Skip to main content
sharethis

นิติ มธ.ร่วมกับแนวร่วม มธ.จัดเวทีเสวนา “กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่” สะท้อนปัญหากระบวนการโหวตเลือก สว.ชวนสับสน ซับซ้อน คนที่ถูกเลือกอาจไม่สะท้อนความต้องการของกลุ่มอาชีพและพื้นที่ “สมชัย-ช่อ” เห็นตรงกันสุดท้ายอาจมีการซื้อตัว สว.หลังประกาศผลอยู่ดี แต่การป้องกันการล็อกผลที่ดีที่สุดคือประชาชนต้องช่วยกันสมัครไปรับเลือกเป็น สว.

วันที่ 27 มี.ค.2567 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีเสวนา “กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่” จัดโดยนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของการโหวตเลือก สว.จำนวน 200 คนที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้เพื่อมาทดแทน สว.ชุดที่แต่งตั้งมาโดยรัฐบาล คสช. รวมถึงปัญหาของระบบการเลือก สว.ที่ถูกออกแบบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าจะสร้างอุปสรรคอย่างไรต่อการได้ สว.ที่มาจากประชาชนและจะเข้าตรวจสอบกระบวนการโหวตเลือกที่ซับซ้อนตรวจสอบได้ยากนี้อย่างไร

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กล่าวว่าหน้าที่ของ สว.ที่เขาควรจะเป็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ไปด้วยกัน แม้จะบอกว่า สว.มีไว้เพื่อตรวจสอบการทำงานของ สส.และกลั่นกรองกฎหมายที่มาจาก สส.แต่ที่ผ่านมานับตั้งแต่มี สว.ก็คือการคอยค้ำจุนผู้ที่แต่งตั้งพวกเขาเข้ามา จะแต่เพียง สว.ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้เลือกตั้ง 100% แต่ก็เกิดข้อครหาว่าเป็นสภาผัวเมีย แล้วก็มีการแก้ให้มีการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและอีกส่วนแต่งตั้งเข้ามาในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ก็มีสภาพที่สองสภาทำงานร่วมกันไม่ได้

เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มีการใส่บทเฉพาะกาลให้ สว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็เห็นได้ชัดเจนว่าถูกตั้งเข้ามาโดย คสช. ทั้งหมดและบทบาทของ สว.ชุดล่าสุดนี้ก็คือเข้ามาค้ำจุนรัฐบาล เห็นได้จากห้าปีที่ผ่านมาไม่เคยเปิดอภิปรายในรัฐบาลประยุทธ์เลย แต่พอมีรัฐบาลเศรษฐาแล้วถึงจะมาเปิดอภิปรายรัฐบาล

สมชัยกล่าวถึงสภาพหลังจากที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2567 ทำให้ต้องมีการเลือก สว.เข้ามาแทนชุดที่ปัจจุบันแล้วกลับไปใช้บทหลักในรัฐธรรมนูญที่ สว.จะมีจำนวนลดลงเหลือ 200 คน โดยการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครรับเลือกที่จะเข้ามาสมัครตามกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวน 20 กลุ่ม มีการเลือกกันเองทั้งหมด 6 ครั้งตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ เป็นการเลือกไขว้กันทุกขั้นตอน เพื่อให้ สว. มีความหลากหลายมากที่สุดจนคาดการผลท้ายสุดไม่ได้เลย เขาไม่คิดว่าจะมีใครที่ต้องการยึดครอง สว.ทั้ง 200 คนจะสามารถออกแบบการจัดการเพื่อเลือกคนของตัวเองหรือภาคส่วนใดเข้าไปได้ เพราะเขาเห็นว่าระบบ “มั่ว” จนคาดการณ์ไม่ได้ว่าท้ายสุดผลจะเป็นยังไง

