Skip to main content
sharethis

กสม. เผยผลประสานการคุ้มครองสิทธิ กรณีนักศึกษาหญิงข้ามเพศ ขอใช้รูปถ่ายชุดนักศึกษาหญิงในใบรับรองคุณวุฒิ - ถกปัญหาแรงงานข้ามชาติ หนุนรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 ยกระดับการคุ้มครองแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติตามหลักสากล

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 46/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ประสานการคุ้มครองสิทธิ มรภ.อุบลราชธานีอนุญาตให้นักศึกษาหญิงข้ามเพศใช้รูปถ่ายชุดนักศึกษาตามเพศสภาพในใบรับรองคุณวุฒิได้

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสองรายเมื่อเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้หญิงข้ามเพศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปี 2565 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอต่องานทะเบียนของมหาวิทยาลัย เพื่อขอใช้รูปถ่ายชุดนักศึกษาหญิงในใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ร้องทั้งสองได้ติดตามความคืบหน้าการออกใบรับรองคุณวุฒิการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่งานทะเบียนฯ กลับเพิกเฉยต่อคำร้องขอ และยืนยันให้ผู้ร้องทั้งสองใช้รูปถ่ายตามเพศกำเนิดหรือตามคำนำหน้านามจึงจะออกใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้ร้องทั้งสองได้ติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่งานทะเบียนฯ แจ้งว่า ให้ผู้ร้องทั้งสองรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยฯ แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจึงขอให้ กสม. ประสานมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองใช้รูปถ่ายชุดนักศึกษาหญิงตามเพศสภาพในใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ จึงรับไว้เป็นคำร้อง และประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 โดยจัดประชุมพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว ได้ผลสรุปว่า

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการติดรูปถ่ายในใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ได้ดำเนินการมาตลอด โดยมหาวิทยาลัยมีความกังวลว่า หากใช้รูปถ่ายด้วยชุดนักศึกษาที่ไม่ตรงกับคำนำหน้านาม จะมีปัญหาในการนำไปใช้สมัครงาน เมื่อปี 2565 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และศึกษาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษา ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาตามเพศสภาพ เพศภาวะ หรืออัตลักษณ์ทางเพศแล้ว

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ผู้ประสานงานเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว สรุปได้ว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้อนุญาตให้ออกใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาโดยใช้รูปถ่ายด้วยชุดนักศึกษาหญิงตามเพศสภาพให้กับผู้ร้องทั้งสอง และมหาวิทยาลัยได้ติดต่อให้ผู้ร้องทั้งสองมารับใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาแล้ว นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะพิจารณายกร่างระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รูปถ่ายด้วยชุดนักศึกษาตามเพศสภาพด้วย

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองใช้รูปถ่ายด้วยชุดนักศึกษาหญิงตามเพศสภาพในใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา และออกใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาดังกล่าวให้กับผู้ร้องทั้งสองแล้ว ซึ่งผู้ร้องทั้งสองมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัย กสม. จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

2. กสม. ถกปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ หนุนรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานฯ ยกระดับการคุ้มครองแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติตามหลักสากล

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาเรื่อง การจ้างงานแรงงานที่มั่นคงและยั่งยืนต่อแรงงานข้ามชาติในอนาคต เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2566 จัดโดย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และมูลนิธิรักษ์ไทย ณ วัดเทพนรรัตน์ จังหวัดสมุทรสาคร

โอกาสนี้ กสม. ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในหลายประเด็นสำคัญ โดยพบว่า ปัจจุบันด้วยสภาวะความไม่สงบในประเทศเมียนมา ทำให้แรงงานข้ามชาติประสบความยากลำบากในการเดินทางกลับไปทำเอกสารการจ้างงานและสถานประกอบการเดิมมักจะไม่รับรองการจ้างงานครั้งต่อไปหากแรงงานต้องเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งรัฐบาลเมียนมามีแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยทุกคนเดือนละ 150 บาท ขณะที่การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของไทยยังมีความยุ่งยากซับซ้อนในหลายขั้นตอนและต้องใช้เอกสารจำนวนมาก แรงงานจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เป็นเหตุให้ต้องพึ่งพาระบบนายหน้าจัดหางานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากและนำไปสู่ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่แรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์และคลอดบุตรในประเทศไทย ก็ประสบปัญหาในการแจ้งเกิด เนื่องจากต้องมีคนไทยรับรองและถูกเรียกขอเอกสารระบุที่อยู่ของนายจ้าง แต่นายจ้างมักจะไม่ให้อ้างอิงที่อยู่ ทำให้พ่อแม่แจ้งเกิดเด็กไม่ได้ ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายอันกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างไม่ควรเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพการจ้างงานและค่าแรง พบว่า แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งเป็นกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญของไทย ได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ และต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานสัญชาติอื่นที่ทำงานประเภทเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แรงงานมักจะไม่กล้าเรียกร้องให้นายจ้างชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย เนื่องจากเกรงจะถูกเลิกจ้าง เช่นเดียวกับแรงงานหญิงเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศก็มักจะไม่เรียกร้องความเป็นธรรมหรือเข้าแจ้งความ เนื่องจากกลัวถูกเลิกจ้าง กลัวถูกแจ้งจับกุมและส่งกลับประเทศ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องสิทธิได้เมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม

ในเวทีดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่เปิดเพียงบางช่วงเวลา เนื่องจากสภาพปัญหาปัจจุบัน แรงงานทั่วโลกและภูมิภาคอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการขึ้นทะเบียนแรงงานตามกฎหมายและนโยบาย ทำให้แรงงานบางส่วนหายออกไปจากระบบซึ่งยากต่อการบริหารจัดการปัญหาและคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างทั่วถึง โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาว มิใช่แก้ไขปัญหาผ่านการออกมติคณะรัฐมนตรีเป็นรายครั้ง และต้องนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ในส่วนการจ้างงานที่เป็นธรรมและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการจัดบริการและการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยการเร่งผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5 ให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย

“เพื่อผลักดันให้มีการยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ กสม. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (CMW) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุมสิทธิของแรงงานทุกเชื้อชาติตามหลักสากลที่คนทุกคนจะต้องไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วย” นางสาวสุภัทรา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net