Skip to main content
sharethis

เครือข่ายขับเคลื่อน ILO 87 และ 98 ยื่นหนังสือต่อ รมว.แรงงาน และ กมธ.แรงงาน เรียกร้องให้รัฐบาล รับอนุสัญญา 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้แรงงาน เสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้สง่างาม

 

7 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวานนี้ (6 มี.ค.) เครือข่ายขับเคลื่อน ILO 87 และ 98 ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรแรงงาน 26 องค์กร ยื่นหนังสือถึง สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ กมธ. ช่วยผลักดันให้รัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว  ส่วนฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานทุกกลุ่ม

ระหว่างการยื่นหนังสือ ชุมพล พวงสุวรรณ รองประธาน สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาในวันนี้เรื่องรัฐบาลไม่ยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทำให้โรงงานไม่ยอมรับการมีสหภาพแรงงาน อยากให้เป็นกรณีศึกษาของบริษัท Y-Tec มีการเลิกจ้างแกนนำที่จะมาเป็นสหภาพแรงงาน 2 ครั้ง ล่าสุด มีการยื่นหนังสือไปที่ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) สั่งให้โรงงานรับคนงานกลับเข้าทำงาน แต่พบว่าบริษัทกลับไม่ปฏิบัติตาม คนงานส่วนใหญ่ไม่มีกำลังที่จะสู้กับนายจ้าง ทุนน้อย สู้คดีกันไปก็ยาว ที่มาที่ไปวันนี้อยากให้รัฐบาลรับอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98 เนื่องจากบริษัท Y-Tec ตอนนี้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่เอาสหภาพแรงงาน 

ประสิทธิ์ ประสพสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อน ILO 87 และ 98 กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้ทางกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมผลักดันให้รัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ 

ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อช่วงเช้ามีการยื่นหนังสือประเด็นเดียวกันถึง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีการรับปากว่าจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และทางพรรคภูมิใจไทยรับปากด้วยว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

ประสิทธิ์ กล่าวว่า คณะทำงานน่าจะใช้เวลาศึกษาไม่เกินปี 2567 แต่อยากขอว่าเร่งรัดให้กระชับขึ้นได้หรือไม่ เพื่อให้ทันภายในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. ของทุกปี หรือวันงานที่มีคุณค่า หรือวัน Decent Work ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี   

นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ระบุต่อว่า ไทยกำลังเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งประเทศยุโรปให้ความสำคัญกับด้านสิทธิแรงงาน และเชื่อว่าการรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับของไทย จะทำให้ประเทศมีความสง่างาม คงไม่ต้องให้ต่างชาติมาบอกว่าเราควรทำอะไรอย่างไร ประเทศเราควรทำเองได้เลย เพื่อเป็นของขวัญให้กับแรงงาน

ด้าน สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานกรรมาธิการการแรงงาน และมารับหนังสือด้วยตนเอง กล่าวว่า กมธ. จะรับพิจารณาทุกประเด็นที่แรงงานยื่นมา ส่วนกรณีของ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นั้น ยืนยันว่า กมธ.ให้ความสำคัญ 

ทั้งนี้ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน รายงานว่า เมื่อ 10.30 น. ชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน แยกดินแดง กรุงเทพฯ เครือข่ายขับเคลื่อน ILO 87 และ 98 นำโดยประสิทธิ์ ประสพสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย

รายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net