Skip to main content
sharethis

ปกติแล้วเบธเลเฮมที่มีความสำคัญทางประวัติคริสต์ศาสนานั้นมักจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาท่องเที่ยว-แสวงบุญในช่วงคริสต์มาส แต่คริสต์มาสปีนี้กลับเงียบเหงา ไม่มีไฟประดับ และผู้คนไม่มีอารมณ์เฉลิมฉลอง หลังจากที่เกิดเหตุอิสราเอลโจมตีกาซ่า


แฟ้มภาพ Tourist Israel

เบธเลเฮม เป็นเมืองในเขตเวสต์แบงค์ที่มีความสำคัญต่อชาวคริสต์ในฐานะเป็นสถานที่ประสูติของพระเยซู โดยปกติแล้วในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเบธเลเฮมมักจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาแสวงบุญและมาท่องเที่ยวช่วงคริสต์มาส เป็นพื้นที่ๆ มีการประดับต้นคริสตมาส ขบวนพาเหรด และพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมักจะจัดที่โบสถ์พระคริสตสมภพ จัตุรัสแมงเกอร์

แต่ในปีนี้ (2566) ไม่มีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองหรือพิธีกรรมทางศาสนาเกิดขึ้นที่เบธเลเฮม เหตุเพราะการที่รัฐบาลอิสราเอลยังคงทำการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อชนวนกาซ่า และเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ท้องถนนและลานต่างๆ ในเบธเลเฮมแทบจะปราศจากผู้คน ถนนสายที่นำไปสู่เมืองถูกปิดกั้นโดยกองทัพอิสราเอล เมืองหลายเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงต่างก็ถูกถล่มอย่างรุนแรงโดยทหารฝ่ายอิสราเอล

ฮูไวดา อาร์ราฟ ทนายความนักสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์มักจะประดับประดาบ้านของเขาที่มิชิแกนด้วยเครื่องตกแต่งตามเทศกาลอยู่เสมอ แต่ในปีนี้เขาทำแค่แขวนป้ายไว้ที่หน้าบ้านของเขาว่า "เบธเลเฮมยกเลิกคริสต์มาสเพราะอิสราเอลสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ #GazaGenocide"

เช่นเดียวกับชาวปาเลสไตน์ที่เป็นคริสเตียนจำนวนมาก อาราฟไม่ได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสในปีนี้ ในขณะที่มียอมผู้เสียชีวิตชาวกาซ่าสูงมากกว่า 18,600 ราย เช่นนี้ หลายๆ คนคงยากที่จะรู้สึกสุขสันต์ในช่วงเทศกาลเช่นนี้โดยไม่มีความรู้สึกผิด

"โลกของเราจะเฉลิมฉลองคริสตมาสและเฉลิมฉลองการสมภพของเจ้าชายแห่งสันติภาพได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเกิดของพระองค์เอง สถานที่ๆ พระองค์ประสูติ กำลังมีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อุกอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครทำอะไรเพื่อหยุดมัน" อาร์ราฟกล่าว

นอกจากอาร์ราฟแล้ว นักกิจกรรมและชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์อื่นๆ ก็ทำแบบเดียวกันเพราะคำนึงถึงกรณีปาเลสไตน์ มีโบสถ์หลายแห่งและชุมชนชาวคริสต์หลายแห่งที่ยกเลิกการเฉลิมฉลองคริสต์มาสแล้วหันมาแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและประท้วงความรุนแรงจากชาวอิสราเอลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพจำลองพระเยซูใต้ซากสงครามในเบธเลเฮม

แม้กระทั่งในเบธเลเฮมก็มีการแสดงออกที่สื่อถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการรุนรานของอิสราเอล เช่น โบสถ์ลูเทอแรนในเบธเลเฮมก็มีการจัดแสดงภาพจำลองการประสูติของพระเยซูที่แสดงให้เห็นถึงพระเยซูที่เป็นทารกเกิดมาภายใต้ซากปรักหักพังอันเป็นผลมาจากการทำลายล้างกาซ่า

