Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้สอนศาสนา ทั้งพระและฆราวาสในบ้านเรา มักดูแคลนปรัชญา โดยไม่ต้องอภิปรายเลยด้วยซ้ำว่า ปรัชญา หรือ philosophy คืออะไร

เช่น พวกเขามักตัดสินว่า ปรัชญาเป็นเรื่องของการเก็งความจริงด้วยหลักตรรกะเหตุผล เป็นเพียงเกมความคิด ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริง และทำให้พ้นทุกข์ได้จริงเหมือนศาสนา จากนั้นก็ยืนยันว่า “พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา” เราไม่ควรยึดมั่นหรือติดยึดในปรัชญาใดๆ เพื่อเข้าถึงความจริงแท้ตามคำสอนพุทธศาสนา (นี่ไม่ใช่ติดยึดคำสอนพุทธศาสนา?)

แม้คำวิจารณ์เช่นนั้น อาจมีส่วนตรงกับปรัชญาบางสาขา แต่ไม่ใช่ปรัชญาทั้งหมดจะเป็นแค่การเก็งความจริงด้วยหลักตรรกะเหตุผลที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับการปฏิบัติเพื่อทำให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น ตรงข้าม ยังมีปรัชญาชีวิต และปรัชญาสังคมและการเมืองที่ถูกนำมาใช้เป็นรากฐานของเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การมีชีวิตที่ดีของบุคคล สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ  

น่าสังเกตว่า พุทธะเองก็ไม่ได้ดูแคลนปรัชญา แต่กลับแนะนำว่าการถือศาสนา เหมือนจับใบหญ้าคา ต้องระวังมันจะบาดมือ กาลามสูตรแนะให้เราสงสัย และตั้งคำถามกับทุกคนเชื่อที่จะรับมา และเสนอให้เราเชื่อความจริง และความถูกต้องทางศีลธรรมที่รู้ได้ด้วย “ปัญญา” ของตนเอง

ความหมายของการใช้ “ปัญญา” เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตตนเองได้ ตามที่พุทธะเสนอ น่าจะใกล้เคียงกับ “ปรัชญา” มากกว่า “ศาสนา” ด้วยซ้ำ เพราะในงานประวัติศาสตร์ความคิดปรัชญามองว่า กรอบคิด (concept) แบบพุทธที่ให้ภาพความจริงของชีวิต สรรพสิ่ง และศีลธรรม เช่น กรอบคิดอริยสัจ, ปฏิจจสมุปบาท, ไตรลักษณ์, สุญญตา, กาลามสูตรเป็นต้นคือปรัชญาแบบหนึ่ง

ขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ หรือความศรัทธาที่สร้างขึ้นผ่านเรื่องเล่าและพิธีกรรมต่างๆ ที่ชวนเชื่อและเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์เหนือเหตุผลของพระศาสดา, นักบวช, และสถานะอำนาจในนามศาสนาของชนชั้นปกครองที่เป็นธรรมราชา กษัตริย์โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สมมติเทพ เทวราชาเป็นต้นที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์เหนือคนธรรมดาสามัญ และเป็นเผด็จการที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

พูดอีกอย่าง ปัญญา หรือ “ปรัชญา” ในภาษาอังกฤษคือ “philosophy” ที่หมายถึง “love of wisdom” มีมิติ “ปลดปล่อย” (liberate) มากกว่า ขณะที่ศาสนามีมิติ “ครอบงำ” (dominate) มากกว่า เพราะปรัชญาเน้นการตั้งคำถาม และการสร้างข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ที่นำไปสู่การเข้าใจความจริงด้วยปัญญา หรือเหตุผลของตนเอง

ปรัชญาจึงเรียกร้องการมี “autonomy” หรืออิสรภาพในการกำหนดตนเองในการใช้ปัญญาหรือเหตุผลเข้าใจความจริง และความถูกต้อง ขณะที่ศาสนาเรียกร้องศรัทธาเชื่อฟังต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนืออิสรภาพของเรา เช่น อำนาจของพระเจ้า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ศาสดา นักบวช ศาสนจักร กษัตริย์ที่มีสถานะและอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ตามความเชื่อศาสนาต่างๆ

