Skip to main content
sharethis

ถ้าคำวินิจฉัยวันที่ 31 มกราคมออกมาว่าการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครอง อาจตามมาด้วยการยุบพรรค แต่ผลที่กว้างไกลว่าคือมาตรา 112 จะถูกแตะต้องไม่ได้อีกเลยหรือไม่ ซึ่งย่อมส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีนัยสำคัญ คำถามตามมาคือในการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญยังควรคงอยู่หรือไม่ ถ้ายังต้องมี ควรเป็นอย่างไรจึงจะไม่ล้ำเส้น

  • ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ 2 ประการ หนึ่งคือการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และสองคือตรวจสอบอำนาจทางการเมือง หรือกล่าวอย่างรวบรัดคือมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
  • ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบศาลด้วยกันเองว่ามีการพิจารณาพิพากษาที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่
  • ศาลรัฐธรรมนูญไทยรู้ตัวหรือไม่ว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
  • หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลผิดอาจจะส่งผลกระทบ 2 ประการ หนึ่งคือ อาจจะมีการใช้คำวินิจฉัยนี้ไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล สอง อาจจะทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับมาตรา 112 ทำได้ยากขึ้นและอาจถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขหรือยกเลิกได้
  • ศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักถึงเขตอํานาจที่จํากัดของตนและไม่ใช้อำนาจนอกเขตอำนาจที่ตนมี เพราะจะเบียดผู้เล่นทางการเมืองในสนามอื่นซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญลงไปมีอำนาจ
  • ศาลรัฐธรรมนูญควรมาจาก ส.ส. เพื่อเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชนและสังคมไทยควรช่วยปฏิรูปกระบวนพิจารณาคดี

พิธาไม่พ้นสภาพการเป็น ส.ส. จากปมหุ้นไอทีวี แต่ผู้ที่ติดตามการเมืองรู้ดีว่านี่เป็นเพียงการโหมโรงเพราะของจริงอยู่ที่วันที่ 31 มกราคมนี้ จากกรณีที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองจากการเสนอนโยบายปรับแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริงตามคำร้อง ก็มีทีท่าว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะเป็นขั้นตอนต่อไปของฝั่งอนุรักษนิยม

แต่ถ้า...ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด ผลกระทบจะไม่ได้มีเพียงแค่การยุบพรรคและทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลเท่านั้น อานนท์ มาเม้า จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ายังมีผลพวงไม่พึงประสงค์อื่นๆ ตามมาอีก และท่ามกลางกระแสการร่างรัฐธรรมนูญใหม่การคงอยู่หรือไม่ของศาลรัฐธรรมนูญและถ้าจะยังมีอยู่แดนอำนาจที่ชัดเจนควรมีขีดเส้นที่ตรงไหนจึงเป็นคำถามสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า

อานนท์ มาเม้า (ภาพจาก Law TU.)

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่?

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ 2 ประการ หนึ่งคือการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และสองคืออำนาจทางการเมือง หมายถึงการตรวจสอบผู้เล่นทางการเมืองหรือการกระทำทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบคุณสมบัติของรัฐมนตรีหรือ ส.ส. เป็นต้น หรือกล่าวให้รวบรัดที่สุดก็คือมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญควรอยู่ตรงไหนจึงเป็นปัญหาคลาสสิกของประเทศทั่วโลกที่มีศาลรัฐธรรมนูญเพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบที่พิจารณาวินิจฉัยแบบศาลเดียวจบและผลคำตัดสินมีอำนาจผูกพันทุกองค์กร อานนท์กล่าวว่า

“มันเป็นข้อตระหนักที่เกิดจากความกังวลใจที่มาพร้อมกับการสร้างศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นแบบเป็นศาลที่มีความพิเศษ ไม่ใช่ศาลที่ตัดสินเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจําวันผู้คน แต่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีภารกิจใหญ่มากคือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น ในระบบกฎหมายหนึ่งๆ จึงต้องวางเกณฑ์อย่างรัดกุมว่าต้องเป็นประเด็นที่จำเป็นจริงๆ จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องใดที่มีกลไกจัดการได้ก็ให้ดําเนินไปตามกลไกที่มี ผมเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าสังคมไทยไม่ได้ครุ่นคิดกับเรื่องนี้มากเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ทำให้การออกแบบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาจากกลไกที่ไม่ได้เริ่มต้นจากประชาชน

ทั้งนี้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ถึง 13 อำนาจ ประกอบด้วย

1. คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย

2. คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

3. คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้เลิกการกระทําล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. คดีที่ประชาชนหรือชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ

5. คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา

6. คดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้

7. คดีเกี่ยวกับการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

8. คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

9. คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี

10. คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

11. คดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

12. คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

13. คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้อยู่ในเขตอํานาจของศาล

“ทั้ง 13 อํานาจถ้าเราจัดกรุ๊ปมันก็จะได้ 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพประชาชนกับเรื่องอํานาจทางการเมืองหรือสถาบันการเมือง ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสนามที่ศาลรัฐธรรมนูญลงไปได้ เมื่อลงไปแล้วก็กลับมาที่ลูปเดิมว่า แล้วศาลรัฐธรรมนูญควรจะเข้าไปตัดสินเรื่องใดดีหรือไม่ควรเข้าไปตัดสินเรื่องใดจะดีกว่า และแต่ละเรื่องที่เข้าไปนั้น ควรมีอำนาจแค่ไหน เพียงใด ต่อประเด็นนี้ ต้องกล่าวว่า ไม่มีสูตรสำเร็จว่าศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศต้องมีเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือน ๆ กัน แต่ในที่สุดก็จะเกาะอยู่บนแกนสองเรื่องสำคัญ คือ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ กับเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง”

ภาพจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลมีข้อจำกัดเรื่องตรวจสอบศาลด้วยกัน

ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ แล้วอำนาจตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบหรือไม่ อานนท์ตอบว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถตรวจสอบตัวคําพิพากษาหรือการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลไทยได้ นี่คือข้อสังเกตว่ามันมีพื้นที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้ลงไป แต่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีอนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาของศาลทั่วไปได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่ถือว่าสำคัญมาก เช่น การพิจารณาพิพากษาคดีที่กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน อาทิ คดีที่ตัดสินเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ศาลอื่นๆ จึงมีอํานาจอย่างมากที่จะบริหารจัดการดุลพินิจของตนเองในนามของความเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญไทยจึงถูกออกแบบให้มุ่งตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมากกว่าฝ่ายตุลาการ หรือตรวจสอบการกระทำอย่างอื่นไปเลย เช่น การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล แต่นั่นก็ไม่ชัดถึงขั้นที่ระบุว่าให้ตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอื่น ซึ่งผมเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องขบคิดว่า เพราะเหตุใด ผู้ร่างกฎหมายจึงไม่ให้ศาลอื่นถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ และเลือกที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการกระทำขององค์กรอื่นหรือมิติอื่นแทน

ประเด็นนี้แตกต่างจากเยอรมนีที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เพราะคำพิพากษาของศาลใดมีการตีความที่ขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เปรียบเทียบกับกรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของไทย แต่ระบบกฎหมายเยอรมัน ให้อำนาจส่งประเด็นว่าคำพิพากษาของศาลอื่นมีปัญหาว่าตัดสินขัดกับรัฐธรรมนูญได้ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีอำนาจตัดสิน แต่ของไทย ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะระบบไม่เปิดช่อง

ศาลรัฐธรรมนูญรู้ตัวหรือไม่ว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง?

“ผมนั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นที่อังกฤษ” อานนท์เล่าถึงกรณีของอังกฤษ “นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไข 112 ถือเป็นการกระทําล้มล้างการปกครอง คนร้องอาศัยช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยิงไปศาลรัฐธรรมนูญ เบื้องแรกก่อนเลยคือมันมีการใช้กลไกของศาลเพื่อให้มีผลทางการเมือง”

ประเด็นการใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองเคยเกิดขึ้นในอังกฤษในปี 2544 เมื่อสื่อฝ่ายซ้ายอย่างเดอะ การ์เดียน ฟ้องศาลขอให้ศาลจัดการไม่ให้อัยการฟ้องร้องโดยอาศัย พ.ร.บ.กบฏ 1848 กับเดอะ การ์เดียนที่จะลงข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์ระบอบสาธารณะในอังกฤษ

อานนท์กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจคือศาลสูงอังกฤษ (ประเทศอังกฤษไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ) ในเวลานั้นวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องอาจกําลังใช้ศาลเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญคือยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าประการแรกศาลรู้ตัวว่าศาลอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผู้พิพากษาศาลสูงในเวลานั้นจะวินิจฉัยว่าการรณรงค์ระบอบสาธารณรัฐไม่เข้าข่ายการล้มล้างสถาบัน ผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวกล่าวว่ากฎหมายต้องตีความให้สอดคล้องกับสภาพสังคมเท่าที่เป็นอยู่ในเวลาปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

