Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เกิดดราม่าเล็กๆขึ้น จากการที่มีผู้พบเห็นกลุ่มนิสิตสวมชุดบอลรวมตัวกัน จากภาพถ่ายที่ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์ได้แสดงภาพนิสิตกลุ่มนึงหันหน้าเข้ากำแพง และมีนิสิตที่ดูเหมือนจะเป็นรุ่นพี่ยืนและตะคอกสั่ง มีเสียงล่ำลือว่าเป็น ชมรมกีฬาฟุตบอล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนี้ทำให้มีหลายๆคนตั้งคำถามว่า ชมรมกีฬาในมหาวิทยาลัย ในยุคหลังโควิด ในยุคหลังการเคลื่อนไหวของเยาวชนปี 63 ยังมีระบบโซตัสอยู่อีกหรือ?


(ภาพจากทวิตเตอร์
https://twitter.com/mananyapt/status/1665748272068141058/photo/1) 

เราที่พึ่งได้เข้าคณะสายสังคม ที่คำขวัญคณะประกาศว่า “ก้าวแรกสู่คณะxxx ก้าวต่อไปสู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม” ไม่คิดว่าปรากฏการณ์โซตัสเหล่านี้จะเกิดขึ้นในคณะนี้ ดั่งที่รุ่นพี่สโมสรนิสิตคณะนี้ได้พูดอยู่ตลอดถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ 

ทว่า เมื่อเรามาอยู่ในคณะนี้ได้เกือบครบ 1 ปีการศึกษา สิ่งที่เราคิดมันกลับไม่เป็นจริงตามนั้น และมีประเด็นชวนตั้งข้อสังเกต จึงจำเป็นจะต้องเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เพราะแม้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะทำอะไรเลย

*****

เมื่อไม่นานมานี้ มีกิจกรรมนึงของคณะที่นิสิตหญิงชมรมการแสดงต้องไปแสดงปิดกิจกรรม เรื่องนี้ดูจะไม่มีอะไร แต่ก็เป็นเรื่องขึ้น เพราะระหว่างการแสดง อยู่ดีๆก็มีกลุ่มนิสิตชายกลุ่มหนึ่งมาจับกลุ่มกันข้างเวที พูดคุยเสียงดังล้อเลียนนิสิตหญิงชมรมการแสดง พร้อมทำท่าทางล้อเลียนเช่น การถกเสื้อแล้วเต้นไปมาเพื่อล้อเลียนชุดที่ชมรมการแสดงใส่(ชุดเอวลอย) ทั้งยังพูดถึงหน้าอกและร่างกายของนิสิตหญิงในชมรมอย่างสนุกสนาน

การกระทำนี้เกิดขึ้นท่ามกลางที่สาธารณะซึ่งมีนิสิตในคณะเห็นจำนวนมาก และพวกเขายังได้มีการโพสต์คลิปตัวเองเต้นอยู่ข้างเวทีโดยไม่สนใจเลยว่าชมรมการแสดงนั้นแสดงอยู่ข้างๆและผู้คนจำนวนมากกำลังรับชมการแสดงนั้นอยู่ 

*****

เหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งหนึ่ง เมื่อนิสิตหญิงประธานชมรมการแสดงได้โพสต์ความคิดเห็นของตนเองจากที่มีคนถามว่า ชอบผู้ชายแบบไหน นิสิตหญิงคนดังกล่าวบอกว่า ตนเองชอบแบบไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ชายแท้ชมรมบอล ประโยคดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนให้กลุ่มนิสิตชายและมีการนำเอาไปถกเถียงพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง

ใช่แล้ว กลุ่มนิสิตชายที่เราพูดถึงข้างบนนั้นคือ กลุ่มชายแท้ชมรมบอล ซึ่งชื่อนี้ผู้คนในคณะก็เรียกพวกเขาแบบนั้นเช่นกัน

