Skip to main content
sharethis

การลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมืองที่ถูกค้ำจุนด้วยสถาบันต่างๆ ในระบบการเมืองไทย เช่น สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนไม่ต้องรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยที่ระบบกฎหมายไทยถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์หลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม สถาบันลอยนวลพ้นผิดจึงคงอยู่และสามารถออก‘ใบอนุญาตฆ่า’ แก่รัฐเพื่อรักษาความสัมพันธ์แนวดิ่งของเครือข่ายชนชั้นนำเอาไว้

  • สถาบันการลอยนวลพ้นผิดคือองค์ประกอบหนึ่งที่สร้างรัฐไทยสมัยใหม่
  • องค์ประกอบ 4 ข้อเพื่อใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง หนึ่งคือการสร้างความชอบธรรมทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย สองคือการออกกฎหมายมายกเว้นความผิด สามคืออํานาจตุลาการที่ตีความรับรองกฎหมาย และสี่คือองค์กรอิสระที่เป็นกลไกให้สภาวะการลอยนวลพ้นผิดดําเนินไปอย่างแยบยลมากขึ้น
  • ระบบกฎหมายไทยถูกครอบงำด้วยหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม
  • สถาบันตุลาการและองค์กรอิสระพลวัตใหม่ที่ค้ำจุนสถาบันลอยนวลพ้นผิด
  • ข้อเสนอแนะเพื่อยับยั้งสถาบันลอยนวลพ้นผิด ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้รับการตรวจสอบ, การออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความรุนแรงและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน, ปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการผลักดันให้รัฐไทยยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกและกัดกินหลักนิติรัฐของไทยจนมีหน้าตาอัปลักษณ์ ในการรัฐประหารทุกครั้งไม่เคยนำผู้กระทำมาลงโทษได้ ในการชุมนุมทางการเมืองที่จบลงด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากไล่เรียงตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 และพฤษภา 2553 หรือกรณีตากใบ ไม่เคยมีการนำผู้สั่งการมาลงโทษได้แม้แต่ครั้งเดียว

ทำไมเป็นเช่นนี้? นั่นเพราะการลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันการเมืองชนิดหนึ่งที่ดำรงอยู่ในสังคม มันถูกค้ำยันด้วยองค์กรและหน่วยงานต่างๆ บนฐานคิดที่ว่ารัฐไทยทำผิดไม่ได้ แม้จะผิดอยู่ตำตา เพราะนอกจากจะกระทบกระเทือนความชอบธรรมแล้ว มันยังสั่นสะเทือนไปถึงเครือข่ายชนชั้นนำด้วย

เป็นสิ่งที่ภาสกร ญี่นาง ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ ‘กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง’


ภาสกร ญี่นาง
ภาพโดย จารวี ไพศาลธารา

ลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมือง

จากการค้นคว้าของภาสกรพบว่าการลอยนวลพ้นผิดเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ประกอบสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นและสิ่งนี้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เมื่อมองในมิติเชิงประวัติศาสตร์ก็พบว่ารัฐไทยมีหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิดซ้ำซาก กระทั่งกลายเป็นคุณค่า เป็นจิตวิญญาณ หรือแม้กระทั่งเป็นกฎเกณฑ์เชิงจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในสังคม และมันเกิดขึ้นทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าการลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมือง

ภาสกรอ้างอิงความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ว่า หากสถาบันการลอยนวลพ้นผิดหายไปหรือถูกยับยั้ง โครงสร้างอํานาจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการลอยนวลผิด เช่น เครือข่ายชนชั้นนํา สถาบันกฎหมาย สถาบันการเมืองต่างๆ ที่ดํารงอยู่อย่างยาวนานในรัฐไทยอาจจะพังครืนลงไป

เราจึงเห็นการลอยนวลพ้นผิดผ่านกลไกสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการทางกฎหมาย ที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองและอํานาจ

ปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนความรุนแรง สร้างความชอบธรรมเพื่อปราบประชาชน

law in action หรือปฏิบัติการทางกฎหมาย คือกลไกทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจริง กระทบต่อชีวิตสังคมมนุษย์จริง ภาสกรเห็นว่าปฏิบัติการทางกฎหมายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มิได้ดูเพียงแค่ตัวบทบัญญัติ แต่ยังดูว่ารัฐไทยมีกลไกปฏิบัติการหรือมีการนําสถาบันทางกฎหมาย สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันตุลาการ หรือการใช้อํานาจปกครองโดยที่มีกฎหมายอยู่เบื้องหลังมาใช้อย่างไรในปฏิบัติการทางกฎหมาย ซึ่งเขาแยกออกเป็น 2 ส่วนคือปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นและปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว

“ปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนเกิดความรุนแรงทางการเมือง ในทางกฎหมายมีสิ่งที่เรียกว่าอํานาจโดยพฤตินัยกับอํานาจทางนิตินัย เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลากับเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งระบบกฎหมายของไทยตอนนั้นยังไม่ได้มีความก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับจุดกําเนิดของมัน ก็จะใช้อํานาจพฤตินัยหรือถ้าแปลก็คืออํานาจตามความเป็นจริง อํานาจที่อาศัยข้อเท็จจริงเพื่อให้การใช้อํานาจของรัฐนั้นมีความชอบธรรม

“เช่นอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา รัฐของจอมพลถนอมตอนนั้นใช้วิธีการสร้างอํานาจทางพฤตินัยหรือสร้างข้อเท็จจริงบัญญัติให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการใช้อํานาจโดยการออกแถลงการณ์ของรัฐบาลจํานวน 6 ฉบับ ซึ่งในแต่ละฉบับจะเป็นเนื้อหาที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการจะใช้ความรุนแรง เช่น การอธิบายว่านักศึกษาหรือกลุ่มนักศึกษา ณ วันนั้นกําลังจะบุกเข้าสวนจิตรลดา มีการซ่องสุมกําลัง มีการใช้คําว่าใช้ความรุนแรงและยึดสถานที่ราชการ สิ่งนี้ก็คือการสร้างเหตุการณ์ สร้างความเป็นจริง สร้างข้อเท็จจริงขึ้นมา เพื่อให้เกิดอํานาจอันชอบธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล ณ เวลานั้นที่จะนําไปสู่ปฏิบัติการสลายการชุมนุม”

นอกจากอำนาจทางพฤตินัยแล้ว ยังมีอำนาจทางนิตินัย หมายถึงการอาศัยข้อกฎหมาย การตรากฎหมาย หรือการประกาศกฎหมายเพื่อเป็นฐานรองรับการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ เช่นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กับพฤษภาคม 2553 ที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จุดร่วมของสองเหตุการณ์นี้คือการสร้างข้อเท็จจริงหรือเงื่อนไขบางอย่างที่จะทําให้ความรุนแรงนั้นชอบธรรม โดยมีพระราชกําหนดหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอํานาจตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลสามารถประกาศได้ นี่คือการปฏิบัติการทางกฎหมายแบบก่อนความรุนแรงจะเกิดขึ้น ซึ่งผลของมันคือการสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้ความรุนแรง

ปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรง นิรโทษกรรมสุดซอย

ส่วนที่ 2 คือปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรง โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการตรากฎหมายออกมายกเว้นความผิดอย่างชัดแจ้ง ส่วนต่อมาคือเป็นการหมกเม็ด มีเหตุผลซ่อนเร้น หรือไม่พูดอย่างชัดแจ้งว่ามีการยกเว้นความผิดให้ผู้ก่อความรุนแรง แต่ให้ผลในทางกฎหมายไม่ต่างกัน

“ยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 เมื่อมีชัย ฤชุพันธุ์ตราพระราชกําหนดนิรโทษกรรมออกมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านกระบวนการของรัฐสภาที่จะออกตามเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยกระบวนการพระราชกําหนดนิรโทษกรรมที่ออกมาแล้วจะต้องได้รับการพิจารณาจากสภาก่อนว่าจะยอมรับให้เป็นพระราชบัญญัติหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็เป็นอันตกไป ถ้ายอมรับก็จะกลายเป็นพระราชบัญญัติมีผลบังคับต่อไป ผลคือตัวนิรโทษกรรมปี 2535 ถูกรัฐสภาตีตกไป และพระราชกําหนดตอนนั้นไม่ได้เขียนตรงๆ ด้วยว่า ยกเว้นความผิดให้แก่รัฐบาลหรือทหาร แต่ใช้คำว่าผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ส่งผลกินความไปจนถึงตัวผู้เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาล”

