Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาพิพากษาแกนนำ พธม. 13 คน ผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและบุกรุก กรณีปิดสนามบิน แต่ให้ปรับลงโทษปรับ 2 หมื่นบาทข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินข้อหาเดียวเพราะมีโทษสูงสุด ส่วนข้อหากบฏ ก่อการร้ายและอื่นๆ ให้ยกฟ้องและจำเลยที่เหลือยกฟ้องทุกข้อหา ศาลเห็นว่าไม่เกิดความวุ่นวายสถานที่ไม่เกิดความเสียหาย หลังชุมนุมเปิดใช้สนามบินได้ ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

17 ม.ค.2567 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของกลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีจำเลยในคดีทั้งหมด 31 คน(เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว 1 คน)  ถูกฟ้องในข้อหาหลักได้แก่ข้อหากบฏ, ก่อการร้าย , ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กักขังหน่วงเหนี่ยว, ทำร้ายร่างกาย, ชุมนุมมั่วสุม, ขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และอื่นๆ จากเหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบินดอนเมืองต่อเนื่องไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิช่วงวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอ่านคำพิพากษาวันนี้มีจำเลยบางรายที่ขอฟังคำพิพากษาฝ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้แก่ พล.ต. จำลอง ศรีเมืองที่อยู่ระหว่างรักษาอาการของโควิด-19 ที่โรงพยาบาลและเทิดภูมิ ใจดี ที่มีนัดล้างไตที่โรงพยาบาล และจำเลยที่ 6 ในคดีคือ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบคดีความ

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 11.00 น. โดยใช้เวลาในการอ่านราว 1 ชั่วโมงโดยทางฝ่ายทนายความขอให้อ่านคำพิพากษาอย่างย่อเพื่อให้เทิดภูมิเข้ารับการรักษาได้ตามคิวที่นัดไว้กับทางโรงพยาบาล

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า ประเด็นแรกที่ทางฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การชุมนุมของ พธม.หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าแม้ว่าเหตุการณ์ในคดีจะเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ชุมนุมในเวลานั้น แต่ก็เกิดขึ้นต่างเวลาต่างสถานที่กันมีการฟ้องต่างข้อหากัน ศาลจึงเห็นว่าไม่ใช่การฟ้องซ้ำ

ศาลอ่านคำพิพากษาต่อถึงประเด็นการชุมนุมของ พธม.นั้นเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ว่า จากคำเบิกความของจำเลยที่ยืนยันว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่การชุมนุมประท้วงสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มาจนถึงช่วงที่สมชาย วงสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการชุมนุมของ พธม.มีเหตุผลมาจากการเชื่อว่ารัฐบาลในเวลานั้นดำเนินนโยบายภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากสมชายเป็นน้องเขยของทักษิณ และไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาล เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดการโต้แย้งการบริหารประเทศของรัฐบาลและมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อร่วมกันตรวจสอบรัฐบาลและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศที่แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิในการแสดงออกของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ประชาชนย่อมมีสิทธิในการชุมนุมในการแสดงความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยสงบและปราศจากอาวุธ

ศาลพิจารณาต่อว่าการชุมนุมดังกล่าวของจำเลยทั้ง 31 คนเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในส่วนของการสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสนามบินทั้งสองแห่งเบิกความใกล้เคียงกัน โดยเจ้าหน้าที่ของสนามบินได้เบิกความต่อศาลและตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม.นั้นมีการชุมนุมอยู่ในบริเวณถนนหน้าทางเข้าอาคารสนามบินซึ่งเป็นส่วนของ Land site ที่เปิดให้ประชาชนและผู้โดยสารที่มาใช้บริการเข้าถึงได้ แต่ไม่ได้มีการเข้าไปถึงสนามบินในส่วนของการจัดการการบินหรือที่เรียกว่า Air site ที่เข้าถึงได้เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองขอความร่วมมือกับทางจำเลยเพื่อขอให้ผู้ชุมนุมไม่เข้าไปในพื้นที่อาคารทางจำเลยก็ให้ความร่วมมือในการประกาศ

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของสนามบินยังได้เบิกความด้วยว่าหลังจากการชุมนุมสิ้นสุดลงเมื่อทำการตรวจสอบภายในสนามบิน ไม่พบว่ามีทรัพย์สินเสียหายและไม่พบว่ามีวัตถุระเบิดในพื้นที่ของสนามบิน ทำให้วันที่ 4 ธ.ค.2551 สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ แม้ว่าในช่วงระหว่างการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเกิดความไม่สะดวกกับประชาชนที่มาใช้บริการ เมื่อเกิดการชุมนุมย่อมกระทบต่อการสัญจร และมีการหยุดใช้งานสนามบิน แต่ยังเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะส่วนที่เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยเครื่องยิงระเบิด M79 นั้นเป็นฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยเกิดขึ้นในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 และมีการประกาศข้อกำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและการชุมนุมของจำเลยยังเกิดขึ้นในพื้นที่ของสนามบินเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ส่วนจำเลยอื่นๆ เพียงแต่ขึ้นปราศรัยในที่ชุมนุม

