Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจัดกิจกรรมระดมทุน '13 ปี พีมูฟ สู่สังคมที่เป็นธรรม' เสวนาหัวข้อ 'อดีต ปัจจุบัน อนาคต พีมูฟ' ชี้พีมูฟได้ 'สถาปนาแนวคิดเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน-การคุ้มครองการทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพี่น้องกลุ่มที่มีความหลากหลายต่าง-สิทธิชุมชน' มาอย่างต่อเนื่อง


ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

2 ธ.ค. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จัดกิจกรรมระดมทุน “13 ปี พีมูฟ สู่สังคมที่เป็นธรรม” ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน อาทิ รำลึกวีรชน, การระดมทุนผ้าป่าสามัคคี, การเสวนาวิชาการ, ซุ้มอาหารเครื่อข่าย งานวัฒนธรรม เป็นต้น

บรรยากาศเวลา 15.00 น. มีเวทีแลกเปลี่ยนเสวนาหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต พีมูฟ” นำโดย จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), จํานงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาขบวนการพีมูฟ และพชร คำชำนาญ เลขานุการขบวนการพีมูฟ

ในตอนหนึ่งของการเสวนา จํานงค์ จิตรนิรัตน์ กล่าวถึงการก่อตั้งพีมูฟว่า จากการเกิดขึ้นของสมัชชาคนจนในยุคนั้น เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในรอบร้อยปี รวบรวมกลุ่มเครือข่ายคนจนทั่วประเทศ แล้วมีข้อเสนอเจรจากับรัฐบาลอย่างเข้มข้น จึงเกิดคำว่า “การเมืองบนท้องถนน” “ประชาธิปไตยกินได้” “คนจนทั้งผองพี่น้องกัน”

“แม้ว่าการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนในยุคนั้นจะไม่สำเร็จทั้งหมด แต่ได้วางรากฐานบางอย่างไว้ ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความระมัดระวัง ต่อมาสมัชชาคนจนถูกทำให้อ่อนแอจากการเมืองใหญ่ในตอนการเมืองสีเหลืองสีแดง” จํานงค์กล่าว

จํานงค์กล่าวว่า ประชาชนมีการบ่มเพาะกำลัง การพบปะพี่น้องที่แก่งสะพือ จ.อุบลราชธานี มีการคุยกันเพื่อรวมตัวภาคประชาชนต่างๆ มีการนัดชุมนุมในนามพีมูฟครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งได้รับการตอบรับจากสาธารณชน ที่เบื่อการเมืองสงครามสี จากนั้นมา พีมูฟก็ได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

ด้าน จำนงค์ หนูพันธ์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่าถ้าปัญหาประชาชนยังคงอยู่ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ภาคประชาชนเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะพีมูฟ

“หลายคนมองว่าพีมูฟสู้ในรายกรณีมาตลอด ซึ่งเรามองว่าการต่อสู้เป็นการรวมกลุ่ม อย่างน้อย 9 เครือข่ายทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจากการสู้ 13 ปีที่ผ่านมา ทั้งการชุมนุม ประท้วง การยื่นข้อเสนอรัฐบาล ได้คุยกับทุกรัฐบาล ความเดือดร้อนประชาชนรอไม่ได้ ต้องคุย ไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ หรือเลือกตั้งมา จนสร้างความสำเร็จให้พีมูฟ” จำนงค์กล่าว

จำนงค์กล่าวอีกว่า หนึ่งความสำเร็จที่ผ่านมาคือเรื่องการจัดการถือครองที่ดิน ที่ดินคือชีวิต ถ้าทุกคนไม่มีที่ดินถือว่าทุกคนไม่มีความมั่นคง โดยปี 2554 เราร่วมกันหลายภาคส่วนผลักดันการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. ร่วมกันทั้งกำลังกาย กำลังใจ ไม่ใช่พีมูฟอย่างเดียว ซึ่งการที่จะให้รัฐลงงบประมาณให้กับพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องยากมาก ถ้านอนอยู่บ้านรับรองว่าไม่ได้ เราจึงต้องออกมาสู้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อประชาชนมารวมตัวกันมันจะทำสำเร็จได้

“พีมูฟทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม และพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่ได้ปิดกั้นว่าเป็นเรื่องของสมาชิกพีมูฟเท่านั้น แต่เราเปิดกว้างทั้งประเทศ ถ้าติดขัดตรงไหนพี่น้องแจ้งมาได้ พีมูฟก็พร้อมจะช่วยดำเนินการ” จำนงค์เผย

จำนงค์กล่าวว่า มีประเด็นมากมายผ่านมา 13 ปี เราจึงได้มาคุยกันว่าเราต้องทำนโยบายเพื่อปรับโครงสร้าง เราเสนอนโยบายทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ถ้ามีคนเอาไปผลักดันต่ออย่างน้อย 10 ข้อนโยบายของพีมูฟ

“เราเชื่อว่าถ้า 10 ด้านของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ถ้าได้ถูกบรรจุในนโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง จะสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ทั้งประเทศ” นายจำนงค์ชี้

จำนงค์กล่าวว่า 13 ปีมาแล้ว เรายังไม่มีความเป็นธรรมสำหรับคนทั้งประเทศ เราจะเห็นการรำลึกวีรชนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ ตอนนี้เราเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ยืนหยัดมารับช่วงต่อแน่นอน

