Skip to main content
sharethis

'ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต' 'ก้าวไกล' เดินแจกใบปลิว พบปะประชาชนที่ช่องนนทรี ขอแรงประชาชนช่วยดัน กม.คุ้มครองแรงงาน ยกระดับชีวิตคนทำงาน จ่อเข้าสภาฯ 28 ก.พ.นี้

23 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 ก.พ.) ที่สกายวอล์คช่องนนทรี กรุงเทพฯ เวลาประมาณ 17.32 น. สส.พรรคก้าวไกล อาทิ ธิษะณา ชุณหะวัณ, วรรณวิภา ไม้สน, พุธิตา ชัยอนันต์, ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ได้มาพบปะประชาชน และแจกใบปลิว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีสาระสำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานหลายด้าน

วรรณวิภา ไม้สน

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์

สหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคก้าวไกล ชลบุรี เขต 7 วันนี้มาร่วมแจกใบปลิว ให้ความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน ระบุว่า สาระสำคัญ ของ กม.แรงงาน ฉบับก้าวไกล เช่น การเปลี่ยนนิยามแรงงานการจ้างงาน ให้ครอบคลุมการจ้างงานทุกรูปแบบ รวมถึง ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ แรงงานอิสระ และอื่นๆ ให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน 

นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนการจ้างรายวันเป็นรายเดือน ลดเวลาทำงานจาก 48 ชม. ต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 40 ชม. ต่อสัปดาห์ ลาหยุดได้ 10 วันต่อปี และสะสมได้ มีระบบพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี มีที่ปั๊มนมเลี้ยงดูบุตรในที่ทำงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และอื่นๆ โดยกฎหมายฉบับนี้มีคิวเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 ก.พ. ที่จะถึงนี้

สหัสวัต คุ้มคง กล่าวต่อว่า วันนี้จะมีการแจกใบปลิว พบปะประชาชนเหมือนตอนหาเสียงเลย เพราะเขาคิดว่าการจะสื่อสารกฎหมายกับคน ต้องมีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แจกใบปลิว และอธิบายกฎหมายให้คนทำงานอ่านเลยว่า กฎหมายของเราส่งผลกระทบต่อคนทำงานอย่างไร

สส.ก้าวไกล ระบุว่า ที่เลือกช่องนนทรี เพราะว่าตรงนี้เป็นแหล่งทำงานของพนักงานออฟฟิศขนาดใหญ่ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน คนอาจจะเข้าใจว่าคุ้มครองเฉพาะคนทำงานใช้แรงงานเข้มข้น หรือกรรมการ แต่จริงๆ คุ้มครองรวมถึงพนักงานออฟฟิศ คนทำธนาคาร ไรเดอร์ และคนอื่นๆ

สำหรับการทำกิจกรรมวันนี้ ทางพรรคก้าวไกล จะอยู่แจกจนใบปลิวหมด และหากใครต้องการเช็กข้อมูลตัวกฎหมาย อยากให้เข้าไปดูในเว็บไซต์พรรคก้าวไกล หรือเพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายแรงงาน ของพรรคก้าวไกลได้เลย

เมื่อถามถึงความกังวลว่า ร่างกฎหมายแรงงาน จะถูกปัดตกหรือไม่ เพราะว่าเป็นร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน ทางสหัสวัต ยืนยันว่า ถูกปัดตกหรือไม่ก็ตาม พรรคก้าวไกลต้องเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

"เราต้องทำงานทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ และมองว่าถ้าเราได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาขน นอกสภาฯ เขาจะปัดตกกฎหมายเรายากขึ้น" สส.ก้าวไกล ชลบุรี ทิ้งท้าย

ความฝันด้านสวัสดิการของคนทำงานออฟฟิศ

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ผู้สัญจรผ่านไป-มาบริเวณสกายวอล์ค BTS ช่องนนทรี ถึงความหวังเรื่องสวัสดิการของคนทำงาน

เบน ทำอาชีพอิสระ อายุ 36 ปี มองว่า การทำงานอิสระทำให้ไม่มีประกันสังคม มาตรา 33 รองรับ ซึ่งถ้าอยากได้สวัสดิการประกันสังคม ต้องสมัครมาตรา 39 หรือ 40 ซึ่งค่าเบี้ยจ่ายได้ แต่การรักษาพยาบาล มันครอบคลุมได้ไม่หมด ไม่ดีพอ 

