Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้มีข้อเสนอ 2 อย่าง คือ (1) แม้ตัวละครสิทธารถะจะถูกใช้เป็นตัวอย่างในการแสวงหา/พัฒนาตนทางจิตวิญญาณในสังคมไทย แต่ไม่ใช่การค้นหาอิสรภาพแบบที่สิทธารถะทำ เเค่เป็นการปฏิเสธพระสงฆ์หรือพุทธกระเเสหลัก แล้วรวมตัวกันศึกษา/ปฏิบัติธรรมในนามของกลุ่มฆราวาสเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้พบได้ทั่วไปในคริตศตวรรษที่ 20 และ (2) หนังสือเล่มนี้ไม่ได้นำเสนอหลักการพุทธเป็นแกนหลัก แต่ตรงกันข้าม คือใช้เเก่นของศาสนาพราหมณ์มาเกทับศาสนาพุทธ กล่าวคือผู้พ้นทุกข์ที่แท้จริงคือผู้เข้าใจพรหมันหรือปรมาตมัน ในขณะที่ผู้สมาทานวิถีแบบพุทธกลับไม่บรรลุธรรม

(1) เราเป็นสิทธารถะหรือโควินทะ
สิทธารถะ (Siddhartha) เป็นนิยายคลาสสิคของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ซึ่งพูดถึงการเเสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ เเต่สิทธารถะเลือกที่จะไม่ถวายตนหรือสังกัดกับองค์กร/ความเชื่อใด เพราะเห็นว่า การบรรลุธรรมสอนกันไม่ได้ แต่ละคนต้องค้นหาด้วยตนเอง ตรงกันข้ามกับเพื่อนของเขาคือ โควินทะ ที่บวชเพราะศรัทธาพุทธะ และตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนพุทธ เช่น มรรคแปด 

จริงๆ แล้วเราแบ่งแบบง่ายๆ ไม่ได้ว่า หากมาบวชก็จะเป็นโควินทะ ใครใช้ชีวิตฆราวาสต่อไปก็เป็นสิทธารถะ เพราะฆราวาสจำนวนมากยังศรัทธาต่อคำสอนของศาสนาและไม่ได้หาทางอื่นๆ ที่นอกตำราหรือนอกคำบรรยายเพื่อจะพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง ดังนั้นการรวมกลุ่มกันของฆราวาสเหล่านี้ ที่อาจมีฆราวาสผู้มีชื่อเสียงมาคอยบรรยายธรรมให้ฟัง มีการรวมตัวกันจัดเวิร์คชอปเป็นต้น ก็ควรจัดเป็นกลุ่มของโควินทะอยู่นั่นเอง

คือเราเเค่มองว่าการบวชไม่สำคัญ ดังนั้นปฏิบัติธรรมในคราบฆราวาสก็ได้ เเต่คนจำนวนมากนี้เเหละ ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานภายใต้การแนะนำของพระหรือครูอาจารย์ดัง เช่น ดร.สิริ กรินชัย ซึ่งเป็นวิธีที่สืบมาจากกระเเสวิปัสสนาในหมู่ฆราวาสของพม่าตั้งเเต่ ค.ศ. 1900 โดยการนำของ Ledi Sayadaw มาพร้อมกับการส่งเสริมอภิธรรม

หรืออาจเป็นกลุ่มนักเดินทางด้านในแบบประมวล เพ็งจันทร์ อดีตมหาเปรียญและอาจารย์สอนปรัชญาซึ่งมีลูกศิษย์ทั้งที่ร่วมกิจกรรมด้วยและอ่านหนังสือของเขาจำนวนมาก ผมสันนิษฐานว่า ประมวลน่าจะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากหนังสือสิทธารถะ เวลาบรรยายธรรมเขาจะพูดถึงการได้ค้นพบความหมายของสิ่งเล็กๆ ที่ได้พบเจอในชีวิตประจำวัน และสำนวนภาษาคล้ายกับสิ่งที่สิทธารถะพูด

ซึ่งความสนใจเหล่านี้มักเกิดในหมู่คนชั้นกลางที่พอมีจะกิน มีการศึกษาหรืออยู่ในเมือง บ้างก็อาจมองว่าพิธีกรรมตามวัด เช่น การปลุกเสกและสะเดาะเคราะห์เป็นเรื่องงมงาย ในขณะที่วิปัสสนาหรือมิติด้านจิตวิญญาณเป็นเรื่องสากลกว่า แต่ทั้งนี้ คนเหล่านี้ก็มักจะไม่ทิ้งการใส่บาตร ทำบุญวันเกิด หรือบริจาคเงินจัดพิมพ์หนังสือธรรมะ (ที่ตนเชื่อว่าถูกต้องมีเหตุผล) เพื่อให้คนได้เข้าถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการเผยเเผ่ศาสนาในรูปแบบหนึ่ง

