Skip to main content
sharethis

ไทยลงนาม MOU ร่วมกับนาซาเพื่อทำภารกิจเก็บข้อมูลตัวอย่างมลพิษเหนือน่านฟ้าของไทย คาดหวังที่จะได้ทำความเข้าใจที่มาและประเภทของมลพิษในอากาศทั้งฝุ่น PM2.5 และสารเคมีต่างๆ ไปจนถึงศึกษาพฤติกรรมทิศทางการเคลื่อนที่ของมลพิษในอากาศ  

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มีการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างประเทศไทยและองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ในโครงการตรวจสอบมลพิษในอากาศในชื่อโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) โดยไทยจะเข้าร่วมโครงการนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี

โครงการ ASIA-AQ มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเกาหลีใต้, กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของ ฟิลิปปินส์, มหาวิทยาลัย Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM) ของมาเลเซีย, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA ของไทย และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน

ทางองค์การนาซาได้นำเครื่องบินที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับและเก็บตัวอย่างมลพิษมาใช้เก็บตัวอย่างในอากาศของประเทศไทยจำนวน 2 ลำตลอดช่วงวันที่ 16 – 26 มี.ค.นี้ โดยเครื่องบินลำแรก  DC-8 จะทำการบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทยจากอู่ตะเภาถึงเชียงใหม่แล้ววนกลับมาลงที่อู่ตะเภาวันละ 2 รอบ ส่วนเครื่อง G-III จะทำการสำรวจคุณภาพอากาศเหนือกรุงเทพและปริมณฑลเป็นระยะทางรวม 60 กิโลเมตร โดยภารกิจครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเก็บตัวอย่างอนุภาคมลพิษในอากาศจะทำให้แยกประเภทอนุภาคของมลพิษได้และทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาของมลพิษเหล่านี้

DC-8

G-III

ประเภทของอนุภาคมลพิษที่จะทำการเก็บตัวอย่างจากภารกิจครั้งนี้ได้แก่ ฝุ่นขนาดต่างๆ, โอโซน, ไนโตรเจนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ฟอร์มัลดีไฮด์

นอกจากนั้นในโครงการนี้ไทยยังได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลที่จะได้จากดาวเทียม GEMS ของเกาหลีใต้ที่จะมีการบันทึกข้อมูลคุณภาพอากาศในเอเชียซึ่งรวมถึงไทยด้วยทุกชั่วโมงตลอดเวลา 8 ชั่วโมงช่วงกลางวัน โดยดาวเทียมนี้สามารถตรวจจับแยกประเภทอนุภาคของมลพิษได้ด้วย และเมื่อนำมาประสานข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจจับบนภาคพื้นดินและทำการวิเคราะห์ข้อมูลก็จะทำให้เข้าใจถึงการเคลื่อนตัวและที่มาของมลพิษในอากาศของไทยได้มากยิ่งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะมีการทำรายงานศึกษาคุณภาพของไทยตามมา

นริศรา ทองบุญชู จากคณะวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่าไทยเผชิญปัญหามลพิษในเขตเมืองมาเป็นเวลา 20 ปีและก็พบว่าเจอว่ามีไนโตรเจนไดออกไซด์สูงมากในพื้นที่กรุงเทพฯ และมาบตาพุดก็หวังว่าส่วนตัวแล้วก็หวังว่าภารกิจการบินเก็บตัวอย่างครั้งนี้จะผ่านพื้นที่มาบตาพุดด้วยเพื่อทราบสถานการณ์มลพิษบริเวณนั้นด้วย

นริศรากล่าวว่า ไทยสามารถเก็บข้อมูลภาคพื้นดินแล้วและมีข้อมูลจากดาวเทียมประกอบกันแล้ว แต่สำหรับการเอาเครื่องบินขึ้นนี้ก็จะทำให้เห็นข้อมูลได้ในหลายระดับชั้นบรรยากาศก็จะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์และทิศทางการเคลื่อนของมลพิษที่ไปตามลมมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไทยขาดเทคโนโลยีในการเก็บตัวอย่างเพื่อจำแนกมลพิษในอากาศมาตลอดและรอคอยมาถึง 12 ปีแล้ว

ปกรณ์ เพ็ชรประยูร จาก GITSDA ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นที่ไทยจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอะไรบ้างจากความร่วมมือครั้งนี้ เขาอธิบายว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาครั้งนี้เป็นเทคโนโลยีที่สูงมากแต่ก็มีค่าใช้จ่ายและกำลังคนในการติดตั้งและดำเนินเนินงานสูงมาก แต่ก็ทำให้รู้ธรรมชาติของฝุ่นในบ้านเราเมื่อศึกษาครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องทำบ่อยเหมือนเวลาได้รู้จักแล้วก็จะรู้จักกันเลย แม้การวัดบ่อยครั้งจะดีกว่าแต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาเครื่องมือแล้ว ตัวโครงการเองเมื่อทำการศึกษาจนเข้าใจแล้วหลังจากนี้ก็จะใช้เทคโนโลยีอื่นที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าแทน เช่นเทคโนโลยีดาวเทียมที่มีความแม่นยำและได้รายละเอียดมากขึ้นแทน

ปกรณ์กล่าวว่า ส่วนเทคโนโลยีที่ไทยจะใช้ในการเก็บข้อมูลต่อก็คือเครื่องมือวัดจากพื้นโลกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและประสานข้อมูลจากพื้นโลกกับข้อมูลจากดาวเทียมได้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่เป็นไปตามศักยภาพของไทยที่จะทำได้

ภายหลังจากการแถลงข่าว ทางนาซาได้นำสื่อมวลชนชมเครื่องบินทั้งสองลำและพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์และนักบินประจำเครื่องเกี่ยวกับภารกิจและวิธีการเก็บข้อมูลจากตัวอย่างที่ได้จากอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องทั้งสองลำ

อุปกรณ์ที่ติดตั้งนอกตัวเครื่อง DC-8

เจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง DC-8 กำลังอธิบายการทำงานของอุปกรณ์

แผนที่แสดงเส้นทางการบินเก็บข้อมูลของ DC-8

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net