แต่ก็เกิดอภินิหารทางกฎหมายขึ้น เมื่อเกิดคำถามว่าแล้วสิทธิที่จะได้รับจากการยกเว้นความผิดตาม พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ รัฐสภาจึงส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความ ผลคือแม้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมจะถูกตีตกโดยรัฐสภา แต่ผลทางกฎหมายยังคงมีอยู่ ทำให้เห็นว่าสถาบันการลอยนวลพ้นผิดแฝงอยู่ในทุกที่

ด้วยเหตุนี้ เมื่อญาติของผู้เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากรัฐบาลของสุจินดา คราประยูรกับเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลฎีกาจึงใช้เหตุผลของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตีความว่ากฎหมายฉบับนี้กินความถึงทุกคนและมีผลตลอดไปและยกฟ้อง ซึ่งเป็นการลอยนวลผิดอย่างสิ้นเชิงทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

องค์กรอิสระ องค์การฟอกผิดเป็นถูก

อีกหนึ่งองค์กรที่มีส่วนร่วมในสถาบันลอยนวลพ้นผิดก็คือองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ภาสกรยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สุเทพ เทือกสุบรรณ และอนุพงษ์ เผ่าจินดา คณะกรรมการ ศอฉ. ถูกฟ้องและขึ้นศาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่หลังรัฐประหาร 2557 กระบวนการพิจารณาคดีก็เริ่มไม่ชอบมาพากล

เริ่มจากศาลศาลอาญาวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอํานาจฟ้องเพราะศาลมองว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอันเนื่องจากการดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเป็นการทําผิดอันเนื่องกับการปฏิบัติหน้าตามกฎหมายซึ่งไม่ใช่ความผิดส่วนตัว และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้มีอํานาจฟ้องแทน ทว่า ป.ป.ช. กลับตีตกคำฟ้องถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกให้เหตุผลว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เป็นไปตามหลักสากลในการชุมนุม ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นการกระทําตามหลักสากลคดีนี้จึงไม่มีการชี้มูลความผิด

ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังศาลตีความว่า ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง กลุ่มญาติคนเสื้อแดงจึงยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาคำร้องใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ถูกตีตกเหมือนเดิมด้วยเหตุผลเดิมว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐจึงชอบด้วยกฎหมาย

“จะดําเนินคดีได้ก็คือให้ญาติไปฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รายคน ซึ่งมันเป็นการผลักภาระให้ผู้เสียหาย อันนี้ก็คือกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ถ้าหากคนเสื้อแดงในวันนี้ต้องการยื่นฟ้องคดีก็ต้องไปหาพยานหลักฐานด้วยตัวเอง จะต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ด้วยตัวเองเพื่อที่จะดําเนินคดีซึ่งในแง่ของการปฏิบัติมันก็เป็นไปได้ยาก”

ไม่เฉพาะในทางกฎหมาย เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ก็ยังลอยนวลพ้นผิดในทางประวัติศาสตร์การเมืองด้วย โดยการฟอกผิดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งภาสกรระบุว่าบุคคลที่มีส่วนร่วมในการเขียนรายงานไม่มีความเป็นกลางและไม่มีความเป็นอิสระตั้งแต่แรก

“ในการเขียนรายงานหรือการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นําโดยคณิต ณ นคร ก็เป็นกลุ่มที่เคยมีความบาดหมางหรือว่าเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ณ ขณะนั้น การเขียนข้อเท็จจริงจึงมีการกลับหัวกลับหาง คือแทนที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างไร มันจะมีบางส่วนของข้อความที่พยายามเขียนว่าประชาชนหรือผู้ชุมนุมตอนนั้นทําผิดอะไรบ้าง มีการปราศรัยข้อความที่กระทบความมั่นคง กระบวนการหรือรูปแบบการชุมนุมที่มีการนําผู้หญิงและเด็กขึ้นมาอยู่หน้าขบวนเป็นแนวหน้าก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ยิ่งทําลายความชอบธรรมแก่ผู้ชุมนุม”

