Skip to main content
sharethis

อดีตลูกจ้างโรงงาน 3 บริษัท ถูกลอยแพ ไร้เงินชดเชย เดินขบวนไปกระทรวงแรงงาน เข้ามารับผิดชอบ และช่วยเหลือ โดยใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายชดเชยคนทำงาน และทางภาครัฐไปตามเงินกับนายจ้างอีกที 

 

21 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (20 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อดีตลูกจ้างโรงงาน 3 บริษัท ได้แก่ แอลฟ่า สปินนิ่ง เอเอ็มซี และบอดี้แฟชั่น ซึ่งถูกนายจ้างลอยแพ และไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ให้มีการรับผิดชอบ และช่วยเหลือโดยใช้กองทุนเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง จ่ายชดเชยให้อดีตลูกจ้างโรงงาน 3 บริษัท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานก่อน และให้กระทรวงแรงงานใช้อำนาจไปตามเงินกับนายจ้างที่ลอยนวลอีกที 

คนงานมองว่าภาครัฐมีส่วนต้องรับผิดชอบเนื่องจากปล่อยปละละเลยในการบังคับใช้กฎหมาย และปล่อยให้นายจ้างทำผิดกฎหมายให้ลอยนวล และก่อนหน้านี้ แรงงานเคยมาร้องเรียนกับพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ว่าไม่มีความคืบหน้า 

รูป (ซ้าย) วัน อายุ 51 ปี และ (ขวา) ใหม่ อายุ 55 ปี

ผู้สื่อข่าว สัมภาษณ์ 'วัน' อดีตลูกจ้างโรงงานผลิตชุดชั้นใน 'บอดี้แฟชั่น' ชาวนครสวรรค์ อายุ 51 ปี และ 'ใหม่' อดีตลูกจ้างโรงงานผลิตชุดชั้นใน 'บอดี้แฟชั่น' ชาวนครสวรรค์ อายุ 55 ปี วันนี้เรามาจากนครสวรรค์ เหมารถมาตั้งแต่ตี 4 ตั้งใจมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ช่วยเหลือและรับผิดชอบ 

สำหรับโรงงานบอดี้แฟชั่น เป็นโรงงานผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์หลายแบรนด์ เช่น Victoria's Sceret Triumph, Marks & Spencer, HOM และอื่นๆ ตั้งอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ โรงงานบอดี้แฟชั่น ทยอยเลิกจ้างเมื่อ 2562 หรือเกือบ 4 ปี แต่ค้างจ่ายค่าจ้าง โบนัส และเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างตามกฎหมาย 

กรณีของวัน และใหม่ พวกเธอเล่าให้ฟังว่าถูกทางบริษัทค้างเงิน รวมราวแสนกว่าบาท และมีเพื่อนของเธอประสบชะตากรรมเดียวกันอีกราว 1,174 คน ซึ่งบริษัทค้างจ่ายเงินอดีตพนักงานรวมเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำ 101,941,799 บาท 

"เขาไม่เคยให้เหตุผลอะไรเลย ก่อนหน้านี้ เขาบอกให้ไปเอาเงินจากของที่กรมบังคับคดี อายัดทรัพย์มา แต่ของมันขายไม่ได้ 4 ปีแล้ว ยังขายไม่ได้เลย นายจ้างไม่เคยดูดำดูดีเลย" วัน และใหม่ ระบุ 

ใหม่ วัย 55 ปี เธออยากให้กระทรวงแรงงาน ไปตามนายจ้างให้มาจ่ายเงินคนงาน หรือใช้เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง จ่ายให้คนงานก่อน เพราะตอนนี้เดือดร้อนมาก โดนเลิกจ้างตอนอายุมาก หางานก็ยาก จึงต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสียงไปถึงนายจ้างให้มารับผิดชอบคนงาน 

สำหรับใหม่ เธออยากได้เงินส่วนนี้เพื่อไปใช้หนี้สิน ขณะที่วัน อยากนำเงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน และค่ารักษา 

"อยากได้เงินมาใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียน ทำมาหากินเอง เรามีโรคประจำตัวต้องมีหาหมอทุก 4-6 เดือน เดือดร้อนอยู่ ค่าใช้จ่ายแต่ละวันมันเยอะมาก เงินวันละ 100-200 บาท มันไม่พอ" วัน กล่าว 

ท้ายสุด ใหม่ และวัน อยากให้กระทรวงแรงงาน อยากให้ไปดำเนินคดีจากนายจ้าง เพื่อนำเงินมาจ่ายให้เรา ตอนนี้ลำบากอยู่ เศรษฐกิจไม่ดีด้วย 

" อยากให้ช่วยลูกจ้าง 4 ปีแล้วที่รอมา อยากให้นายจ้างมาจ่ายเงินไวๆ จะอดตายอยู่แล้ว มีภาระหนี้สินด้วย" วัน และใหม่ ทิ้งท้าย 

