Skip to main content
sharethis

สื่อเมียนมาแฉเผด็จการถูกกดดันหนัก สั่งเก็บภาษีแรงงานในไทย 2% หนุนค่าใช้จ่ายทางทหาร

สำนักข่าว BNI Online ได้รายงานข่าวว่าสภากองทัพเมียนมาที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักในการจะหาเงินสกุลต่างประเทศ ได้มีการเพิ่มมาตรการการจัดเก็บภาษีของแรงงานเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศ โดยมาตรการนี้มีผลตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

มีรายงานว่าสถานทูตเมียนมาในไทย,จีน,สิงคโปร์ และในเกาหลีได้ออกคำสั่งให้แรงงานเมียนมาจ่ายภาษีเงินได้ตามคำสั่งใหม่ของรัฐบาลทหาร

โดยวันที่ 22 พ.ย. กระทรวงการวางแผนและการคลังภายใต้รัฐบาลทหารประกาศว่าพลเมืองเมียนมาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศจะต้องจ่ายภาษีเงินได้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.

ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจํากรุงเทพฯ ได้ออกประกาศเป็นครั้งที่ 2 โดยย้ำว่าแรงงานเมียนมาในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้สองเปอร์เซ็นต์ของค่าแรง

“มีความไม่พอใจในหมู่คนงานเกี่ยวกับมาตรการการจัดเก็บภาษีเงินได้ ที่ออกโดยสภาทหารซึ่งล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของคนงาน” นายอู่ โม คยอ หัวหน้าสมาคมแรงงานยะอุงชีอูใน อ.แม่สอดกล่าว

อนึ่งองค์กรเคลื่อนไหวด้านแรงงานเมียนมาในประเทศไทยประเมินว่ามีแรงงานเมียนมากว่า 5 ล้านคน มีถิ่นที่อยู่และทํางานในประเทศไทยทั้งแบบถูกต้องตามกฎหมายและแบบที่ไม่มีเอกสารรับรอง

ตามคําแถลงของสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในไทย สภาทหารระบุว่ารายได้ต่อเดือนของแรงงานทั่วไปที่ทํางานในภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงงาน การผลิต เกษตรกรรม การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบริการในประเทศไทยอยู่ที่ 7,500 บาทต่อคน ดังนั้นแรงงานในภาคส่วนนี้จะต้องจ่ายสองเปอร์เซ็นต์ของจํานวนนี้หรือคิดเป็น 150 บาทเป็นภาษีเงินได้

นอกจากนี้สภาทหารได้ประกาศว่าพลเมืองที่ทํางานในต่างประเทศจะต้องจ่ายเงินเดือน 25 เปอร์เซ็นต์ผ่านร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างเป็นทางการ

นายโก ฮเท็ต (Ko Htet) แรงงานเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ให้ความเห็นว่าเราต้องจ่ายเงินสำหรับทั้งที่พัก อาหาร การเดินาง ดังนั้นการจัดเก็บภาษีที่สภาทหารได้ประกาศออกมานั้นจะทำให้ชีวิตของพวกเรายากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การเก็บภาษีเงินได้จากพลเมืองเมียนมาที่ทํางานในต่างประเทศถือเป็นหลักปฏิบัติที่ยึดถือโดยระบอบเผด็จการทหารที่สืบทอดกันจนกระทั่งมายกเลิกในสมัยประธานาธิบดีอูเต็งเส่งในปี 2555

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและเศรษฐกิจที่ติดตามระบอบเผด็จการทหารยืนยันว่ารัฐบาลทหารกําลังพยายามรวบรวมภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดหาเงินทุนสําหรับค่าใช้จ่ายทางทหารที่กว้างขวาง การเคลื่อนไหวนี้อาจละเมิดสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ลาว ไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันภาระภาษีแบบสองทางสําหรับคนงาน

โดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าวมักจะยกเว้นชาวเมียนมาที่ทํางานในต่างประเทศเหล่านี้จากการจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลเมียนมา เพื่อให้นำเงินไปใช้จ่ายยังประเทศที่ทำงานอยู่แทน

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญามีความแตกต่างกันไปและบุคคลบางกลุ่มอาจยังคงต้องจ่ายภาษีโดยตรงกับรัฐบาลเมียนมา

ทั้งนี้หลังการรัฐประหาร พลเมืองเมียนมาจํานวนมากได้หางานทําในต่างประเทศทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน

สภาทหารจึงได้เพิ่มมาตรการควบคุมโดยขู่ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาต MOU สําหรับแรงงานเมียนมาในต่างประเทศที่ไม่สามารถโอนรายได้ผ่านช่องทางทางการหรือจ่ายภาษีเงินได้ตามที่กําหนด

