Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ยันไม่เคยทิ้งพนักงาน 3 บริษัทถูกเลิกจ้าง แจงยอดเงินชดเชยตามสิทธิ ทุกหน่วยงานช่วยเต็มที่

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ร่วมกับ นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางโสภา เกียรตินิรชา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือชี้แจง และทำความเข้าใจการช่วยเหลือกรณีที่ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด และ บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด จำนวนประมาณ 250 คน นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่ได้นัดรวมพลเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาชุมนุมปักหลังบริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิเงินชดเชยตามกฎหมายที่พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา

นายอารี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคน เช่นเดียวกับกรณีที่ลูกจ้างของสถานประกอบการทั้ง 3 แห่ง ที่ได้รวมตัวกันเรียกร้องเงินชดเชยสิทธิตามกฎหมายที่พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งไปแล้วนั้น ในเรื่องนี้ จึงมอบหมายให้ตนพร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงแรงงาน และ รักษาการอธิบดี กสร. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีดังกล่าว พร้อมชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัททั้ง 3 แห่ง รวมประมาณ 1,500 คน ดังนี้ กสร.ได้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับนายจ้างอย่างเข้มงวด โดยรับคำร้องและออกคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมาย รวมเป็นเงิน 279 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย ลูกจ้างได้รับเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว เป็นเงินจำนวนกว่า 71 ล้านบาท

“และ กสร.ยังได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อเยียวยาเพิ่มเติมอีก เป็นจำนวนเงินกว่า 53 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ กสร.ได้ให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่รวมกว่า 124 ล้านบาท คงเหลือเงินที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับตามสิทธิอีก จำนวน 155 ล้านบาท ซึ่ง กสร.ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายจ้าง ให้ชำระเงินตามคำสั่งให้กับลูกจ้าง เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจ่ายให้กับลูกจ้าง โดยกรมบังคับคดีมีความคืบหน้า นำทรัพย์ของนายจ้างมาขายทอดตลาด แต่เนื่องจากยังไม่มีผู้ซื้อจึงยังไม่มีเงินนำมาชำระให้ลูกจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน” นายอารี กล่าวและว่า ในส่วนความช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลูกจ้างของทั้ง 3 บริษัท ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานแล้ว จำนวนกว่า 45.5 ล้านบาท ในส่วนความช่วยเหลือของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ดำเนินการจัดหาตำแหน่งงานว่างให้กับลูกจ้างทั้ง 3 บริษัท พิจารณาในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกจ้างในการเลือกเข้าทำงาน

นายอารี กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ยังให้บริการลูกจ้างที่ประสงค์จะพัฒนาฝีมือแรงงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักสูตรของ กพร.โดยมีเบี้ยเลี้ยงเป็นการช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรมอีกด้วย

“กระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ตามสิทธิและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เคยทอดทิ้ง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มลูกจ้างที่มาชุมนุม และติดตามความคืบหน้าให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานโดยเร็ว” นายอารี กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/12/2566

เวที สช.แนะรัฐหนุนวัยเกษียณกลับทำงาน เมื่อแรงงานยังจำกัด

22 ธ.ค. 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสุขภาวะเพื่อการพัฒนาประชากรทุกกลุ่มวัย” ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566

นายวิชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ประมาณ 13 ล้านคนแล้ว ขณะที่ตัวเลขอัตราการเกิดต่ำมาก สิ่งที่น่ากลัวคือ การที่ประเทศไม่มีวัยหนุ่มสาวมาทำงาน มาบริหารดูแลประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าแรงงาน ขณะที่คนของเราไปไหน ซึ่งไปเรียนไปศึกษาหาความรู้ เพียงแต่ลืมว่าต้องมีครอบครัว และต้องมีการสืบสกุล กลายเป็นอนาคตผู้สูงอายุใครจะดูแล สิ่งเหล่านี้ก็เกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่อยากมีบุตร แน่นอนว่า  ความกลัวสังคม กลัวสภาวะแวดล้อมว่า มีลูกจะเป็นอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจ การหาเงินลดลง นี่เป็นปัจจัยให้การมีลูกน้อยลง ซึ่งคนยังอยากมีคู่ แต่อยากมีบุตรน้อยลง

