Skip to main content
sharethis

2 สมาชิก P-move รับทราบข้อหาฝ่าฝืนห้ามชุมนุม 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล จากการชุมนุม #พีมูฟทวงสิทธิ เดือน ก.พ. 2567 ถือเป็นเคสแรกยุค 'เศรษฐา' เบื้องต้น ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเรียกร้องให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชี้ลิดรอนสิทธิ ปชช.

 

29 มี.ค. 2567 องค์กร Protection international (PI) รายงานวานนี้ (28 มี.ค.) ว่า ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ตัวแทนของขบวนการภาคประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เดินทางเข้าร่วมให้กำลังใจ ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานพีมูฟ และจำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาพีมูฟ ในกรณีที่ทั้ง 2 คนถูกสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ออกหมายเรียกตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ในข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล 

พีมูฟรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ดุสิต (ภาพจากทางเครือข่าย)

สมาชิกพีมูฟทั้ง 2 คนได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)  และเจ้าหน้าที่จากองค์กร Protection International 

สำหรับคดีดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากพีมูฟ ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามที่สัญญากันไว้โดยการชุมนุมครั้งล่าสุดของพีมูฟเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-28 ก.พ. 2567 รวมเวลาทั้งสิ้น 24 วัน 

ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการชุมนุม ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาส่งมาถึงธีรเนตร ไชยสุวรรณ โดยเป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.ชัยธัช เชียงทา ผู้กล่าวหา กับ จำนงค์ หนูพันธ์กับพวกผู้ถูกกล่าวหา  โดยมีข้อกล่าวหา คือ เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล ในคดีอาญา สน.ดุสิตที่ 41/2567, 63/2567 และ 64/2567

ทำตามกระบวนการทุกอย่าง กลับถูกฟ้อง

ทั้งนี้ หลังใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงในการรับทราบข้อกล่าวหา ธีรเนตร เปิดเผยความรู้สึกว่า เบื้องต้น เขาคิดว่า รัฐบาลที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาจากประชาธิปไตยแล้วไม่น่ามาฟ้องร้องหรือแจ้งข้อกล่าวหาประชาชนแบบนี้ และการมาชุมนุมเรียกร้องของพีมูฟก็เป็นสิ่งที่เราทำและยืนยันที่จะทำมาโดยตลอด เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจให้มาแก้ปัญหาให้กับประชาชน 

ประธานพีมูฟ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการประกาศชุมนุมเราก็ได้แจ้งการชุมนุมไว้แล้ว ด้วยการชุมนุมที่ยืดเยื้อและรัฐบาลแก้ไขปัญหาช้า แต่ก็มีการแก้ปัญหาเป็นระยะตามสภาพของแต่ละกระทรวงซึ่งเราก็ไปแจ้งขยายเวลาการชุมนุมแล้ว แต่สุดท้ายแล้วพอหลังจากเลิกชุมนุมไปวันที่ 28 มี.ค. 2567 ประมาณอาทิตย์กว่าๆ ก็มีหมายไปถึงบ้านตน

จำนงค์ เปิดเผยความรู้สึกหลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้วเช่นกันว่า เรื่องการฟ้องร้องพวกตนในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และเราก็ยืนย้นมาโดยตลอดว่าเรามาทวงสิทธิในเรื่องที่รัฐบาลรับปากไว้และไม่ได้ทำตาม ตั้งแต่ปีที่แล้ว รัฐบาลทำงานมาเจ็ดเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้ทำงานอะไรที่แก้ไขปัญหาให้กับงประชาชน หลายเรื่องที่เรามาตามไม่ใช่เราทำเพื่อพีมูฟอย่างเดียว แต่เราทำเพื่อพี่น้องคนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น เรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญแห่งชาติซึ่ง และในอีกหลายๆ ประเด็น

เห็นตรงกันต้องยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ธีรเนตร กล่าวย้ำว่า ตนคิดว่ากระบวนการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้รัฐบาลควรจะยกเลิกกฎหมายนี้ออกไป เรายังยืนยันเหมือนเดิมว่า พ.ร.บ. ชุมนุมไม่ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นไปด้วยการปิดปากพี่น้องหรือปิดปากคนที่อยากแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ หรือปิดปากคนที่มีความเดือดร้อนรัฐบาลควรที่จะยกเลิก พ.ร.บ.นี้

