Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศพม่าที่ยังคงคุกรุ่นและมีแนวโน้มว่าจะขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อไทยทั้งเรื่องผู้ลี้ภัย ศูนย์ผู้อพยพ ถือเป็นปัญหาที่รัฐไทยต้องทบทวน


ที่มาภาพ: สวท.แม่สะเรียง

สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศพม่าในขณะนี้ ยังคงคุกรุ่นและมีแนวโน้มว่าจะขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างหนัก หลังถูกการโจมตีของทหารรัฐบาลพม่าด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด ใส่กองกำลังทหารในรัฐคะยา นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กองทัพอากาศพม่า ยังนำเครื่องบินถล่มศูนย์อพยพชาวกะเหรี่ยงคะยา บริเวณดอว์นกกุ ส่งผลให้ผู้อพยพในเขตรัฐคะยา กว่า 5 พันคนทะลักหนีตายเข้าสู่ศูนย์อพยพบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้มีผู้อพยพหลบหนีภัยสงคราม เข้ายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คาดการณ์กันว่าในขณะนี้มีประมาณ 6,000 คน 

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดบริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลังจากมีสถานการณ์การสู้รบในรัฐคะยา(Kayah State) เป็นรัฐอีกรัฐหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนไทย โดยมีพื้นที่ติด จ.แม่ฮ่องสอน ส่งผลให้มีผู้หนีภัยการสู้รบมายังชายแดนไทยเป็นเวลานานหลายเดือนแล้วว่า สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะในประเทศเพื่อนบ้านหรือในประเทศของเรา ก็ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง

“ก็ยังมีการปฏิบัติการโจมตีของฝ่ายทหารของพม่าอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าตอนนี้ ทหารพม่าเขาไม่ได้โจมตีในทางบกแล้ว แต่จะใช้เครื่องบินเป็นหลัก ก็เลยทำให้หลายพื้นที่ที่อยู่ข้างในถูกโจมตี แต่หนักสุดก็คือจะเป็นโซนพื้นที่สาละวินนี่แหละ ซึ่งการที่ทหารพม่าใช้เครื่องบินรบ ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพ หลายหมู่บ้านตอนนี้กลายเป็นหมู่บ้านร้าง เนื่องจากชาวบ้านต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่า เด็กนักเรียนก็ไม่ได้ไปเรียนตามปกติ ชาวบ้านจะกลับมานอนมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของตัวเองก็ทำไม่ได้ เพราะว่าทหารพม่ามันโจมตีโดยไม่ได้บอกกล่าว และโจมตีไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เป็นโบสถ์ วัด โรงเรียน บ้านเรือนพลเรือน มันก็โจมตีหมด ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าอยู่ในบ้านต้องหนีออกไปนอนอยู่ตามห้วยตามป่า ซึ่ง ณ ตอนนี้ ยังมีชาวบ้านที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามป่า จำนวนเยอะมาก ที่อพยพมาตามแนวชายแดนก็อีกส่วนหนึ่งที่ยังค้างอยู่อีกหลายจุด อย่างเช่น ศูนย์อพยพบ้านเสาหิน ชายแดนไทย-เมียนมา ที่ชาวกะเหรี่ยง ในรัฐคะเรนนี อพยพมาหนีภัยสงคราม แล้วก็อยู่แถวฟากตรงข้ามของพื้นที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ขณะนี้ก็ยังตกค้างอยู่ยังไม่สามารถจะกลับเข้าไปในบ้านเรือนได้  แต่คือส่วนใหญ่ที่เขาอยู่ข้างใน มีจำนวนประมาณ 1แสนคนเลย”

พงษ์พิพัฒน์ บอกอีกว่า นอกจากนั้น ยังมีผู้อพยพลี้ภัยมาอยู่ฝั่งไทยตอนนี้  ตัวเลขคร่าวๆ น่าจะประมาณ 6,000 คน เพราะแค่เฉพาะศูนย์อพยพบ้านเสาหิน ก็ประมาณ 3,000 คน ที่บ้านพะเข่ อำเภอขุนยวม

