Skip to main content
sharethis

การสูญเสียนักวิ่งมาราธอนระดับโลกอย่าง 'เคลวิน คิปตัม' สะท้อนปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาคือ 'อุบัติเหตุทางถนน' ที่เกิดมากขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา จน WHO เรียกว่าเป็น "ปัญหาที่กำลังระบาด" ในบางประเทศก็สะท้อนเรื่องที่ผู้คนใช้รถมากขึ้นแต่โครงสร้างพื้นฐานไม่พัฒนาตาม


เคลวิน คิปตัม (Kelvin Kiptum) | ที่มาภาพ: Wikimedia

นักวิ่งมาราธอนสถิติโลก เคลวิน คิปตัม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา จากอุบัติเหตุรถชนที่เมืองบ้านเกิดของตัวเองในเคนยา เขาอายุเพียง 24 ปีเท่านั้นในขณะเสียชีวิต อุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการที่รถของเขาไถลออกนอกถนน ตกลงไปในร่องคู

เรื่องที่เกิดขึ้นนับได้ว่าเป็นการสูญเสียนักมาราธอนที่มีความสามารถคนหนึ่ง เพราะ คิปตัม เพิ่งจะสามารถทำสถิติโลกได้เมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่งานมาราธอนชิคาโก โดยทำเวลาได้ 2:00:35 (2 ชม. 35 วินาที) และคาดว่าเขาจะชนะเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นถัดจากนี้ เมื่อดูจากข้อมูลสถิตินักกรีฑาโลกแล้ว จะพบว่า คิปตัมมีชื่อติดโผ 3 รายการ อยู่ใน 7 อันดับแรกของนักวิ่งมาราธอนที่วิ่งทำเวลาได้่เร็วที่สุดในงานนั้นๆ

เนื่องจากคิปตัมเป็นผู้มีชื่อเสียงในระดับโลก โศกนาฏกรรมในครั้งนี้จึงดึงดูดความสนใจจากสื่อทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน การสูญเสียคิปตัมก็เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาบางอย่าง นั่นคือปัญหาเรื่องอุบัติเหตุรถยนต์ที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศโลกทางใต้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของประเทศพัฒนาแล้วกำลังลดลง (ยกเว้น สหรัฐฯ)
 
ในปี 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในทวีปแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจากสถิติทั่วโลกแล้วการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรจะลดลงร้อยละ 5 ก็ตาม ในปัจจุบันเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตระดับต้นๆ สำหรับประเทศที่มีปัญหาเรื่องสาธารณสุขอื่นๆ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

อุบัติเหตุทางการจราจรที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่สะท้อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกาในช่วงไม่ปี่ที่ผ่านมา Nhan Tran หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยและการคมนาคมของ WHO กล่าวว่า "เหตุผลส่วนหนึ่งที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในแอฟริกาก็คือการที่มียานยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ... ประชาชนที่เคยไม่สามารถซื้อรถได้เมื่อ 10 หรือ 20 ที่แล้ว ในตอนนี้สามารถซื้อรถใหม่ได้แล้ว แอฟริกามีการใช้ยานยนต์มากขึ้น แต่กลับไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับตรงจุดนี้"

เหตุรถชนและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่กำลังระบาด

WHO ระบุว่าจากสถิติทั่วโลกในปัจจุบัน อุบัติเหตุทางท้องถนนคร่าชีวิตผู้คนราว 1.2 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีร้อยละ 90 ที่เป็นการเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้ว่าในประเทศเหล่านั้นจะมียานยนต์เพียงแค่ประมาณร้อยละ 60 เท่านั้นเทียบกับจำนวนยานยนต์ทั่วโลก คนเดินเท้า, คนขี่รถจักรยานยนต์ และ คนขี่จักรยาน กลุ่มคนเหล่านี้ที่มีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงเผชิญอุบัติเหตุมากที่สุด

นโยบายด้านสาธารณสุขทั่วโลกกำลังมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งไม่เพียงแค่เหตุรถชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตกจากที่สูงหรือการล้ม, การจมน้ำ, อุบัติเหตุในที่ทำงาน และอุบัติเหตุอื่นๆ ด้วย

ลอเรนซ์ กอสตืน ผู้อำนวยการของสถาบันโอนีลเพื่อกฎหมายสาธารณสุขระดับชาติและระดับโลก แห่งจอร์จทาวน์ส กล่าวว่า หนึ่งในสิ่งที่ได้รับการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริงอย่างมากคือเรื่องการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ผู้หญิงเป็นแผลไฟไหม้จากเตาไฟ หรือเหตุรถชน กอสตินบอกว่า การบาดเจ็บเหล่านี้น่าจะเป็นอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้มากที่สุดแล้ว โดยที่อุบัติเหตุป้องกันได้เหล่านี้มักจะนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สถิติจากทั่วโลกระบุว่า อุบัติเหตุคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรวัยต่ำกว่า 30 ปีลงมา อุบัติเหตุจำพวก การตกจากที่สูงและการล้ม เช่น คนชราสูญเสียสมดุลจนล้มลง หรือเด็กตกจากที่สูง นับเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700,000 คนต่อปี ซึ่ง WHO เรียกสภาพการณ์แบบนี้ว่าเป็น "ประเด็นปัญหาสาธารณสุขที่กำลังเพิ่มมากขึ้นและไม่ค่อยเป็นที่รับรู้"