“จุดนี้น่าสนใจยังไง มันเป็นการที่ศาลรู้ตัว สอง ศาลกําลังบอกสังคมว่าพวกที่ใช้ศาลเป็นเครื่องมือไม่ใช่สิ่งดี ในทางกฎหมาย มันจะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ข้อสังเกตตรงนี้น่าสนใจมากว่าปกติเราไม่ค่อยเห็นศาลบอกว่าศาลกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่วนศาลไทย ตรงนี้ผมไม่มั่นใจว่า ศาลรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ว่าการใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมือง อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประเด็นที่ขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย”

“ถ้าผมเป็นศาล ผมจะระวังว่าศาลอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ฟ้องคดี  นอกจากนั้น ประเด็นมีอยู่ว่าความผิดตามมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญ 60 เราจะตีความกันยังไง การนําเสนอเพื่อแก้ไขเฉยๆ เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองจริงไหม ผมว่าต้องดูเจตนาของการกระทำว่ามันเป็นการล้มล้างจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเจตนาของเขาต้องการทำให้สถาบันมีเสถียรภาพ นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาบางอย่างโดยสถาบันยังคงดำรงอยู่ ซึ่งแน่นอนข้อเสนอของพวกเขาจะไม่เหมาะสมหรือเหมาะสม แค่ไหนเพียงไร ก็เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ภายในกระบวนการนิติบัญญัติและการถกเถียงในสังคม ผมคิดว่าต้องดูเจตนาด้วย เพราะฉะนั้นลำพังการเสนอแก้ไขหรือยกเลิก 112 มันง่ายเกินไปที่จะบอกว่าเขามีเจตนาเพื่อล้มล้าง เพราะแม้กระทั่งเพียงเสนอให้มีการยกเลิก 112 ก็ยังง่ายเกินไปที่จะรวบรัดว่าเป็นการกระทำล้มล้าง เพราะต้องดูเจตนา รวมถึงกลไกอื่นที่เป็นข้อเสนอของการยกเลิกว่าจะให้มีการคุ้มครองโดยกลไกใดและเพราะอะไร”

อานนท์เห็นว่าการเขียนคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 49 ทำได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นการผลักปัญหาให้ศาลไปทำหน้าที่ และทำให้พรรคการเมืองต้องอยู่บนสายพานคดีความ ศาลเองและสังคมไทยต้องตระหนักว่ามันอาจจะนำไปสู่การใช้ศาลเป็นเครื่องมือโดยหยิบยืมทรัพยากรจากรัฐ อานนท์เห็นว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยและระบบกฎหมายไทยควรทบทวนที่มาของมาตรา 49 และผลของการตีความมาตราดังกล่าว ข้อน่าคิดคือ มาตรา 49 ควรมีอยู่หรือไม่ เพราะในอดีตก่อนมีมาตราดังกล่าว กลไกอื่นที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถทำหน้าที่ได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานกบฏ  ข้อน่าคิดคือ ที่ผ่านมามาตรา 49 ถูกใช้เช่นไรในทางการเมืองและใช้กับกลุ่มบุคคลที่มีหัวคิดแนวไหนเป็นหลัก กลุ่มไหนที่ไม่เคยถูกฟ้องร้องหรือจัดการด้วยมาตราดังกล่าวเลย ขอตั้งประเด็นให้ผู้คนในสังคมไทยลองขบคิด

อ่านเนื้อหาคำร้องกรณีพรรคก้าวไกลถูกกล่าวหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เหตุเสนอแก้ 112 ได้ที่นี่ 

ผลกระทบจากคำวินิจฉัยวันที่ 31 ถ้าก้าวไกลผิด 112 จะแตะต้องไม่ได้เลยหรือไม่

ในวันที่ 31 มกราคมนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลผิดจะสร้างผลกระทบ 2 ประการ ประการแรกคือการใช้คำวินิจฉัยนี้ไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ประการที่ 2 ซึ่งส่งผลรุนแรงกว่าคือ

“ถ้าการเสนอนโยบายยกเลิกหรือแก้ไข 112 เป็นการกระทําที่เป็นการล้มล้าง ผมคิดว่าสังคมไทยต้องการเหตุผลของคำวินิจฉัยนี้   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการเสนอยกเลิกหรือแก้ไขนั้นเป็นการกระทำโดยสันติวิธี   ต้องรอดูคำวินิจฉัย”