อีกเกือบพันคน และที่บ้านจอภาคี บ้านอุนุ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง อีกร่วมพันคนแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงพื้นที่ที่เราเข้าไปไม่ถึงที่ประชิดชายแดนที่ไม่ได้ใกล้กับหมู่บ้านไทย ยังไม่รู้อีกจำนวนเท่าไหร่  แล้วที่หลบหนีอยู่ในคือเขตประเทศเพื่อนบ้านของเราอีกไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้เส้นทางก็ถูกปิดหมดแล้ว ก็คือชาวบ้านกลุ่มนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือในเรื่องของมนุษยธรรมได้ ตอนนี้ไม่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือเลย เพราะมีรายงานว่า สถานการณ์มันไม่ปลอดภัย แต่ที่ข้ามมาอยู่ในฝั่งไทยแล้ว ตอนนี้ ก็จะมี ทางอำเภอ ให้ทางมหาดไทยเป็นคนดูแลร่วมกับทางทหาร ตอนนี้ก็จัดให้อาศัยอยู่ในเต็นท์ อยู่ในซุ้มชั่วคราว


พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ

ทั้งนี้ นายพงษ์พิพัฒน์ ยังได้เรียกร้องสื่อสารไปยัง นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ด้วยว่า ควรจะหยิบยกประเด็นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของมนุษยธรรม คือทางรัฐบาลไทยควรจะให้กลุ่มองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำงานด้านมนุษยธรรมเข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นหลักก่อนในตอนนี้ 
“แต่ในระยะยาว ผมคิดว่า รัฐบาลไทยควรจะหยุดให้ความร่วมมือกับกับรัฐบาลพม่าไปก่อน เพราะตอนนี้คือรัฐบาลพม่าเองก็ไม่ใช่เป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโลก  แต่การที่รัฐไทยไปให้ความร่วมมือรัฐบาลพม่าทางอ้อม อย่างเช่น การร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ซึ่งอาจเป็นความร่วมมือในเรื่องของการทหาร หรือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งที่จริงมันเป็นการใช้ความสัมพันธ์นี้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้ทหารพม่าพวกนี้เข้ามาควบคุมพื้นที่ เพื่อที่จะปราบปรามชาวบ้านมากกว่า ซึ่งตรงนี้ เราไม่เห็นด้วยเลย ดังนั้น รัฐบาลไทยเองก็ควรทบทวนและหยุดความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าไปสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะให้สถานการณ์นี้คลี่คลาย” 

นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน ยังบอกอีกว่า อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน ที่จริงแล้วเป้าหมายลึกๆ ก็คือเครื่องมือในการที่จะควบคุมและทำให้เกิดสงครามในกลุ่มชาติพันธุ์นั่นเอง เพราะว่ามีพี่น้องที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนหน้านั้น ก็มีการค้าขายออกมาตลอดทั้งฝ่ายไทย ทั้งฝั่งรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา แต่พอมีข่าวจะสร้างเขื่อนสาละวินขึ้นมา ถ้าเราดูแล้ว โครงการนี้มันมุ่งจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือเป็นประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของความไม่สงบในพื้นที่ รวมไปถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าด้วย มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไปหมด ก็คือทุกอย่างที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นเหมือนการวางแผน หรือสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดคือการสู้รบ เพราะว่ามันไปเชื่อมโยงถึงเรื่องของทรัพยากรในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

“ผมมองว่า โครงการสร้างเขื่อนสาละวิน ก็เป็นเครื่องมือในการที่จะควบคุม ทำให้เกิดสงครามในกลุ่มชาติพันธุ์นั่นเอง ซึ่งรัฐบาลพม่าก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ตนมองว่า รัฐบาลไทย ก็ไม่ควรที่จะร่วมมือหรือผลักดันโครงการเขื่อนสาละวิน เพราะที่ผ่านมา เราเห็นชาวบ้านเขาคัดค้านมาตลอดทั้งสองฝั่งมาเกือบ 10 กว่าปี ซึ่งก่อนหน้าดูเหมือนจะล้มเลิก แต่พอ คสช.เข้ามาก็เกิดการรื้อฟื้นโครงการนี้ใหม่ แล้วตอนนี้ มีรัฐบาลเศรษฐาก็มีแนวโน้นจะผลักดันอีก  ซึ่งจะทำให้ในอนาคต อาจจะกระทบในเรื่องความมั่นคง  กระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวบ้านทั้งสองฝั่ง ที่อยู่ในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ  เพราะยังไม่หยุด ก็เหมือนไปสนับสนุนเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะว่ามันเป็นโครงการที่ไม่ใช่แค่มีผลกระทบแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลย อีกทั้งตัวโครงการเองก็มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเยอะ มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนและกลุ่มทุนไทยด้วย”


ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

นายพงษ์พิพัฒน์ ได้บอกว่า ขอเสนอเรียกร้องให้ทบทวนเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะต้องทบทวน หรือตัดการทูตอะไรไปก่อน เพราะว่าตอนนี้ถึงแม้ว่าคุณจะมีปัจจัยร่วมมือกับทหารพม่า แต่ในพื้นที่ชายแดนพม่า เราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมทุกอย่างได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า ก็ปิดอยู่แล้ว หรือเรื่องของความมั่นคง ไทยเราก็ไม่มีแม้จะออกมาปรามขู่พม่า กรณีใช้เครื่องบินบินมาประชิดเขตแนวชายแดน คือมันน่าจะมีรัศมีเขตห้ามบินในเขตชายแดน ซึ่งมันส่งกระทบต่อชีวิตความปลอดภัยของชาวบ้านที่อพยพหนีภัยสงครามมาถึงแนวชายแดนแล้ว แต่ถูกเครื่องบินทหารพม่าทิ้งระเบิดลงมาทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยล้มตาย 

“ซึ่งผมมองว่ามันน่าจะมีการกำหนดรัศมีเขตห้ามบินของทหารพม่า เพื่อความปลอดภัยของพลเรือน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา คนพิการ คนไข้คนป่วย ต้องมาเจอกับความสูญเสียนี้ด้วย ที่ผ่านมา ก็เคยเกิดเหตุการณ์เครื่องบินของทหารพม่าบินเลยเข้ามาในเขตน่านฟ้าของประเทศไทยในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งก็มีการแก้ตัวกันขุ่นๆ ว่าไม่รู้ ซึ่งตนมองว่านี่เป็นการแก้ตัวแทนให้ทางทหารพม่ามากกว่า โดยที่พม่าไม่ได้ออกมาพูดแม้แต่คำเดียว แทนที่จะออกมาปกป้องอธิปไตย แต่กลายมาเป็นการอธิบายแทนทหารพม่า โดยที่ทางพม่าไม่ได้ออกมาตอบโต้อะไรสักอย่าง ดังนั้น ผมอยากเสนอให้ทางอาเซียน และประชาคมโลก เข้ามาดำเนินการกดดัน จัดการปัญหาสงครามในพม่าไปเลย โดยเฉพาะเข้าไปจัดการปัญหาเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า อยากให้เข้าไปกดดัน หรือนำกองกำลังของนานาชาติเข้าไปควบคุมเลย”


เลาฟั้ง บัณฑิตเลิศสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเลิศสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล บอกว่า ที่ผ่านมา ทางพรรคก้าวไกล มีการผลักดันที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนสถานการณ์ อันที่หนึ่งก็คือว่า ทางองค์กรแหล่งทุนต่างประเทศที่เคยสนับสนุน เขาลดการช่วยเหลือลง เพราะฉะนั้น ผู้อพยพคนที่อยู่ในส่วนผสมคือต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นจำนวนมาก สอง ก็คือว่า จำนวนคนตอนนี้ เท่าที่ทราบตัวเลขก็ประมาณอย่างน้อย 70,000 คน กับอีก 9 แคมป์ แล้วที่แบบซ่อนเข้ามา ก็คือสถานการณ์การเมืองในพม่า มันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเป็นผู้ลี้ภัย แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในศูนย์อพยพ แต่เขาก็เป็นผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้ มัน Sensitive มันอ่อนไหวมาก ตรงที่บางคนเขาถูกไล่ล่าอยู่ แล้วเคยมีประวัติที่แบบจับตัวคนที่รัฐบาลพม่าเขาไล่ล่า พอเจ้าหน้าที่ไทยจับเสร็จแล้วก็ส่งกลับไป แล้วก็ได้รับโทษประหารชีวิต ก็จะเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มคนที่แบบหลบหนีเข้ามาด้วยปัญหาเรื่องการเมืองเข้ามาก็เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเหมือนกัน 