ส่วนกรณีที่เกิดการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองและมีการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่เอาไว้ด้วยนั้น เจ้าหน้าที่ที่ถูกกระทำเบิกความว่าไม่ทราบว่าคนที่ทำร้ายตนเป็นใคร ไม่สามารถจำหน้าได้และจำไม่ได้ว่ามีจำเลยที่ 7 อยู่ในระหว่างเกิดเหตุด้วยหรือไม่ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ทำให้เห็นว่าจำเลยที่เหลืออยู่ในเหตุการณ์ ศาลเห็นว่าประเด็นนี้จากคำเบิกความของผู้เสียหายมีความไม่ชัดเจนและไม่มีพยานอื่นในเหตุการณ์ยืนยันว่าจำเลยในคดีเป็นผู้กระทำ ศาลจึงให้ยกฟ้อง

ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-5,7-13 และ 31 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 และข้อหาบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทจึงให้ลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอัตราโทษสูงกว่าเพียงข้อหาเดียว โดยศาลสั่งปรับจำเลยคนละ 20,000 บาท ข้อหาอื่นๆ ของจำเลยให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือนอกจากนี้ให้ยกฟ้องทุกข้อหา

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 31 คนได้แก่

  1. พล.ต. จำลอง ศรีเมือง
  2. สนธิ ลิ้มทองกุล
  3. พิภพ ธงไชย
  4. สมศักดิ์ โกศัยสุข
  5. สุริยะใส กตะศิลา
  6. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต)
  7. ศิริชัย ไม้งาม
  8. สำราญ รอดเพชร
  9. มาลีรัตน์ แก้วก่า
  10. สาวิทย์ แก้วหวาน
  11. สันธนะ ประยูรรัตน์
  12. ชนะ ผาสุกสกุล
  13. รัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์
  14. ประพันธ์ คูณมี
  15. เทิดภูมิ หรือเทิดภูมิไท ใจดี
  16. อัญชะลี ไพรีรัก
  17. พิชิต ไชยมงคล
  18. บรรจง นะแส
  19. สุมิตร นวลมณี 
  20. พิเชฏฐ พัฒนโชติ
  21. สมบูรณ์ ทองบุราณ
  22. อธิวัฒน์ บุญชาติ
  23. จำรูญ ณ ระนอง
  24. แสงธรรม หรืออาร์ท ชุนชฎาธาร
  25. ไทกร พลสุวรรณ
  26. สุชาติ ศรีสังข์
  27. อำนาจ พละมี
  28. พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ
  29. กิตติชัย หรือจอร์ส ใสสะอาด
  30. เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา
  31. บริษัทเอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้การอ่านคำพิพากษาในวันนี้เป็นเฉพาะในส่วนคดีอาญาเท่านั้น เนื่องจากคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อ 21 ก.ย. 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้แกนนำพันธมิตรจำนวน 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค. 51 เป็นต้นไป

จำเลยในคดีแพ่งทั้ง 13 คนได้แก่ พล.ต.จำลอง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สมศักดิ์ โกศัยสุข, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, อมร อมรรัตนานนท์, นรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง, สำราญ รอดเพชร, ศิริชัย ไม้งาม, มาลีรัตน์ แก้วก่า และ เทิดภูมิ ใจดี

ต่อมาเมื่อ 24 มี.ค. 2561 มีการรายงานข่าวว่าบ.การท่าอากาศยาน ได้ประกาศจ้างบริษัทเอกชนสืบทรัพย์(ค้นหาทรัพย์สิน)ทั้ง 13 คน  นอกจากนี้กรมบังคับคดี ส่งเอกสารถึงทุกธนาคาร ให้ดำเนินการอายัดทุกบัญชีของทั้ง 13 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากนั้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของแกนนำพันธมิตรทั้ง 11 คน จากกรณีที่บริษัทท่าอากาศยานไทยยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ลูกหนี้ทั้ง 11 คนล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

ประกาศดังกล่าวระบุรายชื่อของลูกหนี้ทั้ง 11 คนไว้ได้แก่ พลตรีจําลอง ศรีเมือง ลูกหนี้ที่ 1, สนธิ ลิ้มทองกุล ลูกหนี้ที่ 2, พิภพ ธงไชย ลูกหนี้ที่ 3, สุริยะใส กตะศิลา ลูกหนี้ที่ 4, สมศักดิ์ โกศัยสุข ลูกหนี้ที่ 5, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ลูกหนี้ที่ 6, อมรหรืออิทธิหรืออมรเทพหรือรัชต์ชยุตม์หรืออมรศักดิ์ อมรรัตนานนท์หรือศิรโยธินภักดีหรืออิทธิประชา ลูกหนี้ที่ 7, สําราญ รอดเพชร ลูกหนี้ที่ 8, นายศิริชัย ไม้งาม ลูกหนี้ที่ 9, มาลีรัตน์หรือมาลีรักษ์ แก้วก่า ลูกหนี้ที่ 10 และเทิดภูมิไทหรือเทิดภูมิ ใจดี ลูกหนี้ที่ 11

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net