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 16/12/2566

'เศรษฐา’ กระตุกภาคแรงงานขึ้นค่าแรงไม่ทำธุรกิจหายนะ วอนดูแลประชาชน

13 ธ.ค. 2566 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสวนาหัวข้อ “คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ” ในงาน เดลินิวส์ ทอล์ก 2023 (Dailynews Talk 2023) โดยเมื่อถามว่า นายกฯ คิดว่าประเทศไทยกำลังเผชิญเรื่องการศึกษาหรือไม่ หลังผลสอบ PlSA ของนักเรียนไทยประจำปี 2022 ออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี และรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

นายกฯ กล่าวว่า  ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สะสมมานานพอสมควร กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณสูง หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่างบประมาณที่สูงความจริงแล้วเป็นเรื่องของเงินเดือนครูประมาณ 70% ถึง 80% แต่งบในการพัฒนาการศึกษามีน้อยมาก ตรงนี้เราต้องมาเริ่มต้นต่อว่าอย่างไรก็ตาม เราจะต้องทำให้ได้ในงบประมาณที่มีอยู่ตรงนี้ ก็เป็นเรื่องของการมีหลักสูตรที่เหมาะสมในการที่จะตอบโจทย์แรงงานที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของขีดความสามารถอย่างเดียว แต่มีเรื่องของภาษา ภาษาอังกฤษเองที่เราก็ตกต่ำไปกว่าหลายประเทศในอาเซียน ตรงนี้ต้องดูที่หลักสูตรและนำมาพัฒนาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความต้องการแรงงานจากภาคอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ก็มีความเปลี่ยนแปลงในแง่ของแรงงาน ตรงนี้เราต้องมาดูกันว่าการศึกษาของไทยตอบโจทย์ แรงงานที่เขาต้องการหรือไม่ ตนเชื่อว่าไม่เป็นปัญหาที่ง่ายต้องใช้เวลาในการค่อยๆ พัฒนาไป

เมื่อถามต่อว่ามีการพูดถึงกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาหรือไม่ว่า จะมีแอ๊คชั่นแพลนในการเดินหน้าต่อไปอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เราได้มีการพูดคุยกันและมีการทำเวิร์กช็อปอย่างจริงจังว่า ในระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว การศึกษาไทยต้องเดินไปอย่างไร และภาคส่วนไหนที่ต้องมีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ มันไม่ใช่แค่สกอร์ที่เราได้เห็นกันอยู่ แต่มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งการศึกษา เพราะเป็นเรื่องของสถานะ ขณะที่มีเด็กประมาณ 1 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของโควิด-19 ทำให้เด็กหลุดออกนอกการศึกษาเยอะ ซึ่งตรงนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็พยายามทำเรื่องของบประมาณเข้ามาเสนอและอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเราจะนำเงินส่วนนี้ไปให้เขาเพื่อดำเนินการในสเต็ปแรกให้เด็กกลับเข้าสู่การการศึกษาให้ได้มากที่สุด หลังจากผู้ปกครองประสบปัญหาจากด้านเศรษฐกิจ ไม่สามารถส่งเด็กเข้าไปเรียนหนังสือได้ และนำเด็กไปใช้แรงงานก็เป็นปัญหาที่ความจริงแล้ว บางคนอาจจะมองข้ามไป ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลทำได้ ให้นำคนที่หลุดออกนอกการศึกษาเข้ามาในระบบการศึกษาได้ก่อน