กรณีนี้เป็นการปะทะกันระหว่าง 2 คุณค่าคือการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อานนท์ไม่แน่ใจว่าสังคมไทยรู้จักการชั่งน้ำหนักของคุณค่าทั้งสองคุณค่าให้ไปด้วยกันได้หรือไม่เช่นที่หลายๆ ประเทศสามารถทำได้

กลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งซึ่งมีการคุ้มครองพระประมุขของรัฐเช่นกัน ขณะเดียวกันก็คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนด้วย ทำให้เห็นปรากฏการณ์หลายๆ เรื่องในอังกฤษ ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธีตราบนั้นการแสดงความเห็นย่อมทําได้

“ยกตัวอย่างเช่นการถือป้ายประท้วงว่า Not My King หรือเชิดชูสาธารณรัฐในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลที่ 3 ถามว่าอังกฤษจัดการกับการแสดงความคิดเห็นที่เลยเถิดไหม จัดการ แต่เป็นการจัดการบนคอนเซ็ปต์ของการก่อความไม่สงบต่อสังคมหรือการใช้ความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นหรือการกระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ลำพังเพียงชูป้ายหรือออกมาแสดงความเห็น ก็ไม่ถูกดำเนินคดี”

ภาพโดยแมวส้ม

แดนของกฎหมายกับแดนของนโยบาย

ในประเทศไทย มีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเข้าไปในแดนของนโยบายหรือไม่ เช่น คําวินิจฉัยในคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำแท้ง นอกจากศาลจะต้องตัดสินว่าบทบัญญัติของกฎหมายบางมาตราในประมวลกฎหมายอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ศาลยังขยับสู่ประเด็นว่า ไม่ว่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นควรปรับปรุงความผิดอาญาฐานทำแท้งด้วย ต่อประเด็นนี้เป็นตัวอย่างที่อานนท์เห็นว่า โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่แสดงความเห็นว่าควรปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ เพราะนั่นเป็นแดนของฝ่ายนิติบัญญัติหรือเป็นแดนของนโยบายซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปในทางการเมือง ไม่ใช่บทบาทของศาลที่จะแนะนำนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมาย

เมื่อการทำงานของศาลเป็นการทำงานในแดนของกฎหมาย ดังนั้น จึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักถึงเขตอำนาจที่จำกัดของตน ไม่ใช้อำนาจเกินกรอบของอำนาจ เพราะจะมีปัญหาตามมา เนื่องจากจะมีผลเป็นการเบียดผู้เล่นในสนามอื่นซึ่งเป็นสนามที่รัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญลงไปมีอำนาจ เช่น การการกําหนดนโยบายของรัฐว่าควรปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ หรือร่างกฎหมายใดควรเสนอหรือไม่สู่สภา เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ จริงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบร่างกฎหมายได้ก่อนประกาศใช้ นั่นก็เป็นการตรวจสอบในมิติของกฎหมายอยู่ดี เพราะเป็นการตรวจสอบเรื่องกระบวนการขั้นตอนว่าตรามาถูกต้องตามกติกาหรือไม่และตรวจสอบว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  นอกจากนั้น ถ้าสังเกตในตัวรัฐธรรมนูญ จะพบว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าศาลมีบทบาทในการคัดกรองนโยบายเรื่องการนำเสนอร่างกฎหมายของพรรคการเมืองว่านโยบายใดหาเสียงได้หรือนโยบายใดหาเสียงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเรื่องนี้อย่างไร”

ยังต้องมีหรือไม่และมีอย่างไร

ถึงเราจะเห็นว่าการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทยหลายครั้งเกิดคำถามหรือเกิดประเด็นในทางวิชาการ แต่อานนท์ยังเห็นว่ายังควรมีศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าปรากฏการณ์ยุคหลังๆ ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์มากทั้งเรื่องที่มาของตุลาการและการปฏิบัติหน้าหรือการตัดสินในหลายกรณี แต่ทางออกหรือทางแก้ปัญหาก็น่าจะมี เช่น  ข้อเสนอเรื่องการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ กล่าวคือให้ผู้แทนประชาชนที่แท้จริงเป็นผู้คัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่ง

