Skip to main content
sharethis

‘เหวง’ ย้ำหนุนนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่ให้ จนท.รัฐลอยนวลพ้นผิด ชูคำขวัญ “นิรโทษให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย”

7 ก.พ.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ำวันนี้ (7 ก.พ.67) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรมนิรโทษกรรมออนทัวร์ มาทำความรู้จักกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ที่ตลาดนกฮูก นนทบุรี โดย นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่ม นปช. ขึ้นเวทีกล่าวยืนยันว่าตนสนับสนุนการนิรโทษกรรมประชาชนทั้งหมดตั้งแต่ปี 49 ถึงปัจจุบัน ตนอยากเสนอคำขวัญเพิ่มเติม “นิรโทษให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย”

อดีตแกนนำกลุ่ม นปช. ย้ำว่าอย่าเพียงแค่คิดถึงคนเป็นเท่านั้นแต่ต้องคิดถึงวีรชนที่เป็นคนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วย โดยเฉพาะวีรชนคนเสื้อแดง การทวงความยุติธรรมให้กับคนตายนั้นจำเป็นต้องเอาเจ้าหน้าที่กองทัพที่ดำเนินการอย่างอำมหิตต่อประชาชน เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 53 มารับผิดด้วย

นักโทษการเมืองเกิดจากอะไรนั้น เหวง มองว่าต้องตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน คือนักโทษทางการเมืองเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของประชาชนต่อรัฐเนื่องจากเห็นต่างจากรัฐเพื่อเปลี่ยนหลักการทางการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าผิดตนยืนยันว่าการต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่ปี 49 ถึงปัจจุบันนั้นใช้สันติวิธี แม้ว่าตนจะมีความเห็นต่างหรือตรงข้ามกับกปปส.หรือพันธมิตรก็ตาม แต่ทางกลุ่มเรานั้นก็มุ่งประสงค์จะใช้สันติวิธีเช่นกัน เราต้องให้ความเป็นธรรมกับการเคลื่อนไหวของประชาชนทุกกลุ่มขณะนี้มีอยู่ 4 กลุ่มคือพันธมิตร นปก./นปช. กปปส. และเยาวชนกลุ่มราษฎร

ส่วนประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรก็คือเรื่องหากว่าเขาเดินตามระบอบรัฐสภา ที่จะมีการเลือกตั้งก่อนการยึดอำนาจ เหตุใดกลุ่มพันธมิตรจึงไม่สามารถรอให้มีการเลือกตั้งได้ ตนจึงไม่เห็นด้วยกับทิศทางแนวทางของกลุ่มพันธมิตร สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการรัฐประหาร หรือกรณีที่มีการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

อดีตแกนนำ นปช. ยืนยันว่า ต้องนิรโทษกรรมประชาชนทั้งหมดที่เห็นต่างจากรัฐตั้งแต่ปี 49 ส่วนกรณีเรื่องการใช้ความรุนแรงนั้นก็ต้องสืบสวนสอบสวนไปโดยอาจจะมีตามข้อเสนอคือมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา

เหวง ย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการเข่นฆ่าประชาชนต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

ช่วงทศวรรษที่ 10 นั้นที่มีความขัดแย้งระหว่างนักศึกษา ประชาชนกรรมกรชาวนากับรัฐ ช่วงนั้นมีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มต่อต้านรัฐและภายหลังก็มีการนิรโทษกรรม แต่กลับทำให้เจ้าหน้าที่รับที่เข่นฆ่าประชาชนนั้นลอยนวลพ้นผิดไปด้วย

อดีตแกนนำกลุ่ม นปช. ย้ำว่า หากเรายังไม่เอาเจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนมารับโทษตามกฎหมายได้สำเร็จก็จะเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐมาฆ่าประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้การสังหารปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง

เหวง ยังกล่าวถึงสมัยที่มีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทยนั้น รัฐไทยก็มีการนิรโษกรรมผ่านมาตรการ 66/23 โดยใช้คำว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ปี 2516 และปี 2519 นั้นคนที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไม่ได้รับการลงโทษจึงเกิดการใช้ความรุนแรงในปี 2535 อีก รวมถึงการรัฐประหารที่ไม่ถูกลงโทษก็จะมีการรัฐประหารอีกในอนาคต เมื่อเกิดรัฐประหารปี 35 แล้วตนก็ไม่คิดว่าจะเกิดก็ต้องหาในปี 49 อีก แต่ก็เกิดขึ้นจนได้เพราะความลอยนวลพ้นผิดดังกล่าว

แก้ ม.112 = ต่อสู้กับผลพวงของรัฐประหาร 19

สำหรับการแก้ไขมาตรา 112 นั้นเหวง ไล่เรียงประวัติศาสตร์การแก้ไขมาตรานี้ตลอดตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475 และกลับมามีการแก้ไขอีก ในปี 19 โดยคณะรัฐประหารปี 19 ดังนั้นการต่อสู้กับมาตรา 112 นั้นจึงเป็นการต่อสู้กับผลพวงของการรัฐประหารปี 2519 ด้วย

เสื้อแดง ต้องไม่จับมือกับผู้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

