Skip to main content
sharethis

“อิศรา” เปิดผลมติที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการมีมติ 8:7 ไม่พักราชการรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบแทรกแซงเพิกถอนหมายจับ “สว.อุปกิต” คดีพัวพันฟอกเงินขบวนการค้ายาเสพติด ส่วนผู้พิพากษา 1 รายถูกพักระหว่างการสอบสวนกรณีเรียกรับเงินช่วยคดีในชั้นอุทธรณ์จากแกนนำ กปปส.

16 ม.ค.2567 สำนักข่าวอิศรารายงานถึงผลการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) เมื่อวานนี้(15 ม.ค.) ตอ่กรณีการพิจารณาสั่งพักข้าราชการตุลาการที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง 2 กรณี โดยกรณีแรกเป็นการร้องเรียน

กรณีแรกที่ประชุม ก.ต.มีมติสั่งพักข้าราชการตุลาการ 1 คนระหว่างถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงจากกรณีแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รายหนึ่ง ร้องเรียนว่ามีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท

ส่วนอีกกรณีที่ประชุมมติ 8 ต่อ 7 ให้ไม่สั่งพักราชการรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณี พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตร (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) กองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร้องเรียนต่อกรรมการ ก.ต.รายหนึ่งว่ารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแทรกแซงการออกหมายจับ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของขบวนการค้าเสพติดของทุนมินลัต

อิศรายังระบุรายชื่อของคณะกรรมการตุลาการทั้ง 2 ฝั่งด้วย โดยเสียงข้างมาก 8 เสียงที่สั่งไม่พักราชการรองอธิบดีศาลอาญา 1. อโนชา ชีวิตโสภณ 2. ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล 3. มัณทรี อุชชิน 4. เศกสิทธิ์ สุขใจ 5. ณรัช อิ่มสุขศรี 6. ชยกมล เกษมสันต์ ณ อยุธยา 7. สุพจน์ หนูเกลี้ยง และ 8. อภิชาติ อัศวมงคลกุล

ส่วน ก.ต. เสียงข้างน้อย 7 เสียง ได้แก่ 1. ธนิต รัตนผล 2. ปุณณะ จงนิมิตรสถาพร 3. สมชาย อุดมศรีสำราญ 4. รุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ 5. เจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ 6. ดนัยศักดิ์ นาควิเชียร และ 7. ณรงค์ ใจหาญ

กรรมการตุลาการตั้ง คกก.สอบรองอธิบดีศาลอาญาเอี่ยวสั่งถอนหมายจับ ‘สว.อุปกิต’

ทั้งนี้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนดังกล่าวเคยถูกเปิดเผยชื่อโดยรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุไว้ว่าเป็น อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลจากกรณีเปิดเผยเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินของระหว่างกลุ่มทุนมินลัตและอุปกิตระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อ 15 ก.พ.2566 

รังสิมันต์กล่าวถึงกรณีถอนหมายจับนี้ว่า ตำรวจ บก.สส. บช.น.ขอศาลออกหมายหมายจับ ส.ว. อุปกิตไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ศาลอนุมัติหมายจับให้ด้วย แต่บ่ายวันเดียวกันนศาลกลับถอนหมายจับ โดยก่อนจะมีคำสั่งมีการประชุมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาขอหมายจับ มีผู้พิพากษาที่เพิ่งอนุมัติหมายจับให้ มีอธิบดีศาลอาญา และนอกจากนั้นยังมีอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีฯ เข้าร่วมประชุมด้วยและหลังจากการประชุมดังกล่าวก็มีคำสั่งถอนหมายจับออกมา

ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารายนี้ เดิมทีที่ประชุม ก.ต.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการตั้งแต่ 4 ก.ย.2566 แล้ว และยังมีการรายงานอีกด้วยว่ารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารายนี้ยังถูกตั้งเรื่องสอบสวนวินัยร้ายแรงจากการถูกร้องเรียนว่าเป็น 1 ใน 3 ผู้พิพากษาที่ศาลอาญาตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหายาเสพติดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net