Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยืนคำสั่งระงับเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง "ปฏิรูป" ของ Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนยูทูบอีกครั้ง โดยมองว่า เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อปลุกปั่นสถาบันกษัตริย์ ให้คนที่เกลียดชังแสดงความเห็น นำไปสู่ความรุนแรง-แตกแยก

 

17 ต.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (17 ต.ค.) ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ยืนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปวิดีโอเพลง "ปฏิรูป" ของวงฮิปฮอป Rap Against Dictatorship (R.A.D.) โดยให้ความเห็นว่า เนื่องจากเนื้อเพลงดังกล่าวมีการแต่งขึ้น เพื่อปลุกปั่นสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ ให้คนที่เกลียดชังเข้ามาแสดงความเห็น เป็นที่กระทบความรู้สึกของประชาชนที่มีความเคารพสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและเกิดการแบ่งแยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น คำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

 

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า วันนี้ (17 ต.ค. 2566) เมื่อเวลาประมาณ 09.40 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 ทนายความพร้อมด้วย "ฮอกกี้" เดชาธร บำรุงเมือง หนึ่งในศิลปินจากวงฮิปฮอป Rap Against Dictatorship เดินทางมาฟังคำพิากษา ด้านผู้ร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ได้มาฟังคำพิพากษาด้วยเช่นกัน 

เมื่อเวลา 09.55 น. ผู้พิพากษาศาลอาญาได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสรุปได้ว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้นชอบหรือไม่ ตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าเนื้อร้องตามเพลงปฏิรูปเป็นคำปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีการสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงผู้ใด ไม่มีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น 

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าวิดีโอเพลงปฏิรูปมีภาพการชุมนุม และการควบคุมชุมนุมของตำรวจ ส่วนเนื้อร้องมีการระบุชื่อ 'ประยุทธ์' และ 'ตู่' ซึ่งหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเนื้อร้องไม่ได้เจาะจงถึงพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเนื้อร้องทั้งหมดแล้วเห็นได้อย่างเนื้อเพลงที่ว่า เช่น "#tututu เลียตีนให้ตาย…" ซึ่งหมายถึงสถานะที่สูงกว่านายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นเจตนาในการปลุกปั่นให้คนที่มีความคิดเกลียดชังประเทศชาติออกมาแสดงความเห็นโดยไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ภาพและเนื้อหากระทบกระเทือนต่อความรู้สึกประชาชนจำนวนมากของประเทศที่เคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำไปสู่ความไม่พอใจ ความแตกแยก การใช้ความรุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อประเทศได้

ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นั้นเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรค 1 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน" 

รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรากฎหมายขึ้นไว้โดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ข้อความแทนว่า "มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา" 

ผู้ร้องสามารถจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ โดยการยื่นคำร้องซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม และรักษาความสงบให้กับประเทศชาติ 

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยคำร้องของผู้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น 

ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี ได้แก่ สุพจน์ อินทิวร, อาดม ศรียาภัย และ สมพงษ์ ฐิติสุริยารักษ์

การพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นนั้นมีผลให้วิดีโอเพลงปฏิรูปของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ถูกระงับการเผยแพร่เช่นเดิม 

ด้าน เดชาธร บำรุงเมือง หรือ "ฮ็อกกี้" กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษาว่า ยังต้องการที่จะต้อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับเนื้อความในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อาทิ การวินิจฉัยเนื้อเพลง "tututu เลียตีนให้ตาย…" ว่ามีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ ส่วนทนายความได้กล่าวย้ำว่าการที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน 

ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ศาลอาญาเคยมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลง "ปฏิรูป" ขอวง R.A.D. บนเว็บไซต์ยูทูบ จากกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง เนื่องจากเห็นว่าเนื้อเพลงโดยรวมกล่าวถึงการปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน มีข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อต้นปี 2564 คลิปวิดีโอเพลง "ปฏิรูป" ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การใช้กฎหมายกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย, การโจมตีรัฐบาลกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาเรียกเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม ได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ซึ่งมีข้อความระบุว่า "วิดีโอนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้จากโดเมนในประเทศ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล"

เมื่อตรวจสอบพบว่า 25 พ.ย. 2563 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ URLs คลิปวิดีโอเพลงดังกล่าว หลังไต่สวนผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยผู้ร้องกล่าวหาว่า เพลงดังกล่าวมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ต่อมา เมื่อ 23 ก.ย. 2564 เดชาธร บำรุงเมือง หรือ "Hochacker" หนึ่งในศิลปินวง R.A.D. ได้เข้ายื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลพิจารณาจากฝ่ายผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยที่ผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้ง พร้อมทั้งยืนยันว่าเนื้อหาของเพลงไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

ในวันดังกล่าวศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง พร้อมนัดไต่สวนคำร้องให้ปิดกั้น URLs เพลง "ปฏิรูป" ตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ อีกครั้ง ภายหลังการไต่สวนถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง ก่อนสามารถไต่สวนเสร็จสิ้นในวันที่ 11 พ.ค. 2565

ศาลสั่งระงับอีกครั้ง มองเพลงหยาบคาย แสดงความเห็นกระทบความมั่นคง 

ศาลมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิปเพลง "ปฏิรูป" ตามคำร้องของผู้ยื่นคำร้อง โดยสรุประบุว่า เนื้อเพลงเข้าใจได้ว่าเกี่ยวกับความมั่นคง มีบางตอนที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และนายกรัฐมนตรี โดยรวมเนื้อหาทำนองให้พัฒนาปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน บางตอนมีถ้อยคำเปรียบเปรยถึงพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สมควรเผยแพร่ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและบุคคลทั่วไป

การแสดงความคิดเห็นใต้คลิปเพลง ยังมีข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่ผู้ยื่นคำร้องนำสืบ

ส่วนที่ผู้คัดค้านนำสืบอ้างว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่เสรีภาพดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ จึงไม่ได้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง

พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์คลิปเพลง "ปฏิรูป" ตาม URLs ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 20 

คำสั่งลงนามโดย เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา

หลังจากนั้น ทนายความ และวง R.A.D. ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง และมีคำสั่งวันนี้ (17 ต.ค.) ระงับการเผยแพร่อีกครั้งตามที่รายงานข้างต้น

อนึ่ง Rap Against Dictatorship (R.A.D) หรือ ที่รู้จักกันในวงกว้างจากเพลง "ประเทศกูมี" เป็นกลุ่มศิลปินแรปเปอร์ที่ออกมาเป็นเรียกร้องและเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเผด็จการ การเรียกร้องสิทธิสมรสเท่าเทียม หรือเรื่องสิทธิของคนชายขอบที่ถูกปัดตกจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย ในรูปแบบของตัวเองผ่านวัฒนธรรมเสียงเพลงแรป และวิถีฮิปฮอป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net