"ถ้าหากพระเยซูประสูติในปัจจุบัน พระองค์จะประสูติภายใต้ซากปรักหักพังและการยิงระเบิดถล่มจากอิสราเอล" บาทกลวง มุนเทอร์ ไอแซค กล่าว นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า "เบธเลเฮมนั้นเศร้าและผุพัง" สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกหมดหวังแบบเดียวกับที่ผู้อาศัยในพื้นที่รู้สึก ท่ามกลางระเบิดที่ทิ้งลงมายังกาซ่า

ชาวปาเลสไตน์ทั้งในพื้นที่ ในสหรัฐฯ และชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับรวมหลายพันคน ต่างก็มีความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวแบบเดียวกัน

นาบิล เคารี แพทย์จากทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐมิชิแกนกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีต้นคริสต์มาสในปีนี้ ไม่มีการรวมตัวกันใหญ่ มันเงียบมาก ไม่มีความรู้สึกรื่นเริง ไม่มีการเฉลิมฉลอง มันเป็นเรื่องยากที่จะเฉลิมฉลองในช่วงที่มีครอบครัวและเพื่อนฝูงคนชาติเดียวกันกำลังเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันค่อนข้างจะไปกันไม่ได้

ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

การที่เบธเลเฮมขาดนักท่องเที่ยวและการฉลองเทศกาลเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเมืองไปด้วย เช่นร้านค้าของ แจ็ก เกียกามาน เขามักจะชอบบอกกับลูกค้าว่าทุกวันเป็นวันคริสต์มาสที่ร้านของเขา ซึ่งเป็นร้านที่มีงานคราฟไม้โอลีฟ, ฉากจำลองการประสูติของพระเยซู, รูปปั้นอูฐ และกางเขน

ร้านของเกียกามานที่ชื่อว่า "คริสต์มาสเฮาส์" ประสบปัญหาหลังจากที่เกิดสงครามครั้งล่าสุดได้ไม่นาน ในสงครามดังกล่าวนี้มีกลุ่มติดอาวุธฮามาสเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน จากสถิติของทางการอิสราเอล หลังจากนั้นอิสราเอลก็โต้ตอบด้วยการใช้กำลังทางอากาศและการใช้กำลังบุกโจมตีภาคพื้นดิน จนเป็นเหตุให้มีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 18,000 ราย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขกาซ่า

เกียกามานบอกว่า "นี่เป็นคริสตมาสครั้งที่แย่ที่สุด ขนาดว่าในช่วงอินติฟาดาครั้งแรกและอินติฟาดาครั้งที่สอง (คือช่วงที่ชาวปาเลสไตน์พยายามขับไล่อิสราเอลออกจากพื้นที่เวสต์แบงค์และกาซ่าในปี 2530 กับ 2543) ยังไม่แย่เท่านี้"

เกียกามานเป็นชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในเบธเลเฮมมาตลอดชีวิต เขามีบรรพบุรุษที่นับย้อนกลับไปได้ถึงสมัยสงครามครูเสดที่เข้ามาในพื้นที่นี้หลายศตวรรษก่อนหน้านี้ ร้านค้าของเขาขายของงานฝีมือจากกลุ่มช่างกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างรูปปั้นพระแม่มารีและพระเยซูตอนเป็นทารก และเครื่องประดับคริสต์มาสอื่นๆ ร้านค้าของเกียกามานดำเนินต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้วและเคยเผชิญกับวิกฤตช่วงโรคระบาด COVID-19 อยู่ช่วงหนึ่งแต่ก็รอดมาได้ กระนั้น เกียกามานก็บอกว่ากรณีที่คนไม่มาเที่ยวในช่วงคริสต์มาสปีนี้เป็นกรณีที่แย่ที่สุดเท่าที่เขาจำความได้

นอกจากร้านค้าแล้วกลุ่มคนขับแท็กซี่ก็บ่นถึงเรื่องที่ไม่มีคนมาเที่ยว โอซามา อัล-อัลลี กล่าวว่าแทบจะทุกปีมักจะมีคนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาจากทุกมุมโลก แล้วก็มีแสงไฟประดับประดามากมาย แต่ในตอนนี้พอถึงกลางคืนก็ไม่มีแสงไฟอะไรเลย อัล-อัลลี บอกว่าเขาเป็นมุสลิมแต่ก็ภาวนาให้มีสันติภาพทั้งเกิดกับทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ ให้พวกเขาหันหน้าเข้าหากัน

