Skip to main content
sharethis

งานศึกษาจากนักวิจัยชาวเยอรมันพบว่าการใช้เวลาน้อยลงบนโซเชียลมีเดียสามารถปรับปรุงสุขภาพจิต ความพึงพอใจในการทำงาน และความทุ่มเทของพนักงานได้อย่างมาก


ที่มาภาพประกอบ: Jeremy Bezanger/Unsplash

27 ธ.ค. 2566 สำหรับพนักงานที่อยากให้วันทำงานมีคุณค่ามากขึ้น ถึงเวลาลดการเล่น TikTok และ Facebook ลงบ้างแล้ว งานศึกษาจากนักวิจัยชาวเยอรมันพบว่าการใช้เวลาน้อยลงบนโซเชียลมีเดียสามารถปรับปรุงสุขภาพจิต ความพึงพอใจในการทำงาน และความทุ่มเทของพนักงานได้อย่างมาก  การวิจัยนี้เน้นย้ำถึงวิธีการง่าย ๆ และคุ้มค่าในการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีในองค์กร

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้คนมักใช้อ้างว่าสามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกที่ขาดหายไปในชีวิตประจำวัน จริง ๆ แล้วเชื่อมโยงกับทั้งการเพิ่มอารมณ์และผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต อาการ "กลัวตกกระแส" (FOMO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย สามารถนำไปสู่พฤติกรรมติดหนึบซึ่งมีผลกระทบต่อระยะยาว

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรูร์โบคุม (The Ruhr University Bochum) ศึกษาผู้เข้าร่วม 166 คนที่ทำงานพาร์ทไทม์หรือเต็มเวลาและใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานอย่างน้อย 35 นาทีต่อวัน  พวกเขาถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งยังคงพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียตามปกติ ส่วนอีกกลุ่มลดการใช้งานลง 30 นาทีต่อวันเป็นเวลา 7 วัน  ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามก่อน ระหว่าง และหลังการทดลอง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ เช่น ภาระงาน, ความพึงพอใจในการทำงาน, สุขภาพจิต และอาการ FOMO

"แม้จะผ่านไปเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เราพบว่ากลุ่มที่ใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียน้อยลง 30 นาทีต่อวัน มีความพึงพอใจในการทำงานและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างมาก" จูเลีย ไบราลอฟสกายา (Julia Brailovskaia) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยรูร์โบคุม ระบุในเอกสารเผยแพร่ของมหาวิทยาลัย  "ผู้เข้าร่วมในกลุ่มนี้รู้สึกถูกกดดันน้อยลงและทุ่มเทกับงานมากกว่ากลุ่มควบคุม"

นอกจากนี้อาการ FOMO ของผู้เข้าร่วมการศึกษาก็ลดลงด้วย ผลกระทบเชิงบวกยังคงอยู่และเพิ่มขึ้นในบางกรณีแม้ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์หลังการทดลอง

นักวิจัยเชื่อว่า การลดการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้เข้าร่วมมีเวลามากขึ้นในการโฟกัสที่งานโดยไม่รู้สึกกดดันเกินไป และยังมีสิ่งรบกวนน้อยลงด้วย การขัดจังหวะจากโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจขัดขวางการติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในชีวิตจริง นำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว การลดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียสามารถลดปัญหานี้ได้

"ขณะทำงานสมองของเราไม่สามารถรับมือกับสิ่งรบกวนจากโซเชียลมีเดียได้" ไบราลอฟสกายา อธิบาย  "ผู้ที่หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่บ่อยๆ เพื่อติดตามฟีดโซเชียลมีเดีย มักไม่โฟกัสที่การทำงาน และมีผลลัพธ์การทำงานที่แย่กว่า"

การศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้หลายชิ้น ซึ่งระบุว่าการลดการใช้โซเชียลมีเดียแม้เพียงเล็กน้อยในแต่ละวันสามารถลดอาการซึมเศร้าและเพิ่มพูนสุขภาพจิตได้

"การลดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียในแต่ละวันอาจเป็นประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการฝึกอบรมโค้ชธุรกิจ โปรแกรมสุขภาพจิต และการแทรกแซงทางจิตวิทยา" ไบราลอฟสกายา สรุป

การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Behaviour and Information Technology


ที่มา:
Avoiding social media at work leads to greater job satisfaction, study reveals (StudyFinds, 15/12/2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net