นายวิชาญ กล่าวว่า ผลกระทบเมื่อคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้อีก ทางรัฐก็ต้องมีสวัสดิการดูแลต่างๆ ทั้งเบี้ยคนชรา การดูแลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งรัฐก็ต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรงมากขึ้น  ส่วนเด็กเมื่อมีจำนวนน้อยลง ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ก็แสดงว่าอัตราการเกิดของเขายังมีแรงงานขับเคลื่อนได้ อย่างของไทยคนสูงอายุ 60 ปีเกษียณ แต่ทุกวันนี้ยังต้องทำงาน อย่างหมอ อัยการก็ยังทำงานอยู่  หากอัตราการเกิดยังอยู่แค่ 1.08% จากที่ต้องการถึง 2.1% หรือต้องให้ผู้หญิง 1 คนควรให้กำเนิดบุตร 2 คน 

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คนเกิดน้อย เมื่อแรงงานยังจำกัด เราจะทำอย่างไร อย่างเรื่องอาชีพต้องมีการปรับอย่างเกษตรก็ต้องแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแรงงานที่ขาดแคลน  อย่างหากไทยจะเป็นฐานการผลิตด้านเศรษฐกิจ  เราต้องกลับมามองว่า จะสร้างประชากรอย่างไร ให้เขารู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ อย่างการตกงานว่างงาน รัฐก็ต้องมาดูอย่างครบวงจร

ส่วนคนสูงอายุวัยเกษียณที่ต้องการทำงาน ก็ต้องมาดูว่า สามารถหางานที่เอื้อต่อพวกเขาอย่างไร เช่น การใช้ประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ อย่างวัฒนธรรมประเพณีของใช้ต่างๆ ที่นึกถึงเมืองไทย โดยให้คนสูงอายุที่มีประสบการณ์ตรงนี้มาเล่าเรื่องบอกเล่าทำเป็น Soft power

“ส่วนคนที่อยากมีลูก แต่ไม่มี ปัจจุบันรัฐเรามีสวัสดิการเรื่องการดูแลผู้มีบุตรยาก หรือแม้แต่ลาคลอด 3 เดือนเพียงพอหรือไม่ รัฐก็ต้องมาดูว่าจะขยายได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาและมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมอย่างครบถ้วน” นายวิชาญ กล่าว

ด้าน ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ อย่างอายุขัยคนไทยน่าจะเฉลี่ย 76-77 ปี  หากมองตั้งแต่ต้นน้ำ การที่จะต้องมีครอบครัว วางแผนมีลูกต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร และตลอด 70 ปีจะทำให้คนไทยภูมิใจคุณค่าต่อตัวเองและสังคมอย่างไร  ข้อมูลปัจจุบันคนแต่งงานน้อยลง อย่างคนเคยเกิดปีละ 8 แสนเหลือ 4-5 แสนคน การจะทำตัวเลขขยับขึ้นย่อมไม่ง่าย อย่างตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เขาเจอปัญหานี้และตื่นตัวเรื่องนี้มาก แต่ผ่านมา 10 ปีตัวเลขก็ยังไม่ขยับ ทั้งที่ใช้งบประมาณเยอะมาก

“ดังนั้น ต้องรู้ก่อนว่า เกิดอะไรบนโลกใบนี้ มีประเทศไหนทำแล้วยังไม่ได้ ทำยากยังไม่สำเร็จมากนัก เราก็ไม่เดินตาม เพราะงบประมาณเราไม่เท่าประเทศเหล่านี้ จึงต้องคิดแบบใหม่ๆว่าจะทำอย่างไร ส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ สำหรับคนเกิดอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ  อย่างคนสูงอายุ เกษียณแล้วในอดีตต้องอยู่บ้าน แต่จริงๆ เราจะต้องวางอย่างไร เพราะคนทุกช่วงวัยมีข้อดีกันหมด เราต้องนำมาสร้างให้เกิดคุณค่าขึ้นได้” ดร.สัมพันธ์กล่าว

