Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมจัดเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์สิทธิด้านแรงงาน-ผู้ลี้ภัยของไทย เหมาะสมกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง UN หรือไม่ แจกการบ้านรัฐไทย ยกระดับสิทธิแรงงานและผู้ลี้ภัยให้เป็นไปตามหลักสากล เข้าไปมีส่วนร่วม ปชต.ในเมียนมา

 

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2566 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศว่า ประเทศไทยจะลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ในวาระดำรงตำแหน่งปี 2568-2570 และจะมีการเลือกตั้ง ต.ค. 2567

13 มี.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถ่ายทอดสดออนไลน์ เมื่อ 4 มี.ค. 2567 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา (HRDF) โซริดาริตีเซ็นเตอร์ ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อความยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม (EJF) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเสวนา "ไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ" 

เสวนาได้เชิญนักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงาน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอื่นๆ มาร่วมวิเคราะห์ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นคณะมนตรีฯ และข้อเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา 

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนามีการกล่าวปาฐกถาของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ "ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อเจนด้าภาคสอง?" โดยฉายภาพรวมปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิ แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย ผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และข้อเสนอถึงรัฐไทยจากมุมมองนักนิติศาสตร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดจะมีแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศมากขึ้น

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของแรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มอพยพเข้ามาในไทยจำนวนมากขึ้น โดยคนที่เข้ามาตามข้อตกลง MOU จะน้อยลง และหลบหนีเข้ามาเยอะขึ้น เนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นมาหลังรัฐประหารพม่าปี 2564 และไทยอาจต้องทบทวนเรื่องการใช้กฎหมายคนเข้าเมือง โดยคำนึงถึงผู้ที่หนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย 

เมื่อถามถึงว่าให้คะแนนรัฐบาลเรื่องนโยบายแรงงานข้ามชาติเท่าไร

สุธาสินี กล่าวว่า "ถ้าโดยดูเนื้องาน และเขาปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติแล้ว เราไม่ให้คะแนน" และเธอระบุด้วยว่า เหตุผลเนื่องจากรัฐบาลยังมีงดเว้นในการให้สิทธิการรวมตัวเป็นสมาคมหรือสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเรื่องขั้นต่ำยังให้แรงงานไม่ได้ 

นอกจากนี้ สุธาสินี กล่าวถึงปัญหานายหน้าหลอกแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้แรงงานที่เข้ามาเสียเงินจำนวนมาก แต่ไม่มีงานทำ ต้องกลายเป็นแรงงานใต้ดิน มีการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ทำงาน 3 วันจ่ายค่าจ้างครั้งเดียว 100 กว่าบาท อีกทั้ง ยังพบปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่างๆ

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล (ที่มา: แอมเนสตี้ฯ)

ชงรับ ILO 87 และ 98 มองเห็นคุณค่าแรงงาน

ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน กล่าวว่า เธอมองว่าไทยไม่น่าจะได้เป็น สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แต่ถ้าได้เข้าไปเป็นจริงๆ ไทยควรรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อให้คนงานทุกกลุ่มสามารถตั้งสหภาพแรงงานต่อรองกับนายจ้าง

สุธาสินี กล่าวว่า ถ้ารัฐไทยอยากจะผ่านเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในมุมมองของเธอ รัฐบาลต้องเคารพสิทธิของคนที่เป็นแรงงานตัวเล็กตัวน้อย และปรับปรุงข้อกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้ทันสมัย ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงแรงงานภาคการเกษตร และแรงงานประมง

"ถ้าคุณอยากจะผ่าน คุณต้องเคารพสิทธิคนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับคนยากคนจนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มันคือความยากลำบากของเขา มันไม่ได้มาฟรีๆ เขามาเสียเงิน เหมือนคนไทยไปทำงานต่างประเทศ ต้องจำนำนา จำนำบ้านก่อนจะได้ไป" ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน กล่าว