อดีต กกต. อธิบายเพิ่มเติมว่าถ้าหากจะมีใครต้องการพยายามส่งคนตัวเองเข้าไปเป็น สว. แม้จะสามารถยึดกุมการเลือกได้ในระดับอำเภอและจังหวัดโดยการส่งกลุ่มคนของตัวเองเข้าไปสมัครได้มากพอที่จะโหวตให้แก่คนที่ต้องการให้เป็น สว.ได้ถูกเลือก จนทำให้คนที่ไปลงสมัครเองโดยไม่มีกลุ่มอาจได้เสียงโหวตไม่มากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ระดับประเทศก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะอาจจะไม่สามารถคุมการโหวตของคนที่มาจากพื้นที่อื่นได้ หากใครต้องการผลักดันคนของตัวเองเป็น สว.ก็ยังมีความเสี่ยงในเลือกระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมชัยมองว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือช่วงหลังจากได้ สว.เข้ามาแล้ว ถ้าคนเหล่านี้ขาดอุดมการณ์ การกวาดต้อนซื้อคนที่เป็น สว.เข้ามุ้งก็จะเกิดขึ้น

นอกจากการเลือกกันเองที่ อดีต กกต.มองว่าเป็นปัญหาแล้ว กระบวนการในวันเลือก สว. ก็ยังมีปัญหาอีกว่า นอกจากผู้สมัครรับเลือกด้วยกันที่จะได้เห็นกระบวนการเลือกแล้ว คนนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว.ได้ ดังนั้นการจะเข้าไปสังเกตการณ์เพื่อป้องกันการซื้อตัวคนเป็น สว.กันก็เป็นภาระของประชาชนที่จะต้องเสียเงินเป็นค่าสมัคร 2,500 บาทและเวลาเพื่อเข้าร่วมกระบวนการเลือก สว.

“เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหม่และเป็นการทดลองออกแบบที่มา สว. อีกครั้งทางการเมืองของไทย  แต่จะสำเร็จหรือไม่จะได้คนที่ต้องการไปทำหน้าที่ได้หรือไม่ ครั้งนี้อาจเป็นการทดลองครั้งสุดท้ายเพราะถ้าไม่ได้เรื่อง สุดท้ายก็จะเกิดการรณรงค์ให้ไม่ต้องมี สว. อีกแล้ว” สมชัยกล่าว

พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า เริ่มจากชวนผู้เข้าร่วมคิดถึงเหตุผลต่างๆ ที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของ สว. อย่างเช่นการกำหนดอายุไว้ที่ 40 จนทำให้มีประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการได้น้อยมาก จนไม่ควรเรียกการเลือก สว.นี้ว่าเป็นการเลือกตั้งเลย และเธอคิดว่าอย่างต่ำสุดถ้าไม่เลิกการมี สว.ไปเลยก็จะต้องทำให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง

พรรณิการ์เล่าถึงงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่เคยทำสำรวจมีผลสำรวจออกมาว่าคนไทยอยากให้มีการเลือกตั้ง สว. ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ก็คือให้เลิกไปเลย และที่ผ่านมาไทยก็เคยมีการเลือกตั้ง สว.มาแล้วคือชุดที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้เธอเห็นว่าการมี สว.ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมาจากการเลือกตั้งและยังเข้ามาเพื่อสกัดหรือคุม สส.ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงรัชกาลที่ 6-7 ก็สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจประชาชนหากปล่อยประชาชนได้เลือกตั้ง และเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมาชนะฝ่ายคณะราษฎรในช่วงพ.ศ. 2490 ก็ยังสร้าง “พฤฒสภา” ขึ้นมาและเปลี่ยนมากลายเป็นวุฒิสภาในเวลาต่อ ดังนั้นการเรียกร้องให้ สว.ต้องผ่านการเลือกตั้งเข้ามาจึงไม่ใช่เจตนารมณ์ตั้งต้นของการมี สว.แต่แรก