“หลายคนถามว่า ทำไมเราไม่ทำพรรคการเมืองเลยถ้าปัญหาเยอะขนาดนี้ แต่เรามองว่าเรายืนข้างประชาชน เราจะสามารถทำงานได้กับทุกพรรคการเมือง เราทำได้ทุกนโยบาย เราจะทำงานกับทุกรัฐบาลทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง หรือยึดอำนาจมาก็ตาม ที่ผ่านมามันไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ แต่มันต้องไปจบที่ทำเนียบรัฐบาล มันเป็นปัญหาหลักที่ทุกรัฐบาลต้องแก้ ความไม่เป็นธรรมในสังคมมีมานานแล้ว แม้มันจะมีต่อไป แต่พีมูฟก็จะยืนเคียงข้างประชาชน” จำนงค์เผย

ด้าน พชร คำชำนาญ กล่าวว่า สำหรับตน พีมูฟเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ด้วยความที่เราโตมาในสถานการณ์รัฐประหารตอนปี 2557 เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย แต่ขณะเดียวกันพี่น้องต้องเผชิญชะตากรรมอย่างหนัก จากนโยบายทวงคืนผืนป่า มีการฟ้องร้องกว่า 40,000 คดี ชาวบ้านถูกจับกุมติดคุกไล่รื้อ ต่อมาผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรา 44 ในการยกเลิกผังเมือง

“เป็นอีกโลกหนึ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันระหว่างที่พวกเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การกดขี่ของเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะเดียวกัน พวกเราได้รับผลกระทบเหมือนกัน สำหรับผมการที่ได้มาอยู่ในขบวนของพีมูฟ ก็เลยเป็นเหมือนห้องเรียนการเมือง เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้ ความเจ็บปวดของพี่น้องในพื้นที่ จะไม่มีทางถูกบอกเล่าในประวัติศาสตร์แบบเรียนกระแสหลักของรัฐไทยที่เป็นแบบนี้”

“พีมูฟเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้พวกเราเข้ามาร่วมออกแบบ เติมเต็มสิ่งที่พวกเราฝันถึงสังคมดีกว่า ยังคงเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เชื่อมั่นในการลงถนน แม้จะถูกปิดกั้นเสรีภาพอย่างมากมาย” นายพชรกล่าว

พชรกล่าวว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพีมูฟในปี 2563 ในสถานการณ์ที่ไม่ใช่การเมืองเหลืองแดง แต่เป็นสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ในเมืองออกมาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ กับข้อเรียกร้องใหม่ซึ่งพวกเราไม่แน่ใจว่าก้าวไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ พวกเรามีการพูดคุยถกเถียงกันหลายครั้ง แต่สุดท้ายกระแสการเปลี่ยนแปลงนำพาเรามาถึงจุดนี้ จุดที่พี่น้องยกระดับข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย ที่ไม่ใช่เพียงการแก้ไขปัญหา และไม่ใช่เพียงการเรียกร้องเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิในการจัดการที่ดิน แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวในปีที่แล้ว การเปิดพื้นที่ของเราและก็เชื่อมร้อยขบวนของพี่น้องคนรุ่นใหม่ ที่ต่อสู้ในข้อเรียกร้องที่กว้างกว่า ใหญ่กว่า และแหลมคมกว่า ให้เข้ามามีบทบาทเเละเข้ามามีส่วนร่วมในขบวน ถ้าวันนั้นเราตัดสินใจอีกแบบ ภาพลักษณ์ของพีมูฟก็จะเป็นอีกแบบ คงไม่ได้เป็นพีมูฟที่พวกเราอยู่ด้วยกันตอนนี้

“พีมูฟเป็นขบวนที่รวบรวมกลุ่มปัญหาที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรที่ไร้ที่ดิน คนจนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ พวกเรารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เรียกร้องสิทธิที่จะมีสวัสดิการที่ดี เรียกร้องสิทธิที่จะอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ขบวนการของพีมูฟได้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของพวกเราไม่มีทางที่จะมีภูมิคุ้มกันได้ดีกว่านี้ หากปราศจากความหลากหลายของกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะว่าพี่น้องพีมูฟคือ 1 ในประชากรจำนวน 99% ที่หล่อเลี้ยงประเทศนี้ ฉะนั้นไม่มีทางที่พวกเราจะถูกตัดออก หรือว่าไม่อยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆ ได้ของรัฐบาล

“พีมูฟได้สถาปนาแนวคิดเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน สถาปนาแนวคิดเรื่องการคุ้มครองการทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพี่น้องกลุ่มที่มีความหลากหลายต่างๆ และสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งสถาปนาและสานต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง”

พชรกล่าวว่า พีมูฟในอนาคตยังคงดำเนินบทบาทเดิม แต่ว่าอาจจะเดินหน้าทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเรื่องการเชื่อมร้อยขบวน สร้างความเข้าใจต่อสังคมมากขึ้นในประเด็นที่พี่น้องพีมูฟเรียกร้อง รวมถึงขยายประเด็นสู้เรื่องที่ใหญ่กว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลกตอนนี้ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์เรื่องของนโยบายต่างๆ ที่จะกระทบกับพวกเรา เช่น นโยบายคาร์บอนเครดิต

“พวกเราเชื่ออย่างยิ่งว่าการแก้ไขปัญหา การบรรลุเป้าหมายสังคมที่เป็นธรรมจะไม่ใช้เวลาแค่ 13 ปี แต่ว่าพวกเราพร้อมที่จะต่อสู้ต่อไป แม้ว่าเราจะต้องส่งความเจ็บปวดเหล่านี้ให้กับลูกหลาน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยากส่งต่อก็ตาม” พชรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net