Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ‘แรงงานภาคเหนือ’ เดินขบวน-จัดเวทีวันแรงงานย้ายถิ่นฐานสากล ร้องรัฐมุ่งเคารพสิทธิ ไม่เลือกปฏิบัติ​แรงงานข้ามชาติ


ที่มาภาพ: Lanner

Lanner รายงานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดกิจกรรม “แรงงาน = คน : เราทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น” ณ พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวันแรงงานย้ายถิ่นฐานสากล ประจำปี 2566 International Migrants Day 2023

ภายในงานมีการแสดงจากภาคีเครือข่าย อาทิ การเดินรณรงค์, การแสดงแฟชั่นโชว์เปิดงาน “คนย้ายถิ่น ไม่ใช่คนอื่น”, Ted Talk, การแสดงละคร, การแสดงดนตรี และการแสดงแร็ปจากแร็ปเปอร์กลุ่มชาติพันธ์ โดยกิจกรรมทั้งหมดมาจากกลุ่มตัวแทนขององค์กรในเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ อาทิ กลุ่มแรงงานงานบ้านเชียงใหม่, สหพันธ์แรงงานชาติพันธุ์, เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network – MMN), BEAM มูลนิธิการศึกษาประกายแสง, กลุ่มเยาวชนเครือข่ายสถานะบุคคล, สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) เป็นต้น

โดยในเวลา 16:45 น. ได้มีการเดินรณรงค์ “แรงงาน = คน : เราทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น” โดยเริ่มจาก พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านถนนไนท์บาซาร์และกลับมาที่บริเวณพุทธสถานอีกครั้ง โดยระหว่างการเดินรณรงค์ ได้มีการบรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ และกำหนดการของงานรวมถึงเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

เวลา 17:30 น. การแสดงแฟชั่นโชว์เปิดงาน “คนย้ายถิ่น ไม่ใช่คนอื่น” นำโดยตัวแทนกลุ่มแรงงานงานบ้านเชียงใหม่ Sex work โดยการนำเสนอแฟชั่นของการแต่งการตามสิทธิเหนือร่างกายตนเอง รวมไปถึงแฟชั่นวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่หลากหลาย

ละคร ‘เราต้องการรัฐสวัสดิการ’ นำแสดงโดยแรงงานผลัดถิ่น นำเสนอภาพความลำบากของวิถีชีวิตแรงงานผลัดถิ่น และขาดสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ ความยากลำบากในการทำงานและชีวิตที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เวลาเจ็บป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจาก ไม่มีประกันสังคม เจ็บป่วยก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างที่ควรเป็น ค่าแรงการจ้างงานก็ไม่แน่นอน แรงงานหญิงรายได้น้อยกว่าแรงงานชาย ทั้งนายจ้างยังใช้ช่องว่างต่าง ๆ ในการเอาเปรียบแรงงานของตน จึงเรียกร้องถึงความต้องการรัฐสวัสดิการแรงงาน

‘Talk show’ จากตัวแทนองค์กรภายในเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 3 คน ได้แก่ พิม ลักษณารีย์ ตัวแทนจากสามัญชน และยังมีตัวแทนจากมูลนิธิการศึกษาประกายแสง และตัวแทนเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network – MMN) ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และความรู้สึกร่วมกันภายในงาน

ภายในงานมีการจัดบูทให้ความรู้และกิจกรรม อาทิ บู๊ทแคมเปญลงชื่อสิทธิแก่ผู้ถูกกระทำจากความอยุติธรรม จาก Amnesty International Thailand, บู๊ทกิจกรรมให้ความรู้เรื่องแม่ควรได้รับเงินเดือนจากการทำงานบ้าน บู๊ทกิจจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ มุมมองจากสังคมของคนทำงานบริการ และบู๊ทให้ความรู้จากสหพันธ์แรงงานข้ามชาติเรื่องการดำเนินการทางเอกสารของแรงงานข้ามชาติและการผลักดันสิทธิ

ในช่วงท้ายของกิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันย้ายถิ่นสากล จาก เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เนื้อหาว่า

‘วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนี้

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

4. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  และให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพ อาทิ พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net