อดีตแกนนำกลุ่ม นปช. อธิบายถึงเสื้อแดงด้วยว่าไม่ใช่แค่การเอาเสื้อมาใส่แต่เป็นจิตวิญญาณของการต่อต้านรัฐประหาร โดยตอนนั้น นปช.มีนโยบายเรื่องของระบอบการเมืองต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นต้องเป็นของประชาชนโดยแท้จริง จึงเรียกร้องให้เข้าใจคำว่าเสื้อแดงอย่างแท้จริงเพราะภายหลังนั้นมีความเละเทะไปหมด ดังนั้นคนที่ไปจับมือกับฝ่ายรัฐประหารนั้นจึงไม่ใช่เสื้อแดงหรือประชาธิปไตยโดยแท้จริง เพราะเสื้อแดงต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนโดยไม่ใช่ไปจับมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

สำหรับปี 53 นั้นคำขวัญของเสื้อแดงในการเคลื่อนไหวชัดเจนคือการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ช่วงปี 53 นั้นประชาชนเสื้อแดงก็ถูกดำเนินคดีจำนวนมากและหลากหลายคดี

มาการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรปี 63 นั้นต้องเข้าใจก่อนว่าเยาวชนเขามีความปรารถนาดีกับบ้านเมือง เขาจึงต้องการปฏิรูปการเมืองเยาวชนจึงออกมาแสดงความคิดเห็นหรือแม้แต่มาตรา 112 นั้นก็ถูกเขียนใหม่โดยคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคมปี 2519 ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่แก้ได้ แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ไม่มีโทษขั้นต่ำเหมือนที่มาแก้ในปี 19 ดังนั้นการแก้ไขมาตรานี้จึงไม่เท่ากับการล้มล้างสถาบัน เขาไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบ เพราะยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวมทั้งยังเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว ดังนั้นภายใต้กรอบ 2 อย่างนี้จึงไม่เท่ากับการล้มสถาบันถ้าหากต้องการล้มสถาบันเขาต้องบอกว่าต้องการระบอบสาธารณรัฐ แต่การเคลื่อนไหวของเขาไม่มีข้อเรียกร้องนี้

การเคลื่อนไหวกลุ่มราษฎรตั้งแต่ปี 63 นั้น ส่วนมากที่ถูกดำเนินคดีก็เป็นกลุ่มเยาวชน ซึ่งเขามีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เยาวชนที่อยู่ภายใต้ระบอบและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในขณะนั้น จึงออกมาเคลื่อนไหวซึ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองดังนั้น จึงต้องนิรโทษกรรมทั้งหมด

ภาพโดย Suramet Noyubon

เหวง ยืนยันว่าการนิรโทษกรรมประชาชนนี้ จะเป็นทางออกของบ้านเมืองเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองก็ควรสนทนาปราศรัยกันไม่ใช่การใช้อำนาจ รัฐมาข่มขู่ปราบปรามกัน

อดีตแกนนำ นปช. ย้ำว่า ปี 53 มีวีรชนประชาธิปไตยที่พลีชีพต่อต้านรัฐบาลและต้องการเลือกตั้งใหม่ผ่านการยุบสภาแต่กลับถูกปราบปรามเข่นฆ่า ดังนั้นต้องหาทางติดตามคดีความผู้มีส่วนในการเข่นฆ่าสังหารประชาชน ตนเคยยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อต่อพรรคฝ่ายค้านสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีพรรคอย่างเพื่อไทยและคก้าวไกลรับข้อเรียกร้องนั้น โดยเฉพาะเรื่องของการนำผู้ที่สังหารประชาชนมาลงโทษตามกฎหมายและเซ็นรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีสลายการชุมนุมปี 53 แต่มาจนถึงปัจจุบันนี้คดีกลับยังไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตามในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการไต่สวนคดี หลายคดีโดยเฉพาะคดี 6 ศพวัดปทุม ที่มีการไต่สวนการเสียชีวิต ศาลได้สรุปความ ระบุว่าผู้เสียชีวิตเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ผู้เสียชีวิตไม่มีเขม่าดินปืนและไม่มีการยิงต่อสู้

ใน 8 ข้อ ที่เคยเรียกร้องต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านในยุครัฐบาลประยุทธ์นั้น มีข้อเรียกร้องให้เมื่อทหารทำผิดต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน

ต่อข้อเสนอกรณีเมื่อ ปปช.ไม่ส่งฟ้องแล้วให้ผู้เสียหายฟ้องเองนั้น อดีตแกนนำ นปช. กล่าวว่าตนก็กังวลว่าจะเหมือนเดิมก็คือมีการชี้จากศาลให้ส่งไปที่อัยการศาลทหารซึ่งที่ผ่านมาอัยการศาลทหารก็เคยมีคำสั่งไม่ส่งฟ้องในคดีสลายการชุมนุมนี้

สุดท้าย เหวง ยืนยันว่า ตนเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมประชาชน แต่ต้องไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อประชาชน ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนนั้นก็ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ซึ่งตรงใจกับตน

เหวงย้ำว่า ตนยังเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาว่ากรณีที่ทหารเมื่อกระทำผิดต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือนรวมถึงนักการเมืองด้วยที่ต้องขึ้นศาลพลเรือนปกติ จึงอยากจะเชิญชวนให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการตามข้อเสนอที่เคยรับไว้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net