ขณะที่สิทธารถะคือคนปฏิเสธศาสนาที่มีแบบฟอร์ม องค์กรและกลุ่มก้อน เขามองว่า มันเเค่การย้ายอัตตาจากตัวเองแล้วไปผูกไว้กับกลุ่มหรือความภักดีในพระรัตนตรัยเป็นต้น (น. 38-39) เขายอมรับว่า การออกมาจากกลุ่มสร้างความเปล่าเปลี่ยวอย่างมาก “เเม้ดาบสที่อยู่คนเดียวในป่าก็ไม่ได้เดียวดาย เพราะเขายังมีชนชั้น (ออกมาข้างนอกก็มีคนกราบไหว้ เพราะคนรับรู้สถานะ/อัตลักษณ์ของดาบส) โควินทะไปบวชเป็นพระก็มีพระสงฆ์นับหมื่นเป็นวงศ์วาน ห่มจีวรเหมือนกัน ร่วมศรัทธาและภาษาพูดด้วยกัน” (น. 45-46)

สิทธารถะเชื่อว่า เราควรมีอิสระที่จะเรียนรู้และเข้าถึงธรรมผ่านประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อออกมาจากกลุ่มสมณะแล้ว เขาไม่ไปรวมกลุ่มกับนักบวชหรือผู้ฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่ไหน แต่ในไทย เเค่อาจปฏิเสธพุทธเเบบรัฐหรือพระ (หรือปฏิบัติควบคู่กันไปเลย) แล้วจับกลุ่มกันในหมู่ฆราวาส ซึ่งคนที่ทำหน้าที่บรรยายก็มักเป็นผู้รู้ศาสนามากกว่าพระด้วย เเค่ไม่ห่มจีวร แต่นั่นคือความเท่ที่ตอบสนองคนจำนวนหนึ่งได้ว่าตนเปิดใจกว้าง เป็น spiritual not religious ย้ำนะครับว่านั่นไม่ได้ผิดอะไร ผมแค่จะยืนยันว่า นั่นเป็นวิถีแบบโควินทะนี่เอง

ในสังคมไทย มีการโจมตีวัตถุนิยม (ส.ศิวรักษ์ เป็นหนึ่งในนี้) จึงต้องหันมาโปรโมทศาสนาหรือมิติทางจิตวิญญาณ คำนำที่เขียนโดยสดใสก็ระบุแบบนี้ (น. 14) แน่นอนว่า สิทธารถะเคยคิดแบบนี้ เขารู้สึกว่าตัวเองเสียเวลาไปกับเรื่องหาเงิน เรื่องผู้หญิง เรื่องทางโลกและคิดว่าเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ค่า (น. 92) แต่นั่นไม่ใช่บทสรุปของเรื่อง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็จะเหมือนกับที่พุทธะเเละสมณะสอน ในทางตรงกันข้ามคือต่อมาเขาข้ามพ้นการมองแบบนั้น จึงสามารถพบสัจธรรมได้ ซึ่งจะอธิบายในข้อถัดไป แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เรามักอ่านสิทธารถะแบบเถรวาทอยู่เสมอ

ไม่ใช่เฉพาะในไทย เเม้ในสารคดีที่ทำโดยวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ฝรั่งก็รวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน ทำฟาร์ม ใช้ชีวิตออกจากวัตถุนิยมมาอยู่กับธรรมชาติ และบอกว่านั่นคืออิทธิพลของสิทธารถะ เเน่นอนว่าเราตีความได้หลายแบบ เเต่ต้องไม่ลืมว่า สิทธารถะไม่ได้ตั้งกลุ่มมารวมตัวกันหรือทำเพื่อคนรุ่นหลัง ไม่แม้เเต่จะช่วยลูกตัวเอง แต่มันเป็นการพ้นทุกข์แบบปัจเจก อาจเพราะเชื่อว่า แต่ละคนมีวิธีเข้าถึงสัจธรรมที่ไม่เหมือนกัน ต้องปล่อยให้เขาไปหา/เรียนรู้สิ่งที่เขาปรารถนา