รูลา มายาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของปาเลสไตน์กล่าวว่าภาคส่วนการท่องเที่ยวนั้นสูญเสียอย่างมากจากการที่อิสราเอลใช้กำลังโจมตีกาซ่า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการสูญเสียในภาคส่วนการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,900 ล้านบาท) โดยที่การสูญเสียอย่างน้อยร้อยละ 60 ส่งผลกระทบต่อเบธเลเฮมโดยตรง

กลุ่มนิกายอีแวนเจลิกในสหรัฐฯ แสดงออกสนับสนุนอิสราเอล

ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องที่ถูกนำเสนอเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวคริสต์ในปาเลสไตน์ ขบวนการการเมืองชาวคริสต์ใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนิกายอีแวนเจลิกกลับสนับสนุนอิสราเอลโดยอ้างเหตุผลเรื่องศาสนา มีบางคนถึงขั้นโยงความขัดแย้งในปัจจุบันกับคำทำนายของคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงวันสิ้นโลกและการกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู

แต่ เล็กซิส เซดาน นักกิจกรรมอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ในดีทรอยต์กล่าวว่าการตีความแบบของนิกายอีแวนเจลิกนั้นเป็นการตีความที่ผิด เพราะสิ่งที่อิสราเอลกำลังทำต่อชาวปาเลสไตน์เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักคำสอนของคริสต์ เซดานบอกว่า "พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเกนเพื่อไถ่บาปให้กับพวกเรา และการฆ่านั้นเป็นบาป"

อาร์ราฟ ทนายความสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อต้านการอ้างใช้ศาสนามาให้ความชอบธรรมแก่ความอยุติธรรมต่อชาวปาเลสไตน์เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็กล่าวเน้นย้ำว่าเธอไม่แบ่งแยกว่าเหยื่อจากความโหดร้ายของอิสราเอลจะเป็นชาวคริสต์หรือชาวมุสลิม

"พวกเราล้วนแต่เป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ถ้าพวกนั้น (ผู้นำนิกายอีแวนเจลิก) มองว่าศาสนาของพวกเขามีอะไรเหนือกว่าจนทำให้พวกเขาอยากแบ่งแยก พวกเขาก็กำลังให้ความชอบธรรมต่อการกดขี่ชาวคริสเตียนไปด้วย" อาร์ราฟกล่าว

"การเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่คุณร้องเพลงสรรเสริญเจ้าชายแห่งสันติภาพและสันติภาพของโลกเช่นนี้ คุณไม่สามารถมีสันติภาพได้ด้วยการใช้กำลังความรุนแรงเข้ายึดครอง ด้วยแนวคิดแบบอาณานิคมผู้ตั้งถื่นฐาน ด้วยการแบ่งแยกกีดกัน" อาร์ราฟกล่าว

แต่บาทหลวง มุนเทอร์ ไอแซค จากโบสถ์อีแวนเจลิก ลูเทอแรน ใกล้กับโบสถ์พระคริสตสมภพ ในเบธเลเฮม ที่มีการจัดแสดงพระคริสต์ภายใต้ซากปรักหักพังนั้น กลับแสดงออกต่างออกไปจากนิกายอีแวนเจลิกในสหรัฐฯ โดยที่ในปีนี้เขาจะทำการแถลงถึงกรณีที่มีเด็กถูกสังหารจำนวนมากในกาซ่า

"ผมพูดมาโดยตลอดว่าเราควรจะเลิกสร้างภาพโรแมนติกให้กับคริสต์มาสได้แล้ว ... ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทารกที่เกิดมาภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบากและอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิโรมัน พระเยซูทรงเป็นผู้ที่รอดพ้นจากการสังหารหมู่เด็กในตอนที่พระองค์ประสูติ ดังนั้นแล้วสำหรับพวกเรามันก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันได้ในตัวมันเอง" ไอแซคกล่าว


เรียบเรียงจาก
‘Without work and hope’: Bethlehem’s Christmas economy bleeds from Gaza war, Aljazeera, 23-12-2023
Christmas cancelled: US Palestinians feel no holiday joy amid war on Gaza, Aljazeera, 13-12-2023
There's no Christmas in Bethlehem this year. With war in Gaza, festivities are off, NPR, 16-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net