*****

คำว่ากลุ่มชายแท้ชมรมบอล บางคนอาจจะเข้าใจว่า เรากำลังเหยียดอยู่รึเปล่า แต่ผิดคาด เมื่อกลุ่มชายแท้ชมรมบอลโดนวิจารณ์ในประเด็นใดๆก็ตาม (เช่นในกรณีข้างต้น) พวกเขากลับแสดงออกอย่างภาคภูมิใจว่า “กูนี้แหละ คือชายแท้ชมรมบอล” อีกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเพื่อนในชั้นเรียนตำหนิว่าพวกชายแท้ชมรมบอลหลังห้องเสียงดัง ก็จะถูกตอบโต้กลับด้วยการโอ้อวดอย่างภาคภูมิใจเป็นลักษณะว่า “กูไงชายแท้ชมรมบอลหลังห้องที่คุยกันเสียงดัง” ลงบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการแสดงตัวตนออกมาอย่างภาคภูมิใจว่า “กูนี้ไง ชายแท้ชมรมบอลที่กล้าหาญและเกรียงไกร ไปแข่งที่ไหนก็ได้รับชัยชนะ”

เรื่องเหล่านี้ฟังแล้วอาจเหมือนนิยายหรือเรื่องเกินจริง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับในคณะสายสังคมที่อ้างว่าก้าวหน้าที่สุด แต่ถ้านี้เป็นความจริงและทุกคนในคณะก็รู้สึกแบบเดียวกัน มันสามารถสะท้อนปรากฏการณ์อะไรได้บ้าง

*****

เมื่อหลายปีก่อน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีประเด็นแชทกลุ่มนิสิตชาย เอารูปหลุดหรือรูปนิสิตหญิงมาลงในกรุ๊ปไลน์ และพูดจาแทะโลม แต่สุดท้ายก็มีคนเอาแชทและภาพต่างๆมาเปิดเผย เกิดกระแส #นิติจุฬา จนกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องปิดไป และมีการคาดโทษทางวินัย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทุกท่านก็คงจะทราบถึงความสะเทือนใจที่เกิดขึ้น

แต่ก็คงจะเป็นเรื่องอยู่ไม่นานก็จางหายหรือเป็นเรื่องเตือนใจเฉพาะนิสิตในคณะนั้นเท่านั้น ขณะที่กลุ่มนิสิตชายแท้ชมรมบอลในคณะสายสังคมนี้ กลับยังมีพฤติกรรมการจัด rank ผู้หญิงในคณะว่าใครสวยที่สุด ชอบใครที่สุด หรือใครน่าดึงดูดทางเพศมากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นวัฒนธรรมชมรมที่รุ่นพี่ให้น้องๆในชมรมแนะนำตัวในลักษณะนี้ทุกๆปี

*****

พฤติกรรมต่างๆที่กลุ่มชายแท้ชมรมบอลกระทำก่อให้เกิดความเห็นที่ไม่เห็นด้วยต่างๆมากมาย แต่ก็เป็นไปในลักษณะไม่พอใจ เช่นเมื่อไม่นานมานี้ได้มีนิสิตคนหนึ่งโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์มีเนื้อความว่า 

“ผู้ชายคณะxxx เตะบอล มั่นค*ย อีโก้สูง เรื้อน ไม่มีอุดมการณ์ เดนคณะ…” 

จากทวิตดังกล่าว เกิดแชทไลน์หลุดออกมามีเนื้อหาของผู้ชายในชมรมบอลท่านหนึ่งโพสต์หน้าของนิสิตที่คาดว่าเป็นผู้โพสต์ทวิตเตอร์ข้างต้นพร้อมข้อความว่า “อีด*กคนทำ” และอีกคนหนึ่งพิมพ์กลับไปว่า “ล่าแม่มด” และยังมีข้อความอีกว่า “ไอ้ค*ยกระ*รี่ สวะ” 