ทั้งสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระที่มีส่วนให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดในทั้งสองเหตุการณ์ก็คือพลวัตใหม่หรือสถาบันใหม่ที่เพิ่มเข้ามาค้ำยันสถาบันลอยนวลพ้นผิดให้มั่นคงยิ่งขึ้น

“มันเป็นข้อยืนยันว่าการลอยนวลพ้นผิดเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สร้างรัฐไทยขึ้น ต่อให้มีหน่วยงานหรือมีองค์กรอะไรก็ตามที่เชื่อว่าจะปกป้องเสรีภาพ ที่เชื่อว่ามันจะสร้างความยุติธรรม แต่ก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วการลอยนวลพ้นผิดก็ยังดําเนินต่อมา ผมใช้คําว่าเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย”

นิติรัฐอภิสิทธิ์-ราชนิติธรรมครอบงำระบบกฎหมายไทย

ภาสกรระบุด้วยว่าสถาบันลอยนวลพ้นผิดยังประกอบขึ้นจากมโนทัศน์พื้นฐานทางกฎหมายว่าด้วยหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมที่ครอบงําระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมายของรัฐไทย จากแนวคิดที่ว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองทำให้กฎหมายรับใช้อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังมันอีกที

เขาหยิบยืมความคิดของธงชัย วินิจจะกูลเรื่องหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์ที่อธิบายว่า การหยิบความคิดของตะวันตกมาใช้ในสังคมไทยย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกับความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม จารีตประเพณีที่อยู่ในรัฐไทยตั้งแต่แรก หมายความว่าเมื่อนิติรัฐพยายามจะเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน วางหลักว่าทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และจํากัดอํานาจรัฐ แต่ในสังคมไทยที่ความเสมอภาคกันต่อด้านกฎหมายไม่ได้มีตั้งแต่แรก แต่มีความเชื่อทางศาสนาเรื่องบุญกรรม มีมโนทัศน์ที่มองระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวดิ่ง 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“สังคมไทยไม่เชื่อตั้งแต่แรกว่าคนเราเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายเพราะมันเป็นความคิดจากตะวันตก พอปะทะกันแบบนี้ อาจารย์ธงชัยเลยผลิตคําว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์ ขึ้นมาในความหมายที่ว่ารัฐไทยเป็นระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์การลอยนวลผิดแก่ผู้มีอํานาจ ไม่ใช่ระบบกฎหมาายที่ให้และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่กลับตาลปัตร คือจํากัดสิทธิเสรีภาพ แต่ให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะประโยชน์สาธารณะสําหรับรัฐไทยที่สําคัญที่สุดคือความมั่นคง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงมีอํานาจมากที่สุด”

ขณะที่ราชนิติธรรมหมายความว่าการใช้อํานาจจะใช้ผ่านผู้แทนในการออกกฎหมาย แต่ความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทยกลับมาจากผู้ทรงธรรมที่สังคมยอมรับ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมาย หลักราชนิติธรรมจึงครอบงํานิติศาสตร์ไทย เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์หรือราชาชาตินิยมที่ครอบงําสังคมไทยตั้งแต่แรก โดยอาจผ่านการปลุกปั่น การโหมโฆษณาชวนเชื่อ หรือปฏิบัติการต่างๆ นานาที่ผ่านมาในอดีตที่ส่งผลต่อการเมือง มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกฎหมายเพราะกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนิติศาสตร์ไทยไม่ได้ยึดหลักการประชาธิปไตย แต่นิติศาสตร์ไทยมีเสาหลักเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาปฏิญาณตนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ปฏิญาณตนต่อประชาชน เวลาผู้พิพากษาเขียนคําพิพากษาก็จะอ้างว่าเขียนในนามพระปรมาภิไธย ไม่ได้เขียนในนามของความยุติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ

“ขอย้อนกลับไปเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังจากที่สภายื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับพระราชกําหนดที่ถูกตีตกไป สถาบันตุลาการ ณ วันนั้นไม่ได้อ้างหลักการทางกฎหมายเพื่อบอกให้พระราชกำหนดโทษกรรมมีผลต่อไป แต่อ้างพระราชดํารัสที่ให้ไว้แก่พลตรีจําลอง ศรีเมืองกับพลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อให้เหตุการณ์สงบ ทั้งที่การจะวินิจฉัยหรือฟันธงอะไรต้องอ้างตามหลักการทางกฎหมาย ถ้าเป็นคดีอาญา คดีแพ่งก็ต้องอ้างตัวบทหรือแนวคําพิพากษาที่เทียบเคียงกันได้ ถ้าเป็นกฎหมายมหาชนหรือรัฐธรรมนูญก็ต้องอ้างหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายทั่วไปที่ต้องอิงอยู่กับตัวระบอบการปกครองอย่างประชาธิปไตยที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มันก็เลยตอกย้้ำหรือสะท้อนภาพของราชนิติธรรมขึ้นมาว่าพระราชดํารัสหรือคําพูดของพระมหากษัตริย์ส่งผลต่อกฎหมายและครอบงําปฏิบัติการทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายอย่างไร”

ใบอนุญาติฆ่า

ปฏิบัติการทางกฎหมายที่ภาสกรอธิบายมาทั้งหมดนำไปสู่การออก ‘ใบอนุญาตฆ่า’ หรือ ‘killing license’ ซึ่งเขาตีความว่าเป็นกฎหมายที่ให้อํานาจความชอบธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ความรุนแรงด้วยการสร้างข้อเท็จจริง การทําให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคาม และสร้างสภาวะยกเว้น เขาอ้างอิงความคิดของธงชัยอีกว่าระบบกฎหมายไทยไม่สามารถแบ่งแยกได้ระหว่างสภาวะปกติกับสภาวะยกเว้น

สภาวะยกเว้นหมายถึงสภาวะที่กฎหมายที่ควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและจํากัดอํานาจรัฐทั้งหมดได้รับการยกเว้นไว้หรือไม่บังคับใช้ แล้วนําบทกฎหมายพิเศษหรืออํานาจพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อนํามาใช้แก้ไขสภาวะฉุกเฉิน

“คําว่า killing license สามารถตีความได้กว้างกว่านี้ว่าคือการสร้างสภาวะยกเว้นให้เกิดขึ้น เช่นกฎอัยการศึกที่ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎอัยการศึกมีเส้นบางๆ ระหว่าง killing license กับกฎหมายที่สร้างความชอบธรรม กฎอัยการศึกที่ถูกประกาศใช้มันสร้างทั้งสองรูปแบบคือสร้างภาวะการรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามกับสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และมันถูกนํามาใช้ภายใต้ผ้าคลุมของสิ่งที่เรียกว่า rule of law หรือการปกครองโดยกฎหมาย แต่ว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายที่ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการปกครองทางกฎหมายที่ให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่ฝ่ายรัฐและฝ่ายความมั่นคง”

ภาพการสลายการชุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อ ต.ค. 47 ในเหตุกาณ์ดังกล่าวและการนำตัวผู้ถูกจับกุมไปค่ายทหารส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

สถาบันลอยนวลพ้นผิดรักษาอำนาจเครือข่ายชนชั้นนำ

สถาบันการลอยนวลพ้นผิดไม่ได้เพียงทำให้คนผิดไม่ต้องรับโทษ แต่สถาบันนี้ยังเป็นการรักษาประโยชน์ของเครือข่ายชนชั้นนำด้วย ภาสกรอธิบายว่าสังคมไทยยังคงมีการปะทะกันระหว่างระเบียบทางสังคมแบบใหม่กับระเบียบทางสังคมแบบเก่า

ในระเบียบทางสังคมแบบใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแนวราบ ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ขณะที่ระเบียบทางสังคมแบบเก่าเป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง ทุกคนอยู่กันอย่างมีชนชั้นลดหลั่นลงมาตามตามความหมายทางศีลธรรมหรือจริยธรรมศาสนา 

“ผมมองว่าตัวอํานาจเก่ายังคงมีอยู่ทุกวันนี้เพราะระเบียบใหม่ยังไม่สามารถแทนที่ได้และการลอยนวลพ้นผิดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่มันมีกระบวนการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันรัฐ เป็นกลไกหรือองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ปกป้องระเบียบความสัมพันธ์แบบเก่า ระเบียบความสัมพันธ์ที่คนกลุ่มหนึ่งจํานวนน้อยมีอํานาจเหนือกว่าและสามารถกดขี่ขูดรีดฉกฉวยผลประโยชน์จากคนส่วนใหญ่ได้

“ผมใช้ทฤษฎีเรื่องความรุนแรงทางกฎหมายที่มาจากจากทฤษฎีความรุนแรงของโยฮัน กับตุง ซึ่งความรุนแรงทางกฎหมายคือสิ่งที่รักษาสถานะทางอํานาจของเครือข่ายชนชั้นนําซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงได้หรือไม่ คําตอบก็คือกฎหมายสามารถทํางานสอดรับกับปฏิบัติการความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างแยบยลผ่านการซ่อนเร้น กลบเกลื่อน บิดเบือน และให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ แทนที่กฎหมายจะเป็นตัวสร้างความยุติธรรมในการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราจะเห็นว่ากฎหมายภายใต้ระบบกฎหมายไทยมันไปสร้างผลกลับตาลปัตรขึ้น นั่นหมายความว่ากฎหมายสามารถเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง”

นอกจากนี้ กฎหมายยังสามารถเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้ ในแง่ที่ทำให้การใช้ความรุนแรงแฝงฝังลงไปในคุณค่าของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและระบบศีลธรรมที่ทําให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรม การกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอํานาจตามกฎหมายสามารถกระทําต่อประชาชนได้โดยไม่มีความผิด จนสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดขึ้นมา

หยุดสถาบันลอยนวลพ้นผิด

ไม่เพียงลอกคราบให้เห็นความเป็นสถาบันของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเท่านั้น ภาสกรยังได้เสนอแนะแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันลอยนวลพ้นผิดทำงาน

ข้อแรก ภาสกรเสนอว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องไม่ใช่การให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่รัฐ จะต้องไม่ใช้เป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทางการเมือง ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการใช้อํานาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องได้รับการตรวจสอบผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการใช้อำนาจจะต้องดําเนินไปเท่าที่จําเป็น ปฏิบัติการต้องส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด ถ้าไม่ได้ผลจึงค่อยยกระดับ กล่าวคือต้องได้สัดส่วน รัฐต้องรักษาดุลยภาพในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับสิทธิประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช้ยึดสิทธิประโยชน์ส่วนรวมเพื่อทําลายสิทธิเสรีภาพของปัจเจก

ประการต่อมา การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถทำได้เพื่อนําพาสังคมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือว่าระบอบใหม่ที่ดีกว่า กฎหมายนิรโทษกรรมควรมุ่งเฉพาะผู้กระทําความผิดด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือกระทําไปโดยต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ต้องไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความรุนแรงและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด ทั้งยังต้องดําเนินควบคู่ไปกับการเยียวยาด้วยให้แก่เหยื่อของความรุนแรงด้วย

ประการที่ 3 การปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น กองทัพ สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอํานาจรัฐ เปลี่ยนและตัดตอนความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยยึดโยงกันจนนําไปสู่การลอยนวลพ้นผิด และให้กลับมายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

ประการสุดท้ายคือการผลักดันให้รัฐไทยยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะเมื่อกลไกในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ ประชาชนสามารถใช้กลไกศาลอาญารหว่างประเทศซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนวลมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และการรุกรานต่างๆ ซึ่งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหมายรวมถึงอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นระบบ และมีเป้าหมายเป็นประชาชนพลเรือนทั่วไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net