เมื่อถามต่อถึงเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาท จะเริ่มได้เมื่อไหร่และมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า เรื่องเงินเดือนขั้นต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาทมาหลายปีแล้ว เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ ประกาศไปชัดเจนว่าจะขึ้นอย่างไร คาดหวังว่าภายใน 4 ปี จะขึ้นไปถึง 25,000 บาท ถือว่าพอประกาศออกไปก็ได้รับการยอมรับที่ดีพอสมควร และคิดว่าเป็นมาตรฐานที่ดีในการที่ภาคเอกชนจะนำไปปฏิบัติ และขึ้นค่าจ้างให้คนไทยมีรายได้ที่เหมาะสม มีศักดิ์ศรีในการที่จะไปทำงาน ทั้งนี้ ทุกคนก็ทราบดีอยู่ว่า รัฐบาลเราไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับขึ้นเพียง 2 บาท ไข่ไก่หนึ่งฟองจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ ตนฟังดูแล้วมันก็รับไม่ได้ ตนขอใช้เวทีนี้สื่อสารเรื่องบางเรื่อง ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ลึกกว่านั้นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความแตกแยก จะอ้างเรื่องมติคณะกรรมการไตรภาคี หรือนายกฯ ไม่มีอำนาจในการแทรกแซง คุณจะพูดอะไรคุณพูดได้หมด แต่เราอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงดีกว่าว่ามันเหมาะสมหรือเปล่าในการที่ค่าแรงขึ้นไปขนาดนั้น และมันจะทำให้ธุรกิจถึงกับหายนะหรือไม่ หากมีการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของตนเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เรื่องการลดค่าไฟ เรื่องการไปเปิดตลาดใหม่ๆ การเจรจาสนธิสัญญาการค้าและดึงนักลงทุนใหม่ใหม่เข้ามา ตนเชื่อว่าถึงจุดหนึ่งก็เป็นที่พอใจของภาคธุรกิจ ได้เป็นขวัญและกำลังใจในการที่พวกเขาเหล่านั้นจะคืนความชอบธรรมให้กับประชาชน ที่เป็นฐานรากของการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ฉะนั้นตรงนี้ตนเชื่อว่าอยากให้เราออกมาพูดกันให้เสียงดังขึ้น ส่วนเรื่องของกฎหมายเรื่องที่ตนมีสิทธิหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ท่านไปดูแล้วกัน ขึ้นค่าแรง 300 บาทมา 9 ปีที่แล้ว วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 337 บาท เรียกว่า 10 ปีให้หลังขึ้นมาแค่ 37 บาท หรือขึ้นไปประมาณ 12% ถ้าลูกท่านจบมาจากเมืองนอก 10 ปีที่แล้วเงินเดือน 30,000 บาท หากทุกวันนี้เงินเดือน 33,700 บาท ท่านรับได้หรือไหม บางจังหวัดขึ้น 2 บาท บางโซนขึ้น 7 บาท 5 บาท ซึ่งหลายท่านรัฐมนตรีมาจากภาคประชาชนและการเลือกตั้งจากประชาชน ท่านรับได้ไหมค่าแรงขึ้นแบบนี้

นายกฯ กล่าวต่อว่า ท่านลงพื้นที่ไป ช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ รับรองเสียงสะท้อนกลับมาอย่างไร ตนได้แต่ฝากความหวังฝากไปยังภาคธุรกิจว่า การขึ้นค่าแรงออกไปอีกนิดหนึ่ง ไม่ทำให้ท่านเกิดหายนะหรอก แต่มันจะส่งผลในมิติบวกมากกว่า ถ้าท่านสามารถทำให้มันเหมาะสมได้ พูดคุยกันด้วยวาจาที่มันรับกันได้ในจำนวนเงินที่มันสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ ไม่ใช่เข้ามาวันแรกเราประกาศขึ้นค่าแรง ซึ่งรัฐบาลนี้ทำอย่างเต็มที่ ฉะนั้นสิ่งที่เราขอคือขอให้ภาคเอกชนดูแลประชาชนให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีในการที่เขาจะเดินออกไปทำงานตอนเช้า แล้วกลับบ้านมาตอนเย็น มีอาหารการกินที่เหมาะสมอยู่บนโต๊ะ ตนฝากด้วยแล้วกัน

ที่มา: เดลินิวส์, 13/12/2566

ก.แรงงาน ทบทวนค่าแรงใหม่ อีก 2 สัปดาห์เคาะ ยันทันต้นปี

12 ธ.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการหารือเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในที่ประชุม ครม.ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นำมติคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท นำเข้ามาเสนอ และท่านก็สรุปเองว่า ต้องกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาปรับสูตรของการคิดค่าแรงใหม่

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นมากกว่านี้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ก็ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทันช่วงปีใหม่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คิดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธันวาคม น่าจะเอาเข้ามาทันได้

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่นายกฯหวังจะต้องขึ้นค่าแรงเท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน ก็ต้องฟังเขาก่อนเพราะมีข้อกฎหมายหลาย ๆ อย่างที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้”

เมื่อถามว่า จะได้ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ นายเศรษฐาปฏิเสธตอบคำถาม โดยบอกว่า “คำถามต่อไปครับ”

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงแรงงานนำมติคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท มานำเสนอให้ ครม.รับทราบ แต่เนื่องจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานตั้งข้อสังเกตว่า การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ ที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้เป็นหลักเกณฑ์ขึ้นค่าแรงที่เอาตัวเลขต่าง ๆ ย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ยนั้น เป็นการนำตัวเลข 2563-2564 มาร่วมพิจารณาด้วย

ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ติดลบมาก ๆ เพราะโควิด-19 การนำตัวเลข 2 ปีนี้มาคำนวณด้วยจะทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง และผิดมาตรฐาน จึงน่าจะนำออกไป

ครม.รับทราบและแสดงความเห็นด้วยในข้อสังเกตนั้น ครม.ให้สิทธิกับ รมว.แรงงานว่าจะยืนยันเสนอให้รับทราบหรือไม่ นายพิพัฒน์จึงขอถอนไปก่อน จึงเท่ากับ ครม.ได้ยินเฉย ๆ ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/12/2566

ส.อ.ท.ห่วงทบทวนค่าแรง กระทบต้นทุน ควรยึดตามไตรภาคี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ หากการทบทวนอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคีใหม่กระทบต้นทุน  ไทย แข่งขันลำบาก ควรยึดตามไตรภาคี โดยหากการทบทวนอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคีใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  คงเรื่องการใช้นโยบายไตรภาคีมาตลอด ซึ่งการจะปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทนั้น มองว่าเป็นการปรับขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งเป็นต้นทุนใหญ่ของการผลิต เพราะใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรืออุตสาหกรรมเก่า หากค่าแรงขึ้นจะทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ

ภาคบริการจะได้รับผลกระทบมาก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านสปา เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคในประเทศ แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ต้นทุนสินค้าในไทยราคาแพง  โดย สิ่งที่  กกร.นำเสนอไปนั้น ถือว่าครบถ้วนแล้ว หากไปเปลี่ยนแปลงก็จะขัดแย้งกับกฎกติการะดับสากล ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO และกฎหมายไทยมีการอ้างอิงกับส่วนนี้

“ช่วงนี้ อุตฯไทยเหมือน ‘เขาควาย’ ไม่รู้จะไปขวาหรือซ้าย โดนเสียบทั้งคู่ ดังนั้น คีย์เวิร์ด คือความสามารถในการแข่งขันประกอบไปด้วยต้นทุนทุกประเภท พอต้นทุนเยอะก็แข่งขันไม่ได้ และจะไปถึงการลดการจ้างงาน และนำ Automation มาแทนแรงงาน และแรงงานก็จะตกงาน แรงงานจาก 500 คน จะเหลือไม่ถึง 100 คนทันที สิ่งที่ต้องระมัดระวัง มีความสมดุลที่เหมาะสม และมีความยืดหยุ่น ” นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น เห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้ยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการนำหนี้นอกระบบนำเข้ามาอยู่ในระบบให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี มองว่าหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นตลอด แต่สิ่งที่จะสามารถแก้ไขได้ดีที่สุด คือการสร้างงานให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร พร้อมแนะนำว่า ต้องกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง เกลี่ยให้เศรษฐกิจ( GDPX โตขึ้นทั่วๆ กัน ก็จะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลง รวมทั้งต้องจับตา สภาวะอากาศ “เอลนีโญ”ที่จะกระทบกับสินค้าเกษตรด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 12/12/2566

ครม.ไฟเขียว ใช้งบกลาง 750 ล้าน เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล รายละ 5 หมื่น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ากระทรวงแรงงาน ได้เสนอที่ประชุมครม.ขอใช้งบกลางปี 2566 ไปพลางก่อน เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้จ่ายในโครงการเยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล พร้อมเสนอแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลเนื่องจากขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ประมาณ 15,000 คน โดยจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 50,000 บาท จะใช้งบประมาณรวม 750 ล้านบาท จะมีผลตั้งแต่ธ.ค.66-ก.ย.67

สำหรับแรงงานไทย 15,000 คนนั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในอิสราเอลและเดินทางกลับมาประเทศหลังวันที่ 7 ต.ค.จำนวน 9,475 คน

กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 39 คน

กลุ่มที่ 3 แรงงานไทยที่เดินทางไปงานในอิสราเอลและเดินทางกลับมาก่อนวันที่ 7 ต.ค. ภายใต้เงื่อนไข Re-entry visa ที่ต้องกลับไปทำงานต่อแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้น จึงตกค้างอยู่ที่ประเทศไทย เสียโอกาสและเสียรายได้ จำนวน 960 คน

กลุ่มที่ 4 แรงงานไทยที่คาดว่าประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 4,526 คน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 12/12/2566

รมว.แรงงาน ดึงค่าจ้างขั้นต่ำกลับไปคิดสูตรใหม่ นำกลับเข้า ครม.ไม่เกิน 2 สัปดาห์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐนตรีถึงมติคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ และจะขอดึงกลับไปพิจารณาสูตรการคำนวณใหม่ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือภายในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ให้ทันช่วงปีใหม่