ความล้มเหลวในการป้องกันการเสียชีวิตเหล่านี้ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ในปี 2561 งานวิจัยของธนาคารโลกได้สรุปไว้ว่า การขาดการลงทุนในด้านความปลอดภัยบนท้องถนนส่งผลเสียหายต่อศักยภาพการเติบโตของจีดีพีของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7-22 ในช่วงระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา

ในทางตรงกันข้าม การใช้งบประมาณไปกับการป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ส่งผลดีต่อการลงทุน จากข้อมูลของ WHO ระบุว่า การใช้งบประมาณลงทุนไปกับเรื่องการตรวจจับควันในอาคารเพื่อป้องกันเพลิงไหม้นั้น ได้ส่งผลดีทางการเงินกลับคืนมา 65 เท่า เพราะว่าไม่ต้องจ่ายเงินให้กับค่ารักษาพยาบาลและราคาการผลิตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้เงินไปกับเข็มขัดนิรภัยเด็กในรถยนต์หรือกับหมวกกันน็อกจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 29 เท่าในระยะยาว

รายงานของ WHO ยังระบุอีกว่าในบังกลาเทศมีโครงการสอนความปลอดภัยในการว่ายน้ำให้กับเด็ก การทำเช่นนี้ทำให้บังกลาเทศสามารถประหยัดเงินไปได้ 3,000 ดอลลาร์ (ราว 107,000 บาท) ในการหลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดการเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ในประเทศอินเดีย ได้กลายเป็นแนวหน้าของการนำประเทศรายได้ระดับล่างและระดับกลางในการให้ความสำคัญกับการป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุโดยมีการระบุไว้เป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของพวกเขา

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา อินเดียมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาที่ยากและท้าทายมากในด้านสาธารณสุข อัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา อัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคและโรคท้องร่วงซึ่งเคยเป็น 2 สาเหตุการเสียชีวิตระดับต้นๆ ของอินเดีย ก็ลดลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตจากการตกจากที่สูงหรือการล้มรวมถึงอุบัติเหตุทางท้องถนนในอินเดียกลับเพิ่มสูงขึ้น จากงานวิจัยเมื่อปี 2565 พบว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ส่งผลอย่างมากต่อคนยากจนในอินเดีย เพราะพวกเขาถูกบีบให้ต้องใช้เงินไปกับการรักษาพยาบาล

มีงานวิจัยปี 2566 โดยวารสารสมาคมการแพทย์อินเดียสรุปว่า อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุหลักที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ของการเสียชีวิตและความพิการในหมู่ประชากรเด็กของอินเดีย เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง "การขยายตัวของเมืองแบบไม่มีการกำกับดูแล, นโยบายที่มีอยู่อ่อนเกินไป และมีความตระหนักรู้ที่ไม่เพียงพอในเรื่องวิธีการป้องกันอุบัติเหตุ"

งานวิจัยดังกล่าวนี้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่เน้นอะไรง่ายๆ แต่ได้ผลก่อนอย่างเช่นการเพิ่มความตระหนักรู้ต่อประชาชนในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และการส่งเสริมการคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อก ไปจนถึงการใช้วิธีการแบบเปลี่ยนแปลงนโยบายเช่นการจำกัดความเร็ว ไปจนถึงวิธีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การติดตั้งไฟเพื่อส่องให้เห็นคนเดินถนน และการติดตั้งแผงกั้นเพื่อกั้นคนเดินถนนออกจากถนน

อินเดียกำลังร่างแผนยุทธศาสตร์การป้องกันอุบัติเหตุระดับชาติฉบับแรกของประเทศ โดยหวังว่าจะออกมาก่อนเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้าที่จะมีงานประชุมซัมมิทว่าด้วยการป้องกันอุบัติเหตุโลกที่กรุงเดลี ซึ่งร่างแผนฯ ดังกล่าวนี้อาจจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกันด้วย

ข้ามฝั่งมาที่อีกมุมหนึ่งของโลกในประเทศเอกวาดอร์ เมืองกีโตก็เป็นแหล่งของการพัฒนาออกแบบปรับปรุงท้องถนน ในพื้นที่สี่แยกและถนนต่างๆ ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ โดยการพัฒนานี้ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ มีการริเริ่มพัฒนาในแบบเดียวกันที่กำลังจะเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วลาตินอเมริกา

ความพยายามที่เกิดขึ้นเหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามร่วมกันในระดับนานาชาติเพื่อการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพื่อที่จะทำให้การสูญเสียอย่างน่าเศร้าแบบที่เกิดขึ้นกับคิปตัมเกิดขึ้นน้อยลง


เรียบเรียงจาก
The death of the world’s best marathon runner is part of a troubling global trend, Vox, 12-02-2024

สถิติการทำเวลาของนักวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในงานต่างๆ (เข้าดูเมื่อ 23 ก.พ. 2567)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net