เบน ระบุต่อว่า เธอเลยอยากให้สวัสดิการสำหรับประกันสังคม มาตรา 39 หรือ 40 มียารักษาที่ดีขึ้น เท่าเทียมกันกับมาตรา 33 ไม่อยากให้แบ่งชนชั้น มาตรา 33 39 40 หรือบัตรทอง เธออยากให้รัฐมีกลไกที่ทำให้คนที่อยู่มาตรา 39 หรือ 40 มีสิทธิสวัสดิการเทียบเท่ากับลูกจ้างในมาตรา 33 อาจจะจ่ายเพิ่มขึ้นก็ได้ ให้รัฐจัดระบบมา จ่ายเท่าไร และรัฐอุดหนุนเท่าไร

ท้ายสุดเธอทิ้งท้ายว่า เธออยากให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับกฎหมายแรงงาน ไม่อยากให้เรื่องการเมืองมาปัดตกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ทีแรก อยากให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

"เราหวังว่าหน่วยงาน สส.พรรคอื่นๆ อยากให้เรื่องนี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 

"เวลามีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ไปเสนอ อย่าปัดทิ้ง เห็นด้วยกับเราหน่อย เพราะเราคิดว่า กฎหมายที่รณรงค์เป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งนั้น" เบน ทิ้งท้าย 

แจ็กกี้ LGBTQ+ อายุ 31 ปี อดีตเคยทำงานออฟฟิศ มองว่าควรมีการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานโดยเฉพาะการกีดกันคนที่เป็น LGBTQ+

แจ็กกี้ บอกว่า โชคดีที่ตัวเองทำงานในออฟฟิศที่มีความหลากหลาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี เจอสภาพแวดล้อมแบบนี้ ที่เคยได้ยินมาจากคนรอบตัว การเลื่อนตำแหน่งงานของ LGBTQ+ ต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัว 

แจ็กกี้ มองว่า เป็นไปได้ เขาอยากให้ที่ทำงานมีทัศนคติที่เปิดกว้างกับคนที่เป็น LGBTQ+ มากขึ้น ให้เขารู้สึกว่ามีตัวตน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการรับคนเข้าทำงาน ไม่ควรเอาเรื่องเหตุแห่งเพศมาเป็นเงื่อนไขกีดกันการรับคนเข้าทำงาน ควรดูที่คุณวุฒิ คุณสมบัติ หรือความสามารถเป็นหลัก

บี อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เธออยากให้มีแก้ไขปัญหาการติดต่อหรือมอบหมายงานให้พนักงานนอกเวลาทำงาน-วันหยุด เพราะว่าเคยมีกรณีที่เจ้านายมอบหมายงาน หรือติดต่อนอกเวลางาน พอไม่ติดต่อกลับ กลับกลายเป็นความผิดของเธอ

"มันไม่ค่อยโอเค 

"มันมีบทลงโทษในเชิงคำพูด ที่ไม่เป็นเกียรติสำหรับเรา หลายๆ ครั้ง เราจะได้รับจดหมายเตือน" บี ระบุ

บี มองว่า อยากให้มีกฎหมายสำหรับนายจ้างไม่ควรมีการสั่งงานนอกเวลาทำงาน และลูกจ้างต้องทำงานอย่างเต็มที่เวลาทำงานด้วยเช่นกัน และเวลาที่พนักงานได้รับมอบหมายงานนอกเวลาทำงาน และไม่ตอบกลับ ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุแห่งบทลงโทษ ตำหนิ ต่อว่า หักเงินเดือน และอื่นๆ 

พุธิตา ชัยอนันต์

เมย์ อายุ 31 ปี พนักงานออฟฟิศแห่งหนึ่ง มองว่า เรื่องการดูแลสุขภาพของลูกจ้าง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าที่ทำงานของเธอ มีการเพิ่มวงเงินจาก 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท เพื่อช่วยเหลือพนักกงานที่มีอาการบาดเจ็บกระทบกระเทือนทางสมอง ซึ่งเธออยากให้มีการดูแลสุขภาพรักษาให้มันครอบคลุมทุกโรคทุกด้าน โรคใหม่ๆ โรคออฟฟิศซินโดรม และอื่นๆ หรือมีคอร์สไปเที่ยว

เมย์ มองว่า ถ้าสิทธิสวัสดิการการรักษาครอบคลุม มันจะช่วยเหลือเรื่องหนี้สินครัวเรือน แบ่งเบาภาระของเธอมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net