ดังนั้นเมื่อ สว.จะมาจากการเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้องหาระบบอะไรมาแทนเพื่อทำให้มีความชอบธรรมแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงสร้างระบบการสรรหาจากกลุ่มอาชีพขึ้นมา แต่เมื่อ สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ก็ไม่เกิดความชอบธรรมขึ้นมา

พรรณิการ์กล่าวว่า ในไทยไม่ได้มีแค่ 20 กลุ่มอาชีพ แล้วการจัดกลุ่มอาชีพที่ถูกจับมาไว้รวมกัน เช่น นักเขียนกับสื่อมวลชนก็ถูกจัดไว้ด้วยกันทั้งที่ทักษะไม่เหมือนกันสภาพแวดล้อมในการทำงานก็ต่างกัน ดังนั้นการแบ่งตามกลุ่มอาชีพจึงเป็นอะไรที่ประหลาดมากอีกทั้งบางพื้นที่บางอำเภอก็อาจจะไม่มีอาชีพนั้นๆ อยู่เลยเช่น เขตราชเทวีก็คงไม่มีชาวนา จอมทองก็คงไม่มีคนทำอาชีพประมง สุดท้ายการเลือก สว.นี้จึงกลายเป็นวัวพันหลักที่อ้างว่ามีความชอบธรรมแต่สุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงปาหี่และรักษาความจำเป็นในการดำรงอยู่ของ สว.เอาให้ได้เท่านั้นและเป็นองค์กรที่มีตัวตนอยู่เพื่อคัดคานองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม โฆษกคณะก้าวหน้ามองว่าการเลือก สว.ครั้งนี้วิธีที่ง่ายที่สุดในการฉ้อฉลผลการเลือกกันเองคือ ใช้เงินซื้อตัวผู้ได้รับเลือก สว. เพราะระบบนี้เอื้อต่อการซื้อตัวกันปลายทาง และเธอเชื่อว่าการปล่อยให้มีการเลือกกันเองของผู้สมัครเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการปล่อยตำแหน่ง สว.ให้ประชาชนได้เลือกกันเองจริงๆ และการซื้อตัว สว.เพื่อให้ส่งผลต่อเสียงในสภาหลังจากนี้ก็ลงทุนซื้อตัวแค่ราว 70 คนก็ส่งผลแล้วและเป็นการลงทุนที่ถูกกว่าการไปไล่ซื้อตัวตั้งแต่ก่อนเกิดการเลือก

พรรณิการ์เห็นว่า การจะแก้ปัญหานี้ได้คือต้องทำให้มี สว.ในสภาที่ซื้อตัวไม่ได้ซัก 70 -100 คน ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการซื้อตัวกันที่ปลายทางได้ ฝั่งประชาชนก็ต้องเข้ามาลงสมัครให้มากที่สุดและทำให้การเลือก สว.นี้มีประชาชนเข้าไปร่วมมากที่สุดก็จะสามารถชนะการจัดตั้งคนเข้ามาเลือกกันเองได้และจะทำให้คนที่ผู้มีอำนาจส่งมาแพ้โหวตไปเอง

เธอคิดว่าในสนาม สว. นี้ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ถือว่าเป็น ถ้าชนะครั้งนี้ ก็จะได้ สว. ที่สามารถเข้ามาสรรหา แพ้ก็ไม่เป็นไรก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าชนะประเทศไทยก็จะไม่เหมือนเดิม แล้วลองเสี่ยงดูว่าการจัดตั้งกนัเองของประชาชนจะพาไปได้ไกลแค่ไหน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการของ iLaw ยืนยันว่าไม่มีทางเลือกออกมาได้ดีแน่นอนเพราะแค่เรื่องวันที่จะให้ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. มาเลือกกันก็ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เลือกกันเมื่อไหร่ เพราะทั้งหมดก็ขึ้นกับรัฐบาลจะออกพระราชกฤษฎีกามาทันหรือไม่ ถ้าทันก็จะได้เลือกกันประมาณปลายเดือน มิ.ย.หรือก.ค.นี้ ซึ่งความไม่ชัดเจนเรื่องวันที่จะให้ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.มาโหวตนี้อาจทำให้มีผู้สมัครจำนวนหนึ่งมาไม่ได้เพราะอาจติดธุระอื่น