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/12/2566

‘ปลัดแรงงาน’ คุย ‘พิพัฒน์’ เดินหน้าชงค่าจ้างฯ เข้า ครม. หรือ เคาะใหม่ หลังนายกฉุนตัวเลขต่ำ

10 ธ.ค. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) ที่มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 2-16 บาท ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เราจะต้องหารือกันในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ก่อนว่าจะมีการทบทวนหรือไม่ ทั้งนี้ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดนั้นจะมีสูตรของการคำนวณอยู่ โดยจุดเริ่มต้น มาจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด เสนอมายังคณะกรรมการวิชาการกลั่นกรองก่อนจะมาสรุปตัวเลขสุดท้ายในคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตาม จากกรณีข้อท้วงติง ตนได้มีการปรึกษาหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่าจะนำเสนอมติคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธ.ค.นี้หรือไม่ รวมถึงจะมีการหารือนอกรอบกับคณะกรรมการไตรภาคี ว่าจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ท่านนายกฯ มีสิทธิที่จะวิจารณ์และออกความเห็น ซึ่งผู้ใช้แรงงานเองก็คงไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป เพราะคาดหวังตามสิ่งที่พรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้  แต่จะปรับให้ถึงวันละ 400 บาทในตอนนี้ ทำได้หรือไม่ ก็ต้องดูเหตุผล ว่าโละมติได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่บัญญัติไว้ว่า “คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างโดยอิสระ” ซึ่งควรปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงจากภาคส่วนอื่น ถ้าหากทำได้ ต้องถามต่อว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ทบทวน เมื่อกรรมการมีมติ รมว.ก็ลงนามเสนอครม.

“หากเข้า ครม. แล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งต้องตอบคำถามว่า การที่ ครม. ให้นำกลับมาทบทวนใหม่นั้น ครม. มีอำนาจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผมคงตอบไม่ได้ ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายว่าทำได้มากน้อยอย่างไร” นายวีรสุขกล่าว

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการแต่ละฝ่ายมีคุณธรรม จริยธรรมพอที่จะรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็ต้องเจอกันครึ่งทาง แต่ 400 บาทต่อวันนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ต้องย้ำว่าคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าแรงแรกเข้าของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเรายังมีค่าจ้างมาตรฐานตามฝีมือแรงงานอีกเป็นร้อยสาขาอาชีพ สิ่งสำคัญที่อยากสื่อสารให้สังคมรับรู้คือ ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่นั้น จะมีแรงงานไทยเฉลี่ยที่ 5 แสนคน แต่อีก 5 ล้านกว่าคนเป็นแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ ขณะที่มูลค่าสินค้าต่างๆ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แล้วคนไทยกว่า 70 ล้านคนจะต้องมารับภาระตรงนี้

“ทางที่ดีหากนายกฯ จะพูดเรื่องค่าแรง ควรจะเอาเวลาไปคิดว่าจะอย่างไรให้ราคาสินค้า ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพลดลง เพื่อให้ประชากรที่มีรายได้เท่านี้อยู่ได้ และผู้ประกอบการก็สามารถดำรงกิจการต่อไป” นายวีรสุขกล่าว

ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาทักท้วงเรื่องนี้ เพราะผลการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการไตรภาคีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันนี้รัฐบาลพยายามซัพพอร์ตกลุ่มนายทุนในทุกๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันกลับกดค่าจ้างของลูกจ้าง เลยทำให้เกิดความไม่สมดุล ไม่ยุติธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งควรจะได้ค่าแรงสูงกว่านี้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกๆ พื้นที่ ทั้งนี้การที่นายกฯ ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซง เพราะขนาดกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สำรวจและพิจารณาตัวเลขก่อนเสนอเข้ามา ถามว่ามีสัดส่วนของลูกจ้าง เข้าร่วมอยู่มากน้อยแค่ไหน

นายชาลี กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คิดว่าควรจะเป็นนั้น คิดว่าควรทำตามที่รัฐบาลพูดเอาไว้ก็ได้คือ 400 บาททั้งประเทศ ซึ่งพอกล้อมแกล้มไปได้ ดีกว่าเพิ่มเพียง 12 บาท ซึ่งการเพิ่มเป็น 400 บาทนี้ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดด ในอดีตเราก็มีประสบการณ์ จากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้นได้เพราะเกิดการจ้างงานมีรายได้ ตัวเลข GDP ภายในจังหวัดดีขึ้น แต่ตอนนี้ GDP ระดับจังหวัดดีแค่ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดให้มีค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ นี่เป็นหลักการ ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้ได้ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

ที่มา: เดลินิวส์, 10/12/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net