Skip to main content
sharethis

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาคดี “ต้นอ้อ – ปิง” 2 เยาวชนนักกิจกรรม ระบุ เข้าร่วมคาร์ม็อบ ‘ขบวนกี 2’ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคง ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท

 

31 ส.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันที่ 30 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ 2 เยาวชนนักกิจกรรม ได้แก่ “ต้นอ้อ” ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี สังกัดกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่มภาคี save บางกลอย (จำเลยที่ 1) และ “ปิง” (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี สังกัดกลุ่ม Secure ranger (จำเลยที่ 2) เหตุจากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “ขบวนกี2” #อัยจะขยี้ยูวให้แหลกคึ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารของชิโน-ไทย

ศาลพิพากษาเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสองมีอายุเกิน 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรให้ลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ปรับคนละ 6,000 บาท และทางนำสืบจำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษคนละหนึ่งในสาม เหลือปรับคนละ 4,000 บาท

ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ร.ต.ท.หญิงธิดา เดชวุฒิกุล พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ ที่มีจํานวนมากกว่า 5 คน และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” กับเยาวชนทั้งสองคน โดยทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาในวันที่ 30 มี.ค. 2565 วีราภรณ์ เหลืองประเสริฐ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3) ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

คดีนี้ “ต้นอ้อ-ปิง” ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 12-14 ก.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

วันนี้ (30 ส.ค. 2566) เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์แล้วว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์พบว่า จำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่ทำกิจกรรมวางตุ๊กตาและพ่นสีใส่ตุ๊กตา บริเวณนั้นมีผู้ชุมนุมราว 50 คน และพยานโจทก์เบิกความว่าในการชุมนุมของคดีนี้ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ไม่มีจุดคัดกรองผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่มีการจัดวางอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค

อีกทั้ง จำเลยทั้งสองได้รับว่าเข้าร่วมชุมนุมกิจกรรมวางตุ๊กตาและพ่นสีตุ๊กตาจริง โดยต้นอ้อ (จำเลยที่ 1) ได้เบิกความว่าการทำกิจกรรมดังกล่าว เป็นการแสดงความหมายว่ามีผู้คนล้มตายจากวัคซีนโควิดที่ไม่เพียงพอต่อการแจกจ่าย ซึ่งศาลเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับพยานหลักฐานของโจทก์

ฉะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ และการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ที่มีผู้ชุมนุมราว 1,000 คน เดินขบวนด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประมาณ 800 คัน มุ่งหน้าไปที่อาคารชิโน-ไทย ทาวเวอร์ และเมื่อจำเลยทั้งสองได้ทำกิจกรรมวางตุ๊กตา และเดินขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อของกลุ่มผู้ชุมนุม แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเข้าร่วมชุมนุม

การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยทั้งสอง ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองป้องกันโรค และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด และการชุมนุมดังกล่าวย่อมเกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

และแม้จำเลยจะอ้างว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 แต่ในวรรคสอง ได้บัญญัติว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของสาธารณะชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันดีว่า ในขณะเกิดเหตุของคดีนี้ ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จนทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อโรคป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ทางราชการต้องออกมาตรการกฎหมายเพื่อควบคุมและบังคับมิให้ชุมนุม เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

แม้จำเลยทั้งสองจะนำสืบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมครั้งนี้ จำเลยทั้งสองสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลแอลกอฮอล์เพื่อล้างมือ ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์

จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) มาตรา 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรลดอัตราโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ปรับคนละ 6,000 บาท ทางนำสืบจำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ ลดอัตราโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงปรับคนละ 4,000 บาท รวมทั้งสองคนต้องชำระค่าปรับ 8,000 บาท

ทั้งนี้ ในกิจกรรมคาร์ม็อบ #ขบวนกี2 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 นอกจากเยาวชนทั้งสองคน ยังมีนักกิจกรรมอีก 4 รายที่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, “เฟิร์น” ธารารัตน์ ไพบูลย์ธนสมบัติ, “มิน” ปพัชชา บู่สังข์ และ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ คดีมีนัดสืบพยานในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ศาลแขวงพระนครใต้

นอกจากนี้ กิจกรรมคาร์ม็อบของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกในช่วงปี 2564 ซึ่งมีรวมกันทั้งหมด 4 ครั้ง ตำรวจยังมีการดำเนินคดีต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมในลักษณะนี้ทุกครั้ง โดยต้นอ้อและปิงก็ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรม Rainbow Carmob #ขบวนกีv.1 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท เช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net