ดร.สัมพันธ์กล่าวอีกว่า หากเรายังใช้เศรษฐกิจในวงจรเดิมๆ จะไปต่อยากมาก เพราะคุณค่าต่อตัวบุคคล คนก็น้อยลงเรื่อยๆ   จากกับดักรายได้ปานกลาง อาจเป็นแย่มากก็ได้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ทุกอย่างต้องเปลี่ยน ต้องใช้คนน้อยแต่มีคุณค่ามากขึ้น  สิ่งสำคัญคนที่มีอยู่ในแต่ละช่วงวัยตอนนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดผลิตภาพ  Productivity  อย่างคนสูงอายุ จะอยู่เฉยๆเป็นหลักหรือไม่ ซึ่งไม่ได้แล้ว เพราะคนกลุ่มนี้หลายคนอยากทำงาน แต่งานปัจจุบันไม่เอื้อ ดังนั้น รัฐบาลต้องมาคิดว่า งานแบบไหนที่คนอายุ 60 ปีกว่าๆทำได้ เพราะเขาก็อยากมีคุณค่า ไม่อยากอยู่เฉยๆ ส่วนคนวัยแรงาน ต้องมาคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา จะเพิ่มผลิตภาพอย่างไร ส่วนวัยเยาว์ ก็มาถึงการศึกษา สังคมจะพลิกโฉมการศึกษาอย่างไรให้เขามีความพร้อมในการทำผลิตภาพเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต้องมาดูว่า สภาพปัจจุบันของประเทศในแต่ละขั้น แต่ละกลุ่มวัยอยู่ตรงไหน มีช่องว่างอะไรบ้าง  ต้องคิดเชิงระบบแยกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนต้องการปัจจัยในการปรับปรุงแก้ไขคนละแบบอย่างสิ้นเชิง

ที่มา: Hfocus, 22/12/2566

กมธ.แรงงาน เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ-ใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง - ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2 – 16 บาท ว่า ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เช่น ในกรณีของพื้นที่จ.ปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาท ไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจาก จ.นราธิวาส และยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับ จ.ปัตตานี ด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ประธานกรรมาธิการการแรงงาน ระบุอีกว่า ในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้และเกิดความขัดแย้งในอำนาจรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง รวมถึงอธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้ง เป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด

นายสฤษฏ์พงษ์ ยังเห็นว่า เรื่องดังกล่าว จำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ และการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์กับแรงงานไทยน้อย เพราะแรงงานไทย ที่ได้รับปรับขึ้น 2-16 บาท แต่ใหญ่แรงงานต่างชาติได้ประโยชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย และให้ได้รับใบรับรองด้วย

ส่วนกรรมาธิการจะมีการเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคีอย่างไรนั้น นายสฤษฏ์พงษ์ ชี้แจงว่า กรรมาธิการ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 22/12/2566

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร้อง ก.แรงงาน ขอเงินชดเชยเลิกจ้างตามกฏหมายแรงงาน

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนกว่า 200 รวมตัวเดินขบวนจากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องกองทุนสงเคราะห์จ่ายเงินให้ลูกจ้างในอัตราค่าชดเชยของกฎหมายแรงงาน จากกรณีที่บริษัทบอดี้แฟชั่นปิดกิจการ เลิกจ้างคนงาน 1174 คน ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ตั้งแต่บี 2562 ต่อมามิถุนายน 2566 บริษัทแอลฟาสปีนนิ่ง ปิดกิจการ เลิกจ้างคนงานกว่า 132 คน และเอเอ็มซี สปีนนิ่งเลิก จ้างคนงาน 153 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ขณะที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแรงงานมาตรา 118 (ค่าชดเชย) ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน คนงานทั้งสามบริษัทจึงยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และการดำเนินคดีทางแพงและอาญาเป็นไปอย่างล่าช้า

ที่มา: PPTV, 21/12/2566

รมว.แรงงาน ยืนยันอิสราเอล พร้อมรับแรงงานไทยกลับประเทศ หลังบางส่วนทยอยเดินทางไปแล้ว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามของอลงกต มณีกาศ สส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ถึงแนวทางให้ความช่วยเหลืออุดหนุนชดเชยเพิ่มเติมแก่แรงงานไทยที่ต้องอพยพภัยสงครามจากอิสราเอล ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะมีงบกลาง ให้เงินชดเชยคนละ 50,000 บาทแล้ว ยังมีนโยบายพักหนี้ หรือผู้ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ ก็สามารถมาลงทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยได้ พร้อมยอมรับว่า ขณะนี้ มีคนไทยบางส่วนทยอยกลับไปทำงานที่อิสราเอลแล้ว ทั้งที่รัฐบาลไทยยังไม่อนุญาต แต่ตนเองก็ได้หารือกับกระทรวงแรงงานอิสราเอล และเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยแล้ว โดยได้ยืนยันว่า พร้อมรับคนไทยกลับไปทำงาน จึงยืนยันว่า แรงงานไทยที่อพยพมาทุกคน สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลต่อได้ทุกคน

ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานไทยที่ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่สามารถสอบทักษะภาษาได้นั้น นายพิพัฒน์ ยอมรับว่า มีแรงงานผิดกฎหมายไม่ทางการประมาณ 100,000 คน ทั้งในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพยายามนำแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

“ยังมีปัญหาการทดสอบภาษาเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงทำให้ไม่ได้รับการส่งตัวไปอย่างถูกต้อง กระทรวงแรงงาน จึงจะมีการเปิดอบรมภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะจัดเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยเพิ่มเติม” นายพิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/12/2566

กสม.แนะ รบ.ลงนามอนุสัญญา ILO 87,98 ยกระดับคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตามหลักสากล

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 46/2566 กสม. ถกปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ หนุนรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานฯ ยกระดับการคุ้มครองแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติตามหลักสากล

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาเรื่อง การจ้างงานแรงงานที่มั่นคงและยั่งยืนต่อแรงงานข้ามชาติในอนาคต เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2566 จัดโดย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และมูลนิธิรักษ์ไทย ณ วัดเทพนรรัตน์ จังหวัดสมุทรสาคร

โอกาสนี้ กสม. ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในหลายประเด็นสำคัญ โดยพบว่า ปัจจุบันด้วยสภาวะความไม่สงบในประเทศเมียนมา ทำให้แรงงานข้ามชาติประสบความยากลำบากในการเดินทางกลับไปทำเอกสารการจ้างงานและสถานประกอบการเดิมมักจะไม่รับรองการจ้างงานครั้งต่อไปหากแรงงานต้องเดินทางกลับประเทศ

รวมทั้งรัฐบาลเมียนมามีแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยทุกคนเดือนละ 150 บาท ขณะที่การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของไทยยังมีความยุ่งยากซับซ้อนในหลายขั้นตอนและต้องใช้เอกสารจำนวนมาก แรงงานจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เป็นเหตุให้ต้องพึ่งพาระบบนายหน้าจัดหางานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากและนำไปสู่ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนกรณีที่แรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์และคลอดบุตรในประเทศไทย ก็ประสบปัญหาในการแจ้งเกิด เนื่องจากต้องมีคนไทยรับรองและถูกเรียกขอเอกสารระบุที่อยู่ของนายจ้าง แต่นายจ้างมักจะไม่ให้อ้างอิงที่อยู่ ทำให้พ่อแม่แจ้งเกิดเด็กไม่ได้ ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายอันกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างไม่ควรเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพการจ้างงานและค่าแรง พบว่า แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งเป็นกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญของไทย ได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ และต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานสัญชาติอื่นที่ทำงานประเภทเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แรงงานมักจะไม่กล้าเรียกร้องให้นายจ้างชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย เนื่องจากเกรงจะถูกเลิกจ้าง เช่นเดียวกับแรงงานหญิงเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศก็มักจะไม่เรียกร้องความเป็นธรรมหรือเข้าแจ้งความ เนื่องจากกลัวถูกเลิกจ้าง กลัวถูกแจ้งจับกุมและส่งกลับประเทศ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องสิทธิได้เมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม

ในเวทีดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่เปิดเพียงบางช่วงเวลา เนื่องจากสภาพปัญหาปัจจุบัน แรงงานทั่วโลกและภูมิภาคอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ประกอบกับขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการขึ้นทะเบียนแรงงานตามกฎหมายและนโยบาย ทำให้แรงงานบางส่วนหายออกไปจากระบบซึ่งยากต่อการบริหารจัดการปัญหาและคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างทั่วถึง โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาว มิใช่แก้ไขปัญหาผ่านการออกมติคณะรัฐมนตรีเป็นรายครั้ง และต้องนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ในส่วนการจ้างงานที่เป็นธรรมและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการจัดบริการและการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยการเร่งผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5 ให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย

“เพื่อผลักดันให้มีการยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ กสม. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (CMW) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุมสิทธิของแรงงานทุกเชื้อชาติตามหลักสากลที่คนทุกคนจะต้องไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วย” นางสาวสุภัทรา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 21/12/2566

โฆษกรัฐมนตรี ปัดรัฐบาลแทรกแซง "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" ชี้ "นายกรัฐมนตรี" หวังทบทวนเพื่อแรงงานให้มีรายได้ตรงเศรษฐกิจปัจจุบัน หลังปรับรอบใหม่ 2 บาทยังซื้อไข่ไม่ได้

21 ธ.ค.2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ออกไปก่อนว่า รัฐบาลเข้าใจว่าสิ่งไหนจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ในฐานะรัฐบาลสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในช่วงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการหาเสียงไว้ รัฐบาลมีสิทธิรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตามกฏหมายจะเห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งเป็นเอกสิทธิไปแทรกแซงไม่ได้

นายชัย กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่หยุดแสดงความคิดเห็น โน้มน้าว เพราะเรื่องแบบนี้พูดคุยกันได้ ไม่มีข้อบังคับไหน ที่ระบุว่าปีหนึ่งให้พิจารณาการขึ้นค่าแรงเพียงครั้งเดียว หากผ่านไปแล้วสักระยะ เมื่อคณะกรรมการมีการทบทวนหรือพิจารณาใหม่อีกครั้งภายในปีเดียวกันก็ได้ ซึ่งถือว่าโอกาสมีอยู่เสมอ

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นไปตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ออกมาจากใจจริงว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 2 บาท ใน 3 จังหวัดภาคใต้ แม้แต่ไข่ไก่ ไข่ต้มครึ่งฟอง ยังซื้อไม่ได้ หากถามว่าน้อยหรือไม่

นายกรัฐมนตรี มองว่าน้อยมาก ในแง่ของการครองชีพของภาคแรงงาน ค่าแรงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคำนวณขึ้นค่าแรงล่าสุด 300 บาท เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบันนี้ ค่าแรงขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปี ไม่เกิน 20 %

โฆษกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเปรียบเทียบว่า หากลูกหลานของทุกคนที่จบการศึกษาต่างประเทศ แล้วสตาร์ทเงินเดือนที่ 30,000 บาท ทำงานไป 12 ปี ได้ค่าจ้าง 36,000 บาท จะรู้สึกอย่างไร หลายคนก็ระบุว่า ไม่ไหวถ้าเป็นเช่นนี้ ดังนั้น แรงงานจะแย่กว่าใช่หรือไม่

เมื่อแรงงานทำงานไป 12 ปี ธรรมดาคนรายได้ต่ำเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องสูง คนรายได้สูงเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องต่ำ เพราะฐานเงินเดือนที่ใหญ่ แต่นี้กับกลับกันคนมีรายได้สูงถ้า 10-11 ปี รายได้เพิ่มขึ้น ได้ 20 % แล้วไม่ไหว ขณะที่พี่น้องแรงงานจะไหวได้อย่างไร

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มองในเชิงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังเห็นมีช่องว่างและมีความเลื่อมล้ำสูงมาก ผู้ใช้แรงงานที่มีรายต่ำอยู่แล้ว แล้วขึ้นค่าแรงในจำนวนที่น้อย นายกรัฐมนตรีมีสิทธิที่แสดงความคิดเห็น

นายกรัฐมนตรีรู้ดีว่า จะไปหักหานกันไม่ได้ เพราะมีกฏหมายกำหนดไว้ การแสดงความเห็นเป็นส่วนหนึ่ง การเคารพกฏหมายก็ต้องปฏิบัติตาม แต่คงจะมีการขับเคลื่อนต่อ

นอกจากนี้ คงไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ส่วนตัวเชื่อว่า ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นคล้อยตามนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำของไทยเกินกว่าตัวเลขที่ศึกษาวิจัยว่า คนหนึ่งคนเวลาทำงานมีครอบครัว มีลูกหนึ่งคนขั้นต่ำหนึ่งวันต้องมีรายได้ 560 บาทต่อวัน แต่ค่าแรงกลับห่างไกลมาก จึงเกิดปัญหาทำงานล่วงเวลา (โอที) ทั้งพ่อและแม่ จนไม่มีเวลาดูลูก และนำมาซึ่งปัญหาสังคม