เมื่อเวลา 10.13 น. ขบวนแรงงานกำลังตั้งขบวนอยู่ และเตรียมตัวจะเดินทางไปกระทรวงแรงงาน

เวลา 10.26 น. ขบวนแรงงานเดินขบวนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และจะใช้เส้นทางถนนดินแดง ผ่านแยกสามเหลี่ยมดินแดง จากนั้น เลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรไมตรี เพื่อไปที่กระทรวงแรงงาน

เวลา 10.31 น. ระหว่างขบวนแรงงานเดินผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 'แก้ว' ตัวแทนอดีตพนักงานโรงงานบอดี้แฟชั่น สาขา 2 จากนครสวรรค์ กล่าวปราศรัยบนรถเครื่องเสียง ระบุว่า ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมสู้ร่วมกัน และอยากพี่น้องร่วมสู้ร่วมกันจนกว่าจะได้เงิน เพราะรอมา 4 ปีแล้ว ยังไม่ได้เงินชดเชย ค่าแรง หรือโบนัส เขาไม่เคยมาจ่ายพวกเรา นายจ้างหายเงียบ

แก้ว ระบุต่อว่า คนทำงานถูกเลิกจ้างตอนอายุมาก ทำให้หางานยากมาก ได้รับความเดือดร้อน เราเลยไม่อยากรอต่อไป เราอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะว่ามันนานเกินไปที่เขาไม่จ่ายเงินค่าชดเชย

"เราอายุเยอะ หางานทำยาก ต่องเลี้ยงหลานอยู่บ้าน มาร้องเรียนกระทรวงแรงงานทีไร เรี่ยไรเงินคนละ 30-40 บาท กว่าจะได้มา พอมาถึงแล้ว ทางภาครัฐบอกว่าดำเนินการทางกฎหมายถึงชั้นศาลแล้ว ให้รอการขายทรัพย์เท่านั้น เรา อยากขอร้องท่านหาวิธีช่วยเหลือพวกเรา" แก้ว ทิ้งท้าย

เวลา 11.00 น.ขบวนแรงงานเดินทางถึงแยกสามเหลี่ยมดินแดงแล้ว แต่พบว่า กระทรวงแรงงาน มีการปิดประตู 3 เพื่อไม่ให้แรงงาน และรถเครื่องเสียงเข้าไปจอดในพื้นที่กระทรวงแรงงานได้

'ไหม' ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวปราศรัยระหว่างเดินทางบนเครื่องเสียงว่า เราจะเดินทางไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้เบิกเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จ่ายชดเชยให้คนงานที่ถูกลอยแพ 100% ของเงินเดือน และให้กระทรวงแรงงานไปบังคับกับลูกจ้าง ถ้า รมว.แรงงานทำไม่ได้ จะไปพบนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้ช่วยเหลือ

เวลา 11.21 น. ขบวนการแรงงาน มาถึงที่กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง แต่กระทรวงแรงงานปิดประตูหน้ากันไม่ให้แรงงานเข้าไปยื่นหนังสือ

เวลา 11.27 น. ธนพร ระบุว่า ถ้าประชาชนพบว่า กระทรวงแรงงาน ลงกลอน และล่ามโซ่ล็อกประตู ธนพรบอกว่าจะถ่ายรูปไว้และจะเอาไปประจานว่า นี่คือกระทรวงแรงงาน ที่คนงานมาร้องเรียนไม่ได้ และให้เวลากระทรวงแรงงานอีก 15 นาที ให้เปิดประตูกระทรวงแรงงาน ให้แรงงานเข้าไปยื่นหนังสือ และพูดคุย

เวลา 11.30 น. อารี ไกรนรา เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาเจรจากับแกนนำขบวนการแรงงาน เพื่อให้กระทรวงแรงงานเปิดประตูเหล็ก

 

จุฑาทิพย์ วันชัย อายุ 48 ปี อดีตพนักงาน AMC

เวลา 12.33 น. แรงงานจาก บริษัท AMC บริษัทแอลฟ่า สปินนิ่ง และ บอดี้แฟชั่น ยังคงรออยู่หน้าประตูกระทรวงแรงงาน และไม่สามารถเข้าไปในกระทรวงแรงงานได้

จุฑาทิพย์ วันชัย หรือน้อย อดีตพนักงาน AMC ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีของบริษัท AMC กล่าวว่า กรณีของบริษัท AMC ปิดโรงงานตั้งแต่ 13 ก.ค. 2566 แต่ทางโรงงานบอกให้เธอหยุดทำงานตั้งแต่ ต.ค. 2565 โดยบอกพนักงานว่าจะจ่ายค่าแรงเป็น 75% ของเงินเดือน แต่พอถึงกำหนดจ่ายเงินเดือน ก็ไม่ยอมจ่าย ไม่ขึ้นเงินเดือน จนถึงวันปิดโรงงานก็ไม่ยอมจ่าย ต่อมา นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องมาว่าให้เราเซ็นลาออกโดยได้เงินเดือนจำนวนเพียง 75% เป็นระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง แต่คนงานไม่ยอมรับ เพราะว่ามันเอาเปรียบกันมากไป