“ถามว่ามันสำคัญยังไง ผมเชื่อว่าผู้แทนปวงชนอย่างน้อยที่สุดเขามีความชอบธรรม สอง ผมเชื่อว่าผู้แทนปวงชนเขาฟังประชาชนนะครับ เขามักจะเป็นตัวแทนของเสียงในสังคม ไม่ใช่เสียงจากคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าภาพสะท้อนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาจากผู้แทนประชาชนน่าจะ represent ความคิดของผู้คนในสังคมนั้นได้อย่างดี

“ในส่วนกลไกเกี่ยวกับอำนาจ ผมคิดว่าหลายเรื่องต้องมานั่งคุยกันว่าขอบเขตอํานาจ 13 ข้อ เรื่องไหนไม่ควรอยู่ในอํานาจศาลรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่นการถือหุ้นสื่อ การควบคุมกิจการสื่อ มันเป็นปัญหามากว่าทําไมรัฐธรรมนูญถึงต้องวางยาแรงขนาดนี้กับคนที่เป็นเจ้าของสื่อ นี่ยังไม่รวมปัญหาว่าการตีความว่าอะไรเป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากประเด็นเรื่องการถือหุ้นไอทีวีกับการถือหุ้นสื่อโดยนักการเมืองแล้วก็ตกมาถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การห้ามนักการเมืองถือหุ้นในกิจการสื่อเพราะกลัวการครอบงำ

“วิธีคิดแบบนี้สวนกระแสปัจจุบันที่ทุกคนทำสื่อได้ การตีความว่าเป็นเจ้าของสื่ออาจจะมีปัญหาก็ได้ มันควรเป็นเสรีภาพของเขาไหมที่จะใช้ชีวิตหรือชอบในการสื่อสารต่อสังคมอย่างนั้น แต่เรื่องสำคัญประการที่สองก็คือการเชื่อว่าคนเราถูกครอบงําได้ ผมว่ามันอาจเกิดจาก perception ที่ดูแคลนคนหรือไม่ หรือมองว่าคนทุกคนพร้อมเป็นเหยื่อที่จะถูกครองงำ และน่าคิดว่าหรือสังคมนั้นคุ้นชินกับการครอบงำมาโดยตลอด หรือสังคมนั้นรู้ตัวเองว่าใช้สื่อในการควบคุมได้ ซึ่งก็แสดงว่าสังคมนั้นไม่ได้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนจริงๆ ใช่หรือไม่ บทบัญญัตินี้อย่าว่าแต่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเลย มันไม่ควรอยู่ในอำนาจศาลไหนเลยด้วยซ้ำ”

ปฏิรูปกระบวนการพิจารณาคดี

อานนท์ยังเสนอให้มีการปฏิรูประบบการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยระบบไต่สวนที่ถูกใช้  miracle word ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจไต่สวนเพื่อหาความจริง แต่คําถามคือเมื่อศาลได้ข้อเท็จจริงมาแล้วศาลได้ฟังความทุกฝ่ายหรือยัง ศาลได้ให้โอกาสฝ่ายผู้ถูกร้องโต้แย้งในทุกเรื่องที่ศาลได้ใช้อำนาจไต่สวนได้สิ่งนั้นมาอยู่ที่ศาล หรือไม่เพียงใด

“มันเป็นความไม่ละเอียดในตัวกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญเองว่าศาลมีอำนาจไต่สวนเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลมาให้การ ให้ความเห็นหรือแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลประสงค์ แต่ไม่ได้ให้ศาลกำหนดเรื่องวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงและทำเอกสารสรุปข้อเท็จจริงที่ศาลได้มาให้กับคู่ความได้เห็นหรือมีโอกาสโต้แย้งผลสรุปของสิ่งที่ศาลได้มาเมื่อเทียบกับศาลปกครองซึ่งใช้ระบบไต่สวนเหมือนกัน ผมเห็นว่า ระบบของศาลปกครองออกแบบไว้ละเอียดกว่า ถ้ามีโอกาส ผมคิดว่าเรื่องกระบวนการนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอำนาจไต่สวน ต้องช่วยกันศึกษาหรือวิเคราะห์ให้มาก”

สังคมไทยรอคำวินิจฉัยที่จะมาถึงด้วยอารมณ์หลากหลาย ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร ก็ต้องเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สังคมไทยจับตาการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลที่จะตามมาในวันข้างหน้า

การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องถูกถกเถียงอภิปรายอย่างเข้มข้นเพื่อหาข้อสรูปว่ายังควรมีอยู่หรือไม่ ถ้าจะยังคงมีอยู่ ขอบเขตอำนาจและกระบวนพิจารณาคดีควรเป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net