Skip to main content
sharethis

ย้อนดู เมื่อ 'ชลน่าน' มาบอกไม่เคย 'สัญญาว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา' แต่แถลงพรรคเพื่อไทยแยกทางกับก้าวไกลเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ระบุชัดว่าหลังจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ "จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" และที่สำคัญจะเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร.

นาทีที่ 47.10 ชลน่าน ยืนยันว่าไม่เคย 'สัญญาว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา'

15 ก.ย.2566 วันนี้ (15 ก.ย.) ในวงเสวนาพรรคการเมืองแบบไหนที่คนไทยต้องการ ที่จัดโดย นักศึกษาหลักสูตร การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 13 (พตส. 13) นำตัวแทน 3 จากพรรคการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น มีทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  และศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย  

ช่วยท้ายวีระ ธีรภัทร ผู้ดำเนินรายการถามการเลือกตั้งครั้งหน้าที่น่าจะก่อน 4 ปี หรือไม่นั้น ชลน่าน กล่าวว่า ในบริบทการเมืองขณะนี้ รวมทั้งแนวโน้มที่เกิดขึ้นตนมั่นใจว่าอยู่ครบ 4 ปี ไม่มีการยุบสภาก่อน 4 ปี แน่นอน 

"ผมไม่เคยพูดนะ เดี๋ยวหาว่าผมโกหกอีก ผมโดนมาแล้วในสภา อาจารย์ไปเปิดดูสิครับ ไม่เคยมีใครสัญญาว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา แต่ว่าโอกาสความเป็นไปได้มันมี ถ้าสมติว่าเราทำรัฐธรรมนูญเสร็จ เป็นรัฐธรรมนูญของพี่น้องประชาชนจริง เกิดกระแสความต้องการการเรียกร้องในบริบทการเมืองที่เหมาะสม รัฐบาลก็อาจจะมอบอำนาจให้พี่น้องประชาชนตัดสินกันใหม่ อันนี้ก็เป็นไปได้ ถ้ามีการเรียกร้อง ถ้าเกิดรัฐบาลชุดนี้เกิดทำงานเข้าตาประชาชน บอกให้ทำต่อให้ครบ 4 ปี แล้วทำไมต้องยุบด้วย มันมีเงื่อนไขของมัน" ชลน่าน กล่าว พร้อมยืนยันว่ามั่นใจเมื่อความขัดแย้งโดยเฉพาะการเมืองแบบเหลืองแดงที่ไม่สู้กัน ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน อย่างน้อยกลุ่มใหญ่หันหน้าเข้าหากันบรรยากาศการเมืองจะดีและการเมืองจะมีเสถียรภาพ

นาทีที่ 13.40 ชลน่าน เริ่มอ่านแถลงการณ์ 'เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ'

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนดูเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ 'เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ' โดยมี ชลน่าน หัวหน้าพรรคขณะนั้นเป็นผู้อ่านแถลงนอกจากเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสนอชื่อ 'เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แล้ว ประเด็นสำคัญคือการกล่าวถึงภารกิจที่สำคัญข้อ 1 ว่า จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

"เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ชลน่าน อ่านตามแถลงการณ์ในวันที่ 2 ส.ค.66

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมานั้นกลับมอบให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ พร้อมระบุด้วยว่าจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net