จะว่าไปแล้ว บุคลิกภาพทางปัญญาของพุทธะ มีความเป็น “นักปรัชญา” มากกว่า เพราะการแสวงหาความจริงของสิทธัตถะ เริ่มจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาจากครูอาจารย์ และคัมภีร์ต่างๆ และตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ของความทุกข์ในชีวิตของผู้คน และของตนเอง จึงทำให้มี autonomy จากอำนาจครอบงำของคนอื่นๆ หรือความเชื่ออื่นๆ เช่น มีอิสระจากอำนาจครอบงำของพ่อ ครอบครัว ราชสมบัติ เมื่อใช้ชีวิตเรียนรู้ในสำนักอาจารย์ต่างๆ ก็มีอิสระจากอำนาจครอบงำของอาจารย์ เมื่อทดลองตบะตามความเชื่อศาสนาต่างๆ ก็เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของลัทธิความเชื่อเหล่านั้นได้ จึงมีเสรีภาพในการใช้ปัญญาของตนเองอย่างเต็มที่ และเกิดปัญญารู้แจ้งที่ทำให้เป็นพุทธะในที่สุด

จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางปรัชญาของพุทธะ คือ “เส้นทางอิสรภาพ” เริ่มจากมีอิสรภาพในการตั้งคำถามต่อทุกความเชื่อที่จะรับมา การกำหนดตนเองในการเลือกทางเดินของชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไปจนถึงการมีอิสรภาพด้านใน และสามารถดำรงชีวิตด้วยการเป็นพุทธะ หรือผู้ตื่นรู้ที่มีแสงสว่างทางปัญญานำทางตนเอง เส้นทางอิสรภาพดังกล่าว สะท้อนกระบวนการทางปรัชญามากกว่าศาสนา เพราะพุทธะและผู้ติดตามไม่ได้สวดอ้อนวอนหรือประกอบพิธีกรรมบูชาใดๆ แบบศาสนา แต่สร้างชุมชนการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาสติปัญญาเพื่ออิสรภาพ และสันติสุขเป็นด้านหลัก

ในนวนิยาย “สิทธารถะ” จะเห็นว่าสิทธารถะปฏิเสธที่จะเป็นสาวกผู้ติดตามพุทธะ แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธ “ความเป็นพุทธะ” เพราะเขาเชื่อว่าการเกิดปัญญาแบบพุทธะ เป็นปรัชญาชีวิตที่แต่ละคนต้องทำให้เป็นจริงด้วยตนเอง ไม่ใช่คำสอนศาสนา หรือพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดปัญญาแบบพุทธะได้

การได้พบกับพุทธะ ทำให้สิทธารถะเป็นอิสระจากเส้นทางศาสนา เขาทิ้งเครื่องแบบนักบวช การสวดมนต์ และการฝึกปฏิบัติแบบศาสนาใดๆ ไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาที่เรียนรู้เข้าใจชีวิตจากประสบการณ์ทุกข์-สุขของตนเอง สุดท้ายเขาทำปรัชญาชีวิตของตนเองให้เป็นจริงในบทบาทคนแจวเรือที่ “เรียนรู้จากสายน้ำ” และแจวเรือส่งสาวกของพุทธะที่เป็นสหายเก่าของเขาข้ามฟาก

เรื่องราวของสิทธารถะทิ้งประเด็นปัญหาชวนคิดว่า ศาสนาที่ประกอบสร้างบุคคลศักดิ์สิทธิ์อย่างศาสดา นักบวช และการใช้เวลาชีวิตไปกับพิธีกรรมต่างๆ มากมายนั้น ทำให้ชีวิตมนุษย์ซับซ้อน ยุ่งยาก หลงทาง และห่างไกลจากความเป็นมนุษย์ตามเป็นจริงมากเกินไปหรือไม่   