2. ใช้หลักคำสอนพราหมณ์เกทับพุทธ
การที่สิทธารถะเชื่อว่าพุทธะคือคนหนึ่งที่เข้าถึงสัจธรรมแล้ว อาจทำให้ผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธเชื่อต่อไปว่า หนังสือเล่มนี้เขียนบนหลักการของพุทธ และบ้างก็ตีความแม่น้ำ/โอม ในเรื่องว่าเป็น “สติ/สติปัฏฐาน” เป็นต้น แต่เราจะพบว่า สิทธารถะพูดอย่างตรงไปตรงมาหลายครั้งถึงการเข้าถึงพรหมัน/ปรมาตมัน ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของแนวคิดแบบพราหมณ์ ผ่านการบริกรรม “โอม” เป็นต้น

ที่สิทธารถะเชื่อว่าพุทธะก็เข้าถึงพรหมัน/นิพพานได้ เพราะเป็นปกติของคนอินเดียโบราณที่ไม่ได้ยึดกับอัตลักษณ์ศาสนามาก ว่าต้องเพราะพุทธหรือพราหมณ์ หรือพราหมณ์นิกายไหน มีคนออกบวชเยอะซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “สมณะ” มีวิธีปฏิบัติที่หลากหลายแล้วแต่ใครจะออกแบบ อาจเรียกธรรมเนียมนี้ว่า Shamanism และไม่ได้ผูกขาดว่าการบรรลุธรรมต้องมีแบบเดียว อินเดียจึงมีศาสดาจำนวนมากและชาวบ้านก็ใส่บาตรสมณะเหล่านั้น ในปัจจุบัน คนฮินดูยังใส่บาตรให้พระนักศึกษาไทย เพราะมองว่านั่นคือ “สมณะ”

สิทธารถะไม่เคยทิ้งคำสอนพราหมณ์
ฉะนั้นการเชื่อว่า พุทธะ หรือ มหาวีระ หรือใครอีกกี่คนจะบรรลุธรรมได้จึงเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญคือ สิทธารถะเองมีวิธีคิดแบบพราหมณ์ คือการบรรลุธรรมหมายถึงการเข้าถึงพรหมัน เขาท่องจำอุปนิษัทได้และเชื่อว่า “พรหมันคือสัจธรรม”  (น. 9) และเเม้จะไม่เป็นสมณะเเล้ว เขายังไม่เคยทิ้งวิธีคิด/ความสันโดษแบบสมณะ ดังที่กมลาพูดเสมอว่า “นัยน์ตาของคุณเหมือนสมณะคนนั้น” (น. 118) คือเเม้จะเเต่งตัวเเบบคนรวย เปลี่ยนไปทำการค้าขายและเสพกาม หรือมาเป็นคนแจวเรือเเล้ว แต่ก็ยังดูเหมือนวันที่เขาเป็นสมณะ 

แน่นอนว่าวิธีคิดเขาพัฒนาไปแล้ว คือ พยายามไม่มองโลกแบบขาว/ดำ มายา/จริงแท้ ช่วงที่ทำธุรกิจกับกามสวามี เขาก็ทำอย่างผ่อนคลายไม่หวังผลกำไร มีความสุขกับการได้เรียนรู้ชีวิตผู้คน (น. 72) ที่สำคัญคือ เมื่อเขาเบื่อโลกแล้วออกไปจากเมือง กำลังจะฆ่าตัวตายริมแม่น้ำ เสียงจากวิญญาณส่วนลึกก็ดังขึ้นมาปลุกจิตสำนึกเขา นั่นคือคำว่า “โอม” ซึ่งแปลว่า พระองค์ผู้ทรงความสมบูรณ์/พระเจ้า (น. 93) และนั่นก็คือมนต์ที่เขาได้เรียนมาตั้งเเต่เป็นพราหมณ์ หรือขณะปลอบลูกที่ร้องไห้เพราะแม่ตาย เขาก็ท่องโศลกพราหมณ์เป็นทำนองแบบเพลงกล่อม (น. 119)

คำสอนและการบรรลุธรรมอยู่บนฐานคิดของพราหมณ์
พราหมณ์เชื่อเรื่องความจริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่พุทธมองสรรพสิ่งว่าเปลี่ยนแปลงเสมอจนไม่อาจยึดเป็นอัตตาตัวตนได้ ซึ่งสิทธารถะเป็นแบบเเรก เช่น เมื่อเขามองใบหน้าและปากที่หดเหี่ยวของกมลาผู้ซึ่งกำลังจะตาย เเล้วนึกเปรียบเทียบว่า เมื่อก่อนเขาเคยชมว่าเธอมีริมฝีปากเเดงสดชื่น “และชั่วโมงนั้นเอง เขาได้รู้สึกอย่างเฉียบคม ว่าทุกชีวิตไม่อาจทำลาย ชีวิตเป็นนิรันดร์ทุกขณะจิต” (น. 121) นั่นเป็นความเชื่อแบบอาตมัน/พรหมัน ว่าชีวิตไม่เคยตาย เช่นในเรื่องภควัทคีตา แต่หากเป็นแบบพุทธก็ต้องพูดว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เห็นความไม่งามแล้วปล่อยวาง เป็นต้น