กฎหมายคุ้มครองแรงงานต้องครอบคลุมทุกคน

เดวิด เวลช์ (David Welsh) ผู้อำนวยการโซริดาริตีเซ็นเตอร์ ประเทศไทย ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทย โดยชี้ให้เห็นแนวโน้มในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา แรงงานในประเทศไทยได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ และทำให้เกิดมุมมองในระดับประเทศและสากลต่อชะตากรรมของพวกเขา

"หลังจากมีการคุกคามแกนนำสำคัญของขบวนการสหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในคดีของแกนนำ 13 คนของ สร.รฟท. ด้วยการถูกฟ้องทางอาญาและแพ่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปี ทำให้เกิดการรณรงค์ระดับสากลร่วมกับภาคประชาสังคมจนประสบความสำเร็จ ประชาคมสหภาพแรงงานทั้งในและระหว่างประเทศ รวมทั้งสถานทูต และประชาคมการค้า ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลไทยยังคงดำเนินการตามเจตจำนงเดิม ที่ยังคงจำคุกผู้นำแรงงาน เพราะการทำหน้าที่เป็นนักสหภาพแรงงาน การกระทำเช่นนี้แทบไม่สามารถหาตัวอย่างทั่วโลกที่แกนนำสหภาพแรงงานต้องตกเป็นเหยื่อจากการรณรงค์ในลักษณะที่โปร่งใสแบบนี้ การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวต่อขบวนการสหภาพแรงงานในภาพกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นหน้าเป็นห่วงอย่างมาก ส่งผลให้แกนนำสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ตกังวลว่าพวกเขาอาจต้องเจอกับชะตากรรมแบบเดียวกับแกนนำในรุ่นก่อน ความพยายามที่จะหยุดการเคลื่อนไหวส่งผลกระทบต่อขบวนการสหภาพแรงงานทั้งหมด" เวลซ์ กล่าว 

เดวิด เวลซ์ (ที่มา: แอมเนสตี้ฯ)

เวลช์ ยกตัวอย่าง กรณีในปี’65 มีคดีที่มีการฟ้อง บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด โดยศาลมีคำตัดสินให้บริษัทข้ามชาติสหรัฐฯ จ่ายค่าแรงเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ลูกจ้างโรงงานหญิงกว่า 1 พันคน ถือเป็นการไกล่เกลี่ยและประนอมคดีที่มีมูลค่าสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอในระดับโลก และนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การฟ้องคดีลักษณะคล้ายคลึงกันในบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ซัปพลายเชนข้ามชาติในอุตสาหกรรมภาคส่วนต่างๆ 

ผอ.โซริดาริตีเซ็นเตอร์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีเหล่านี้ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จคือการรณรงค์ และกดดันในระดับสากล เพราะในปัจจุบันยังไม่มีระบบการประนอมคดีระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง/บรรษัทข้ามชาติ กับคนงาน/สหภาพแรงงาน เมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน เหตุเพราะกฎหมายแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป และศาลแรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนคำวินิจฉัยที่ส่งเสริมสิทธิของสหภาพแรงงาน หรือแรงงาน มักนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิด

เวลซ์ กล่าวว่า กฎหมายแรงงานและกฎหมายสหภาพแรงงานมีเป้าหมาย เพื่อขยายและคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพด้านการสมาคม หากแต่กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้กลับมีเป้าหมายตรงกันข้าม เนื้อหาของกฎหมายแรงงานไทยยังคงทำให้การรวมตัวกันเป็นเรื่องยาก ทำให้การทำลายสหภาพฯ เป็นเรื่องง่าย และในตัวเนื้อหาของนกฎหมายปฏิเสธอย่างเป็นระบบ และจงใจไม่ให้คนงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ทั้งที่พวกเขาควรจะได้ใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองมากที่สุดที่สุดแล้ว บรรษัทข้ามชาติ บริษัทของไทยและรัฐบาลไทย เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากระบบเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้ ผอ.โซริดาริตีเซ็นเตอร์ฯ มองว่าจะต้องมีการเพิ่มแรงกดดันในการแก้ไขกฎหมายแรงงาน และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของแรงงาน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นแรงงานประเภทใดหรือมีสัญชาติใด นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดความรับรับผิดต่อบรรษัทข้ามชาติ แม้ว่าแผนของรัฐบาลไทยที่เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ ทั้งในแง่การแสดงพันธกิจด้านแรงงานและคนงาน อาจมีน้ำหนักมากพอทำให้พวกเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่พอที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานนอกระบบ หรือแม้กระทั่งสหภาพแรงงานไทย

"แรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน ควรมีสิทธิในการรวมตัวและร่วมกันต่อรองกับนายจ้าง แรงงานทุกคนควรได้รับการรับผิดชอบ ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ต้องได้รับการรับผิดชอบดูแลจากสายพานการผลิตทั้งระบบ นี่คือทิศทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรจะมุ่งไป 

"ประเทศไทยไม่เพียงแต่ควรที่จะมีคุณสมบัติพร้อมที่รับบทผู้นำ หากควรจะเป็นผู้นำในการรับผิดชอบของสายพานการผลิตทั้งระบบ และการเป็นศูนย์กลางแรงงานข้ามชาติของอุตสาหกรรมในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบและบทลงโทษเป็นค่าปรับทางการที่บังคับใช้ได้จริง และเมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานไม่ว่าในขั้นตอนใดของห่วงโซ่อุปทาน ประเทศไทยควรเป็นผู้นำในการขยายขอบเขตเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิแรงงานในประเทศ นี้คือข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐไทย และเราก็ตั้งตารอให้รัฐและสหภาพแรงงานมาทำงานร่วมกับเราในประเด็นที่สำคัญนี้" เวลช์ กล่าว

นอกจากนี้ เวลซ์ กล่าวด้วยว่า ไทยสามารถยกระดับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้เลยโดยไม่ต้องรอการให้สัตยาบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เพราะในกรณีของสหรัฐฯ ไม่ได้รับสัตยาบันฉบับดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเราจะไม่ดี แรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม ควรตั้งสหภาพแรงงานได้

นโยบายผู้ลี้ภัยประเทศไทยพัฒนาขึ้น แต่ยังไม่พอ

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เธอมองว่าประเทศไทยมีความพยายามอย่างมากในการทำงานร่วมกับกลไกและองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย

ยกตัวอย่าง เมื่อ 24 ม.ค. 2562 รัฐบาลไทยเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งผลให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จะไม่ได้ถูกกักตัวในสถานกักตัวฯ และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็ก เพราะว่าปกติ เวลาเข้าเมืองไม่มีเอกสาร ถือว่าเป็นการละเมิด พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และต้องถูกกักตัวในสถานกักตัว ตม.ทุกราย

พุทธณี กางกั้น (ที่มา: แอมเนสตี้ฯ)

พุทธณี  กล่าวว่า ในปลายปีเดียวกัน ประเทศไทยได้ออกคำว่า 'National Screening Mechanism' (NSM) คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองและคุ้มครองผู้ที่อยู่สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งผู้ที่ผ่านกระบวนการนี้จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัยในไทยชั่วคราว เธอมองว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยของไทย และเป็นแรงผลักดันทางบวก แต่เมื่อถามว่าประเทศไทยทำมากพอหรือยัง คำตอบจากเธอมองว่า "ยังไม่พอ"

ข้อเสนอที่ทำได้เลย เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย 

พุทธณี มองว่า เธออยากใช้วาระที่รัฐบาลสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อผลักดันข้อเสนอด้านสิทธิมนุษยชน โดยกรณีที่สามารถได้เลยทันทีคือ ถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ของอนุสัญญาสิทธิเด็ก ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง

พุทธณี เสนอต่อว่าไทยควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพในเมียนมา ให้เมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งการมีนโยบายส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยเธอสนับสนุนให้ไทยร่วมมือกับอาเซียนยุติการขายอาวุธให้กองทัพพม่า และเปิดการเจรจากับตัวแทน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ได้มาจากกองทัพพม่า เพราะตอนนี้กองทัพพม่าไม่ได้คุมทุกพื้นที่

ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ มองว่า ไทยควรแสดงเจตจำนงเป็นภาคีในสนธิสัญญากรุงโรม เพื่อเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งเรื่องการดำเนินคดีฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติของกองทัพพม่า ให้กับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาได้ 

นอกจากนี้ ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ เสนอด้วยว่า ไทยควรร่วมมือกับกลไกระหว่างประเทศเพื่อสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา กรณีที่สามารถทำได้เลยคือการเชิญผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า เข้ามาสำรวจพื้นที่ชายแดน และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า 

ยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย-นิรโทษกรรมคดีการเมือง

พุทธณี กล่าวว่า ไทยต้องยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง และยุติการจับกุมผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพื่อเอาใจผู้นำประเทศที่มาเยือนประเทศไทยทันที

ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ ระบุว่า ประเทศไทยต้องยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ใน ตม.ไทย ราว 40 กว่าราย และเสนอให้หาทางเลือกแทนการกักขังผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ 

ท้ายที่สุด รัฐบาลควรนิรโทษกรรมคดีการเมือง ให้ผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศ โดยไม่ต้องเผชิญการพิจารณาคดี

พุทธณี เชื่อว่า เรื่องเหล่านี้ทำได้เลย และรัฐบาลจะได้คะแนนทันที หากต้องการเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ไทยต้องแสดงความจริงใจ แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน

กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม มองว่าประเทศไทยน่าจะมีโอกาสเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แต่ก็มีข้อกังวลใจหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง การจับนักกิจกรรมชาวกัมพูชาในประเทศไทย ก่อนที่ฮุน มาเนต จะเดินทางเยือน รัฐบาลยังไม่มีคำตอบต่อประชาคมโลกเรื่องนักกิจกรรมชาวลาวที่เสียชีวิตหลังจากลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย รัฐบาลยังไม่มีคำตอบเรื่องการบังคับสูญหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในภาคใต้

กัณวีร์ มองว่า ตอนนี้ยังมีเวลา และเพื่อเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และอย่ามองเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่อง "นามธรรม" แต่อยากให้มองเป็นเรื่อง "รูปธรรม" เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของคน

ต่อกรณีที่การเปิดระเบียงมนุษยธรรมฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ของรัฐบาล กัณวีร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความตั้งใจที่ดีของรัฐบาล แต่แค่ตั้งใจไม่พอ แต่ต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนทางด้านการเมืองของเมียนมา เพราะพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีการควบคุมแตกต่างกัน 3 ระดับ ระดับทหารพม่า กองกำลังชาติพันธุ์ และ mixed control area แต่ตอนนี้รัฐบาลตกลงว่าจะทำงานกับกาชาดพม่า ซึ่งอยู่ภายใต้กองทัพพม่า

กัณวีร์ แสดงความกังวลว่า การตกลงกับกาชาดพม่าฝ่ายเดียวอาจทำให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าการช่วยเหลือคือหลักการต้องเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ดังนั้น อยากขอฝากรัฐบาลไทยให้พิจารณาให้รอบคอบมากกว่านี้ 

ไทยต้องเข้าใจมนุษยธรรมมากกว่านี้ 

ต่อประเด็นเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามชายแดน กัณวีร์ เผยว่า การช่วยเหลือของทางการไทย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง เป็นการช่วยเหลือในลักษณะพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ผู้ลี้ภัยหนีสงครามเข้ามาในพื้นที่ จากนั้น ทางการไทยใช้เวลา 1-2 วันก็ผลักดันกลับไป 

กัณวีร์ มองว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมันไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผ่านๆ ไปเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมองว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคืออะไร รัฐบาลยังจำเป็นต้องศึกษาความหมายของคำว่า "มนุษยธรรม" มากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net