Skip to main content
sharethis

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ศาลอาญารัชดาฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมด้วย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นประกันตัว 15 ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง

(เสื้อขาวจากซ้าย) เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

9 ก.พ. 2567 สำนักข่าวราษฎร รายงานจากด้านหน้าศาลอาญารัชดาฯ เวลาประมาณ 10.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในนามของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นประกันตัว 15 ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง

ก่อนเข้าไปยื่นประกันตัวด้านในศาล โดยทนายความอ่านแถลงการณ์ ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการยื่นประกันตัว 

สำนักข่าวราษฎร ระบุเพิ่มว่า สำหรับ ‘วุฒิ’ ได้ประสงค์ยื่นประกันตัววันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นวันพิพากษาของเจ้าตัว และ อานนท์ นำภา มีความประสงค์ยื่นประกันตัว พร้อมยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องจากการปราศรัยการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 ส่วนผู้ที่มีความประสงค์ไม่ยื่นประกันตัวสู้คดีต่อ คือ สมบัติ ทองย้อย 

สำหรับความคาดหวัง ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมฯ ระบุว่า ทุกคนยังเป็นผู้ต้องหา และเป็นจำเลยคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด จำเลยควรได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และความประสงค์พื้นฐานของผู้ถูกดำเนินคดีทุกคน คาดหวังเป็นอย่างมากว่าศาลจะพิจารณาถึงหลักการพื้นฐานอันนี้ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับผลตอบรับจากพรรคการเมือง ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมฯ ระบุว่า  ทิศทางคือในหลายพรรคฯ เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรม และเป็นไปตามที่สื่อได้นำเสนอไปคือมีความแตกต่างในรายละเอียดฐานความผิดที่จะอยู่ในข่ายการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112

แถลงข่าวการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ณ ศาลอาญา รัชดาฯ

ตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีครอบครองอาวุธที่สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 38 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน

ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คน และมีเยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในข้อหานี้ เพราะศาลกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัว รวม 9 คน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง นักศึกษา และภาคประชาสังคม ได้รวมกลุ่มกันเป็น “เครือข่ายนิรโทษกรรม” จัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องในช่วงวันที่ 1-14 ก.พ. 2567 เพื่อให้รัฐยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

ทั้งผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขัง เมื่อทราบถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและกิจกรรมของเพื่อนข้างนอกแล้ว หลายคนแจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัว เพื่อใช้สิทธิของตนเองอีกครั้ง และเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ายังมีคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับความเดือดร้อน

ในวาระที่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ประกอบสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อันจะเป็นทางออกในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง และกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อพวกเขา

ตั้งแต่เมื่อวาน (8 ก.พ. 2567) และวันนี้ ทนายความพร้อมนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ จะเข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิประกันตัว ทั้งหมด 15 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, “แม็กกี้“, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ,วีรภาพ, อุดม, “กัลยา“, จิรวัฒน์ และทีปกร โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชน ในการวางหลักประกันต่อศาล

ในส่วนของวุฒิ ประสงค์ขอยื่นประกันตัวในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นวันเดียวกับการฟังคำพิพากษาในคดีของตัวเอง และอานนท์ นำภา ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นประกันตัวเองพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ต.ค. 2563

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว รอคดีสิ้นสุด ได้แก่ ชนะดล และสมบัติ ทั้งในส่วนของวารุณี ได้แจ้งความประสงค์ว่าขอดูสถานการณ์ และยังไม่ขอตัดสินใจยื่นประกันตัวในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เหลือ ได้แก่ เวหา, เก็ท โสภณ ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด ส่วนบุ้ง เนติพร  ไม่ประสงค์ให้ยื่นประกันตัว เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของประชาชนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันของศาลในลักษณะเช่นเดิมที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ กลายเป็นแรงผลักให้หลายคนต้องตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษ โดยไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป แต่เพื่อให้พวกเขาได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตให้เร็วที่สุดอีกครั้ง

การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมดในวันนี้ ด้วยความหวังว่าศาลยุติธรรมจะยังคงยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ คือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และแม้เป็นจำเลย ก็ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรม และคืนสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งยังเป็นหลักประกันในการได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

9 ก.พ. 2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net