ช่วงที่เขาสนทนาครั้งสุดท้ายกับโควินทะ สะท้อนให้เห็นคำสอนพุทธและพวกสมณะทั้งหลายได้ชัด ซึ่งมักสอนแบบเเบ่งแยกว่า มีทุกข์ มีการดับทุกข์ มีสังสารวัฏ มีนิพพาน ดังที่สิทธารถะเถียงว่า “สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามก็เป็นจริงได้เท่ากัน .. โลกที่อยู่ภายในและรอบๆ ตัวเราไม่ได้มีด้านเดียว ไม่มีใครหรือการกระทำใดที่เป็นสังสารวัฏล้วนๆ หรือนิพพานล้วนๆ” (น. 149)

“ฟังนะเพื่อนรัก ! ผมเป็นคนบาป คุณก็เป็นคนบาป แต่สักวันหนึ่งคนบาปจะกลับสู่พรหมัน เขาจะบรรลุนิพพานได้ในวันหนึ่ง .. “วันหนึ่ง” เป็นเพียงมายา เพราะอนาคตของเขาอยู่ตรงนั้นแล้ว โลกนี้ไม่ได้ขาดความสมบูรณ์ หรือกำลังหมุนไปบนเส้นทางสู่ความสมบูรณ์ ทุกสิ่งล้วนสมบูรณ์ ทุกสิ่งคือพรหมัน” (น. 150-151) และจุดพีคของการปฏิเสธคำสอนพุทธคือ

“นี่คือก้อนหิน เมื่อกาลเวลาผ่านไปมันจะกลายเป็นดิน จากดินกลายเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์หรือเป็นมนุษย์ .. ในกฎของความเปลี่ยนแปลง (เมื่อก่อน) ผมคงจะคิดเช่นนี้” 

“แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ก้อนหินก็คือก้อนหิน มันเป็นสัตว์ด้วย เป็นพระเจ้าและเป็นพุทธะ ผมไม่ได้เคารพเเละรักหินนี้เพราะมันเป็นสิ่งหนึ่งและจะกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง แต่เพราะมันเป็นทุกสิ่งมานานแล้ว และเป็นทุกสิ่งตลอดไป .. ก้อนหินแต่ละก้อนแตกต่างกัน ต่างบูชาโอมตามแนวทางของมัน แต่ละก้อนคือพรหมัน .. ผมเห็นว่ามันน่าอัศจรรย์และมีค่าควรบูชา” (น. 151-152) ฉะนั้น แม่น้ำซึ่งมีอยู่ทุกที่หรือโอมเป็นต้นจึงไม่ใช่สติในแบบพุทธ แต่คือพรหมันหรือพระเจ้าที่ดำรงอยู่เช่นนั้นและเป็นทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การรอเพื่อที่จะกลายเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ในอนาคต หรือเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะแบบอนิจจัง

เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเมื่อฟังธรรมแล้วโควินทะได้บรรลุไหม แต่เขาก็เห็นบางอย่างแบบที่สิทธารถะพูด เช่น มองหน้าผากของสิทธารถะเป็นจอภาพที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ตั้งเเต่ปลา ทารก ฆาตกร คนร่วมเพศ ฯลฯ และเขาก็เชื่อว่า สิทธารถะได้บรรลุธรรมไม่ต่างกับพุทธะ แต่หากจะตีความว่าโควินทะยังไม่บรรลุธรรมก็เป็นได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้สอนให้คนเป็นสาวก แบบที่โควินทะฟังธรรมและปฏิบัติมาทั้งชีวิตก็ยังไม่ได้บรรลุ หากแต่ต้องการสื่อว่าเราต้องค้นพบผ่านประสบการณ์ตัวเอง 

0000


 

หนังสือที่ใช้อ้างอิง
เฮอร์มาน เฮสเส (เขียน). 2566. สิทธารถะ. แปลโดย สดใส. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์. พิมพ์ครั้งที่ 19.
ขอบคุณภาพจาก: positivepsychology.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net