Skip to main content
sharethis

ค้านส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า เผยรัฐละเมิดกฎหมาย-อนุสัญญาระหว่างประเทศ กสม.เตรียมสอบการละเมิดสิทธิเด็ก 'ปารมี' สส.ก้าวไกล และ กมธ.การศึกษาฯ เร่งประสานชะลอส่งตัวกลับ

 

26 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ความคืบหน้ากรณีเด็กไร้สัญชาติจำนวน 19 คน จากมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งไปบวชเรียนอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี แต่ถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี (พมจ.ลพบุรี) เข้าไปตรวจสอบ และนำตัวกลับมายัง จ.เชียงราย เพื่อเตรียมผลักดันกลับประเทศพม่า โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ ตม.เชียงแสน ประสานทาง ตม.ท่าขี้เหล็กเพื่อติดตามพ่อแม่และขอเอกสารยืนยันตัวตนมารับเด็กกลับประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การนำตัวเด็กจำนวน 19 คนกลับมาจากจังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ ทำให้เด็กประสบกับภาวะไม่มั่นคง และไม่เห็นอนาคต จึงถูกพาหนีภัยจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทย โดยเด็กเหล่านี้บางส่วนเป็นเด็กเร่ร่อน บางส่วนไม่มีผู้ปกครองซึ่งรัฐต้องมีนโยบายและแนวทางคุ้มครองเด็กเหล่านี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็ก รวมทั้ง พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 ที่ต้องให้สิทธิการศึกษากับเด็ก เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีปัญหารอบด้านทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปค้าบริการและอยู่ในวงจรเครือข่ายยาเสพติด และยังเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ค้าอวัยวะซึ่งมีราคาสูงมาก 

เตือนใจ กล่าวว่า การที่รับเขามาดูแลให้การศึกษาในขณะที่ประเทศต้นทางกำลังประสบปัญหา แต่เมื่อพื้นที่เขากลับสู่ภาวะสงบเด็กๆ ก็จะกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย ขณะที่ฝ่ายบริหารปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ การเตรียมส่งเด็ก 19 คนนี้กลับประเทศ นับเป็นครั้งที่ 2 จากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งมีกรณีนำเด็กกลับมาจาก ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง ที่ครูกัลยา ทาสม อดีตผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 รับเด็กชาวเมียนมา 126 คนเข้าเรียน และถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นำเด็กต่างด้าวเข้าเรียนในราชอาณาจักรไทย ก่อนโดนส่งกลับประเทศ แล้วยังโดนสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตั้งกรรมการสอบวินัย กล่าวหาว่าไม่ได้ดําเนินการตามขั้นตอนกับพวก ซึ่งเครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็ก เฝ้าติดตามว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา และจะมีการยกเลิกโทษทางวินัยหรือไม่ 

"ขอตั้งคำถามกับฝ่ายบริหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ พม.ที่ทำหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ว่าจะมีแนวทางต่อเด็กเร่ร่อนไร้สัญชาติไร้ ผู้ปกครองที่หลบหนีภาวะไม่มั่นคง ความไม่ปลอดภัยเข้าในประเทศจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองดูแลและรับมือสถานการณ์พิเศษที่มีความรุนแรงรอบด้านที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้" อดีต สว.กล่าว 

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผู้ด้อยโอกาสและเด็ก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การนำเด็กออกโรงเรียนกลางคันถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถทำได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพราะถือว่าเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ รัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครอง เพราะเด็กทั้ง 19 คนอายุน้อยต่ำกว่า 18 ปี การเข้าเมืองโดยเด็กมีผู้พามา เด็กไม่ได้มาเอง จึงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองและตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

สุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ด้านสิทธิการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2548 ได้เห็นชอบ ให้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่กลุ่มบุคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเรียนได้โดยไม่จำกัดพื้นที่ และยกเลิกเรื่องการห้ามข้ามเขต จึงชอบด้วยกฎหมายที่เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้จะสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ทั้ง พม. กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่คุ้มครองเด็ก โดยขณะนี้ทาง กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีนักเรียนไร้สัญชาติทั้ง 19 คน หลังจากนี้คงจะเตรียมลงพื้นที่ไปรับตรวจสอบและรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในขณะนี้ตนได้รับทราบข้อมูลจากข่าวที่นำเสนอ และมีความเห็นว่าตอนนี้ต้องดำเนินพูดคุยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชะลอการผลักดันเด็กออกจากประเทศ เพราะเด็กหนีภัยสงครามและมีคนนำมาฝากให้อยู่ในที่ปลอดภัย จึงไม่ควรโดนผลักดันกลับ ทั้งด้วยสามัญสำนึกและมนุษยธรรม เด็กต้องได้รับการคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ควรผลักดันให้เขากับไปสู่พื้นที่อันตรายหรือมีความเสี่ยง การอ้างเรื่องกฎหมายคนเข้าเมืองจึงอยากให้ทบทวน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองเด็ก

"เบื้องต้นจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พม. และ ตม. มหาดไทย ดำเนินการให้ชะลอการส่งกลับ อยากให้มองคนเป็นคน เด็กอายุยังน้อยมาก มองเด็กเป็นเด็กที่ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย จากนั้นก็พิจารณาเรื่องสิทธิด้านการศึกษา สถานะกันต่อไป" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

ก่อนหน้านี้ รองโฆษกสำนักนายกฯ เผย ครม.เห็นด้วยถอนข้อสงวนข้อที่ 22 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เว็บไซต์สื่อ "ผู้จัดการออนไลน์" รายงานเมื่อ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา คารม พรหมพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ โดยมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม.สรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการในภาพรวม ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

"การที่ประเทศไทยยังคงข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ จะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายดูแลเด็กผู้ลี้ภัยหรือเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เฉกเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตอำนาจของไทย ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเด็กกลุ่มอื่นในประเทศ อันไม่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ประเทศไทยควรถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยเร็ว เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์และยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ โดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงหลักการไม่ผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย" คารม กล่าว

ต่อมา เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อ 27 ก.พ. 2567 ระบุว่า อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบถอนข้อสงวน ข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อถอนข้อสงวนนี้ไป จะทำให้ประเทศสามารถคุ้มครอง ช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัย และเด็กที่แสวงหาที่พักพิง ทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น

อรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำร่างแนวทางการดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดนิยามคำจำกัดความ "เด็กผู้ลี้ภัย" โดยจำแนกเด็กเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กหนีภัยการสู้รบจากเมียนมา กว่า 3.2 หมื่นคน อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง และ 2.เด็กผู้ลี้ภัย และเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงในเมือง กว่า 1.8 พันคน พร้อมกับกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ โดยนำกฎหมายที่มีอยู่มาคุ้มครองเด็ก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2564 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นต้น พร้อมกับประสานความร่วมมือกับองค์กรสหประชาชาติในการช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็ก

"หากประเทศถอนข้อสงวน ข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแล้ว เชื่อว่าประโยช์ที่จะได้รับมีดังนี้ 1.เด็กทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยยึดประโยชน์ของเด็กเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครอง และดูแลช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้ 2.ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทนในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย และเด็ก ในบริบทการย้ายถิ่นฐาน สอดคล้องกับคำมั่นที่ไทยได้ให้ไว้เวทีระหว่างประเทศ 3.พัฒนาภาพลักษณ์ที่ดี และมุมมองด้านบวกของไทย และ 4.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศด้านเด็กในไทย ดำเนินงานด้านเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานในอย่างครอบคลุม" อรรถพล กล่าว

อนึ่ง ประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยการภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ตั้งข้อสงวนไว้ 3 ข้อ เพื่อยกเว้นการดำเนินการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในข้อนั้น ได้แก่ 1) ข้อ 7 ว่าด้วยสถานะบุคคล 2) ข้อ 22 ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ 3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และข้อ 7 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ปัจจุบันคงเหลือเพียงข้อสงวนข้อ 22 และถือเป็นรัฐภาคีประเทศสุดท้ายที่ยังคงข้อสงวนข้อนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net