ส่วนตัวจึงเข้าใจว่า ศักยภาพภาคธุรกิจไทย ถ้าบอกว่า ค่าจ้างสูงกว่านี้ไม่ไหว แปลว่า ต้องทบทวนศักยภาพธุรกิจที่ไม่มีความสามารถพอ ที่จะทำธุรกิจและสร้างรายได้มากพอที่จะดูแลคนทำงานได้อย่างมีความสุข ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการคิดว่าขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้ธุรกิจของตนเองอยู่ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า คนอื่นที่อยู่ในวงการเดียวกันอาจอยู่รอดได้ เพราะจะมีเจ้าอื่นมาทดแทน และพร้อมจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงอย่าได้กังวลว่า ค่าจ้างสูงแล้วธุรกิจอยู่ไม่ได้ และมีแรงงานตกงาน ส่วนตัวไม่เชื่อเช่นนั้น 

ที่มา: Thai PBS, 21/12/2566

สมาคมการค้าฯ ร้อง รมต.แรงงาน ทบทวนเงินเพิ่มประกันสังคม-เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ช่วยพี่น้อง SMEs

สมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจภาคกลาง นำโดย ดร.วินัย รุ่งฤทธิเดช  นายกสมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจภาคกลาง พร้อมด้วย นายอำนวย ศรีโยธา อุปนายกสมาคม และนายศรมพรต รณฤทธิวิชัย กรรมการบริหารสมาคมฯ เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง เพื่อยื่นหนังสือให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเงินเพิ่มผิดนัดการจ่ายเบี้ยประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของผู้ประกอบการ SMEs และสมาชิกสมาคมฯ ที่ประสบความเดือดร้อน โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับมอบ

ดร.วินัย รุ่งฤทธิเดช นายกสมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจภาคกลาง กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารในปี 2557 มาจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์สงคราม รัสเซีย กับ ยูเครน อิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส จนถึงปัจจุบัน  ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ต้องประคองธุรกิจของตนเอง เพื่อรักษาการจ้างพนักงานไว้ จึงทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ติดค้างเงินเบี้ยประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

ทำให้สำนักงานประกันสังคมแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ต้องทำหน้าที่บังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคมกำหนดไว้ เช่น อายัดบัญชีธนาคารกระทั่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเสียเครดิตทางการค้ากับทาง supplier ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่ง ต้องปิดตัวและเกิดการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก

สมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจภาคกลาง เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs ให้ยืนหยัดต่อสู้ได้ในภาวะการแข่งขันจากนักธุรกิจต่างประเทศทั่วโลก จึงได้นำคณะกรรมการสมาคมฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิกเงินเพิ่มดังกล่าว สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความตั้งใจจะชำระเบี้ยประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจนครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกอบการให้สามารถเดินหน้าดำเนินธุรกิจและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/12/2566

สำนักงานสถิติเผยสถานการณ์แรงงานนอกระบบในปี 2566 ประมาณครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรม และลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานในระบบ

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ โดยแรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งผลการสำรวจในปี 2566 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ภาพรวมสถานการณ์แรงงานนอกระบบในปีนี้ พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 21.0 ล้านคน (ร้อยละ 52.3)ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีจำนวน 19.1 ล้านคน (ร้อยละ 47.7) โดยครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบอยู่ในช่วง 40-59 ปี และที่น่าสนใจคือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังทำงานอยู่ประมาณ 5.1 ล้านคนนั้น เป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 4.4 ล้านคน

โดยแรงงานนอกระบบสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษามากที่สุด แต่เมื่อดูแนวโน้มการศึกษาที่จบของแรงงานนอกระบบ จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกระดับการศึกษา

นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบร้อยละ 55.4 ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน พบว่าลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบยังคงมีค่าจ้างต่ำกว่าลูกจ้างในระบบเกือบ 2 เท่า อีกทั้งมีแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 28.2% ที่ประสบปัญหา โดยเป็นปัญหาจากการทำงานมากที่สุด เช่น ค่าตอบแทน งานขาดความต่อเนื่องงานหนักเกินไป เป็นต้น

