Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ จัด 'Equal space : เอาะ มึ โอะเก' หวังเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการพูดคุยและสร้างสรรค์เมนูอาหารของแต่ละท้องถิ่น

19 ก.พ.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายถึงค่ำ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายกลุ่มเกษตกรภาคเหนือ (คกน.) จ.เชียงใหม่ เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ จัดกิจกรรมชื่อ 'Equal space : เอาะ มึ โอะเก' ซึ่งเป็นคำของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่มีความหมายประมาณว่า มาร่วมมื้ออาหารอย่างเอร็ดอร่อยด้วยกัน ร่วมเรียนรู้ตัวตนและวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านมื้ออาหารบนความแตกต่างที่หลากหลาย ณ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงบรรยายกาศภายในงานว่า มีการล้อมวงพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ม้ง, ไทใหญ่ กลุ่ม (Shan Youth Power) ,ปกาเกอะญอ รวมทั้งประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันประกอบอาหารชาติพันธุ์ โดยร่วมวงกินอาหารเย็นแบบกันเองตั้งวงล้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติและร่วมกันรับฟังดนตรีท้องถิ่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ 

สุขศรี ชิติพัทธ์ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนภาคเหนือ กล่าวว่า การรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละชนเผ่าเพื่อต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะมาจากแตกต่างจากเชื้อชาติแต่เราก็ควรได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และทำความรู้จักกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยใช้การพูดคุยและสร้างสรรค์เมนูอาหารที่เป็นอาหารท้องถิ่นของคนที่อยู่บนดอย

“เมนูอาหารที่นำมาประกอบอาหารในวันนี้ก็จะเป็นยำใบชาหรือยำเมี่ยง ที่มาจากไทใหญ่ ข้าวเบอะจากพี่น้องปกาเกอะญอ ต้มไก่สมุนไพร จากชาวม้ง แม้กระทั่งน้ำพริกกะปิ เต้าฮู้ทอดใส่ไส้ของพี่น้องชาวพม่าที่ได้นำมาร่วมแลกเปลี่ยนกันและกัน” สุขศรีกล่าว

ขณะที่ ธดาพงษ์ เสนาะไพร ตัวแทนจากกระเหรี่ยงปกาเกอะญอ กล่าวว่า การเลือกเอาข้าวเบอะมาเป็นประกอบอาหารเพื่อต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่อยู่บนดอย เมื่อก่อนเราทำไร่ทำนาและได้ข้าวน้อยไม่เพียงพอสำหรับหลายชีวิตก็หาวิธีที่จะทำให้ข้าวที่มีอยู่น้อยนิดแต่กินได้ทั้งครอบครัว หากนำไปหุงเราก็อาจจะกินกันไม่เพียงพอก็เลยนำเอามาต้มใส่ผัก ถ้ามีหน่อไม้เราก็จะใส่เข้าไปด้วย ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณของข้าวได้เพื่อให้เพียงพอต่อคนในครอบครัว

“เราก็ได้เรียนรู้และส่งต่อคุณค่าทางความสุขของชาวปกาเกอะญอ สิ่งสำคัญคือคนให้เข้ากัน เราจะได้รู้ถึงรสชาติว่าได้ใส่อะไรลงไปบ้างจึงประกอบกันเป็นข้าวเบอะ เราจึงเสนอเมนูนี้ที่ใส่หลายๆ สิ่งๆ อย่างลงไป เพราะสะท้อนให้เห็นชีวิตของมนุษย์ที่มีหลากหลายเชื้อชาติ ความหลากหลายของอาหาร ซึ่งสิ่งที่งดงามที่สุดคือการรวมกันและผสมอย่างลงตัวไม่ได้แบ่งแยกกัน” ธดาพงษ์กล่าว

อุทัย จีรเกสร ตัวแทนชาวม้ง บ้านขุนช่างเคี่ยน กล่าวว่า เมนูของเราที่นำมาประกอบอาหารในวันนี้คือ ต้มไก่สมุนไพรหลากหลายชนิดนำมาใส่รวมกับไก่ต้มเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร และเมนูต้มไก่นั้นก็เป็นอาหารท้องถิ่นในหลากหลายพื้นที่และเข้าถึงได้ทุก ๆ คน และมักมีเมนูนี้เมื่อมีการรวมตัวกินเลี้ยงพบปะกัน แต่สิ่งสำคัญคือสมุนไพรที่เรานำมาใส่นั้นเกิดขึ้นเฉพาะบนดอยที่เราอาศัยอยู่

ขณะที่ ศรศักดิ์ ลงหลู่ ตัวแทนจากกลุ่ม Shan Youth Power กล่าวว่า ชาวไทใหญ่มีเมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์หาซื้อได้ง่ายอย่างเช่น ข้าวซอยเส้นโก้ยำและเมี่ยงยำ สำหรับข้าวซอยนั้นเป็นอาหารที่มีการสืบทอดกันมายาวนานเป็นอาหารที่หากินง่ายและทำกินได้ง่าย ซึ่งเมนูนี้จะมักพบบ่อยและทำเลี้ยงกันเมื่อมีการจัดงานสังสรรค์ งานบุญประเพณีต่างๆ

“ส่วนยำใบชาก็เป็นของชาวพม่า แต่ได้มีการนำมาแปรรูปให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและไม่ว่าชนชาติใดก็ตามก็สามารถเข้าถึงเมนูนี้ได้ เราก็เลยต้องการสะท้อนให้เห็นว่าข้าวซอยของภาคเหนือกับข้าวซอยโก้ของชาวไทใหญ่ มีลักษณะอาหารที่คล้ายคลึงกัน และเราก็ควรที่จะโอบรับกันและกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของชนชาติก็ตาม” ศรศักดิ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net