การที่ไม่มีการพูดคุยและแก้ปัญหา โดยสโมสรนิสิตคณะก็ยังเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ทำให้ประเด็น “ชายแท้ชมรมบอล” สร้างความแตกร้าวอย่างช้าๆในคณะและการตั้งคำถามต่อภาพลักษณ์แท้จริงของคณะ

*****

แล้วไม่มีใครคิดจะทำอะไรบ้างหรือ อาจารย์ที่ปรึกษาสามารถให้คำแนะนำได้หรือไม่ จากที่เรารู้ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เคยถูกตักเตือนโดยอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมเลย กลับกันสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีข่าวลือว่าอาจารย์ที่ปรึกษามักจะเอาใจเด็ก ชอบโทรชวนเด็กในชมรมออกไปกินเหล้าด้วยกันตอนดึกๆ และบทสนทนาเหล่านี้ก็เกลื่อนวง อาจารย์ยังทำตัวสนิทสนมกับเด็กในชมรมอย่างเกินงาม ทั้งการจับเนื้อต้องตัว และแสดงอาการหึงหวง 

ชมรมบอลยังเป็นที่ที่น่าสนใจศึกษา นอกจากวัฒนธรรมแบบโซตัสก็มีระบบอุปถัมภ์และคอนเนคชั่นจำนวนมากมาย ถึงขั้นที่อาจารย์ในคณะท่านหนึ่งเคยบอกว่า “มึงอยากเป็นปลัด มึงไม่ต้องมาเข้าเรียนหรอก มึงไปเตะบอลนู้น” 

*****

ที่เราเขียนบทความนี้คือการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการอภิปรายต่อไป ไม่ใช่ต้องการโจมตีตัวบุคคลใดๆ หรือคิดว่าชายแท้ชมรมบอลเป็นเรื่องควรถูกยกเลิก พฤติกรรมและวัฒนธรรมของพวกเขาที่ส่งต่อกันมาเช่นนี้ ไม่ใช่ไม่เป็นที่รับรู้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงแบบตรงไปตรงมา ทำให้ไม่เกิดการเห็นปัญหาที่ชัดและไม่นำไปสู่การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจใดๆในคณะ เรื่องราวพวกนี้มาจากเหตุการณ์ที่เราเห็นเอง แต่ก็มีอีกมากที่ไม่ได้เขียนโดยได้ยินจากรุ่นพี่และรุ่นเพื่อนจำนวนมาก รวมถึงเพื่อนๆเราส่งมาให้ดู สิ่งเหล่านี้ ในคณะที่สอนเรื่องเฟมินิสม์ ควรจะละเลยหรือ เราควรจะวิเคราะห์และวิพากษ์ปิตาธิปไตยในชมรมนี้กันหรือไม่ 

ท้ายที่สุด เราขอความเห็นใจจากเหล่าเพื่อนที่หวังดีกับชมรมบอล กล้าพูดตักเตือนพฤติกรรมของพวกเขา จากนั้นคงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมและตัวนายกสโมสรนิสิตคณะที่รับรู้แต่ไม่เคยนำประเด็นของคนกลุ่มนี้ขึ้นมาพูดถึงเลย และสุดท้ายคือพวกเราทุกคน ที่ไม่ควรปล่อยปะละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแสดงออกและพูดจาเหยียดเพศ ดูถูกกันและกัน 

การที่เราเขียนบทความนี้ก็เพื่อต้องการทำให้คณะสายสังคมแห่งนี้ คำโฆษณาเรื่องความยุติธรรม ปราศจากการใช้อำนาจกดขี่คนอื่น ปราศจากการเหยียดเพศ ปราศจากความเกลียดชังที่เกิดจากความเห็นต่าง และเป็นพื้นที่เสรีทางความคิดที่ผู้คนสามารถวิจารณ์สิ่งต่างๆได้อย่างเสรีและมีเหตุมีผลของเรานั้น มีอยู่จริง ไม่เป็นเพียงคำสวยหรู

0000
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net