จุฑาทิพย์ ระบุต่อว่า เราเลยออกมาเรียกร้องค่าแรงค้างจ่าย 6 เดือน ค่าบอกกล่างล่วงหน้า หรือค่าต่างๆ ตามกฎหมาย ออกมาเรียกร้องกัน 153 คน รวมจำนวนเงินกว่า 18 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ อดีตพนักงาน AMC อายุ 48 ปี ระบุว่า เคยออกมาเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือแล้ว แต่ภาครัฐบอกว่าได้ทำตามกฎหมายแล้ว แต่เราอยากให้รัฐไปตามนายจ้างมาจ่ายเงินให้เรา หรือใช้งบประมาณกลางจ่ายชดเชยให้แรงงานก่อน ซึ่งกรณีของ AMC เป็นเงินยังไม่เยอะมาก เพราะเปิดมา 8 ปี หรือถ้าเบิกไม่ได้ ช่วยบังคับคดีให้เร็วกว่านี้ได้หรือไม่

"อยากให้ภาครัฐบังคับคดี เร็วกว่านี้ได้ไหม เพราะเราขึ้นศาลเดือนธันวาคม แต่ศาลพิจารณาคดีเดือนมิถุนายน 2567 มันนานไปไหม ตอนนั้นเราจะเหลืออะไร นายจ้างยังลอยนวล ธุรกิจอื่นๆ ของเขายังดำเนินการอยู่" จุฑาทิพย์ กล่าว

 

ปัจจุบัน จุฑาทิพย์ ไม่สามารถสมัครงานตามบริษัทได้ เนื่องจากเธออายุมากตอนถูกเลิกจ้าง เธอต้องหันมาทำงานรับจ้างทั่วไปที่รายได้ไม่แน่นอน และชีวิตไม่มั่นคง วางแผนการเงินระยะยาวไม่ได้

เวลา 12.39 น. กระทรวงแรงงานอนุญาตให้ขบวนแรงงาน ส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาด้านในกระทรวง แต่แรงงานคนอื่นๆ และรถเครื่องเสียงให้รอด้านนอก

ลุ้นยื่น ครม. ขอเบิกงบฯ กลางช่วยแรงงานถูกลอยแพ

เมื่อเวลา 13.49 น. ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินมากล่าวถึงผลการหารือกับผู้ชุมนุม และให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่อความคืบหน้าดังกล่าว

ธนพร วิจันทร์

ธนพร กล่าวว่า ตอนนี้ทางกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างทำบันทึกการประชุมอยู่ ซึ่งเราตกลงกับกระทรวงแรงงาน 2 ประเด็น 1. รวม 3 บริษัทจำนวนเงินจ่ายชดเชย 189 ล้านบาท ซึ่งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีอยู่ 168 ล้านบาท และนอกจากกรณีของเรา มีลูกจ้างเขียนคำร้องเข้ามาอีก 400 ราย เรียกร้องค่าชดเชยประมาณ 10 ล้านบาท เราก็เห็นว่า ถ้าหักไปกองทุนฯ ยังเหลือเงินประมาณ 150-160 ล้านบาท เราเลยเสนอว่า มันเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะขยับเพดานจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานที่ถูกลอยแพ 3 บริษัท จากเดิม 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่าเป็นกลไกของไตรภาคี ซึ่งไตรภาคีจะประชุมเดือนหน้า (ม.ค. 2567) ทางกระทรวงแรงงานจะกระชับให้เร็วขึ้น คือภายในสัปดาห์หน้าก่อนปีใหม่ เขาจะให้เรียกคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษ ว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มเพดานจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างหรือไม่ แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเขาจะอนุมัติเพิ่มไหม

ธนพร กล่าวต่อว่า อีกกรณีหนึ่งคือ มันพอจะมีทางที่จะช่วย 3 เคสนี้ได้คือให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณกลาง จำนวน 189 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพ โดยการประชุม ครม. จัดขึ้นทุกวันอังคารของสัปดาห์ ซึ่งธนพร มองว่าควรจะเร่งด่วนได้แล้ว เพราะว่ากรณีนี้ค้างคามา 3-4 ปีแล้ว

แม้ว่าตัวแทนของรัฐจะรับเรื่องเข้าไปคุย แต่นักกิจกรรมจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุต่อว่า เราก็อยากให้มั่นใจ 189 ล้านบาทจะต้องเข้า ครม.วันอังคารหน้า ถ้าเข้าแล้วมีมติว่าอย่างไร ึคนงานจะได้รับรู้ ความต้องการของเราประมาณนี้

"รอดูบันทึกการประชุมว่าเป็นยังไง แต่เรายังไม่เห็นเนื้อหา พอดูบันทึกการประชุมแล้วต้องมาชี้แจงพี่น้อง ถ้าพี่น้องโอเค เราก็โอเค" ธนพร กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net