Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นชะตากรรมของสื่อมวลชนในประเทศเราในโมงยามนี้แล้วทำให้นึกถึงศิลปินคนหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่ง นอกจากเขาจะเป็นศิลปินสื่อผสม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปินภาพถ่าย และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก ในอีกด้านเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ได้ชื่อว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนด้านสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยได้อย่างแสบสันที่สุดคนหนึ่ง

อ้าย เว่ยเว่ย จบการศึกษาจากสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง และเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเขาก็ย้ายไปศึกษาต่อที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบเขาใช้แรงบันดาลใจจากศิลปินคนโปรด Marcel Duchamp ทำผลงานศิลปะด้วยการปะติดปะต่อวัสดุและข้าวของที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอย่างไม้แขวนเสื้อ เมล็ดทานตะวัน รองเท้า เสื้อกันฝน ถุงยางอนามัย ฯลฯ ผลงานชุดนี้ไปเตะตาภัณฑารักษ์และนักสะสมงานศิลปะในนิวยอร์ก จนทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา

แต่หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ประกอบกับอาการป่วยของพ่อ เขาจึงตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองจีนถาวร ก่อนจะพบว่ายิ่งอยู่ในสภาวะที่กดทับเสรีภาพมากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งอยากแสดงออกมากเท่านั้น เขาจึงเริ่มทำงานศิลปะที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองจีนมากขึ้น

อย่างที่รู้กันดี การท้าทายอำนาจรัฐไม่เคยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้าย เว่ยเว่ย วิพากษ์วิจารณ์รัฐในทุกช่องทางไม่ว่าจะผ่านงานศิลปะหรือการฉะตรงๆ อย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจใครหน้าไหนทั้งนั้น

เหตุการณ์หนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกคือในปี 2008 ทางการจีนไล่รื้อชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในปักกิ่งเพื่อสร้างภูมิทัศน์สะอาดตาสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิก ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นอ้าย เว่ยเว่ย มีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษาด้านการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง (หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่าสนามกีฬารังนก) ร่วมกับสถาปนิกชื่อก้องโลกอย่าง Herzog & de Meuron แต่เขากลับให้สัมภาษณ์ กับสื่อต่างชาติเพื่อวิพากษ์รัฐบาลจีนอย่างรุนแรงจนถูกทางการหมายหัว

หรือเมื่ออาคารของโรงเรียนอนุบาลในมณฑลเสฉวนพังทลายลงมาอย่างง่ายดายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2008 จนทำให้เด็กอนุบาลกว่า 5,000 คนเสียชีวิต เขาก็ลงมือสืบค้นความจริงอย่างกัดไม่ปล่อยและเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านบล็อกและทวิตเตอร์อย่างไม่ขาดสายจนมีคนเข้าชมถล่มทลาย นอกจากนั้นเขายังทำงาน Remembering (2009) ซึ่งนำกระเป๋าเป้ที่จำลองจากกระเป๋าของนักเรียนอนุบาลที่เสียชีวิตมาติดบนอาคาร เรียงร้อยเป็นตัวอักษรจีนได้ความว่า ‘เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขเป็นเวลาเจ็ดปีบนโลกใบนี้’ ซึ่งเป็นคำพูดของหนึ่งในพ่อแม่เด็กที่เสียชีวิต

การเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้เขาถูกทางการจีนตามเล่นงานด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งติดกล้องวงจรปิดไว้หน้าบ้านของเขา ส่งคนมาตามสอดแนม ปิดเว็บไซต์ที่เขาใช้สื่อสาร ไปจนถึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำร้ายจนเขาต้องผ่าตัดสมอง

“มีคนบอกว่าผมเป็นศิลปินนักทําลายความศักดิ์สิทธิ์ที่โจมตีความเชื่อและสถาบัน ผมเห็นด้วยกับนิยามนี้นะ พิสูจน์ได้จากรูสองรูบนกะโหลกผม ผมเคยผ่าตัดเลือดคั่งในสมองจากการทําร้ายของเจ้าหน้าที่ทางการ นั่นน่าจะเป็นหลักฐานที่ดี” เขาบอกในการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล

ที่หนักหนาที่สุดคือการถูกทางการจับกุมตัวไปกักขังอย่างลับๆ เป็นเวลานานถึง 81 วัน โดยมีผู้คุมเฝ้าจับตาไม่ห่างในทุกอิริยาบถตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอนหลับ กินอาหาร หรือแม้แต่ตอนเข้าส้วม และถูกสอบสวนนับครั้งไม่ถ้วน

