Skip to main content
sharethis

เปิดรายงาน 'ผลการสํารวจค่าใช้จ่ายที่จําเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทํางานในภาคอุตสาหกรรม' ปี 2563-2564 พบปี 63 แรงงานแรกเข้าทํางานได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 348.97 บาท มีค่าใช้จ่ายที่จําเป็นเฉลี่ยวันละ 282.44 บาท ปี 64 ได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 356.36 บาท มีค่าใช้จ่ายที่จําเป็นเฉลี่ยวันละ 285.88 บาท แต่เมื่อคิดรายได้รวมเฉลี่ยอยู่ที่ 411.64 บาท ค่าใช้จ่ายตามคุณภาพเฉลี่ยวันละ 303.18 บาท

ข้อมูลจาก รายงานผลการสํารวจค่าใช้จ่ายที่จําเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทํางานในภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2564 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งรายงานฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (2) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และ (3) เพื่อรวบรวมข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่จำเป็นในการใช้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปี 63 แรงงานแรกเข้าทํางานได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 348.97 บาท มีค่าใช้จ่ายที่จําเป็นเฉลี่ยวันละ 282.44 บาท

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้สำรวจแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศในเดือน เม.ย. – ก.ค. 2563 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 19,843 คน พบว่า แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานมีค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 348.97 บาท ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามอัตภาพต่อวัน (ได้แก่ ค่าอาหารค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยา ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าพาหนะ) เฉลี่ยวันละ 282.44 บาท และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามคุณภาพต่อวัน (ได้แก่ ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ ค่าผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ค่าทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงและพักผ่อน) เฉลี่ยวันละ 300.36 บาท และเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายตามอัตภาพแยกตามประเภทรายจ่าย พบว่า ค่าอาหารมีสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 32.96

ปี 64 ได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 356.36 บาท มีค่าใช้จ่ายที่จําเป็นเฉลี่ยวันละ 285.88 บาท 

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้สำรวจแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศในเดือน เม.ย. – ก.ค. 2564 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 17,762 คน พบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ค่าจ้างและรายได้รวมของแรงงาน

จากผลการสำรวจ ปี 2564 พบว่าแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน มีค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 356.36 บาท ค่าเบี้ยขยันเฉลี่ยวันละ 29.56 บาท ค่าล่วงเวลาเฉลี่ยวันละ 117.45 บาท ค่ากะเฉลี่ยวันละ 39.37 บาท และรายได้อื่นๆ 104.81 บาท ทำให้มีรายได้รวมเฉลี่ยวันละ 411.64 บาท

2. ค่าใช้จ่ายของแรงงาน

แรงงานมีค่าใช้จ่ายตามอัตภาพเฉลี่ยวันละ 285.88 บาท และค่าใช้จ่ายตามคุณภาพเฉลี่ยวันละ 303.18 บาท

นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำ เป็นตามอัตภาพและตามคุณภาพแล้ว แรงงานยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าผ่อนสินค้ามากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 1,153.78 บาท (ร้อยละ 9.90) รองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละ 605.75 บาท (ร้อยละ 5.20) ค่าใช้จ่ายในการเสี่ยงโชค (ซื้อหวย) เฉลี่ยเดือนละ 447.49 (ร้อยละ 3.84) และน้อยที่สุดคือ ค่าโทรศัพท์มือถือ เฉลี่ยเดือนละ 354.90 บาท (ร้อยละ 3.04) คิดเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 2,561.92 บาท และเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 85.40 บาท (รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเฉลี่ย 388.58 บาท)

3. การเปรียบเทียบรายได้กับค่าใช้จ่ายของแรงงาน

3.1 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าใช้จ่าย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทั่วประเทศเฉลี่ยวันละ 321.09 บาท กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น พบว่า (1) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าค่าใช้จ่ายตามอัตภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 35.21 บาทต่อวัน (2) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพเฉลี่ยอยู่ 17.91 บาทต่อวัน (3) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 67.49 บาทต่อวัน

3.2 ค่าจ้างจริงกับค่าใช้จ่าย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าจ้างจริงที่แรงงานได้รับ (เฉลี่ยวันละ 356.36 บาท ทั่วประเทศ) กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น พบว่า (1) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำ งานมีค่าจ้างจริง มากกว่าค่าใช้จ่ายตามอัตภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 70.48 บาทต่อวัน (2) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำ งานมีค่าจ้างจริงมากกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 53.18 บาทต่อวัน (3) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานมีค่าจ้างจริงน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 32.22 บาทต่อวัน

3.3 รายได้รวมกับค่าใช้จ่าย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายได้รวมที่แรงงานได้รับ (เฉลี่ยวันละ 411.64 บาท ทั่วประเทศ) กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น พบว่า (1) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำ งานมีรายได้รวมมากกว่าค่าใช้จ่ายตามอัตภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 125.76 บาทต่อวัน (2) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำ งานมีรายได้รวมมากกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 108.46 บาทต่อวัน (3) แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำ งานมีรายได้รวมมากกว่าค่าใช้จ่ายที่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 23.06 บาทต่อวัน

4. การเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย ค่าจ้างจริงค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ และค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ ตั้งแต่ปี 2555-2564

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับจริง ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ ค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ ตั้งแต่ปี 2555 – 2564 พบว่าในปี 2555 แรงงานมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามอัตภาพและตามคุณภาพน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีค่าจ้างจริงน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเช่นเดียวกัน แต่ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันแรงงานมีค่าใช้จ่ายตามอัตภาพและตามคุณภาพน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแต่มีค่าจ้างจริงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

5. จำนวนแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

จากการสำรวจแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานปี 2564 ทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 17,575 ตัวอย่าง (จากจำนวน 17,762 ตัวอย่าง) พบว่า มีจำนวนแรงงานที่ได้ค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีจำนวน 15,983 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90.94) และค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 1,592 ตัวอย่าง (ร้อยละ 9.06) โดยสัดส่วนของแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2564 ลดลงจากปี 2563

เมื่อพิจารณารายพื้นที่ พบว่าภาคเหนือมีจำนวนแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด ร้อยละ 13.71 รองลงมา คือ ภาคใต้ ร้อยละ 13.17 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 10.99 ภาคกลาง ร้อยละ 4.86 ปริมณฑล ร้อยละ 3.35 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 2.98 ตามลำดับ

6. สรุป

แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันนั้น (ตั้งแต่ 313 – 336 บาท เฉลี่ยวันละ 321.09 บาท) ยังคงเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามอัตภาพ (285.88) และตามคุณภาพ (303.18) แต่ทั้งนี้หากพิจารณารวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ (388.58) นอกเหนือความจำเป็นแล้วนั้น เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าผ่อนสินค้า ค่าใช้จ่ายในการเสี่ยงโชค เป็นต้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันยังคงถือว่าไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net