“และกลุ่มสุดท้าย จะเป็นกลุ่มที่เราจัดการได้ยากที่สุด คือว่าคนที่อยู่ในศูนย์อพยพ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาผู้อพยพ นั้นมีมาหลายยุคสมัย และพอมาในยุคสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ มีการเอาความจริงมาเปิดเผย ก็คือจำนวนผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพมีจำนวนเยอะมาก แต่การช่วยเหลือกลับลดลง แล้วก็คนที่อยู่ในศูนย์อพยพ เขาต้องช่วยเหลือตัวเอง ในทางปฏิบัติตอนนี้คือเขาก็ต้องออกจากศูนย์อพยพ ไปรับจ้างตามชุมชนรอบๆ ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นไปแบบนี้  แต่ว่ามันผิดกฎหมายนะ แล้วเราจะจัดการยังไงกับสถานการณ์ที่มันคลุมเครืออย่างนี้  แล้วรัฐสมัยใหม่ เราก็ต้องไปสัมพันธ์กับหลักการหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศและการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการมนุษยธรรม ถ้าเราทำไม่ดีต่างประเทศเขาก็โจมตีเรื่องนี้ เราก็เสียภาพลักษณ์ ดังนั้น ถ้าเราต้องจัดการ ก็ต้องจัดการให้มันดี ที่มันจะละเอียดอ่อน ก็คือส่วนหนึ่ง การที่มีผู้อพยพมากๆ มันกระทบต่อคนที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น เราจะทำยังไงเพื่อที่จะดูแลเขาได้ โดยจะไม่ทำให้เขาเป็นปัญหาต่อคนไทยเราด้วย ก็อาจจะต้องนึกถึงว่า ทำยังไงสังคมไทยเราถึงจะได้รับประโยชน์จากการที่มีคนกลุ่มแรงงาน ซึ่งพวกเขาจะมีสกิลในระดับหนึ่ง  แล้วเราก็ได้ประโยชน์จากการที่ให้เขาอยู่กับเรา โดยเขาก็มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูตัวเองในภาวะที่เขาไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือถูกลดการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ” สส.เลาฟั้ง บอกเล่า

เช่นเดียวกับ ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้พูดประเด็นปัญหาความขัดแย้งในพม่า เอาไว้ในเวทีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ “ผู้สื่อข่าว สื่อสารมวลชนกับการนำเสนอความขัดแย้งและการทารุณกรรมหมู่” ที่จัดขึ้นที่โรงแรมราชพฤกษ์ เพลส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ว่า สมัยที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมพม่าได้ใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งตอนนั้นอังกฤษทำได้ แต่สมัยนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว ตอนที่สอนนักศึกษาพม่าเคยถามว่าอะไรที่พวกเขาอยากวิจัยหรือทำการศึกษามากที่สุด คำตอบคือพวกเขาอยากเข้าใจเรื่องการปกครองในระบอบสหพันธรัฐมากที่สุด ที่น่าสนใจคือก่อนหน้านั้นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนหรืออยู่ในไทย เขาไม่สามารถรวมตัวกันได้

“อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในเพื่อนบ้าน เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยง เช่น ผู้หนีภัย ทั้งหนีภัยชั่วคราว หรือบางส่วนไม่สามารถกลับประเทศได้ หากเปรียบเทียบกับเมื่อปี 88 มีความแตกต่างกัน ในยุคนั้นเขาหลบซ่อนก่อนเข้ามาและไปประเทศที่ 3 รัฐบาลไทยในอดีตยอมรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ปัจจุบันไม่มี ทั้งๆ ที่ควรให้การคุ้มครองพวกเขา และก็ไม่มีการแยกแยะว่าคนกลุ่มหนึ่งมาตามตะเข็บชายแดน เมื่อการสู้รบจบลงเขาต้องการรีบกลับบ้าน แต่อีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาลึกในประเทศ การจัดการระหว่างคนสองกลุ่มควรแตกต่างกัน โดยสมัยก่อนเรามีที่พักพิงชั่วคราว แต่ตอนนี้รัฐไทยพูดเสมอว่าไม่ต้องการให้เกิดที่พักพิงชั่วคราวอีกแล้ว ดังนั้นรัฐไทยจะทำอย่างไร จริงๆ แล้วประเทศไทยต้อนรับแรงงานข้ามชาติ แทนที่เราผลักดันให้คนที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวซึ่งรอไปประเทศ 3 จำนวนหนึ่งที่ไปไม่ได้ก็ควรเอามาเป็นแรงงาน และกลุ่มที่หนีภัยชั่วคราว” ดร.ศรีประภา กล่าว


ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ที่มาภาพ: Faculty of Graduate Studies, Mahidol University

ดร.ศรีประภา กล่าวด้วยว่า ควรทบทวนนโยบายรัฐไทย เพราะเราไม่มีความชัดเจนเลย ประเทศอื่นในอาเซียนเขาชัดเจนกว่า บางประเทศเขาไม่ยอมที่รัฐบาลเข่นฆ่าประชาชน หรือบางประเทศประกาศตนชัดว่าเห็นใจพม่า ถึงเวลาแล้วที่เรามีรัฐบาลใหม่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ จึงควรทบทวนนโยบายด้านพม่า

 

ข้อมูลประกอบ
3 นักวิชาการแนะ “รัฐบาลเศรษฐา”ทบทวนนโยบายพม่า เผยสถานการณ์สู้รบรุนแรง-ควรเร่งรับมือ, สำนักข่าวชายขอบ, 23/11/2023

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net