หลังจากถูกปล่อยตัวจากการคุมขังไม่นานนัก เขาก็ทำงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า S.A.C.R.E.D. (2011-2013) ซึ่งบอกเล่าถึงประสบการณ์การถูกจองจำของเขาแบบโคตรตรงไปตรงมา ด้วยรูปแบบของหุ่นจำลองไฟเบอร์กลาสของตัวเขาเองในสถานที่คุมขัง โดยจำลองทั้งหน้าตาเสื้อผ้าของตัวเขาและผู้คุม รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในห้องขังแห่งนั้น ทั้งหมดถูกทำออกมาอย่างละเอียดสมจริงไม่ผิดเพี้ยนในขนาดย่อส่วน และนำไปจัดแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) ในปี 2013 นับเป็นการแฉเรื่องราวสกปรกในการใช้อำนาจมืดอันไม่เป็นธรรมของรัฐบาลจีนให้ชาวโลกได้เห็นอย่างจะแจ้งโดยไม่ต้องปริปากพูดให้เปลืองน้ำลาย

“ผมถูกปฏิเสธจากแผ่นดินแม่ตั้งแต่เกิด พ่อของผมเป็นกวีแต่กลับถูกเนรเทศ ถ้าแผ่นดินแม่ของคุณเป็นอันตรายต่อชีวิตแทนที่จะปกป้องหรือให้ความปลอดภัย เราจะเรียกสถานที่นั้นว่าบ้านได้ยังไง”

ความเป็นศิลปินขบถนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของอ้าย เว่ยเว่ย ก็อาจจะเป็นมรดกทางความคิดและอุดมการณ์ที่ส่งผ่านมาจากอ้าย ชิง พ่อของเขา ผู้เป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ของจีนผู้เคยกล่าวว่า 

“หากปราศจากประชาธิปไตยทางการเมือง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางศิลปะ คุณไม่สามารถคาดหวังได้ว่าประชาธิปไตยจะถูกใส่พานมาถึงมือคุณ คุณจะได้ประชาธิปไตยผ่านการต่อสู้เท่านั้น”

มรดกแห่งอุดมการณ์ของศิลปะแห่งการต่อต้านเช่นนี้ปรากฏชัดในจิตวิญญาณของอ้าย เว่ยเว่ยผ่านคำกล่าวของเขาที่ว่า

“สำหรับวัฒนธรรมทั่วไป ศิลปะต้องเป็นตะปูในดวงตา เป็นเหล็กแหลมที่ตอกลงไปในเนื้อ เป็นก้อนกรวดในรองเท้า นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อศิลปะ”

ครั้งหนึ่งอ้าย เว่ยเว่ย ยังใช้ตัวต่อเลโก้ในการทํางานศิลปะโดยต่อเป็นภาพผู้ต้องหาทางการเมืองจำนวน 176 คนจากทั่วโลกที่โดนคุมขังหรือจำต้องพลัดถิ่นฐานเพียงเพราะมีความคิดและความเชื่อทางการเมืองขัดกับรัฐ อ้าย เว่ยเว่ย เรียกขานพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น ‘วีรบุรุษแห่งยุคสมัยของเรา’ อีกด้วย


งานเลโก้รูปคุณสมยศของอ้าย เว่ยเว่ย

และที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือหนึ่งในวีรบุรุษเหล่านั้นปรากฏภาพของ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ อดีตนักโทษการเมืองชาวไทยผู้ถูกคุมขังเป็นเวลา 7 ปีเต็มจากข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า เสรีภาพของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางศิลปะ หรือสื่อสารมวลชนนั้นคือเสรีภาพของประชาชน เมื่อใดที่เสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้นริดรอน เสรีภาพของประชาชนก็จะไม่หลงเหลืออยู่เช่นเดียวกัน

0000

 

แหล่งข้อมูลจาก:

The 101.world: [ความน่าจะอ่าน] 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น: บันทึกความทรงจำเบื้องหลังมรดกแห่งอุดมการณ์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ของศิลปินหัวขบถผู้ท้าทายอำนาจรัฐ อ้าย เว่ยเว่ย
https://www.the101.world/1000-years-of-joys-and-sorrows-review-notable-books-2023


adaymagazine.com: ชีวิต ความคิด และบทสนทนากับ Ai Weiwei ศิลปินจีนผู้ท้าทายอำนาจรัฐจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
https://adaymagazine.com/ai-weiwei/?fbclid=IwAR3Q0l4f4H_sjk4DxhWz2l3H26pE_i1OGxfRYWs-Z8UGzMF5N23KDGPuSkU

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net