Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่ากำไรจากการใช้ 'แรงงานบังคับ' ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2014 ผลกำไรผิดกฎหมายที่ได้จากแรงงานบังคับ เพิ่มขึ้นถึง 37%


ที่มาภาพ: ILO

จากรายงาน 'Profits and Poverty: The economics of forced labour ' โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่า แรงงานบังคับในภาคเอกชน สร้างรายได้ผิดกฎหมายมูลค่าสูงถึง 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตัวเลขนี้ เพิ่มขึ้นจาก 64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้น 37%) นับตั้งแต่ปี 2014 สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้คนถูกบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้น และผลกำไรจากการแสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อมีมูลค่าสูงขึ้น

รายงานประเมินว่าผู้ค้ามนุษย์และเหล่าอาชญากร กำลังสร้างรายได้ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเหยื่อหนึ่งราย เพิ่มขึ้นจาก 8,269 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หลังปรับอัตราเงินเฟ้อ) เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

กำไรผิดกฎหมายจากแรงงานบังคับ มีตัวเลขสูงสุดในแถบยุโรปและเอเชียกลาง (84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) รองลงมาคือ เอเชียและแปซิฟิก (62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อเมริกา (52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แอฟริกา (20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และรัฐอาหรับ (18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายได้ต่อเหยื่อ แถบยุโรปและเอเชียกลาง กลับมีตัวเลขสูงสุด รองลงมาคือ รัฐอาหรับ อเมริกา แอฟริกา และเอเชียกับแปซิฟิก

ผลกำไรจากแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการค้าประเวณี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 (73%) ของกำไรผิดกฎหมายทั้งหมด ทั้งๆ ที่มีเหยื่อเพียง 27% ของจำนวนทั้งหมดที่ถูกบังคับใช้แรงงานในภาคเอกชน

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความแตกต่างมหาศาลของรายได้ต่อเหยื่อ ระหว่างแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการค้าประเวณี (27,252 ดอลลาร์สหรัฐฯ) กับแรงงานบังคับในรูปแบบอื่น ๆ (3,687 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

รองลงมาจากอุตสาหกรรมการค้าประเวณี คือ ภาคอุตสาหกรรม (35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) บริการ (20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เกษตรกรรม (5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และงานบ้าน (2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

กำไรผิดกฎหมายเหล่านี้ คือค่าแรงที่ควรอยู่ในกระเป๋าของแรงงาน แต่กลับตกไปอยู่ในมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์ เนื่องจากการใช้แรงงานโดยวิธีการบังคับ

ในปี 2021 มีผู้คนจำนวน 27.6 ล้านคน ตกเป็นแรงงานบังคับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.5 คน ต่อประชากรโลกทุก ๆ 1,000 คน ตัวเลขดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 2.7 ล้านคน

"แรงงานบังคับ เผชิญการบังคับหลายรูปแบบ โดยการยึดเงินเดือนของแรงงานไว้เป็นหนึ่งในรูปแบบที่พบมากที่สุด แรงงานบังคับ สืบทอดวัฏจักรของความยากจนและการแสวงหาผลประโยชน์ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมแล้ว ประชาคมโลกจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติความอยุติธรรมนี้ ปกป้องสิทธิแรงงาน และยึดมั่นในหลักการความเป็นธรรมและความเท่าเทียมสำหรับทุกคน" กิลเบิร์ต ฮวงโบ (Gilbert Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่ของ ILO กล่าว

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหยุดยั้งกระแสการไหลเวียนผลกำไรผิดกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รายงานแนะนำให้เสริมสร้างกรอบทางกฎหมาย จัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ขยายการตรวจแรงงานไปยังภาคอุตสาหกรรมเสี่ยงสูง และประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานกับเจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายอาญาให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานเน้นย้ำว่า การยุติปัญหาแรงงานบังคับ ไม่สามารถทำได้ด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่ครอบคลุม ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขที่รากฐานของปัญหาและการปกป้องเหยื่อ


ที่มา:
Annual profits from forced labour amount to US$ 236 billion, ILO report finds (ILO, 19 March 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net