงสติปัญญา หรือสายเลือด สีผิว วรรณะ ชนชั้น ความเชื่อทางศาสนา ช่วงวัย หรือรสนิยมทางเพศ ประชาธิปไตยแปรสภาพธรรมชาติของอำนาจ" (หน้า 11) 

"...ตั้งแต่จุดกำเนิด ประชาธิปไตยมองออกว่าแม้มนุษย์จะมิใช่เทวดา แต่อย่างน้อยก็ดีพอที่จะป้องกันไม่ให้มนุษย์คนอื่นทำตัวเสมือนเป็นเทวดา และในมุมกลับกัน การที่คนเราไม่ได้ดีงามราวกับนักบุญ จึงไม่มีใครควรได้รับความไว้วางใจให้ปกครองโดยปราศจากการตรวจสอบการใช้อำนาจ..." (หน้า 12-13)

นี่คือลักษณะแบบโลกวิสัย (secular) ของประชาธิปไตยที่เป็น “ความคิดพื้นฐาน” ที่เราควรนำมาใช้เป็น “จุดยืน” ในการวิพากษ์สถาบันเจ้าของพุทธแท้ เพื่อให้ผู้คนมองทะลุ “มายาภาพ” ของการประกอบสร้างพุทธแท้ และการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของศาสนจักรและชนชั้นปกครองที่ถูกอ้างว่าเป็นประโยชน์แก่ความเจริญของศาสนา และแก่ประชาชนส่วนรวม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net