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่ามากมายในไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่ประกอบสร้าง “ความเป็นศาสนา” ของพุทธะในฐานะเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” หรือเป็น “สัพพัญญู” ราวกับเป็นภาพเสมือนของพระเจ้า แต่กระนั้น “แก่นแกน” ของความเป็นพุทธะ ก็คือการมีอิสรภาพในการแสวงหาความจริงและอิสรภาพด้านใน ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายได้อย่างมีเหตุผล และสอดรับกับพุทธะในฐานะ “บุคคลทางประวัติศาสตร์” (ไม่ใช่เทพที่จุติมาจากสวรรค์) ที่มี autonomy เลือกใช้ชีวิตลองผิดลองถูกแสวงหาความจริง และพบอิสรภาพด้านในด้วยตนเอง

หลังจากพบทางเป็นพุทธะด้วยปัญญาของตนเองแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นไปจนตาย ก็ไม่ใช่ชีวิตของบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษสูงส่งที่ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จและราบรื่นไปเสียทุกอย่าง หากแต่เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ต่อรองกับความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ระบบชนชั้นวรรณะ และการเมือง-การสงครามในยุคสมัยนั้น รวมทั้งการปกครองสาวก ก็มีปัญหาสารพัด ซึ่งบางเรื่องพุทธะก็ทำสำเร็จ บางเรื่องก็ล้มเหลว ท่ามกลางความยากลำบากของการรอมแรมเดินทางเผยแพร่ ”ธรรมะ” และปัญหาสุขภาพรุมเร้าในวัยชรา

วิธีการนำเสนอความคิดของพุทธะ ก็คล้ายกับวิธีการทางปรัชญาของนักปรัชญากรีกโบราณ และที่อื่นๆ (งานของนักปรัชญาตะวันตกก็ให้ข้อสังเกตแบบนี้) เช่นในการเทศนาครั้งแรก พุทธะก็เริ่มด้วยการวิพากษ์ความเชื่ออื่นๆ ที่เห็นว่าผิด ด้วยเหตุผลอย่างนั้นๆ แล้วจึงเสนอความคิดใหม่ของตนว่าถูกต้องกว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ

เมื่อถูกถามว่า ศาสนาและประเพณีบูชาต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยหรือ? พุทธะก็ชี้ไปที่แม่น้ำ แล้วถามว่า ใครที่อยากข้ามแม่น้ำไปฝั่งตรงข้าม แล้วทำการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อศาสนา และอธิษฐานให้สองฝั่งเคลื่อนเข้ามาบรรจบกัน จะเป็นไปได้ไหม เมื่อคำตอบคือ “เป็นไปไม่ได้” ก็นำไปสู่การยอมรับความจริงที่เป็นไปได้ว่า หากอยากข้ามแม่น้ำก็จะต้องหาวิธีที่ถูก เช่น ถ้าน้ำตื้น ก็เดินลุยน้ำข้ามไปได้ ถ้าลึกแต่ไม่กว้างมากก็ว่ายข้าม ถ้าลึกและกว้างมากก็ต้องใช้เรือหรือแพเป็นต้น เช่นเดียวกัน ด้วยการใช้สติปัญญาของตนเอง ย่อมทำให้เรามีอิสรภาพและสันติภายในได้จริง นี่คือตัวอย่าง “วิธีการทำปรัชญาแบบหนึ่ง” ที่ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากศาสนา

เพราะสิ่งที่เรียกว่าสติ, อิสรภาพ, สันติภายใน, ปัญญา, กรุณา และอื่นๆ ไม่ได้มีความหมายเชิงศาสนาใดๆ เลยที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ต้องประกอบพิธีกรรมบูชา หรือจะสวดอ้อนวอนพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพื่อให้คุณค่าเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่คุณค่าเหล่านั้นคือ “ความเป็นมนุษย์” ของเราทุกคนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับความรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง หรือความรักและการให้อภัยตามคำสอนเยซู ก็คือความเป็นมนุษย์ของเรา ที่บ่มเพาะให้งอกงามได้ด้วยกระบวนการใช้สติปัญญา ทว่าเมื่อความคิดเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่าน “สถาบันศาสนา” ความหมายก็เปลี่ยนไป

