Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้องคดีอาญา บริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการ ให้สัมภาษณ์สื่อวิจารณ์ใช้ฉลามวัยอ่อนทำอาหารหมา-แมว ชี้เป็นเสรีภาพแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ได้รับการคุ้มครองตาม กม.

 

7 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก 'Green News' หรือสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงานวันนี้ (7 ธ.ค.) เมื่อเวลาราว 10.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องกรณีบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการขายอาหารสัตว์เลี้ยง ในฐานะโจทก์ ยื่นฟ้อง ดร.เพชร มโนปวิตร นักอนุรักษ์และนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เนื่องจากบทความสัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการนำปลาฉลามมาจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเล โดยโจทก์ผู้ฟ้อง กล่าวหาว่า บริษัทได้รับความเสียหายจากบทความดังกล่าว ทำให้ยอดขายปลาฉลามอบแห้งของบริษัทลดลง

ศาลชี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต การไม่เห็นด้วยกับการบริโภคปลาฉลามทุกกรณี เพราะจะทำลายระบบนิเวศนั้นไม่มีเจตนาทำให้โจทก์เสียหาย พิพากษายกฟ้อง

คดีดังกล่าว ศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า 

1.ข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไม่ใช่หมิ่นประมาท เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นตามปกติธรรมดาทั่วไป

ในความผิดฐานหมิ่นประมาทข้อความที่จะเป็นการหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นและทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่ข้อความที่ว่า "จากสัตว์นักล่าสู่จานอาหารหมา กรณีการนำฉลามวัยอ่อนมาทำเป็นอาหารน้องหมาน้องแมว และโฆษณากันกระหึ่มแบบนี้ดูจะเป็นบทสรุปของการอนุรักษ์ทะเลจริงๆ เพราะมันสะท้อนถึงการขาดความรู้ความเข้าใจความสำคัญของปลาฉลามในขณะที่มาตรการเชิงกฎหมายก็ยังเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างไร้การควบคุมทะเลที่ดีคือทะเลที่มีฉลาม" เป็นการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นตามปกติธรรมดาทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับการบริโภคปลาฉลามทุกกรณี เพราะเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเลตามที่เน้นย้ำในตอนท้ายว่า ทะเลที่ดีคือทะเลที่มีฉลาม

2. จำเลยมิได้มีเจตนาทำลายชื่อเสียงโจทก์ เป็นเพียงการแสดงความห่วงกังวลในฐานะนักสิ่งแวดล้อม

แม้จะลงคลิปโฆษณาสินค้าอาหารแมวหมาที่มีเครื่องหมายการค้าหรือตราสินค้าของโจทก์ที่ทำจากปลาฉลามอบแห้งประกอบด้วยก็ตาม ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นไปตามที่ปรากฏในคลิปโฆษณาขายอาหารหมาแมวที่ทำมาจากปลาฉลามอบแห้งทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อของโจทก์หรือยี่ห้อใด หากทำมาจากปลาฉลามแล้วก็ไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น 

ทั้งยังโพสต์โดยเข้าใจว่า ผู้ขายมีเพียงแค่ขาดความรู้ความเข้าใจสำคัญของปลาฉลามเท่านั้น มิใช่ขาดไร้จิตสำนึกมุ่งทำลายชื่อเสียงของโจทก์อย่างที่โจทก์เข้าใจ และการที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ ในฐานะที่ปรึกษาองค์กร ไวล์ดเอด (WildAid Thailand ช่วยสัตว์ป่า) และรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อทราบเรื่องนี้รู้สึกตกใจ เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ฉลามมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนอกจากเมนูหูฉลามที่ควรจะหมดไป กลับพบว่ามีความพยายามจะใช้ประโยชน์จากฉลามในแง่อื่นด้วย 

เช่น การนำเนื้อฉลามมาบริโภคหรือแม้แต่การนำฉลามวัยอ่อนมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงเช่นนี้ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เมื่อได้อ่านข้อความให้สัมภาษณ์ทั้งหมดแล้ว ก็ยิ่งทำให้เจตนาของจำเลยที่ 2 ที่กังวลเกี่ยวกับการประมง แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ทำประมงปลาฉลาม แต่การนิยมบริโภคฉลาม หรือผลิตภัณฑ์จากปลาฉลาม สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในความสำคัญของปลาฉลาม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากปลาทั่วไปที่โตช้า และขยายพันธุ์ได้ยาก ล้วนไม่ได้มีเจตนาใส่ความโจทก์อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ทั้งนี้ คดีอาญาโจทก์สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ และบริษัทฯ โจทก์ได้ยื่นฟ้อง ดร.เพชร เป็นคดีแพ่งในข้อหาละเมิดโดยการโฆษณาหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย จำนวน 297,962 บาท ต่อศาลแขวงดอนเมืองอีก 1 คดี โดยนัดไกล่เกลี่ย ในวันที่ 17 มกราคม 2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net