สมชัยเสริมประเด็นเรื่องวันโหวตเลือก สว.นี้ว่าในการลงวันเลือก สว. ระหว่างการเลือกระดับอำเภอกับจังหวัดจะห่างกัน 7 วัน ถ้าการเลือกครั้งแรกเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ การเลือกครั้งถัดไปก็จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ แต่การเลือกในระดับประเทศจะเกิดขึ้นหลังจากเลือกระดับจังหวัด 10 วันโดยประมาณทำให้อาจจะเป็นวันอื่นที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ได้

ยิ่งชีพชี้ถึงปัญหาของการแบ่งกลุ่มอาชีพด้วยว่า การกำหนดกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มแบบที่เป็นอยู่นี้จะสร้างปัญหาว่าคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องลงสมัครในกลุ่มไหนกันแน่ และตอนที่จะโหวตเลือกกันก็ไม่มีใครรู้ว่าคนที่สมัครเข้ามามีความสามารถตามกลุ่มอาชีพนั้นจริงๆ หรือไม่ มีประสบการณ์ชีวิตการทำงานเหมือนกันหรือไม่ ไปจนถึงว่าการเลือกกันเองก็ยังถูกเลือกจากคนกลุ่มอาชีพอื่นและพื้นที่อำเภอและจังหวัดอื่นอีกทีว่าจะให้ใครได้เป็น สว. ทำให้ สว.ที่ได้มาไม่ยึดโยงกับอะไรเลย

ทั้งนี้ยิ่งชีพมองว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ประชาชนจะไม่มีทางแพ้เลยเพราะเมื่อเทียบกับ สว.ชุดที่มีอยู่ที่การลงคะแนนต่างๆ สามารถถูกคุมทิศทางได้และเห็นทิศทางนั้นจาก สว.ที่ออกมาพูดกันอยู่ไม่กี่คนแล้ว แม้ว่าการเลือก สว.ครั้งนี้จะมีความสับสนอลหม่านมาก สว.ที่เป็นฝ่ายประชาชนอาจจะไม่ได้เข้ามามากนักก็ตามแต่มันจะไม่แย่เท่าเดิมแน่นอน นอกจากนั้นหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจจะทำได้หากพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกล และหากได้ สว.เข้าไปอีก 67 คนมาช่วยกันโหวตก็จะทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมมนูญใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพก็เห็นว่าการเรียกร้องขอให้ประชาชนมาร่วมแรงร่วมใจกันครั้งนี้เป็นข้อเรียกร้องที่สูงกว่าการขอความร่วมมือจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อยู่มากเพราะการจะให้เข้าร่วมไม่ว่าจะลงเพื่อรับเลือกเป็น สว.หรือแค่จะลงสังเกตการณ์ คนที่จะร่วมก็ต้องจ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาทแล้วก็ต้องมีเวลาพอที่จะเข้าร่วมกระบวนการโหวตเลือก เตรียมเอกสารรับรองต่างๆ แล้วก็ยังต้องขอให้ไปให้ทันเวลาในวันโหวตอีก  แต่เขาก็ย้ำว่าการเข้าไปร่วมครั้งนี้มีเป้าหมายแค่ต้องการให้มีคนเข้าไปสมัครเยอะที่สุด ก็จะทำให้ไม่สามารถล็อกผลโหวตได้แล้วและนอกจากจะเข้าไปเพื่อโหวตเลือแล้วก็ยังสามารถช่วยกันเข้าไปจับตากระบวนการโหวตเลือกหากจะมีใครเข้ามาพยายามล็อกผลโหวตด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net