เช่น ในพุทธศาสนาไทยหรือ “พุทธราชาชาตินิยม” คำสอนของพุทธะในความหมายของ “เส้นทางอิสรภาพ” ที่ทำให้เรามี autonomy ในการกำหนดตนเองไม่เวิร์คเลย เพราะนักบวชภายใต้ศาสนจักรของรัฐไม่มีแม้แต่เสรีภาพในการตีความคำสอนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตย

แม้จะมีพระจำนวนมากขึ้นที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ภายใต้ระบบการปกครองและวัฒนธรรมอำนาจนิยมของศาสนจักร พระเหล่านั้นก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองนำเสนอเส้นทางอิสรภาพแบบพุทธะออกมาได้อย่างมีคุณค่าต่อสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

ตัวอย่างเช่น ปราชญ์พุทธบางคน เขียนหนังสืออธิบาย “พุทธธรรม” จากไตรปิฎกได้อย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อเขานำพุทธธรรมมาประยุกต์กับสังคมและการเมือง กลับให้ข้อเสนอที่ขัดกับการมี autonomy ของปัจเจกบุคคล เช่น เสนอให้คงการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ ปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐ เน้นความสำคัญของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ เป็นต้น อีกทั้งยังเสนอ “ธรรมะ” สำหรับการปกครองทางโลกว่า “เมื่อประชาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า ระบบการปกครองคณะสงฆ์ มีธรรมาธิปไตยหรือไม่ หาประชาธิปไตยเจอแล้วหรือยัง เป็นต้น

ทั้งๆ ที่เส้นทางอิสรภาพของพุทธะที่เห็นได้จากปรัชญาชีวิตสิทธัตถะที่ใช้ autonomy แสวงหาความจริงจนพบอิสรภาพด้านใน และปรัชญาที่ให้ภาพความจริงของชีวิตและสรรพสิ่งผ่านคอนเซ็ปต์อริยสัจ ปฎิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ สุญญตา กาลามสูตร เป็นต้นที่ล้วนแต่เน้นการมี autonomy และอิรภาพด้านใน ไม่มีอะไรเลยที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย และสิทธิมนุษยชน แต่ปรัชญาเหล่านี้กลับไม่มีพลังใดๆ ในการสนับสนุนการมีชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น เพราะถูก “ศาสนาพุทธแบบไทย” ที่รับใช้อำนาจไม่ประชาธิปไตยของชนชั้นปกครองครอบงำกดทับ

จะมีประโยชน์อะไรเล่ากับการภูมิใจว่า เถรวาทไทยรักษาไตรปิฎกที่บันทึกคำสอนดั้งเดิมทอันเป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนาไว้ได้ดีกว่า ขณะที่ฝ่ายมหายาน และวัชรยานยอมรับการแต่งคัมภีร์ใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ มากกว่า แต่สิ่งที่ตีความใหม่ๆ กลับทำให้ “เส้นทางอิสรภาพ” ของพุทธะที่สนับสนุนการมี autonomy และอิสรภาพด้านในกลมกลืนไปกับสังคมประชาธิปไตยโลกวิสัย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และสันติภาพทางสังคมได้ดีกว่า  

ยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ปรัชญาของพุทธะยืนยัน autonomy ในการแสวงหาความจริงจนพบอิสรภาพด้านในด้วยปัญญาของตนเอง โดยต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของศาสนา ประเพณี อำนาจของครูอาจารย์ ศาสนจักร และอำนาจรัฐเผด็จการใดๆ แต่พุทธไทย ซึ่งเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” เน้นการสอนให้เชื่อง เชื่อฟัง และสยบยอมเลื่อมใสรับใช้อุดมการณ์และอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของชนชั้นปกครอง

ท่องกันอยู่นั่นแหละ "ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" แต่กลับมองว่าเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ รัฐประหารเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ “ศาสนาประจำชาติ” คือทางพ้นทุกข์

พุทธไทยจึงสวนทางกับปรัชญาอันเป็นเส้นทางอิสรภาพของพุทธะอย่างสิ้นเชิง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย ที่ยืนยันเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง

 

ที่มาภาพ https://www.bbc.com/thai/articles/cw45e993l75o

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net