Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเงาฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่า หรือ NUG กล่าวแสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยจะทำโครงการ "ระเบียงมนุษยธรรม" แต่ยังกังวลว่ามันจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอด้วยหลายเหตุผล NUG จึงมีข้อเสนอแนวทางคู่ขนานกับไปกับโครงการของไทยด้วย เพื่อให้ส่งความช่วยเหลือได้ทั่วถึง

รัฐบาลไทยกำลังเตรียมทำระเบียงมนุษยธรรมที่ชายแดนไทยพม่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 สหประชาชาติประเมินว่ามีประชากร 18.6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพม่า และมีมากกว่า 2.7 ล้านคนที่ในตอนนี้กลายเป็นผู้พลัดถิ่น

Win Myat Aye รัฐมนตรีกระทรวงกิจการด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ภายใต้รัฐบาลคู่ขนานของฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่ชื่อ "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (NUG) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออิระวดีว่าทาง NUG ยินดีที่ไทยจะมีแผนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการปฏิบัติ

Win Myat Aye บอกว่า "พวกเราไม่คิดว่ามันจะมีประสิทธิภาพมากพอ"

นอกจากนี้ทาง NUG และกลุ่มองค์กรกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่า ได้ร่วมกันร่างข้อเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้มีการนำมาใช้ควบคู่ไปกับแผนริเริ่มของรัฐบาลไทย โดยจะมีการส่งข้อเสนอนี้ให้กับรัฐบาลไทยด้วย

ทำไม "ระเบียงมนุษยธรรม" ถึงจะไม่ได้ผล

Win บอกว่า "มีประชาชนหลายล้านคนที่ประสบความทุกข์ยากจากการสู้รบทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่ที่ชายแดนเท่านั้น แต่ที่ภาคกลางของพม่าด้วย กฎหมายด้านมนุษยธรรมระบุให้มีการจัดหาความช่วยเหลือให้กับใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือโดยไม่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติ พวกเรายินดีกับเรื่องความช่วยเหลือข้ามพรมแดนที่ริเริ่มจากไทย แต่พวกเราก็ไม่ค่อยพึงพอใจนักกับวิธีการปรับใช้ พวกเราไม่คิดว่ามันจะมีประสิทธิภาพมากพอ"

ในบทสัมภาษณ์ Win พูดถึงการที่ก่อนหน้านี้เคยมีการส่งความช่วยเหลือผ่านทาง "ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ" หรือ AHA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อ ที่ทำกับอาเซียน ศูนย์ AHA เป็นหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ทำงานครอบคลุมกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด ซึ่งมีทั้งผู้บริจาคนานาชาติและจากอาเซียน ทั้งที่สิ่งบริจาคเหล่านี้ควรจะเข้าถึงประชาชนพม่าที่กำลังทุกข์ยาก แต่ศูนย์ AHA กลับต้องส่งความช่วยเหลือเหล่านี้ผ่านมือของเผด็จการพม่า ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ได้ผลในการที่จะเข้าถึงผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ และมันยังนับเป็นความล้มเหลวของฉันทามติ 5 ข้อ ในเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย

Win กล่าวว่า ในตอนนี้ไทยจะอาศัยศูนย์ AHA ในการทำโครงการริเริ่มระเบียงมนุษยธรรม ซึ่งจะกลายเป็นการตอกย้ำความผิดพลาดในอดีต มันจะไม่ทำให้อะไรพัฒนาขึ้นมากนักในเรื่องการให้ความช่วยเหลือ ปัญหาอย่างแรกเลยคือ ไทยไปหารือกับเผด็จการทหารพม่าแต่ไม่หารือกับ NUG และองค์กรปฏิวัติชาติพันธุ์ (EROs) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรที่ให้ที่พักพิงแก่คนพลัดถิ่น

ปัญหาอย่างที่สองคือ แบบเดียวกับปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก่อนหน้านี้ จะมีการใช้สภากาชาดพม่า (MRCS) เป็นผู้แจกจ่ายความช่วยเหลือในพม่า ซึ่ง Win มองว่าสภากาชาดไทยมีความเหมาะสมกว่าในกระบวนการลำเลียงช่วยเหลือ เพราะกาชาดพม่าตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกองทัพเผด็จการพม่า ซึ่งจะทำให้การลำเลียงความช่วยเหลือไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ความช่วยเหลือส่งไม่ถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของ NUG, กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDFs) และ EROs

Win กล่าวถึงปัญหาอย่างที่สามของระเบียงมนุษยธรรมว่า มันเกี่ยวข้องกับศูนย์ AHA ก่อนหน้านี้ความพยายามส่งความช่วยเหลือผ่านทางศูนย์นี้ประสบความล้มเหลว และในครั้งนี้ก็คงจะไม่ต่างกัน โดยหลักๆ แล้วศูนย์ AHA จะปฏิบัติการในเรื่องการจัดการภัยพิบัติและมีประสบการณ์น้อยมากในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยสงคราม

อีกปัญหาหนึ่งที่น่ากังวล Win บอกว่าเป็นเรื่องของงบประมาณ โครงการระเบียงมนุษยธรรมของไทยเป็นโครงการขนาดเล็กและในเบื้องต้นจะสามารถเข้าถึงผู้พลัดถิ่นภายในพม่าแค่ประมาณ 20,000 คน ใน 3 แห่งของพม่าเท่านั้น โดยที่เงินทุนหลักๆ มาจากแค่สภากาชาดไทย แต่การใช้คำว่า "ความช่วยเหลือข้ามพรมแดน" ทำให้มันฟังดูเหมือนโครงการใหญ่โต

โครงการริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากเผด็จการพม่าหลังจากที่มีการปรึกษาหารือแล้ว ดังนั้นมันจึงเปิดโอกาสให้เผด็จการทหารพม่าอ้างเครดิตให้ตัวเองในอาเซียนได้ โดยการอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ที่เปิดทางให้กับความช่วยเหลือข้ามพรมแดนโดนอาศัยการสนับสนุนจากประเทศไทย มันจึงจะกลายเป็นการที่พวกเผด็จการพม่าได้เครดิตใหญ่โตจากโครงการเล็กๆ Win บอกว่าพวกเขาไม่ได้ต่อต้านโครงการระเบียงมนุษยธรรมแต่แค่อยากเสนอให้มีโครงการเสริม หรือโครงการทางเลือกอื่นๆ หรือไม่เช่นนั้นก็ควรมีโครงการคู่ขนานที่จะทำควบคู่ไปกับโครงการระเบียงมนุษยธรรมนี้

ข้อเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคู่ขนานจาก NUG

ก่อนที่รัฐบาลไทยกับกองทัพเผด็จการพม่าจะร่วมสัมมนากัน กระทรวงกิจการด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติของ NUG และ EROs ได้พบปะหารือกันแล้วทำการร่างข้อเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคู่ขนานที่มีการลงมติเป็นเอกฉันท์จากองค์ประชุม

"ข้อเสนอของพวกเรามุ่งหวังที่จะสร้างกลไกคู่ขนานและกลไกเสริมเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลไกที่เป็นข้อเสนอของพวกเราจะให้รัฐบาลไทย, EROs และ NUG รวมถึงองค์กรบางองค์กรที่จะเป็นผู้จัดส่งความช่วยเหลือเข้ามามีส่วนร่วมแทนศูนย์ AHA และกาชาดพม่า" WIN กล่าว

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ยังระบุอีกว่า NUG และ EROs พร้อมที่จะทำงานร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอจากนานาชาติที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พวกเขายังจะทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนแกนหลัก และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาด้วย ด้วยแนวทางนี้เอง ความช่วยเหลือจะสามารถเข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ปกครองโดย EROs, NUG และ PDFs ได้

Win กล่าวถึงเรื่องงบประมาณว่า งบประมาณเล็กน้อยจากโครงการของไทยจะทำให้คนได้รับความช่วยเหลือเพียงแค่ประมาณ 20,000 คน แม้ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบประมาณ 18-19 ล้านคน แต่มีคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงๆ จำนวนถึง 2 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษเพราะต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นและคนไร้บ้าน

อีกทั้ง Win ยังเห็นว่าจำนวนคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากถึง 2 ล้านคนถือว่าเป็นตัวเลขที่ห่างกับยอดประเมินของโครงการมาก ดังนั้นไทยจึงต้องมีกลไกเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนอกจากการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ชายแดน ก็จะทำให้ความช่วยเหลือเข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการได้ และถ้าหากมีผู้บริจาคนานาชาติร่วมบริจาคด้วยพวกเขาก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณอีกต่อไป

เรื่องน่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องความปลอดภัย Win บอกว่า "เนื่องจากว่าแผนการระเบียงมนุษยธรรมนี้จัดทำโดยรัฐบาลไทย ผมหวังว่าพวกเขาจะช่วยให้เกิดการส่งมอบความช่วยเหลือจากชายแดนเข้าสู่ประเทศ(พม่า)ได้อย่างปลอดภัยด้วย"

ประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคู่ขนาน

Win ระบุว่าพวกเขาได้ส่งข้อเสนอแผนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคู่ขนานให้กับรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี และทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่เป็นผู้แทนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ เช่น NUG และ K3C (พันธมิตรองค์กรติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับ NUG) และ EROs ได้เป็นตัวแทนอธิบายให้แก่ผู้บริจาครับรู้ถึงสถานการณ์นี้แล้ว

นอกจากนี้ Win ยังเปิดเผยว่าพวกเขาได้ทำการประเมินว่าประชาชนมีความต้องการอะไรบ้างในพื้นที่ที่พวกเขาปกครองเพื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้และจะอธิบายสถานการณ์รวมถึงเรียกร้องผู้บริจาคให้ช่วยส่งความช่วยเหลือตรงจุดนี้ผ่านรัฐบาลไทย ถ้าพวกเขาเห็นชอบก็จะมีการเลือกเอ็นจีโอที่ชายแดนให้ทำงานร่วมกับภาคชุมชนและภาคประชาสังคมพม่าที่มีประสบการทำงานในพื้นที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถ้ามีการนำส่งความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยก็จะถือว่าเป็นการนำส่งที่มีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกัน การนำส่งความช่วยเหลือผ่านทางเผด็จการทหารจะไปถึงแค่ประชาชนในพื้นที่ที่พวกเขาปกครองอยู่ ถ้าหากว่ามีการดำเนินการช่วยเหลือแบบคู่ขนานที่ทำให้คนในพื้นที่ฝ่ายต่อต้านได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ถึงจะทำให้ประชาชนทั่วประเทศพม่าได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

"พวกเราไม่ได้ต่อต้านโครงการริเริ่มที่ประกาศโดยรัฐบาลไทย พวกเราแค่ต้องการเสนอแผนการที่จะทำให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่งถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น พวกเราจะยังคงเจรจาหารือกับรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ต่อไป" Win กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

NUG Critiques Thai Aid Corridor, Proposes Two-Track Process to Expand Myanmar Aid, The Irrawaddy, 08-03-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net