โดยสรุป ในปี 2566 ยังคงมีจำนวนแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบทำงานในภาคเกษตรกรรม และมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ต่ำกว่าแรงงานในระบบ ในขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบยังคงได้รับค่าจ้างค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงต้องมีการดูแลและส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองหรือเข้าถึงหลักประกันทางสังคมให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/12/2566

วันผู้ย้ายถิ่นสากล’ 66 ก.แรงงาน - สสส. – ม.เชียงใหม่ เปิดเวทีถกกฎหมายลูกจ้างทำงานบ้าน

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ณ กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายองค์กรแรงงาน จัดงานเสวนา “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 2566 นำเสนอข้อเสนอนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ การจัดสวัสดิการ สุขภาวะที่เท่าเทียมทางสังคมที่จำเป็นต่อลูกจ้างทำงานบ้าน

นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน กระทรวงแรงงานสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2562 โดยแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างให้ความคุ้มครองลูกจ้าง เกี่ยวกับห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง สิทธิในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี การจ่ายค่าจ้างวันลาป่วย การห้ามนายจ้างล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011 นอกจากนี้มีเป้าหมายปรับปรุงแก้ไขกฏกระทรวง ฉบับที่ 14 เพิ่มความคุ้มครอง พร้อมผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มนี้ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เป้าหมายของเวทีนี้เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นถึงแนวทางให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งไทยมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายจาก 4 ประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทั้งหมด 2,333,079 ล้านคน รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบจดทะเบียน และกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ยืนยันสถานะบุคคลกว่า 1 ล้านคน แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ปัจจุบันมี 111,954 คน เป็นชนกลุ่มน้อยสัญชาติอื่น 5,055 คน เช่น ลาหู่ ปะหล่อง มอญ จีน ไทยลื้อ จากสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปี 2565 พบแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่ง มีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น กินหวานจัด เค็มจัด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาไทย จึงทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ นำไปสู่ข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ

“สสส. ม.เชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย 14 องค์กร ร่วมทำงานสอดรับกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจโดยตรง ทำชุดข้อเสนอขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และปฏิบัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ต่อกระทรวงแรงงาน 1.การบริหารจัดการสุขภาพทั้งระบบ เช่น ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สิทธิลากิจโดยได้รับค่าจ้าง กำหนดค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ห้ามเลิกจ้างลูกจ้างตั้งครรภ์ สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 98 วัน แนวปฏิบัติการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่ต่ำกว่า 15 ปี ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานรับพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 2.ขับเคลื่อนเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพ พัฒนาสถานะบุคคลให้แรงงานที่ไม่มีบัตร เอกสารประจำตัว 3.พัฒนากลไกเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และการคุ้มครอง รวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลไกช่องทางเข้าถึงคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งหมดนี้เพื่อคุ้มครองทุกมิติของชีวิต และการทำงานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ยกระดับชีวิตให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น”

ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ที่ตัวบุคคลอย่างเดียว ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมเสนอนโยบาย ออกกฎหมายแก้ไข ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ สสส. ภาคีเครือข่าย จัดตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ปัญหาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตร นอกจากนี้จำเป็นต้องพัฒนากลไกในสำนักงานประกันสังคม ให้ตรวจสอบสิทธิของตนเอง โดยนายจ้างมีการหักจ้างเพื่อส่งเงินสมทบประกันสังคม รวมถึงทำงานกับโรงพยาบาลสร้างต้นแบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ และนโยบายของโรงพยาบาลส่งเสริมและป้องกันโรคในกลุ่มนี้ โดยสำนักงานประกันสังคมดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างแรงงานข้ามชาติที่ ทำงานพื้นที่ชายแดนได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 33 และกองทุนเงินทดแทน อนุญาตให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน เป็นลูกจ้างเข้าถึงสิทธิสวัสดิการได้มากขึ้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีตัวตนถูกยอมรับ และมีชีวิตการทำงานที่มีสุขภาวะ ไม่ถูกมองข้าม

ที่มา: ข่าวสด, 18/12/2566

ฝ่ายนายจ้างรับไม่ได้ชี้ไม่มีเหตุผลต้องทบทวนมติ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’

จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ทบทวนมติค่าจ้างขั้นต่ำจากการประชุมของไตรภาคีแรงงาน หรือ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำมติดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม และได้นำมติกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้ หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เตรียมประสานคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อทบทวนมติค่าจ้างขั้นตที่มีมติไปแล้วในการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ เพื่อให้มีข้อสรุปและประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ว่าตนไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการทบทวนอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากการประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น มีมติเป็นเอกฉันท์ และการคำนวณอัตราค่าจ้างนั้นเป็นไปตามระเบียบกฎหมายทุกประการ

“หากจะมีการทบทวน สามารถทำได้ในกรณีที่เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงขึ้นกะทันหัน 2 หรือ 5% แบบนี้เราทบทวนใหม่ได้ แต่มติที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค. นั้น เป็นการทำตามกติกาอย่างครบถ้วน ซึ่งมีการนำเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมาคำนวณหมดแล้ว” นายอรรถยุทธกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่นายกรัฐมนตรี มองว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดน้อยเกินไปนั้น นายอรรถยุทธกล่าวว่า ต้องถามว่าน้อยอย่างไร เนื่องจากการคำนวณก็ใช้สูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นไปตามกติกาในกฎหมายมาตรา 87 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทุกอย่าง ซึ่งมีการคิดอย่างรอบคอบแล้ว จึงมีการเสนอให้ ครม. รับทราบ

“ที่ผ่านมาเราให้มากกว่าอัตราที่คำนวณตามสูตรทุกครั้ง ดังนั้น ถ้ามีการปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่นายจ้างรับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่รู้จะปรับขึ้นอย่างไรแล้ว” นายอรรถยุทธกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/12/2566

แรงงานไทยจากอิสราเอล ยื่นรับเยียวยา 50,000 บาท ตั้งแต่ 18 ธ.ค. นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากรณีการขาดรายได้ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีแรงงานไทยจะได้รับสิทธิ จำนวน 15,000 คน ๆ ละ 50,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 750 ล้านบาท

เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดเริ่มดำเนินการรับคำร้องได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 นี้

โดยพี่น้องแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอลสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้ทั้งในส่วนกลางและภูมิลำเนา ในส่วนกลางยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ณ กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ

และในส่วนภูมิภาคที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกระทรวงแรงงาน จังหวัด ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566-กันยายน 2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ

ส่วนวิธีดำเนินการขั้นตอนการขอรับเงินและเอกสารประกอบการยื่นคำร้อง มีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำร้อง ผู้ยื่นสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ 9,475 คน จะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยมีเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้

1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณียื่นคำร้องด้วยตนเอง

2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา

3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า–ออก ประเทศไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย

4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online

5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว

กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 39 ราย ผู้ยื่นคำร้อง คือ ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้

1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณีเสียชีวิต

2) สำเนาใบมรณบัตร

3) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต

4) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว

5) หนังสือให้ความยินยอมเป็นทายาทโดยธรรม

6) สำเนาบัตรประชาชนทายาท

7) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส)

8) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร)

9) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online

10) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิ

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว และผู้ยื่นคำร้องขอให้เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องรับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

กลุ่มที่ 3 กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้วีซ่า Re-entry อายุไม่เกิน 90 วัน : ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม-6 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล จำนวน 960 คน โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้

1) แบบยื่นคำร้อง กรณี Re-entry Visa

2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา

3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทยไม่เกิน 90 วัน

4) Re-entry Visa (อายุไม่เกิน 90 วัน) พร้อมสำเนา

5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online

6) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว

กลุ่มที่ 4 สำหรับแรงงานไทยกลุ่มที่ยังไม่เดินทางกลับจากอิสราเอล และประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นคำร้องและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา

ขั้นตอนที่ 3 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวบรวมเอกสารคำร้องจากสำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน

ขั้นตอนที่ 4 กองบริหารการคลังรับคำร้องจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้อง เสนอปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย กองบริหารการคลัง โอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิ/ทายาท ได้รับเงินเยียวยา

ทั้งนี้ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 หรือศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน โทร. 02-2321462-3 หรือ 02-2321471 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/12/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net