(ซ้าย) จำนงค์ หนูพันธ์ และ (ขวา) ธีรเนตร ไชยสุวรรณ (ภาพจากเครือข่าย)

"เรายืนยันในแนวทางของเราว่าสิ่งที่เราเรียกร้องในการชุมนุมเป็นแนวทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องได้ เราจะปักหลักที่จะชุมนุมต่อเพื่อให้รัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพี่น้องและนำไปสู่บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" ประธานพีมูฟ กล่าว

ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกผิดหวัง เพราะตนเคยโดนคดีใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สมัยรัฐบาลที่แล้วประมาณ 8 คดี แต่พอมาเป็นรัฐบาลชุดนี้รู้สึกว่าจะเป็นกรณีแรกของภาคประชาชนที่โดน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เขาเลยผลักดันว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มันไม่มีประโยชน์กับประชาชน จะเสนอคณะกรรมาธิการพัฒนาการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มี พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้ยกเลิก เพราะก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีแผนการ กฎในการแก้ไขปัญหาผู้ชุมนุมอยู่แล้ว พอมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็เป็นการเพิ่มภาระ เพิ่มปัญหาให้กับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเดือดร้อนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องข้อห้ามชุมนุมเกินรัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลยิ่งไม่สมควรมี เพราะปัญหาต่างมันระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือกระทรวงแก้ไม่ได้แล้วถึงต้องมาที่ส่วนกลางทำเนียบรัฐบาล ดังนั้น ข้อห้ามการชุมนุมเกินรัศมี 50 เมตรของทำเนียบรัฐบาลจึงไม่ควรมี ตนยืนยันว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควรถูกยกเลิกไปในรัฐบาลชุดนี้

ทำเนียบควรใช้เป็นสถานที่แก้ไขปัญหาประชาชนอย่างมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ควรใช้คุกคามดำเนินคดี

สุธีรา เปงอิน ตัวแทนจาก Protection International ระบุว่า การต่อสู้ของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพีมูฟ เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาในเรื่องสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร รัฐสวัสดิการ และปัญหาเรื่องปากท้อง  ซึ่งพีมูฟ เรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขมาทุกรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การดำเนินทางด้านนโยบายก็ต้องเริ่มใหม่เช่นกัน 

ตัวแทนจาก PI กล่าวว่า  รัฐบาลเศรษฐา ทำงานมาแล้วกว่า 7 เดือน พีมูฟชุมนุมแล้ว 3 ครั้ง กว่า 40 วัน เพื่อให้รัฐบาลเศรษฐาดำเนินการการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนำนโยบาย 10 ด้านของพีมูฟ ให้บรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหมายรวมถึงนโยบายด้านการคืนสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ แก้ไขกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน รัฐสวัสดิการอีกด้วย ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แต่กลับถูกคุกคามคือ หมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นการโจมตีการทำงานที่ชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สุธีรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่งมือที่สำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นสิทธิขั้นฐานที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ผ่านมาการชุมนุมของพีมูฟมีการแจ้งการชุมนุมโดยตลอด และทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ที่ใช้ประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือ แก้ไขปัญหา หรือกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ดังนั้น จึงควรเร่งรัดแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาฟ้องคดีประชาชนในลักษณะนี้

ทนายเผยให้การปฏิเสธ ไม่กังวลเรื่องคดีความ

วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) กล่าวว่า วันนี้โดยหลักคือเราก็ให้การปฏิเสธและหลังจากนี้เราจะยื่นให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมภายในวันที่ 9 เม.ย. 2567  หลังจากเรายื่นคำให้การเพิ่มเติมเสร็จแล้วทางพนักงานสอบสวนจะนัดส่งสำนวนกับตัวผู้ต้องหาให้ทางอัยการในวันที่ 23 เม.ย. 2567 เพื่อที่อัยการจะพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีนี้

ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) กล่าวว่า โดยหลักคดีนี้เป็นการใช้เสรีภาพในแสดงออก คือ การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและโดยพฤติการณ์ในการชุมนุมก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่จะเกิดความวุ่นวายมันเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่เขาได้รับความเดือดร้อนซึ่งทำได้ตามกฎหมาย แต่ในการแจ้งข้อกล่าวหาก็จะเป็นเรื่องของเทคนิคเล็กน้อยของตำรวจที่ตนอ่านดูโดยตำรวจได้อ้างว่าการชุมนุมได้เข้าไปใกล้ทำเนียบอาจจะเกิดความไม่สะดวกหรือความไม่ปลอดภัยในการอารักขาในการดูแลเลยออกกฎมาว่าห้ามเข้าใกล้ 50 เมตร แต่จริงๆ ถ้าเราอ่านกฎหมายการชุมนุมมันสามารถชุมนุมได้ในพื้นที่ของทำเนียบ ถ้ามันไม่มีเหตุรุนแรงหรือเหตุที่มันจะเกิดความไม่สงบและอยู่ในพื้นที่ที่เขาจัดให้มีการชุมนุมก็สามารถชุมนุมได้

"ถ้าเราดูจากรูปคดีก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะเราใช้สิทธิตามกฎหมาย และเมื่อดูพฤติการณ์ประกอบก็ไม่ได้มีเหตุที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการหรือความสงบสุขของประชาชนแถวนั้น และการชุมนุมก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และวัตถุประสงค์ของเขาก็ชัดเจนว่าเขามาเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก" วีรวัฒน์ กล่าว

'พีมูฟ' แถลงถึงรัฐบาลพลเรือน หยุดใช้ กม.ทหารปิดปากประชาชน

วันเดียวกันนี้ พีมูฟ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง "หยุดปิดกั้นเสรีภาพประชาชน หยุดใช้กฎหมายทหารในรัฐบาลพลเรือน" โดยมีใจความสำคัญบางส่วนระบุว่า จากการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ และระหว่างการชุมนุมที่มีแนวโน้มต้องปักหลักชุมนุมนานกว่าเดิม เราก็ได้แจ้งขยายระยะเวลาการชุมนุมไป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ชุมนุมพีมูฟและตัวแทนรัฐบาลได้มีการประชุมหารือร่วมกันอยู่เป็นระยะจนได้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล จึงได้ยุติการชุมนุม

อำนาจต่อรองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประชาชนคือการเรียกร้องบนท้องถนนเพื่อให้รัฐบาลเปิดการเจรจา การชุมนุมโดยสงบคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นที่ที่ประชาชนคนยากคนจนพึงมีเพื่อให้รัฐบาลเห็นหัว เมื่อการใช้สิทธิกลับผิดกฎหมาย เราจึงขอประณามรัฐบาลโดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังเดินหน้าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมอย่างสันติ และยังคงบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อย่างไร้มนุษยธรรม

กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 163 คดี สำหรับคดีของพวกเราพีมูฟนั้น นับเป็นการถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากการชุมนุมในรัฐบาลเศรษฐา บรรยากาศการบังคับใช้กฎหมายปิดปากประชาชนเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลพลเรือน

พีมูฟจึงขอเรียกร้องให้ต้องยกเลิกคดีความนี้โดยเร่งด่วน และเรายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวในชั้นคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ และเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะในที่สุด

ท้ายที่สุดนี้ เรายืนยันว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และมาตรา 34 รวมถึง ICCPR ที่ไทยร่วมเป็นภาคีด้วยก็ตาม แต่หลังการชุมนุมยุติลง การมีหมายเรียกมายังตัวแทนพีมูฟด้วยข้อกล่าวหาจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเช่นนี้นั้น ชวนให้น่ากังวลใจอย่างยิ่งว่า หลังจากนี้เสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนภายใต้รัฐบาล 'เศรษฐา ทวีสิน' จะดำเนินไปในทิศทางใด ขอเชิญชวนประชาชนจับตาร่วมกัน

แถลงการณ์ P-move

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net