Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หลังจากการถึงแก่อนิจกรรมของนายอาศิส พิทักษ์คุ้มพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของไทย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  การเรียกร้องให้มีจุฬาราชมนตรีคนใหม่ก็เกิดขึ้นทันที

ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกันว่า “จะรีบกันทำไม” ปรากฎการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องปกติของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมประชาธิปไตย แน่นอนว่าในทุกสังคม ชุมชน องค์กร ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำ ผู้บริหาร ผู้ปกครองเพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการให้แก่สมาชิกในสังคม ชุมชน องค์กรนั้นๆ ดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผนที่ถูกต้อง 

เฉกเช่นเดียวกันในสังคมมุสลิมไทย จุฬาราชมนตรีถือเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามสูงสุดในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาในทำเนียบศักดินาตำแหน่งขุนนางของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2145 ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีท่านแรกคือเจ้าพระยาบวรราชนายกหรือเฉกอะหมัด 

แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน เริ่มแรกในรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในปี พ.ศ.2488 ซึ่งในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรียังเป็นไปตามแนวคิดระบบอุปถัมถ์ โดยจะเห็นได้จากการแต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นผู้ติดตามใกล้ชิดของปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น 

อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารงานองค์กรศาสนาอิสลามอย่างเป็นระบบมากขึ้นจากกว่ายุคที่ผ่านมา ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีกฎหมายรองรับโดยเริ่มจากการมีพระราชกฎษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปภัมถ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 ที่กำหนดให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ในเรื่องที่จะทรงอุปภัมถ์ศาสนาอิสลาม พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2491 

จากนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้ใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน ที่ระบุให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย โดยให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าให้ทรงแต่งตั้ง ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ (พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540) ยังได้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน 

สำหรับจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ท่านแรก คือจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ของไทยคือนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 และในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีมติให้นายอาศิส พิทักษ์คุ้มพล เป็นผู้สมควรคำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จนถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา 

จากข้อมูลดังที่กล่าวมาข้างต้น บอกกับเราได้ว่า อดีตจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ได้ถึงแก่อนิจกรรมหรือเสียชีวิตลงไปในวันที่ 24 มีนาคม 2553 และจัดให้มีการเลือกตั้งกันในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ใช้เวลาห่างเกือบ 2 เดือน (1 เดือน กับ 22 วัน) จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง 

ณ วันนี้ อดีตจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ประกอบกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดปัจจุบันจะหมดวาระในปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีคนใหม่ ถ้ารอให้ได้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ก่อนแล้วค่อยเลือกจุฬาราชมนตรีไม่ได้เชียวฤา ....

นี่คือคำถามที่สังคมต้องการคำตอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net